จักรวรรดิในกำแพง : จิ้นตะวันออก “ตั้งอยู่-ดับไป”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ (ต่อ) 

ยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐจากที่กล่าวมาแต่เพียงสังเขปนี้ได้สะท้อนความจริงที่สัมพันธ์กับจักรวรรดิจีนให้เห็นในหลายประการด้วยกัน

ประการแรก แม้ชนชาติที่มิใช่ฮั่นจะมีความขัดแย้งกับชนชาติฮั่นมาก่อนหน้านี้ยาวนาน แต่ในยุคนี้ความขัดแย้งได้ปะทุขึ้นครั้งใหญ่นับแต่จีนเป็นจักรวรรดิในสมัยราชวงศ์ฉินเรื่อยมา การปะทุนี้เป็นไปถึงขั้นแตกหัก มิใช่ความขัดแย้งระหว่างชนชาติฮั่นด้วยกันเองเป็นหลักดังในยุคสามรัฐ

ความจริงข้อนี้ชี้ให้เห็นว่า หากเป็นไปได้ชนชาติที่มิใช่ฮั่นมีความปรารถนาที่จะเป็นอิสระจากจีน มากกว่าที่จะอยู่ร่วมกับจีนโดยสันติหรือโดยอยู่ใต้อาณัติของจีน ความจริงข้อนี้ยังคงดำรงอยู่แม้ในปัจจุบัน

ดังจะเห็นได้จากชนชาติทิเบตหรืออุยกูร์ในซินเจียง เป็นต้น

ในประการต่อมา แม้จะมีการตั้งตนเป็นใหญ่ถึง 16 รัฐ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีมากกว่านั้น รัฐที่เกินเลยจากจำนวนนี้และไม่ถูกจัดให้อยู่ใน 16 รัฐก็เพราะมีบทบาทไม่โดดเด่นมากนัก และที่ไม่โดดเด่นก็เพราะไม่แข็งแกร่งจนมีอิสระพอ เช่น รัฐหญั่นเว่ยหรือรัฐซีเอียน เป็นต้น

ส่วนรัฐที่มีความแข็งแกร่งนั้นจะเป็นรัฐที่จะสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐเฉียนฉินที่สร้างตนจนมีแนวโน้มที่จะตั้งจักรวรรดิขึ้นมาได้ หากไม่มาพ่ายศึกแม่น้ำเฝยให้กับจิ้นตะวันออกเสียก่อน และทำให้ยุคนี้เข้าสู่ช่วงปลายยุคจนถึงสิ้นยุคไปในที่สุด

ดังนั้น ศึกแม่น้ำเฝยจึงถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของยุคนี้ และผู้ที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนนี้ก็คือราชวงศ์จิ้น ที่ในเวลานั้นสามารถฟื้นตัวได้อีกครั้งหนึ่งในนามจิ้นตะวันออก

ในประการที่สาม ซึ่งต่อเนื่องกับประการที่สองคือ การที่จิ้นตะวันออกฟื้นตัวได้ในยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐนี้ เป็นการฟื้นตัวที่มีความแข็งแกร่งพอสมควร โดยหลังจากฟื้นตัวจนตั้งวงศ์ใหม่ได้สำเร็จแล้วก็ใช้เวลาในหลายช่วงเข้าทำศึกกับบางรัฐใน 16 รัฐ ซึ่งโดยมากแล้วชัยชนะมักตกเป็นของจิ้นตะวันออก

จนทำให้เห็นได้ว่า หากจิ้นตะวันออกจะเผด็จศึกให้สิ้นยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ แต่การที่เหตุการณ์มิอาจก้าวไปถึงจุดที่ว่าได้ก็เพราะมีข้อจำกัดที่ดำรงอยู่ในจิ้นตะวันออกเอง ข้อจำกัดนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐทอดเวลาได้ยาวนานดังที่เห็น

จนทำให้เห็นต่อไปว่า แม้จิ้นตะวันออกจะสามารถฟื้นตัวจนตั้งวงศ์ได้จริง แต่ก็มิได้อยู่ในฐานะจักรวรรดิ ซึ่งก็ไม่แตกต่างกับจิ้นตะวันตกเมื่อก่อนหน้านี้

 

จิ้นตะวันออกกับการล่มสลาย

เมื่อครั้งที่สกุลซือหม่าตั้งราชวงศ์จิ้นขึ้นมานั้น เรื่องหนึ่งที่จิ้นได้กระทำหลังตั้งราชวงศ์ก็คือ การส่งวงศานุวงศ์ในสกุลซือหม่าไปปกครองยังรัฐใหญ่น้อยต่างๆ ครั้นเมื่อจิ้นตะวันตกอ่อนแอลงก็ต้องเผชิญกับการท้าทายของห้าชนชาติที่ตั้งตนเป็นใหญ่ จากนั้นก็จบลงด้วยการล่มสลายของจิ้นตะวันตกในที่สุด

หลังจากล่มสลายแล้ววงศานุวงศ์และเสนามาตย์ที่เหลืออยู่จึงอพยพลงมาทางใต้ เมื่อมาถึงดินแดนแถบนี้ก็ยึดเอาเมืองเจี้ยนคังเป็นเมืองหลวง ซึ่งปัจจุบันนี้คือเมืองหนันจิง1

กล่าวเฉพาะบุคคลในสกุลซือหม่าและเสนามาตย์ที่อพยพมาทางตอนใต้แล้ว มีหลายคนเคยมีอำนาจในทางใดทางหนึ่งในรัฐใหญ่น้อยที่อยู่ใต้เงาของจิ้นตะวันตก ดังนั้น พอมาตั้งมั่นอยู่ที่ตอนใต้ได้แล้ว บุคคลเหล่านี้ยังคงมีบทบาทในจิ้นตะวันออก

ภูมิหลังของบุคคลเหล่านี้จึงผูกติดเป็นปมเงื่อนที่จะส่งผลต่อสถานะของจิ้นตะวันออกไปด้วย

นอกจากนี้ การที่จิ้นตะวันออกมาตั้งมั่นอยู่ทางตอนใต้นั้น ในด้านหนึ่งย่อมหลีกเลี่ยงการพึ่งพากลุ่มอำนาจที่อยู่ในดินแดนแถบนี้มาแต่เดิมไปไม่ได้ การพึ่งพานี้จึงผูกติดเป็นอีกปมเงื่อนหนึ่งที่ส่งผลต่อสถานะของจิ้นตะวันออกเช่นกัน

ผลคือ ปมเงื่อนทั้งสองนี้ได้ทำให้เสถียรภาพของจิ้นตะวันออกขาดความสมบูรณ์ และเป็นประเด็นสำคัญในการศึกษาจิ้นตะวันออกเป็นลำดับไป

 

สภาพการณ์ทั่วไปของจิ้นตะวันออก

สภาพการณ์แรกของจิ้นตะวันออกที่พึงย้ำในที่นี้ก็คือ ทั้งก่อนและหลังจิ้นตะวันออกจะได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งนั้น จีนได้เข้าสู่ยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐแล้ว ดังจะเห็นได้จากกรณีที่จิ้นตะวันตกถูกโค่นล้มโดยรัฐฮั่นเจ้าซึ่งเป็น 1 ใน 16 รัฐในยุคที่ว่านี้ เป็นต้น

สภาพการณ์ต่อมาจึงเป็นเรื่องที่จิ้นตะวันออกมาตั้งมั่นอยู่ทางตอนใต้ที่โดยรวมแล้วก็คือการที่จิ้นตะวันออกตั้งอยู่ได้โดยมีกลุ่มอำนาจอื่นๆ แวดล้อมอยู่ด้วย กลุ่มอำนาจเหล่านี้มีทั้งที่คอยค้ำชูและที่คอยสั่นคลอนจิ้นตะวันออก กลุ่มอำนาจเหล่านี้จึงเป็นปมเงื่อนที่พันธนาการจิ้นตะวันออกเอาไว้

กล่าวกันว่า ช่วงก่อนที่จิ้นตะวันตกจะล่มสลายนั้น เหล่าเสนามาตย์ของจิ้นที่เชื่อแน่ว่าจิ้นจะล่มสลายได้ตัดสินใจหนีภัยสงครามลงมาทางใต้ การหนีครั้งนี้เป็นคลื่นมนุษย์อพยพที่มีขนาดใหญ่ เพราะเป็นการอพยพลงมาแบบเทครัวโดยแยกกันเป็นตระกูล

และเมื่ออพยพมาถึงตอนใต้แล้วก็ยังคงพยายามรักษารากเหง้าเดิมของตนเอาไว้ ผู้อพยพเหล่านี้จึงตั้งหน่วยปกครองของตนขึ้นมาเป็นโจว (เมือง) จวิ้น (เขต) และเสี้ยน (อำเภอ) โดยมีคำว่า เฉียว ที่หมายถึง ต่างถิ่น ต่างด้าว หรือโพ้นทะเล เป็นต้น2 กำกับอยู่หน้าคำเหล่านั้นเพื่อสื่อว่าเป็นดินแดนของผู้อพยพที่มาจากต่างถิ่น

แล้วตั้งชื่อสถานที่ต่างๆ โดยอิงกับชื่อเดิมเมื่อครั้งที่อยู่ทางตอนเหนือ ทั้งนี้เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่สมาชิกในสกุลของตน

อย่างไรก็ตาม หน่วยปกครองเหล่านี้ไม่มีเขตแดนที่แน่ชัด ทั้งยังไม่มีระบบการจัดเก็บภาษีอีกด้วย การกระทำเช่นนี้ของผู้อพยพทางเหนือย่อมอยู่ในความรับรู้ของเจ้าถิ่นเดิมทางใต้ และย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เจ้าถิ่นเดิมจะมีปฏิกิริยาในทางใดทางหนึ่ง

สภาพการณ์ต่อมาเป็นสถานะของกลุ่มอำนาจจากทางเหนือ และกลุ่มอำนาจที่อยู่ทางใต้เดิมที่อาจเรียกโดยรวมได้ว่าชนชั้นผู้ดี (gentry)

บรรพชนของชนชั้นนี้เคยเป็นเสนามาตย์มาก่อน และบุตร-หลานก็สืบทอดตำแหน่งนี้ต่อๆ กันมาหลายชั่วคน ชนชั้นนี้มีอภิสิทธิ์ทางการเมืองหลายด้านด้วยกัน เช่น สิทธิในการแต่งตั้งและคัดเลือกขุนนาง สิทธิถือครองที่ดิน และสิทธิในการครอบครองแรงงาน เป็นต้น

สิทธิเหล่านี้จะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่แต่ละคนดำรงอยู่ในขณะนั้น และเป็นสิทธิที่เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นแล้ว แต่พอมาถึงยุคจิ้นตะวันตกจึงมีเสถียรภาพจนกลายเป็นระบบที่แน่นอน ครั้นพอเข้าสู่ยุคจิ้นตะวันออกระบบนี้ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา ระบบนี้เรียกว่าระบบเหมินฝา (เหมินฝาจื้อตู้)

ภายใต้ระบบนี้จะเห็นได้ถึงอิทธิพลที่ชนชั้นผู้ดีมีอยู่ และเมื่อจิ้นตะวันออกฟื้นฟูขึ้นมาได้อีกครั้ง เสถียรภาพของจิ้นตะวันออกจึงขึ้นอยู่กับชนชั้นนี้ไปด้วย

จากเหตุดังกล่าว จึงไม่แปลกที่การเมืองในยุคจิ้นตะวันออกจึงถูกเรียกว่าการเมืองแบบเหมินฝา (menfa politics) หรือ เหมินฝาเจิ้งจื้อ ที่สำคัญ ชนชั้นผู้ดีที่จิ้นตะวันออกต้องพึ่งพานี้มีอยู่นับสิบตระกูล โดยมีตระกูลในสกุลหวังกับเซี่ยถือเป็นสกุลที่ทรงอิทธิพลสูงสุด

สภาพการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าเสถียรภาพของจิ้นตะวันออกมิได้อิสระและมั่นคงอย่างที่ราชวงศ์หนึ่งพึงมีพึงเป็น ที่สำคัญ สภาพการณ์เช่นนี้ดำรงอยู่ท่ามกลางการตั้งตนเป็นใหญ่ของห้าชนชาติ เสถียรภาพของจิ้นตะวันออกจึงเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง

 

จิ้นตะวันออกในระยะแรก

ภายใต้สภาพการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อสกุลซือหม่าและเหล่าเสนามาตย์อพยพมาตั้งมั่นที่ทางใต้ได้แล้ว ก็พร้อมใจกันให้บุคคลในสกุลซือหม่าคือซือหม่าญุ่ย ขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจิ้นตะวันออกมีพระนามว่าจิ้นหยวนตี้ (ค.ศ.276-323)

ซือหม่าญุ่ยมีภูมิหลังเป็นหลานของซือหม่าอี้ (สุมาอี้) แห่งรัฐเว่ยในยุคสามรัฐ เมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์แปดกษัตริย์ เขาอยู่ฝ่ายเดียวกับกษัตริย์เย่ว์แห่งรัฐตงไห่ เวลานั้นเขาได้บุคคลหนึ่งชื่อหวังเต่า (ค.ศ.276-339) มาร่วมงาน และด้วยความรู้ความสามารถของหวังเต่า เขาจึงแต่งตั้งหวังเต่าให้เป็นขุนศึกคนหนึ่งในทัพที่เขาดูแลอยู่

หวังเต่าจึงเป็นหนี้บุญคุณซือหม่าญุ่ยนับแต่นั้นมา

—————————————————————————————————————–

(1) กรณีเมืองหนันจิงนี้ทำให้เห็นได้ว่าเมืองนี้มีมานานแล้ว โดยหลังจากที่จิ้นตะวันออกตั้งให้เป็นเมืองหลวงแล้ว เจี้ยนคังก็กลายเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์โดดเด่นขึ้นมา เพราะหลังจากราชวงศ์จิ้นไปแล้ว เมืองนี้ยังได้เป็นเมืองหลวงของจีนมาอีกหลายยุคหลายสมัยก่อนที่จะมารู้จักกันในชื่อหนันจิงในปัจจุบัน หนันจิงเป็นเมืองหลวงครั้งสุดท้ายในยุคสาธารณรัฐภายใต้การนำของจอมพลเจียงไคเช็ก เมื่อระบอบสาธารณรัฐล่มสลายใน ค.ศ.1949 แล้ว หนันจิงก็ยังเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของจีนแม้ในทุกวันนี้

(2) เฉียว คำนี้เป็นคำเดียวกับคำว่า ฮว๋าเฉียว (หัวเฉียว) ที่หมายถึงชาวจีนโพ้นทะเล ที่ไทยเรารู้จักกัน