อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ทะเลจีนใต้ในมุมมองสหรัฐ

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่สหรัฐอเมริกาค้ำประกันเสรีภาพทางการเดินเรือในน่านน้ำเอเชีย การควบคุมทะเลเป็นทัศนะในการรักษาหลักการไม่มีรัฐอธิปไตยใดจะถูกแทรกแซงจากอีกรัฐหนึ่ง

การที่สาธารณรัฐประชาชนจีนแสดงความกล้าหาญทางด้านกำลังทางทหาร บวกกับการสร้างท่าเรือแล้วอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่นั้น

กำลังทดสอบแนวทางเดิมๆ และอาจนำไปสู่ประเด็นของความเป็นไปได้ในความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหรัฐอเมริกา

 

ทะเลจีนใต้

ทะเลจีนใต้ (South China Sea) ครอบคลุมตอนเหนือจากสาธารณรัฐประชาชนจีนถึงตอนใต้คืออินโดนีเซีย รวมพื้นน้ำ 3.6 ล้านตารางกิโลเมตร

ประเทศที่มีพรมแดนติดอยู่กับทะเลจีนใต้คือ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มาเลเซียและสิงคโปร์ทางตะวันตก และฟิลิปปินส์และบรูไนทางตะวันออก ครอบคลุมแหล่งจับปลาในราว 10% ที่จับได้ในโลก

และคาดว่ามีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

เป็นเส้นผ่านทางการค้าทางทะเลในปี 2016 นับได้เกือบ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งการค้าน้ำมันดิบทางทะเลเกือบ 30% ของการค้าน้ำมันดิบทางทะเลของโลก

มีความขัดแย้งกันที่อ้างทั้งในทะเล หิน ปะการังและเกาะ สาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างว่าเป็นประเทศผู้ครอบครองมากกว่า 80% ของทะเลจีนใต้ และอ้างแผนที่ที่ทำขึ้นในปี 1947 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนแสดงถึงเส้นเถ้าถ่าน 9 แห่ง โดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม บรูไน มาเลเซียและไต้หวันอ้างบางส่วนของทะเล สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องการให้ประเทศอื่นๆ ยอมรับการเดินเรือทางทหารผ่านส่วนที่สาธารณรัฐประชาชนจีนถือกรรมสิทธิ์อยู่

รวมทั้งยอมรับสิ่งที่สาธารณรัฐประชาชนจีนสร้างขึ้นคือ ดินแดนที่อ้างและเกาะเทียมที่สร้างขึ้น

 

จีน-สหรัฐ

สาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างบางส่วนของเนื้อที่ 3,200 เอเคอร์ของที่ดินใน 7 หมู่เกาะหรือก้อนหินใน Spratly archipelago มีการสร้างท่าเรือ ประภาคาร ถนนและอุปกรณ์ทางทหารอื่นๆ

ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน สี จิ้น ผิง (Xi Jinping) บอกกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา (Barack Obama) ในปี 2015 ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้ตั้งใจก่อสร้างอุปกรณ์ทางทหาร เมื่อใดที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ทางทหารเปิดเผยออกมา รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจะกล่าวเสมอมาว่า ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ป้องกัน

ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นไม่มีสถานะอะไรที่จะแข่งขันเอาชนะกับประเทศในเอเชียที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้และหมู่เกาะต่างๆ

แต่กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาดำเนินการเสรีภาพของการเดินเรือ (Freedom-of-Navigation) โดยการส่งเรือรบและเครื่องบินมาใกล้เขตน่านน้ำที่มีความขัดแย้ง เพื่อแสดงสิทธิในการเดินเรือผ่านในบริเวณที่พิจารณาว่าเป็นน่านน้ำสากลและน่านฟ้าสากล

โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาส่งเรือรบจำนวน 8 ลำผ่านเข้าไปบริเวณน่านน้ำสากลนับตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เป็นประธานาธิบดีในปี 2017

อนุญาโตตุลาการศาลระหว่างประเทศปฏิเสธข้ออ้างของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2016 หมายความว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิในประวัติศาสตร์ต่อทรัพยากรที่อยู่ในทะเลที่ตกอยู่ใน

เส้นประเถ้าหิน 9 แห่งนั้นซึ่งฟิลิปปินส์เป็นผู้นำเรื่องนี้ฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการศาลโลก หมายความว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่สามารถอ้างว่าบริเวณนั้นเป็นท้องทะเลหรือเขตอธิปไตยของตน

แต่ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ปฏิเสธคำตัดสินนั้น โดยอ้างว่า อนุญาโตตุลาการไม่มีสิทธิทางกฎหมาย

 

แนวโน้ม

เรื่องปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ไม่จบลงง่ายๆ ความจริงไม่มีทางจบลงมากกว่า อีกทั้งเป็นจุดเปราะบางเพราะโดยพื้นฐานเรื่องนี้เกี่ยวข้องทั้งทรัพยากรธรรมชาติ การเดินเรือและเส้นทางการค้าสำคัญของโลก มีประเด็นเรื่องอธิปไตย ซึ่งยุ่งยากเป็นอันมากเมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนมีพลังอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารมากขึ้นกว่าเดิมมาก ทำให้ทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์สำคัญของหลายๆ ประเทศไปพร้อมกันด้วย

ยังมีประเด็นที่น่าคิดต่อไปคือ

ประการแรก นโยบายที่หุนหันและบุ่มบ่ามของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อันเป็นการจุดประกายความขัดแย้งไปทั่วโลกจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือการคาดการณ์ผิดๆ ทั้งของสหรัฐอเมริกาเองและทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนในกรณีทะเลจีนใต้โดยง่ายๆ หรือไม่

ประการที่สอง ถึงแม้เรื่องทะเลจีนใต้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับนานาชาติ แต่ก็เกี่ยวข้องโดยตรงกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แน่นอนองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาคอย่างอาเซียน ย่อมเกี่ยวพันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นนี้คือ ผมไม่ได้หมายความว่า อาเซียนจะเข้าไปจัดการปัญหาที่ใหญ่มากอย่างปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งนับวันมหาอำนาจจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ที่น่าสังเกตสำหรับผมคือ ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ได้เข้ามาเล่นงานอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างมากและโดยตรงยิ่งขึ้น

กลายเป็นว่า ปัญหาทะเลจีนใต้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอันหนึ่งที่ถูกใช้เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในเวลาที่ประเทศใดประสบโอกาสนั้นๆ

ดังนั้น การเป็นประธานอาเซียนของชาติใดในแต่ละปีจึงมีความสำคัญและความหมายอย่างยิ่งต่อปัญหาทะเลจีนใต้และอาเซียนมากขึ้น

นี่เป็นความเปราะบางของภูมิภาค