Scansonic MK5 Mini-Monitor Speaker สุดยอดลำโพงเสมือนอยู่ในโถงแสดงจริงๆ

คุณสมบัติทางเทคนิคของ Scansonic MK5 นั้น ผู้ผลิตระบุว่าให้การทำงานตอบสนองความถี่ 60Hz-25kHz อิมพีแดนซ์ปกติ 8 โอห์ม (Nominal 4-Ohm) วัดค่าความไวได้ 88+/-2dB ควรใช้กับแอมปลิไฟเออร์ที่มีกำลังขับระหว่าง 50-80 วัตต์/ข้าง มิติโครงสร้างตู้ (กว้าง x สูง x ลึก) 151 x 275 x 208 มิลลิเมตร น้ำหนัก 7.9 กิโลกรัม/ตู้

ในเอกสารกำกับลำโพงที่เป็น Owner”s Manual นั้น ไม่ได้ระบุหรือให้คำแนะนำอะไรเกี่ยวกับการเล่นหรือใช้งานไว้มากนัก มีเพียงบอกให้รู้ว่ามันต้องการ Running-Time ประมาณ 15-20 ชั่วโมง เท่านั้น

แม้ว่า Scansonic MK5 จะมีขาตั้งเฉพาะเป็นออปชั่น แต่มิได้ส่งมาให้ลองด้วย ผมจึงใช้ขาตั้งปกติที่ใช้อยู่ประจำห้อง ที่มีความสูงอย่างเหมาะสมคือ 2 ฟุต (บวกเพิ่มอีก 1 นิ้วของ Spike) โดยวางลำโพงไว้ห่างกัน 6 ฟุต ภายในห้องขนาด 30 ตารางเมตร (โดยประมาณ) และได้มีการ Toe-In โดยเอียงเข้าหากันประมาณ 10 องศา

เป็นเพราะแรกที่เห็นว่าลำโพงที่มีขนาดสูงประมาณศอก และกับข้อมูลในสเป๊กที่ออกจะแตกต่างกันคือ ที่ระบุเอาไว้บนแผ่นข้อมูลด้านหลังลำโพงนั้น บอกให้ใช้กับแอมป์ (Recommended Amplifier) ขนาด 10-120 วัตต์ แต่ในเอกสารหมายข่าวให้สื่อมวลชน กลับระบุ Nominal/Max Power – 2x50W/2x80W ดังที่บอกข้างต้น ผมจึงหยิบแอมป์กำลังขับ 40 วัตต์/ข้าง มาใช้ด้วยความเชื่อว่าน่าจะเอาอยู่ เนื่องเพราะแม้จะมีกำลังขับไม่ถึง 50 วัตต์ แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นแอมป์ที่มีกำลังสำรองสูง เป็นแบบ High Current ขับลำโพงใหญ่เกินตัวหลายคู่ได้สบายๆ มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ใจก็มีหวั่นหน่อยๆ กับตัวเลขค่าความไว (Sensitivity) ที่บอกในสเป๊กอยู่เหมือนกัน

แล้วก็เป็นอย่างที่ใจหวั่นครับ คือแม้แอมป์จะขับเสียงออกมาให้สัมผัสพอได้ความดี แต่ก็ได้แบบบอกให้รู้อยู่ในทีเหมือนกันว่ายังไม่ค่อยจะสุดนะ เพราะเสียงที่ออกมาให้ได้ยินนั้นเป็นแบบมีอั้นๆ กั๊กๆ ชวนให้รู้สึกอึดอัดอยู่หน่อยๆ คือยังไม่ได้ปลดปล่อยให้หลุดออกมาแบบพรูพร่างแต่อย่างใด

แต่ผมก็ยังคงปล่อยให้ทำงานร่วมกันไปเรื่อยๆ จนเกือบหมดแผ่น จึงเปลี่ยนเอาแอมป์เครื่องอื่นมาลอง

แต่ที่มีอยู่ในห้องเวลา ณ นั้น นอกจากแอมป์ตัวที่ว่าแล้ว อีกเครื่องที่มีก็กระโดดไป 180 วัตต์/ข้าง กับราคากว่าแสนโน่นเลย ซึ่งดูมันไม่ค่อยจะคู่ควรกันสักเท่าไร เนื่องเพราะลำโพงคู่นี้ราคาประมาณสามหมื่นต้นๆ แต่ช่วงเวลานั้นหาเครื่องอื่นใดใกล้มือไม่ได้ ก็เลยจับมาลองกันดู

อย่างน้อยๆ ก็พอจะได้รู้ว่าสุดๆ ของลำโพงคู่นี้เป็นอย่างไรเมื่อจับมาเล่นกับแอมป์ระดับนี้

ปรากฏว่าแค่แทร็กแรกของแผ่นเดียวกัน เหมือนนักร้อง นักดนตรี ทำงานกันแบบคนละอารมณ์แล้วล่ะครับ หรือไม่ก็ก่อนหน้านั้นร้องและเล่นกันออกมาแบบขอไปที เหมือนรู้ตัวว่าทำงานไปก็ไม่ได้กะตังค์

แต่พอเปลี่ยนแอมป์เข้ามาใหม่ เสียงร้อง เสียงดนตรีจากแต่ละแทร็กในแผ่น Audiophile Female Voices 2 ที่ให้ออกมานั้น มันเหมือนได้รับการอัดฉีดอย่างเกินพอ

จึงทั้งร้องทั้งเล่นกันอย่างเต็มที่ จนทีแรกที่มัวแต่ใส่ใจอยู่กับเสียงที่ออกมานั้น ลืมไปเลยว่ากำลังฟังลำโพงตัวสูงกว่าคืบหน่อยเดียว กระทั่งอิ่มกับเสียงแบบให้รู้สึกว่าเข้าท่าเข้าทางแล้วนั่นแหละครับ จึงได้พินิจลำโพงอย่างเต็มที่อีกครั้ง

และก็เป็นตอนนั้นแหละครับ ที่ตระหนักว่าลำโพงคู่นี้ให้เสียงออกมาเกินตัวจริงๆ

และเมื่อดูย้อนกลับไปถึงการตั้งวางตั้งแต่แรก (ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนตำแหน่งอะไรเลย) ก็พบว่าภาพลักษณ์ต่างๆ บนเวทีเสียง ไม่ว่าจะในแง่ Image หรือ Soundstage ตลอดจน Focus ต่างก็สามารถให้ออกมาในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดว่าลำโพงคู่นี้มิได้ยุ่งยากในการหาตำแหน่งวางภายในห้องแต่อย่างใด จึงนับเป็นอีกความน่าทึ่งของลำโพงคู่นี้ที่ได้สัมผัสตั้งแต่ต้นตั้งแต่ได้เปลี่ยนแอมป์ที่มีกำลังขับมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อความเป็นไปในความเป็นจริงที่เหมาะที่ควร วันต่อมา ผมจึงหาแอมป์ที่มีราคาค่าตัวที่พอจะไปกันได้กับมันมาลองต่อใช้งานดู โดยเป็นแอมป์ที่มีกำลังขับ 150 วัตต์/ข้าง, ที่ 8 โอห์ม กับราคาสามหมื่นมีทอนแบบเหลือให้เรียกแท็กซี่กลับบ้านได้ แต่ก็เป็นหลังจากที่ต่อฟังกับแอมป์ตัวกว่าแสนจนชุ่มฉ่ำใจไปพักใหญ่ๆ แล้วล่ะครับ

เพราะยังติดใจในเสียงร้องไม่รู้หาย ผมจึงนำแผ่น Audiophile Female Voices 2 กลับมาลองอีกครั้ง พร้อมกับฟังแบบ “เอาเรื่อง” ไล่ไปแต่ละแทร็กที่คือความเคยคุ้น

พบว่าเสียงร้องที่ให้ออกมายังโดดเด่นด้วยความอวบอิ่ม ถึงพร้อมในรายละเอียด

และที่น่าชื่นชมมากก็คือบรรยากาศเสียง ที่มีความเป็นธรรมชาติมาก เสียงจากแต่ละชิ้นเครื่องดนตรีมีความสมบูรณ์อย่างสมจริง โดยเฉพาะกับเสียงเปียโน เสียงกรีดสายอะคูสติก กีตาร์ ตลอดจนเสียงกลุ่มเพอร์คัสชั่น ให้บรรยากาศออกมาอย่างโอบล้อมเสมือนอยู่ในโถงแสดงจริงๆ แม้ว่าคราวนี้ความเนียน นุ่ม และความกลมกลึงของเสียงจะขาดหายไปบ้างอันเนื่องมาแต่แอมป์ที่เปลี่ยนไป

แต่หากไม่นำมาเปรียบเทียบกัน ก็บอกได้เลยว่านี้คือชุดที่ลงตัวกันอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะกับการให้รายละเอียดเสียงนั้น ต้องบอกว่าให้ออกมาแบบแยกแยะแจกแจงกันให้รับรู้ได้แบบจะจะกันไปเลย ยิ่งช่วงต่อๆ มาที่เริ่มใช้แผ่นสามัญประจำห้องเข้ามาร่วมแจมด้วย รวมทั้งพวก “แผ่นเดียวเอาอยู่” ที่เป็นเครื่องมือติดตัวเวลาออกไปฟังนอกห้อง

ผลที่ได้ล้วนแล้วแต่เป็นความรื่นรมย์จากลำโพงคู่นี้อย่างเต็มที่แบบเอาการได้อยู่

และเมื่อลงไปในรายละเอียดของตำแหน่งวางหลังจากที่ได้ลองขยับไป ฟังไป ผมพบความลงตัวในห้องนี้ที่ความห่างกันระหว่างลำโพงทั้งสองที่ใกล้ๆ 6 ฟุต ซึ่งกระเถิบเข้ามาใกล้กว่าที่วางตอนแรกเล็กน้อย และห่างผนังหลังประมาณฟุตเศษๆ ส่วนตำแหน่งนั่งฟังอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างลำโพงเป็นระยะห่างเท่ากับลำโพงทั้งคู่เมื่อวัดจากจุดศูนย์กลางตู้ ในลักษณะของการลากเส้นแบบตัวอักษร T สองเส้นที่ตั้งฉากกันนั้น มีความยาวเท่ากันครับ

สำหรับการโท-อิน ก็ใช้ที่ประมาณ 10 องศา เท่าเดิม สิ่งที่ได้ในแง่ของอิเมจ, ซาวด์สเตจ และโฟกัส คือความชัดเจนอย่างเสมือนจริง รูปวงดูกระชับขึ้นกว่าเดิมในลักษณะที่มีความเป็นระเบียบแบบเป็นแถว เป็นแนว ชัดขึ้น สมบูรณ์ขึ้น ตำแหน่งนิ่งและมั่นคงดี มิติเยี่ยม

สรุปลงตรงนี้ได้แบบสั้นๆ ว่าครบเครื่องครับ คือมิเพียงให้เสียงร้องออกมาได้อย่างโดดเด่นเท่านั้น ลำโพงคู่นี้ให้รายละเอียดเสียงดีมาก

แยกแยะเสียงของแต่ละชิ้นเครื่องดนตรีออกมาให้รับรู้ได้อย่างน่าพอใจ