วิถี แห่ง ความว่าง ธรรมบรรยาย พุทธทาสภิกขุ ทำอย่างไรจึงจะว่าง

ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับอาราธนาให้ไปแสดงธรรมที่สวนอุศมฯ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2509 ท่านเลือกที่จะแสดงในหัวข้อเรื่องว่า

“ทำอย่างไรจึงจะว่าง”

นี่คือความต่อเนื่องจากการแสดงธรรมที่สวนอุศมฯ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2508 ในหัวข้อ “เรื่องไม่ต้องทำอะไร”

เป็นความต่อเนื่องเหมือนปาฐกถาธรรม ณ หอประชุมโรงพยาบาลสงฆ์

สะท้อนให้เห็นว่าในระยะปี 2508 กับปี 2509 ท่านพุทธทาสภิกขุได้นำเอาเนื้อหาว่าด้วย “ความว่าง” มาบรรยายอย่างเป็นพิเศษ

จากนั้นจึงมีอีกในปี พ.ศ.2512 จนถึงปี พ.ศ.2514

กระทั่งนำมารวมพิมพ์เป็นเล่มขนาดใหญ่ภายใต้หัวข้อเรื่อง “สูญญตาธรรม” สุญญตาปริทรรศน์ฉบับรวมเล่มบริบูรณ์ ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2516 และพิมพ์ต่อเนื่องมาหลายครั้งจนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2535

ถือได้ว่าเป็นการประมวลเรื่องราวอันเกี่ยวกับ “สุญญตา” หรือ “ความว่าง” มาได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด

สะท้อนให้เห็นความสนใจในเรื่อง “ความว่าง”

และนี่คือห้วงสุดท้ายของธรรมบรรยาย “ทำอย่างไรจึงจะว่าง” อันเป็นของท่านพุทธทาสภิกขุก่อนจะเข้าสู่สภาวะอันสมบูรณ์ครบถ้วน

ต้องอ่าน

 

ถ้าคนหลับหูหลับตามากเกินไปก็ไม่อาจได้ยินคำสอน คล้ายๆ กับว่าธรรมชาตินั้นบรรเลงเพลงที่ไพเราะอยู่เสมอ เต่าหรือแรดมันก็ไม่ได้ยิน

ก้อนหิน ต้นไม้ ทะเล ฯลฯ แสดงธรรมอยู่เสมอ เต่าหรือแรดนี้ก็ไม่ได้ยิน

เว้นไว้แต่จะได้แก้ไขให้พ้นไปจากความเป็นเต่าเป็นแรด ก็จะได้ยินก้อนหิน ต้นไม้ ทะเล ภูเขา ฯลฯ แสดงธรรมอยู่เสมอ บรรเลงเพลงที่ไพเราะ คือ เรื่องว่าง ไม่มีทุกข์เลยนี้อยู่เสมอ แล้วก็จะกลายเป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง

คือ ทุกข์กับใครไม่เป็น

 

รวมความแล้วก็เรียกว่า ในตัว “ความว่าง” นั่นแหละเป็น “พระพุทธเจ้า” เป็น “พระธรรม” เป็น “พระสงฆ์” อยู่แล้ว

ฟังดูให้ดี

ในตัว “ความว่าง” นั่นแหละเป็น “พระพุทธเจ้า” เป็น “พระธรรม” เป็น “พระสงฆ์” อยู่แล้ว คือ เป็นผู้สอน เป็นสิ่งที่ถูกสอน และเป็นตัวอย่างของผู้ที่ปฏิบัติสำเร็จแล้วให้ดู

ฉะนั้น เราไม่ต้องไปหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่ไหน หาพบได้ใน “ความว่าง”

ในตัว “ความว่าง” นั้นเป็นการบริจาคทานอย่างยิ่งอยู่แล้วเพราะไม่มีอะไรเหลือเป็นของของเรา หรือตัวเรา จึงเป็นการบริจาคทานอย่างยิ่ง และเป็นโลกุตตรศีล โลกุตตรสมาธิ โลกุตตรปัญญาอยู่แล้ว เพราะเป็นศีลที่จริง สมาธิที่จริง ปัญญาจริง เพราะอำนาจของ “ความว่าง” อยู่แล้ว

จึงพูดได้ว่าในคำว่า “ว่าง” คำเดียวนั้นย่อมแสดงสัจธรรมทั้งหมด ผู้มีตา มีหู มีจิต มีใจก็เอาไปสนใจพิจารณาศึกษาดูมันให้ดีๆ

ถ้าสมมติว่าจะไปสวนโมกข์ อย่าคิดว่าจะไปดูโรงหนัง ให้คิดว่าไปฟังก้อนหินมันพูด ต้นไม้มันพูด ลำธารมันพูด นี่แหละจะได้อะไรๆ ที่ดีกว่ามีอยู่ในโรงหนัง คือ “ความว่าง” ที่เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เป็นทาน เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นทุกอย่าง

หรือจะไปที่ภูเขาไหนก็ตาม ไปที่ชายทะเลไหนก็ตาม พยายามไปเถอะจะได้ดื่มรสของ “ความว่าง” ใกล้ชิดกับ “ความว่าง” สมรสกับ “ความว่าง” แล้วจะก้าวหน้าได้เร็วที่สุด ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้

ทันแก่ชีวิตนี้

ส่วนอาชีพการงานอื่นๆ นั้นต้องพิจารณาในแง่ว่ามันต้องไม่เป็นทุกข์ ถ้าเป็นทุกข์แล้วป่วยการทำ ถ้าจะทำไม่ให้เป็นทุกข์ต้องเอา “ความว่าง” เข้ามาด้วย เราต้องศึกษา “ความว่าง” เพื่อทำให้ชีวิตและการงานไม่เป็นทุกข์

ถ้าจะตั้งปัญหาว่า “มีเงินทำไม” ตอบว่า “เพื่อให้ชีวิตนี้สะดวกสบาย”

“สะดวกสบายไปทำไม” ก็จะต้องตอบว่า “เพื่อให้มีชีวิตอยู่ ไม่ตาย เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้”

แล้วมันหนี “ความว่าง” ไปไม่พ้น

เพราะฉะนั้น เราอย่าไปสนใจในเรื่องการงานเสียจนหมดเวลา จนไม่มีเวลามาสนใจเรื่อง “ความว่าง” แล้วปัญหาก็จะหมดไปไม่ต้องมาถามเหมือนอย่างที่ถามเมื่อเข้ามาทีแรกว่า “ทำอย่างไรจึงจะว่าง”

 

ถามว่าหลังจากท่านพุทธทาสภิกขุได้นำเสนอธรรมบรรยายว่าด้วย “ความว่าง” อย่างเอาจริงเอาจังท่านได้รับผลสะเทือนอย่างไร

นอกเหนือจากการนำเอา “หัวใจ” 1 ของพุทธธรรมมาแผ่แบ ณ เบื้องหน้าประชาชน

แน่นอน ผลสะเทือนนั้นย่อมมีทั้งในด้านที่ชื่นชม ยกย่อง เคารพ นับถือ และมีทั้งที่ตั้งแง่สงสัยและแสดงความไม่เห็นด้วย

เราจะสำรวจและศึกษากัน