อภิญญา ตะวันออก / นโรดม สีหนุ : กษัตริย์ผู้หลงใหลในการเมือง

ทรงลาจากโลกใบนี้ไปครบ 6 ปี พระบาทสมเด็จนโรดม สีหนุ ผู้นำที่มีชีวิตหลังยุคสงครามเย็นอย่างมีสีสันเป็นที่สุด

ทว่าเมื่อฉันกลับสู่บริบทของการเขียนการเมืองกัมพูชา นอกจากบทละครวรรรณกรรมเล่มเดียวที่เกี่ยวกับพระองค์แล้ว ฉันกลับหาจุดเกาะเกี่ยวเสน่หาเพื่อเกิดแรงบันดาลใจต่อพระองค์ไม่เจอ ทั้งที่หนังสือเล่มแรกที่อ่านเกี่ยวกับเขมรนั้นก็มาจากกษัตริย์พระองค์นี้

แต่อย่างที่ทราบ ในบรรดาเรื่องพิสดารต่างๆ ทางการเมืองที่มาจากเขมรนั้น ทั้งในอดีตและปัจจุบัน มีรากฐานจากวรรณะกษัตริย์เป็นส่วนใหญ่

แต่ก็แปลก กว่าจะรำลึกถึงพระองค์ ก็จากโลกไปตั้ง 6 ปีแล้ว

แต่กระนั้น เรื่องพิสดารของสายสกุลนโรดมในส่วนของพระองค์นั้นก็ไม่เคยลบเลือน

โดยกล่าวได้ว่า พระองค์เจ้านโรดม ยุคนธร พระปิตุลาผู้เคยเดินทางไปประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศส จนต้องพเนจรค่อนทวีปและสิ้นใจในบางกอก

ส่วนที่ฉันมอบจิตใจให้คือ พระบาทองค์ด้วง ผู้ทิ้งพระราชโองการสุดท้ายอันยิ่งใหญ่ให้จดจำ นั่นคือ โองการแร่ริ้วพระฉวีและมังสะของพระองค์ นำใส่พานเงินพานทอง เพื่อแจกจ่ายเป็นทานให้สัตว์สี่เท้า-จตุรงคบาทได้ลิ้มรสเป็นภักษาหาร

จุดพระประสงค์คือต้องการสละพระศพให้เป็นทานต่อสัตว์โลกตามที่ตั้งปณิธาน

ดังนี้ พอจะเห็นความเป็นกษัตริย์ที่ขบถวรรณะของตนได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก เป็นความพิเศษที่ตกทอดมาแต่ต้นสาแหรกสกุลแล้ว

แต่ไม่มี “ตรุง/องค์” ไหนจะมากมายด้วยเรื่องราวเทียบเท่ากับพระบิดาประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของกัมพูชา-พระบาทสีหนุ

ที่กล่าวขานกันว่า เป็นวิทยากรของความพิสดารกว่าทุกๆ “ตรุง” ที่ผ่านมา

 

บุคลิกและที่ถูกขานมากมายในพระองค์ แม้แต่บุคคลใกล้ชิดอย่างอีฟว์ ดูมง (Yvev Dumont) พระสวามีเจ้าหญิงนโรดม วิชจรา พระน้องยาเธอในพระองค์เจ้าสีหนุในยุคลี้ภัย ก็ยังทรงจำอย่างไม่รู้ลืม

“ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีบุคลิกหลากหลายและโดดเด่น เพราะฉะนั้น แง่มุมต่างๆ ในพระองค์จึงมาก” อีฟว์ ดูมง เกริ่นในวาระรำลึกการเสด็จสวรรคตครั้งล่ากับวีโอเอภาคภาษาเขมร (https://youtu.be/8Resd40vxTY)

แม้ครั้งนี้ดูมงจะเลี่ยงประเด็นการเมืองและเน้นที่จริยวัตรอันโปรดปราน เช่น ดนตรีและอาหาร เมนูโปรดมากคือตับห่าน แชมเปญและช็อกโกแลต ทั้งหมดต่อให้ถูกหมอสั่งห้าม แต่ความโปรดปรานของพระองค์ทำให้มีพ่อครัวที่ร้าน “ลาดูเดสซ็องส์” เป็นสหายคนสนิท

ส่วนด้านดนตรีนั้น ทรงโปรดการขับบทเพลง และหนึ่งในเพลงโปรดนั่นก็คือ “ฉันรอ” ที่มักทรงขับบทนี้อย่างบ่อยครั้ง ถึงขั้นว่าในงานสมรสของพระขนิษฐากับดูมงในปารีสที่ขณะนั้นทรงอยู่ในการลี้ภัย แต่ก็ทรงสวาหับขับกล่อมแขกเหรื่อในงานถึงกว่า 1 ชั่วโมง

สร้างความตื่นตะลึงและประหลาดใจต่อแขกผู้ร่วมงาน

เมื่อถูกถามว่า ก่อนเสด็จสวรรคต ทรงขับบทมากมายนับอัลบั้มนั้น มาจากที่ไม่สบายพระทัยทางการเมือง?

“ถูกแล้ว ทรงพระสวาหับ (ชีวิตชีวา) และทรงใช้พลังงานมากมายไปกับการเมืองที่ยุ่งเหยิงนั่น

“เคยมีคนถามว่า แล้วทรงแก้สถานการณ์ทุกข์ตรอมแบบใดบ้าง? ผมคิดว่า การขับร้องและทำภาพยนตร์ เป็นสิ่งที่ช่วยให้พระองค์สบพระทัย”

 

แต่หัวข้อหนึ่งที่ไม่เคยสบพระทัย หลายปีก่อนหน้านี้ ดูมงเองเคยรำลึกข้อความที่น่าจดจำ แม้จะถูกลบไปจากบันทึกสารบบ จะด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ นั่นคือหัวข้อการเมืองที่พระองค์สารภาพ

มันคือความคิดอะไร? นับหนึ่งพอจะเห็นว่า การกุมเกมการเมืองต่างหากที่ช่วยค้ำจุนบัลลังก์ให้อยู่รอดและมั่งคั่ง ในยุคกาลที่ผ่านมาก็ทรงบริหารบ้านเมืองเช่นนั้น แต่ในที่สุดก็ถูกโค่น

และโจทย์นั้นก็คือ ภารกิจฟื้นฟูกัมโพชราชสำนักจากข้อเสนอพิเศษที่พระองค์จะต้องขึ้น “ครองราชย์” ทรงไร้สุขที่จะไม่ได้กลับมาเล่นการเมือง

ขณะเดียวกันก็ตระหนักว่า หากไม่เป็นปฐมกษัตริย์แล้ว โอกาสที่พระชายาโมนิกและโอรสจะถูกเสนอเป็นองค์รัชทายาทก็คงจะรางเลือน ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ที่กำหนดให้เลือกสรรโดยคณะกรรมาธิการและตามสาแหรกราชสกุล “นโรดม-ศรีโสวัตถิ์”

ในที่สุดก็ทรงเลือกสิ่งสร้างความสมหวังต่อฮุน เซน

อีกตัวอย่างในความไม่สบพระทัยตามที่อีฟว์ ดูมง เคยจดจำขณะร่วมโต๊ะเสวย

“วันหนึ่งทรงปลีกองค์มาเสวยอาหารกลางวันกับผู้ติดตาม มีภริยาและผมร่วมด้วยตอนนั้น มีการเจรจาลับๆ ระหว่างพระองค์กับตัวแทนเวียดนามและฮุน เซน โดยปรกติจะไม่ทรงตรัสเกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่วันนั้นทรงไม่สบพระทัย ตรัสว่า ฉันคิดว่าคงไม่มีทางออก ฉันแพ้แล้วเกมนี้”

“มงเซ็ญเยอร์ หากสุดทางแล้ว ก็ล้มมันแล้วเริ่มใหม่” ผมพูดทะลุกลางปล้อง

ไม่เคยมีใครกล้าทำแบบนั้น มันเป็นธรรมเนียมบนโต๊ะเสวยที่ไม่มีใครกล้าแสดงความเห็น อย่างมากก็หัวเราะตาม ส่วนใหญ่พระองค์จะเป็นฝ่ายถาม แต่ครั้งนั้นกลับทรงพระสรวล

จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า ทำไมหลายคนจึงพยายามสกัดกั้นไม่ให้พระองค์กลับมาเล่นการเมือง วิสัยการสนทนาแต่ฝ่ายเดียวนี้เอง ที่ทำให้การเมืองของพระองค์ไม่ก้าวหน้า

โชคชะตาช่างบันดาลให้พระองค์เกิดมาเพื่อเป็นกษัตริย์เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ เมื่อใดที่ทรงเล่นการเมือง เรื่องโกลาหลวิบัติจึงมักจะตามมา

 

เช่น แม้แต่สู่บัลลังก์เป็นกษัตริย์วาระที่ 2 ตอนหนึ่งของการเสด็จประพาสฝรั่งเศสครั้งสุดท้าย อันมีประธานาธิบดีฌักส์ ชีรัก ได้เข้าเฝ้า ทรงมีพระดำรัสเสนอความเห็นที่จะใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่ 2 ในสภาอาเซียน แต่ประธานาธิบดีชีรักกลับทูลค้าน

“พระองค์ มันคือสมรภูมิเก่าที่พวกเราเคยต่อสู้และพ่ายแพ้มาแล้ว ทรงยอมรับความจริง แล้วทิ้งมันไปเถิด”

ทรงตรัสเรื่องนี้กับเจ้าหญิงวิชจราอย่างขุ่นพระทัย

มันคือความลุ่มหลงต่อการเมืองในแบบพระองค์ไม่อาจทิ้งได้ ความทรงจำเดิมๆ อันเกี่ยวกับการเมืองที่จะบั่นทอนพระทัยในพระองค์ตลอดวาระสุดท้ายในพระชนม์ชีพ

แต่ดูมงก็ยืนยันว่า “ทรงมีพระปรีชาชาญทางการเมือง ที่มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลวในแบบพระองค์”

และสิ่งที่ทรงใฝ่ฝันในความทันสมัยอย่างที่สุดของกัมพูชา ในขณะที่ต้องพึ่งพาจากต่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงยุทธศาสตร์สงคราม-การเมืองและปมความสัมพันธ์แห่งภูมิภาคที่อ่อนไหวมากเวลานั้น

“คราวใดที่มีคลื่นลมที่ไม่อาจต้านทาน เราต้องหันเหทิศทางลมเหมือนการเปลี่ยนน้ำ ผมคิดว่า นี่คือหลักการของพระบาทสีหนุ” อีฟว์ ดูมง ให้การตามแบบฉบับของนักแล่นเรือใบ ในพระปรีชาชาญทางการเมืองแบบพระบาทสีหนุ ที่ทรงทำให้กัมพูชามีบทบาทในเวทีโลก

และยุทธศาสตร์นี้เองที่กลับมาเป็นเกราะป้องกันกัมพูชาอีกคำรบ

 

ในราคาต้นทุนที่ต้องจ่ายจากการพึ่งพาปัจจัยภายนอกตลอดกึ่งศตวรรษแห่งพระชนม์ชีพนั้น ดูเหมือนมหามิตรจีนจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทศของพระองค์ จนดูเหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่แม้แต่กษัตริย์กัมพูชาองค์ปัจจุบันยังต้องเสด็จประทับแรม ณ พระตำหนักฤดูร้อนที่กรุงปักกิ่งครั้งละนานๆ และปีละหลายครั้ง

เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความอึดอัดใจต่อพสกนิกรเขมรในอิทธิพลของจีนที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ รัฐบาลแห่งกัมพูชาและเศรษฐกิจมวลรวม

ตัวอย่างคือ จังหวัดสีหนุวิลล์ เมืองตากอากาศสไตล์ฝรั่งเศสที่ทรงเคยสถาปนา บัดนี้ สีหนุวิลล์-เมืองของสีหนุ ได้กลายเป็นแหล่งกาสิโนและเขตเศรษฐกิจใหม่ เมืองตากอากาศโพ้นทะเลชาวจีนพากันหลั่งไหลท่องเที่ยว ลงทุน และตั้งรกราก โดยมีชาวท้องถิ่นเป็นตลาดแรงงาน

สมเด็จสีหนุหากยังมีพระชนม์ชีพคงคาดไม่ถึงว่ามหามิตรจีนของพระองค์ยังสร้างปราสาทนครวัด ณ ประเทศของตนอย่างสลักเสลาด้วยวิทยาการของสถาปนิกแห่งศตวรรษที่ 21 นัยว่า เพื่อแลกกับมูลค่ามหาศาลที่ทางการจีนมอบเป็นทุนทรัพย์จัดสร้าง “มหาเดโชโอลิมปิกสเตเดียม” แห่งใหม่ในกัมพูชา

คงไม่มีวันทรงทราบว่า ทายาทการเมืองนั้นมิอาจถ่ายทอดกันได้โดยสายเลือด

แต่สมเด็จฯ ฮุน เซน ก็เป็นนักการเมืองหนึ่งเดียวที่ช่วยพิสูจน์ว่า

เขาเดินตามรอยยุทธศาสตร์แห่งพระราชาอย่างมิบกพร่อง