“มหกรรมศิลปะนานาชาติ” THAILAND BIENNALE KRABI 2018 ปรากฏการณ์ใหม่ “ศิลปะร่วมสมัย” ในเมืองไทย

คงไม่เกินเลยไปถ้าจะเรียกว่า “กระบี่ เบียนนาเล่ “(Biennale Krabi 2018) เป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในวงการศิลปะร่วมสมัยของบ้านเรา

การพัฒนาการในวงการศึกษาศิลปะต้องนับว่าเติบโตเจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง จากการเรียนการสอนซึ่งมีโรงเรียนเพียงแห่งสองแห่ง ได้ก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อกว่า 70 ปีก่อน ในรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยมีชาวอิตาลีซึ่งจากบ้านเกิดเมืองนอนเข้ามารับราชการในเมืองไทย ชื่อ “คอร์ราโด เฟอโรจี” (Corrado Feroci) ซึ่งต่อมาคือท่าน “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ได้ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อลูกหลานของคนไทย ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ก่อนสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร

วางรากฐานศิลปะร่วมสมัยจนหยั่งรากลึกถึงปัจจุบัน

 

สถาบันการเรียนการสอนศิลปะในระดับมหาวิทยาลัย ในประเทศไทยได้รับการก่อตัวก่อตั้งไปทั่วทุกภาคเกือบทุกจังหวัดของประเทศขณะนี้ ความรู้ความเข้าใจของเรื่อง “ศิลปะ” ของคนไทยเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับ “ศิลปะร่วมสมัย” มีการจัดประกวด และ “แสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ” โดยทางราชการเป็นเจ้าภาพ

องค์กรเอกชนที่เป็นสถาบัน บริษัทที่มีสถานะแข็งแรงในสังคมดำเนินการให้การสนับสนุนด้วยการจัดประกวดจนมีศิลปินร่วมสมัยเกิดขึ้นมาก และสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการทำงานศิลปะ

การเสพศิลปะขยายตัวขึ้นทุกรูปแบบ ไม่ได้ติดอยู่แต่เพียงงานจิตรกรรม ประติมากรรม ฯลฯ แต่ได้ขยายสอดแทรกไปในงานต่างๆ ในชีวิตประจำวันของคน ภาพยนตร์ ดนตรี วรรณกรรม ฯลฯ

 

เมื่อกระทรวงวัฒนธรรมก่อเกิดขึ้นมารับผิดชอบงานสำคัญด้านต่างๆ ของชาติ คงอยู่ของรากเหง้า ประวัติศาสตร์ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมของชาติ อนุรักษ์บำรุงรักษาเพื่อให้คงอยู่สืบทอด รวมทั้งเผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์ในสังคมมนุษยชาติ

นอกจากนั้นยังรับผิดชอบด้านศิลปะร่วมสมัย โดยให้การสนับสนุนด้านการศึกษา เผยแพร่ และการเรียนการสอน ฯลฯ

“โครงการศิลปินแห่งชาติ” (National Artists) เป็นรูปเป็นร่างขึ้นโดยสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันคือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนั้น (2526-2529) คือท่าน (พี่) ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 20 )ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ทุกวันนี้กระทรวงวัฒนธรรมยกย่องท่านอยู่ในฐานะ “ฐาปนันดรศิลปิน”

ปัจจุบันบ้านเราได้คัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถสาขาต่างๆ เพื่อเชิดชูเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” มีเกียรติยศ มีเงินเดือนประจำ ซึ่งศิลปินแห่งชาติเหล่านั้นท่านได้ช่วยกันเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจสู่เยาวชนในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ รวมทั้งในภูมิภาคอาเซียน

 

สํานักงานศิลปะร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดกระบี่ และเครือข่ายภาครัฐ เอกชนกว่า 30 องค์กรร่วมกันจัด “มหกรรมศิลปะนานาชาติ THAILAND BIENNALE KRABI 2018” ขึ้นที่จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 – 28 กุมภาพันธ์ 2562

เบียนนาเล่ (Biennale) เป็นมหกรรมศิลปะนานาชาติอันยิ่งใหญ่ มีขึ้นมากว่า 150 ปี ซึ่งศิลปินจากทั่วโลกได้นำผลงานสร้างสรรค์มาจัดนิทรรศการร่วมกัน ยังเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี 2 ปีครั้ง เรียกว่า Venice Biennale

ฉายภาพเรื่องราวเก่าซ้ำอีกสักครั้งหนึ่งก็ย่อมได้ว่า “มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่” (Venice Biennale) จัดแสดงขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2438 และจัดเป็นประจำทุก 2 ปี โดยมีผู้ชมเดินทางมาจากทั่วโลกเลยทีเดียว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงงานมหกรรมศิลปะดังกล่าวถึง 2 ครั้ง และทรงโปรดปรานฝีมือของกาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ซึ่งนับว่าเป็นศิลปินชาวอิตาลีที่โดดเด่นมากในยุคศิลปะอาร์ต นูโว ของ อิตาลี (Italy) ที่มีต่อศิลปะสิ่งปลูกสร้าง หรือสถาปัตยกรรมต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยภาพเขียนฝีมือคินี (Chini) ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ (Venice Biennale) ในปีนั้นคือ “ประวิติศาสตร์ศิลปะข้ามกาลเวลา”

คินี (Chini) ได้รับการทาบทามให้เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อรับงานเขียนภาพ “พระราชวังดุสิต” สมัยนั้นคือ “พระที่นั่งอนันตสมาคม”

 

บ้านเราได้รับเชิญอย่างเป็นทางการเข้าเป็นประเทศสมาชิกมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ เมื่อปี พ.ศ.2546 โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้รับผิดชอบ ได้คัดเลือกศิลปินให้นำผลงานไปร่วมแสดงตลอดมา

โดยเท่าที่จำได้ สำหรับศิลปินร่วมสมัยของไทยที่ได้คัดเลือกให้ส่งผลงานเข้าร่วมแสดง เช่น อริญชย์ รุ่งแจ้ง และวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ (2556) และ ฯลฯ

กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (2540) ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นตัวแทนศิลปินจากประเทศไทยส่งผลงานชุด Earth Air Fire& Water ซึ่งเป็นงาน Stainless Steel เข้าร่วมแสดงใน “มหกรรมศิลปะนานาชาติ” อันยิ่งใหญ่ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี (Venice Biennale-Italy) เมื่อปี พ.ศ.2558

Stainless Steel ผลงานประติมากรรมของกมล ทัศนาญชลี ได้มาปรากฏใน “มหกรรมศิลปะนานาชาติ” (THAILAND BIENNALE KRABI 2018) ร่วมกับศิลปินชื่อดังจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาสร้างงานที่จังหวัดกระบี่ ร่วมกับ “ศิลปินแห่งชาติ” และศิลปินที่มีชื่อเสียงของไทย หลังจากได้รับเชิญเข้าร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะนานาชาติ ของประเทศไทยที่จังหวัดกระบี่

กมล ทัศนาญชลี พูดถึงผลงานชื่อ “แว่นขยาย” (Vision of Krabi) ของเขาว่า เป็นประติมากรรมที่มีไฮไลต์เป็นแว่นขยายขนาด 4 เมตร 2 ชิ้นผสมผสานกับการติดกล้องส่องทางไกลโดยใช้เทคนิคฉลุ สเตนเลส (Stainless Steel) ขนาดใหญ่เป็นลวดลายปลา

โดยติดตั้งถาวรบริเวณปากแม่น้ำเขาขนาบน้ำ หันหน้าออกสู่ทะเล เห็นทิวทัศน์อันสวยงามน่าสื่อความหมาย แว่นขยายหมายถึงดูของจริง กล้องส่องทางไกลซูมเห็นธรรมชาติหมายถึงการตอกย้ำเป็นจินตนาการจริง และเหนือจริง

ติดตั้งจอแอลอีดีบอกเล่าเรื่องราวธรรมชาติ เห็นความหลากหลายจากการชมประติมากรรมชิ้นนี้

 

ไม่ว่าเราจะได้รับความบันดาลใจจากมหกรรมศิลปะนานาชาติ ซึ่งมีอายุยาวนานอย่างเวนิส เบียนนาเล่ (Venice Biennale) หรือบางเมืองของประเทศญี่ปุ่นซึ่งใช้งานศิลปะเข้ามาเป็นตัวเชื่อมโยงเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซาดึงดูดผู้คนที่กำลังจะหันหลังทิ้งบ้านเมืองไปอยู่ที่อื่นให้หันหลังกลับคืนมาสร้างบ้านเมืองให้สดใสมีชีวิตชีวา เศรษฐกิจหมุนเวียนกลับมาฟื้นตัว จากความสามารถของศิลปินในการสอดแทรกศิลปะลงไปในธรรมชาติซึ่งงดงามอยู่แล้ว

จังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวมีจุดขายอันเป็นธรรมชาติที่สวยสดงดงาม ท้องทะเลสะอาด ลึกลงไปมีสัตว์น้ำ และปะการัง ในชีวิตประจำวันของประชาชนคนพื้นเมืองยังมีสิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอยู่แล้ว

จังหวัดกระบี่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสถานที่จัดงาน Thailand Biennale, Krabi 2018 ภายใต้แนวคิด “Edge of the Wonderland” หรือ “สุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์” โดยมีศิลปินร่วมสมัยชาวไทยและนานาชาติ ที่มีชื่อเสียงกว่า 70 ชีวิตจาก 24 ประเทศทั่วโลกมาร่วมกันสร้างงานศิลปะ พื้นที่หลักๆ สำหรับจัดติดตั้งผลงานของศิลปิน ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา, อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ท่าปอมคลองสองน้ำ เขาขนาบน้ำ และพื้นที่สาธารณะรอบตัวเมืองกระบี่

ศิลปินหญิงจากมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา เดินทางมาสร้างงานแปลกใหม่ ร่วมกับศิลปินไทย อาทิ คามิน เลิศชัยประเสริฐ, ยุรี เกนสาคู, ดุษฎี ฮันตระกูล, ชูศักด์ ศรีขวัญ และ “ศิลปินแห่งชาติ” ของไทย นอกจากกมล ทัศนาญชลี (2540) ยังมีวิโชค มุกดามณี (2555) ปัญญา วิจินธนสาร (2557) และสราวุธ ดวงจำปา (2560)

4 เดือนเต็มๆ กับ “มหกรรมศิลปะนานาชาติ” (THAILAND BIENNALE KRABI 2018) คงไม่ได้ตื่นตาตื่นใจแต่เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น คนไทยควรจะได้ไปสัมผัสความแปลกใหม่ของ “ศิลปะร่วมสมัย” ในประเทศไทย ที่สอดประสานกับธรรมชาติอย่างลงตัว

ยัง “เมืองกระบี่”