วิเคราะห์ : คสช. vs ทษช.

“ทษช.” เป็นตัวย่อของ “พรรคไทยรักษาชาติ”

เป็นอีกหนึ่งพรรคที่ตกเป็นกระแสข่าวว่าจะถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นพรรคสำรองที่เตรียมไว้กวาดคะแนนบัญชีรายชื่อ

ตามยุทธศาสตร์ “แยกกันเราอยู่ รวมกันเราตาย” ของพรรคเพื่อไทย

เหตุมีชื่อย่อว่า ทษช. นั้น

นัยยะหนึ่งคือเอา “ทษช.” มาสู้กับ “คสช.” (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)

อีกนัยยะหนึ่ง ยังเป็นตัวย่อที่พ้องกับชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งยังเป็น “แม่เหล็ก” ในการเรียกเสียงจากผู้สนับสนุน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พรรค ทษช. หากเกิดขึ้นจริง จะถูกวางให้เป็นพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทย

มีเป้าหมายเพื่อกวาดคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ โดย ทษช.จะเข้ามาในรูปแบบของการหยิบพรรคที่เคยจดทะเบียนจัดตั้งไว้กับ กกต.แล้วมาดำเนินการ ทำเรื่องขอเปลี่ยนชื่อพรรคในภายหลัง

ไม่ใช่การขอจดจัดตั้งพรรคใหม่ ซึ่งจะใช้เวลาน้อยกกว่า

แกนนำพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า ทษช.นี้เป็นของจริง

โดยสืบเนื่องมาจากยุทธศาสตร์เบื้องต้นที่จะมุ่งเน้นให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนกลางของพรรคในซีกประชาธิปไตย

ตรงข้ามกับพรรคทหารที่คาดว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรค “พลัง” ต่างๆ

ตามโมเดลพรรคในซีกประชาธิปไตย จะมีพรรคเพื่อไทยจะเป็นหลัก

ส่วนเพื่อธรรมจะเปรียบเสมือนถังดับเพลิงสีแดงเผื่อเกิดวิกฤตฉุกเฉินอุบัติเหตุ เช่น พรรคเพื่อไทยถูกยุบ ตามทิศทางข่าวจะพบว่าเริ่มมีกระแสดำเนินคดีกับอดีต ส.ส.เพิ่มเติมแล้ว

ด้านพรรคเพื่อชาติ เกิดจากปฏิสัมพันธ์จากแนวร่วมกลุ่ม นปช.

ส่วนพรรคไทยรักษาชาติ หรือ “ทษช.” ตั้งขึ้นเพื่อรองรับผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยอีกพรรค

เพื่อแก้ปัญหากฎกติกาในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ที่ออกแบบจะทำให้พรรคขนาดใหญ่อ่อนแอ ถึงจะได้ ส.ส.เขตจำนวนมาก แต่ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์จะหดหายหรือวูบลงไปตาม “สัดส่วน” ที่กำหนด

หากลงสมัครกันแบบเดิมๆ เพื่อไทยจะกลายเป็นพรรคอยู่ในระดับ 180-190 เสียง ทั้งที่เชื่อว่ามีศักยภาพที่จะได้ถึงครึ่งสภา คือ 250 เสียง

จึงได้วางพรรคแนวร่วม รวมถึง “พรรคไทยรักษาชาติ” ซึ่งย่อออกมาเป็น ทษช. พ้องกับชื่อของอดีตนายกฯ เป็นพรรคเสริม และพรรคตัวช่วย

แกนนำเพื่อไทยระบุว่า ในซีกของพรรคเพื่อไทยที่สนับสนุนประชาธิปไตย ตั้งเป้าไว้จะต้องได้ 250 ส.ส.

ซึ่งในทางปฏิบัติแม้เป็นไปได้ยาก แต่ทางทฤษฎียังเป็นไปได้อยู่

แต่หากเพื่อไทยได้ไม่ถึง 250 เสียง แต่ยังอยู่ในหลักสองร้อยต้นๆ 210-220 เสียง ก็อาจไปผนวกรวมกับพรรคที่มีจุดยืนทางประชาธิปไตยชัดเจน ทั้งพรรคสาขาอย่าง ทษช. และที่แตกออกไป ในนามกลุ่มพรรค “เพื่อ” รวมถึงพรรคแนวร่วม อย่างพรรคประชาชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคพลังปวงชนชาวไทย พรรคเสรีรวมไทย เพื่อจะรวมเสียงให้ถึง 250 เสียง

คะแนนในระดับ 250 เสียงนี้ เชื่อว่าหากทำได้ จะเพียงพอทำให้มี “แรงดูด” ให้พรรคขนาดกลางอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย ที่คาดว่าจะเป็นตัวแปรจัดตั้งรัฐบาลมาเข้าร่วมกับซีกประชาธิปไตยได้อย่างแน่นอน

นั่นจะทำให้เสียงในสภาซีกนี้ อาจจะเพิ่มไปถึง 280 เสียง

“เมื่อซีกประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรมมี ส.ส.ยืนพื้นได้ประมาณ 280 เสียง เชื่อว่าพรรคกลางจะฟังเสียงประชาชน กลายเป็นกระแสกดดัน 250 ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้ง ไม่กล้าดึงดันเลือกคนจากพรรคทหารมาเป็นนายกฯ แน่นอน เพราะถ้าตั้งรัฐบาลโดยมี ส.ส.ไม่ถึงครึ่งนั้นไปไม่รอดแน่”

นั่นคือ “เป้าหมาย” ที่พรรคเพื่อไทยวางไว้และต้องทำให้ถึง

จากเป้าดังกล่าวนี้เอง ทำให้นายทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ว่า “ชนะการเลือกตั้ง” แน่

โดยล่าสุด ประกาศผ่านสื่อญี่ปุ่นที่ฮ่องกงด้วยความเชื่อมั่นว่า พรรคภายใต้เครือข่ายของตัวเองจะได้รับเลือกตั้งและได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

นั่นคือจำนวน ส.ส.เกิน 250 ที่นั่ง

แล้วหากผนวกกับพรรคขนาดกลางที่มีนโยบายเป็นมิตรกับทุกฝ่าย อย่างชาติไทยพัฒนา และภูมิใจไทย

ขั้วทางการเมือง เพื่อไทยน่าจะได้ถึง 280-300 เสียง

สอดคล้องกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ย่อมไม่ใช่เรื่องดีสำหรับพรรคการเมืองอีกฝ่าย โดยเฉพาะในปีกพรรคกลุ่ม “พลัง” ที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

เพราะหากความ “เชื่อ” ฝังแน่นแล้ว กระแสจะหันเหไปในทิศทางดังกล่าวก็มีสูง

การจะเปลี่ยนความเชื่อ ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย

ดังนั้น จึงมีความพยายามผลักดันจากภายในพรรครวมพลังประชาชาติไทยเรียกร้องให้ กกต.สนใจต่ออุบัติแห่งพรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ และพรรคไทยรักษาชาติ อย่างเป็นพิเศษ

เพราะเท่ากับเป็นการครอบงำพรรค

ซึ่งมีโทษถึงขั้นการยุบพรรค

ที่น่าสนใจและน่าสังเกตในกรณีนี้ก็คือ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และแกนนำใน คสช. ได้กระโดดออกมาเป็นแถวหน้าด้วย

แม้ปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับพรรคพลังประชารัฐ

แต่ก็พยายามย้อนว่า ขนาดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อยู่ต่างประเทศยังพูดถึงพรรคของเขาเลย และถามว่าพูดแบบนั้นผิดหรือไม่

“ต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา” พล.อ.ประวิตรระบุ

“สื่อกระทุ้งสิ เพราะพูดอย่างนี้เกี่ยวข้องทุกพรรค พรรคเขาด้วย และพรรคเราด้วย” เมื่อถามว่า “พรรคเรา” ที่ระบุคือพรรคไหน พล.อ.ประวิตรตอบว่า “พรรคเราก็คือพรรครัฐบาล”

พร้อมกับพาดพิงถึงนายทักษิณว่า “อยากให้สื่อพูดว่าสิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาพูดมันกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงอย่างไร ช่วยเขียนทีนะ”

“มันเคลื่อนตลอด 4 ปีที่ไม่มีวันไหนหยุด หยุดไปสัปดาห์หนึ่ง เดี๋ยวก็ออกอีก”

พร้อมกับขู่ว่า “ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายทักษิณยังมีกฎหมายใหม่และมีคดีอีกเยอะแยะที่ยังไม่ดำเนินการ”

ปรากฏว่า หลังจากที่ พล.อ.ประวิตรออกมาพูดถึงเรื่อง กกต. และเรื่องคดีความต่างๆ ของนายทักษิณ

ก็มีการเคลื่อนไหวที่น่าจับตา

เมื่อ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกมาพูดถึงความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ เข้าข่ายครอบงำพรรคเพื่อไทยหรือไม่ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานทั้งจากภาพถ่าย คลิปและข่าว รวมถึงความเห็นของบุคคลต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา

“กกต.จะพิจารณาว่าพรรคการเมืองนั้นขาดความเป็นอิสระในการดำเนินกิจกรรมหรือไม่ หากเข้าข่ายความผิดจะส่งผลให้พรรคการเมืองนั้นถูกยุบพรรค”

พรรคการเมืองต้องไม่ยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคควบคุม ครอบงำหรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ และถ้ากรณีใดเห็นว่ามีมูล กกต.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริงและให้โอกาสผู้ร้อง ผู้ถูกร้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง”

แม้จะเป็นการพูดในเชิงหลักการ

แต่ก็ถือว่ามีท่าทีรับลูก คำขอของ พล.อ.ประวิตรอยู่ไม่น้อย

ทำให้ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต้องออกมาชี้แจงว่านายทักษิณไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับพรรค

ที่มีอดีต ส.ส.เดินทางไปพบที่ต่างประเทศเพราะเคารพนับถือเป็นการส่วนตัว พรรคไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง

“ขณะนี้พรรคจะทำอะไร ต้องระมัดระวัง ไม่เหมือนบางพรรคที่สามารถจะทำอะไรก็ได้” พล.ต.ท.วิโรจน์ระบุ

และปฏิเสธว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีพรรคย่อยและพรรคสำรองใดๆ

ขณะที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ดักคอว่า สิ่งที่เลขาฯ กกต.ตอบคำถามไป คงไม่ได้มีธงหรือรับใบสั่งใครในการมายุบพรรคเพื่อไทย

“นายทักษิณไม่ได้ครอบงำพรรคเพื่อไทยแน่นอน แต่ กกต.จะถูก พล.อ.ประวิตรครอบงำหรือไม่ ต้องให้การทำงานเป็นเครื่องพิสูจน์”

แน่นอนประเด็นนี้ กกต.เองก็คงต้องระมัดระวัง

เพราะขณะที่มุ่งเป้าไปที่พรรคเพื่อไทย ก็เริ่มมีเสียงตั้งข้อสงสัยว่า แล้วพรรคพลังประชารัฐ ที่มีคนเผลอพูดว่าเป็น “พรรคของเรา”

รวมถึงพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีสมญานามว่า “พรรคเทพเทือก” มีลักษณะถูกครอบงำ ชี้นำหรือไม่

นอกจากประเด็น กกต. ที่อาจจะบานปลายไปสู่การยุบพรรคแล้ว

ยังมีเรื่องคดี “เดิม” ที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยอ้างว่ากำลังมีการขุดคุ้ยขึ้นมาเล่นงานนายทักษิณและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีก

ทั้งนี้ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ระบุว่า มีกระแสข่าว ป.ป.ช.รายหนึ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยระบุว่ามีอคติต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์มาตลอด พยายามนำคดีระบายข้าว (จีทูจี) โดยนำสัญญาระบายข้าวที่เหลือมาดำเนินคดีใหม่อีกเป็นครั้งที่ 2 แต่กลับกล่าวหาบุคคลเพิ่มเติมนอกเหนือจากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

“โดยให้จำเลยหลายรายในเรือนจำให้การซัดทอดถึงนายทักษิณ ชินวัตร และเครือญาติ แลกกับสิทธิประโยชน์ที่ไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำ และยังมีสัญญาจะให้สิทธิประโยชน์แก่จำเลยรายอื่นๆ ด้วย ในเรื่องที่แตกต่างกันไป โดยพยายามให้เรื่องนี้สอดรับกับประกาศ ป.ป.ช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการกันบุคคลไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ.2561 ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม” นายนรวิชญ์กล่าว

และอ้างว่า เป็นเรื่องเศร้าและน่าอดสูใจอย่างยิ่งที่มีกรรมการ ป.ป.ช.บางคนนำองค์กรมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อทำลายชื่อเสียงของอดีตนายกฯ ทั้งสอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.ยอมรับว่ามีการหยิบขึ้นเข้ามาหารือจริง แต่ยังไม่มีข้อสรุป คาดว่าจะมีการนำกลับมาหารือกันอีกครั้งเร็วๆ นี้

นี่เป็นเพียงบางเรื่องที่ปูดออกมา

สะท้อนให้เห็นว่า เกมการเมืองของทั้งสองฝ่าย

คือ ฝ่าย คสช. ซึ่งตอนนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นด่านหน้านำลุยเรื่องยุบพรรค และฟื้นคดีเก่าๆ

กับฝ่าย ทษช. – ทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้ช่องว่างรัฐธรรมนูญช่วงชิงเอาชัยชนะ ภายใต้ยุทธศาสตร์ แยกกันเราอยู่ รวมกันเราตาย

สถานการณ์เข้มข้นขึ้นตามลำดับ

และคงจะถึงขีดสุดเมื่อการเลือกตั้งมาถึง

ด้วยเดิมพันของศึกครั้งนี้สูงมาก

เพราะมันคือ การครองอำนาจการเมือง ที่ใครๆ ต่างก็ต้องการ!