“ธงนี้เป็นสัญลักษณ์แทนข้าพเจ้า”

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นความสูญเสียของคนทั้งโลก

ผมเปิดคลิปเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อรำลึกถึงพระองค์ เป็นคลิปที่ประชาชนชาวจีนร่วมบรรเลงและขับร้องทั้งภาษาไทยและภาษาจีน เป็นวงประสานเสียงที่ยิ่งใหญ่ ในสถานที่กว้างใหญ่ จำนวนนักร้องมากที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา รู้สึกปลาบปลื้มที่ได้เป็นข้าพระบาทของพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระบารมี พระมหากษัตริย์ที่คนทั้งโลกร่วมโศกเศร้าอาลัยไปกับเราคนไทย

วันที่ 13 ตุลาคม 2483 เป็นวันที่กำหนดไว้ในกฎหมายแพ่งถึงวิธีคำนวณอายุของผู้ที่เกิดก่อนวันนี้ให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากเป็นวันที่ประเทศไทยเปลี่ยนปีใหม่จากเดือนเมษายนเป็นเดือนมกราคม ตามปฏิทินสุริยคติ

วันที่ 13 ตุลาคม นับเป็นวันสถาปนากรมตำรวจ โดยถือฤกษ์วันรวมตำรวจภูธรและนครบาลเข้าด้วยกัน โดยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 และแม้เมื่อกรมตำรวจได้พัฒนาขึ้นเป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ในวันที่ 17 ตุลาคม 2541 เราก็ยังคงถือว่าวันที่ 13 ตุลาคมเป็นวันตำรวจ

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ณ พระลานพระราชวังดุสิต

แต่หลังจากวันที่ 13 ตุลาคมของปี 2559 แล้ว เราก็ไม่อยากถือว่าวันนี้เป็นวันตำรวจอีก

อันที่จริงผู้พระราชทาน “ตำรวจสมัยใหม่” ในประเทศไทย คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงมีพระราชปรารภว่า บ้านเมืองมักมีเหตุการณ์โจรผู้ร้ายก่อกวนความสงบสุขของราษฎรอยู่เนืองๆ ลำพังข้าหลวงกองจับซึ่งเป็นข้าราชการกรมเมืองหรือนครบาล มิอาจระงับเหตุการณ์และปราบปรามโจรผู้ร้ายให้สงบราบคาบได้ จึงมีพระราชดำริที่จะจัดตั้งกองตำรวจเช่นเดียวกับต่างประเทศเช่น สิงคโปร์และอินเดีย

ได้มีการจัดตั้งกองตำรวจขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเรียกว่า “กองโปลิศ”

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่กิจการตำรวจมากมาย ทรงพัฒนากิจการตำรวจในด้านต่างๆ ตรากฎหมายโปลิศรักษาพระนคร ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมในหน้าที่ของโปลิศที่พึงปฏิบัติ ทรงจัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นในรูป “ทหารโปลิศ” เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาคและให้สามารถฏิบัติการทางทหารได้ด้วย

ในปี พ.ศ.2445 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจตามความกราบบังคมทูลของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2445

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยโรงเรียนนายร้อยตำรวจเมื่อ 13 ตุลาคม พ.ศ.2495 นั้น ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ความตอนหนึ่งว่า

“ธงนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะเป็นสัญลักษณ์แทนข้าพเจ้า ผู้ซึ่งเอาใจใส่ตัวท่านทั้งหลายตลอดเวลา เพราะเป็นที่หมายที่เคารพในเวลาที่กองตำรวจได้เข้าเป็นหมวดหมู่อยู่เป็นประจำ และเมื่อวาระเข้าที่คับขัน เมื่อท่านได้ระลึกถึงธงชัยนี้แล้วก็จะเป็นเครื่องชักนำให้องอาจกล้าหาญ และร่าเริงใจที่จะประกอบหน้าที่บำเพ็ญตนให้สมกับเป็นตำรวจของชาติ อย่าให้ผู้ใดติเตียนว่าเราเกิดมาเสียชาติได้ ฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงรับธงนี้ไว้ด้วยความรักและความเคารพเทิดทูน และพิทักษ์รักษาธงนี้ไว้ยิ่งกว่าชีวิตตน และให้เป็นมิ่งขวัญที่เป็นศักดิ์ศรีของกรมตำรวจสืบไป”

ไม่เพียงแต่ผู้เป็นตำรวจเท่านั้นที่พึงรับพระบรมราชปรารภ พระราชดำริ พระบรมราชวินิจฉัย และพระบรมราโชวาทของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ใส่เกล้าใส่กระหม่อม

แต่คณะผู้ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกฎหมายและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายแหล่ ก็สมควรและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการรับรู้ด้วย

ถ้าท่านเข้าใจความหมายของพระราชปรารภที่ว่า “บ้านเมืองมักมีเหตุการณ์โจรผู้ร้ายก่อกวนความสงบสุขของราษฎรอยู่เนืองๆ…ฯลฯ…จึงมีพระราชดำริที่จะจัดตั้งกองตำรวจ…” ท่านคงไม่คิดจะลดกำลังขององค์กรด้วยการโอนบางหน่วยงานสำคัญ เช่น “ตรวจคนเข้าเมือง” ไปให้องค์กรอื่นรับผิดชอบ และไม่จำเป็นจะต้องตัดทอนความรู้ความสามารถโดยโอนงาน “พิสูจน์หลักฐาน” และงาน “เทคโนโลยีสมัยใหม่” ไปให้องค์กรอื่นรับผิดชอบ

ถ้าคณะปฏิรูปท่านรับรู้ว่ากรุงเทพฯ มิใช่ประเทศไทย และประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ไม่ใช่ประเทศตะวันตก ท่านย่อมเข้าใจคำว่า “ส่วนภูมิภาค” ในพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ดี ว่าเหตุใดจึงทรงจัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นในรูป “ทหารโปลิศ” เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาคและให้สามารถปฏิบัติการทางทหารได้

และนักวิชาการบางท่านคงไม่ร่ำร้องให้ยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ถ้าท่านได้รับรู้เพิ่มเติมว่าสถาบันนี้ได้ปฏิรูปตัวเอง ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหลักสูตรมาแล้วอย่างไรบ้าง

ธงชัยประจำหน่วยตำรวจที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้มีลักษณะและส่วนประกอบของธงรวมถึงการได้มาเช่นเดียวกับธงชัยเฉลิมพลของทหารทุกประการ (สำนักราชเลขาธิการเรียกธงชัยเฉลิมพลเช่นกัน) ปัจจุบันหน่วยตำรวจมี 13 ธง

ผืนธงเป็นลักษณะเดียวกับธงชาติสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 70 เซนติเมตร ตรงกลางผืนธงมีตราแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชื่อหน่วยตำรวจที่ได้รับพระราชทานธง เช่น “โรงเรียนนายร้อยตำรวจ” เป็นไหมสีแดงริมขาวเป็นแถวโค้งโดยภายใต้ตราแผ่นดิน

มุมด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีแดงขลิบริมขาว รัศมีสีฟ้า ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีขาวกว้าง 2 เซนติเมตร

ยอดคันธงเป็นรูปช้างสามเศียรภายใต้พระมหามงกุฎทำด้วยโลหะสีเงิน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่ทำพิธีแล้วเรียกว่า “พระยอดธง” บรรจุเส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา) ของรัชกาลที่ 9

เป็นพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม

บรรยายลักษณะธงชัยไว้พอให้เป็นที่ตระหนักรู้ว่า ธงนี้เป็นสัญลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 หากจะมีการยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ก็ต้องคิดไว้ล่วงหน้าด้วยว่าจะทำอย่างไรกับธงนี้