วิเคราะห์ “ลุง” กับ “ไซเบอร์ธิปไตย”

วันที่ 14 กันยายน 2561 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ 13/2561

เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม)

โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ เป็นการผ่อนคลายการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่จำเป็นบางกรณี

เช่น การระดมทุนเข้าพรรค การเปิดรับสมาชิกพรรค การเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค

รวมถึงพรรคการเมืองจะประชาสัมพันธ์ หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ภายในพรรคการเมือง และสมาชิกของพรรคการเมืองของตน โดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้

แต่การดำเนินการต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง

แถมยังระบุว่า ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และ คสช.อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์หรือการติดต่อสื่อสาร ที่จะมีผลกระทบต่อความมสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือสั่งให้มีการระงับก็ได้

ประกาศ คสช. ที่ 13/2561 นี้เอง ทำให้ฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะพรรคและนักการเมืองข้องใจ และวิพากษ์ ว่านี่มิใช่คลายล็อกจริง

เพราะยังห้าม “หาเสียง” ผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่

จึงเรียกร้องให้คลายล็อกตรงนี้โดยเร็ว

แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลและ คสช.จะไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง

ยังยืนกรานไม่ให้มีการหาเสียงทางโซเชียล

แต่จู่ๆ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 14 ตุลาคม 2561

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับเปิดตัวเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha, ไอจี “Prayut Chan-o-cha” และทวิตเตอร์ “Prayut Chan-o-cha” พร้อมทั้งเปิดเว็บไซต์ส่วนตัว www.prayutchan-o-cha.com เมื่อช่วงเย็นวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา

โดยโพสต์ข้อความอธิบายเหตุว่า

“ผมเปิดเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อเป็นอีกช่องทางการสื่อสารนโยบาย การทำงาน และเป็นช่องทางที่ผมและพี่น้องประชาชนเข้าถึงกันได้ดียิ่งขึ้น หากท่านมีข้อเสนอแนะ ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือต้องการให้ผมไปดูแล แก้ปัญหา เขียนเล่าสู่กันฟังได้ครับ”

การกระทำนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ทันที

เพราะด้านหนึ่ง ห้ามนักการเมืองหาเสียงทางโซเชียล

แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับใช้ข้อได้เปรียบของตัวเอง คือ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคใด (อ้างว่า) ไม่ได้เป็นนักการเมือง เป็นเพียงผู้สนใจทางการเมือง

มาเปิดเฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์

โดยไม่สนใจว่าจะ “เอาเปรียบ” คนอื่น

เพราะเพียงวันกว่าๆ มีผู้เข้าไปกดไลก์บนหน้าเพจเฟซบุ๊กแล้วกว่าแสนไลก์

ถือว่าได้รับความนิยมรวดเร็ว

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์จะกระโดดเข้ามาเล่นในพื้นที่นี้

แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีเว็บไซต์ของฝ่ายรัฐมากมายที่เป็นช่องทางสื่อสารของ พล.อ.ประยุทธ์ไปยังประชาชน

ไม่รวมกับเพจแฟนคลับ ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย ที่ออกมาช่วย พล.อ.ประยุทธ์ “ต่อเชื่อม” กับชาวเน็ต

แต่นั่นก็ไม่ถือว่าเป็น “แหล่งตรง”

นี่จึงนำมาสู่การเปิดเฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์ ในนาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง

เพื่อหวังจะสื่อสารไปยังชาวบ้าน ก่อนที่จะกระโดดเข้าสู่การเมืองอย่างเต็มตัว ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ซึ่งอาจจะล่าช้าไป

ยิ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบนักการเมืองรุ่นใหม่อย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ระบุว่า

“4 เดือนของการก่อตั้งพรรค เรามีอาสาสมัครออนไลน์ 8,000 คน เพจเฟซบุ๊กอนาคตใหม่ล่าสุดเกือบจะ 100 เฟซฯ อาทิ อนาคตใหม่ระยอง เป็นต้น เกิดขึ้นจากคนที่อยากเข้าร่วมกับเรา อยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง วันนี้ในเฟซบุ๊กของเรามีคนเข้ามากดไลก์ กดแชร์เดือนละ 1.5 ล้าน มากกว่าพรรคการเมืองทุกพรรค มากกว่านักการเมืองทุกคน ไม่มีพรรคการเมืองหรือนักการเมืองคนไหนมียอดกดไลก์ กดแชร์มากถึงเดือนละ 1.5 ล้าน”

ฟังข้อมูลตามนี้ พล.อ.ประยุทธ์จึงอยู่เฉยไม่ได้

ต้องกระโดดเข้าไปเล่นด้วย

ไม่สนใจว่าจะมีการต่อต้าน

โดยยืนกรานว่านี่ไม่ใช่การหาเสียง แต่เป็นการสื่อสารผ่านโลกดิจิตอล

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ชี้ว่าทำได้

ที่สำคัญทุกพรรคก็ทำ จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับตนด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่สนใจ

แต่เสียง “วิพากษ์” ก็กระหึ่ม โดยเฉพาะจากฟากการเมืองก็ไม่ได้ลดลง

นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เตือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ระวังจะโดนประชาชนคอนเมนต์ถล่มเพจจนต้องปิดหนี

ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไหนๆ พล.อ.ประยุทธ์จะสื่อสารผลงานของรัฐบาลผ่านทางโซเชียลมีเดียแล้ว ก็อยากให้แก้ไขคำสั่งที่ 13/2561 ที่ห้ามพรรคการเมืองสื่อสารกับประชาชนผ่านทางโซเชียลมีเดียเสียเลย

“สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำไม่ต่างอะไรกับการหาเสียง ดังนั้น ขอให้แก้ไขคำสั่งดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและนักการเมืองสามารถสื่อสารกับประชาชนผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ด้วย ไม่ใช่ท่านทำได้อยู่คนเดียว แบบนี้ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ” นายสามารถกล่าว

ด้านคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศลงการเมือง แล้วใช้โซเชียลเพื่อการหาเสียงก็ควรเปิดโอกาสให้คนอื่นทำได้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าจะห้ามก็ต้องห้ามทั้งหมด

ขณะที่นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า ทราบจากข่าวว่า นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นทีมแอดมิน จึงหวังว่านายพุทธิพงษ์จะซื่อสัตย์ ด้วยการเสนอทุกความเห็นให้ พล.อ.ประยุทธ์อ่าน ไม่ใช่เสนอเฉพาะความเห็นที่ชื่นชม มิเช่นนั้น ความจริงจะถูกเบี่ยงเบน

คํากล่าวของนายชำนาญ จันทร์เรือง ข้างต้น ดูชี้เป้า “ไซเบอร์ธิปไตย” ได้ตรงที่สุด

อันนำมาสู่การหยอกเอิญของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร ที่ได้โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ส่วนตัว Oak Panthongtae ว่า

“ยินดีต้อนรับครับ! ท่านนักการเมืองจำเป็น เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน#ลุงฉุนเป็นคนตลก”

และโพสต์ข้อความทางอินสตาแกรม Oak_ptt อีกว่า

“ลุงฉุนรับสมัครนักรบไซเบอร์ไหมครับ ลบเร็ว ลบหมด ลบทุกคอมเมนต์# ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะครับ”

ซึ่งเป็นเสมือนการเตือนกลายๆ ว่า ความเห็นบนเฟซบุ๊ก ไอจี และทวิตเตอร์นั้นจะไม่มีเพียงคำชื่นชมเท่านั้น

หากแต่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ ด่าทอด้วย ซึ่งแม้จะมีนักรบไซเบอร์มาช่วยลบก็คงลบไม่ไหว

ดังนั้น โลกโซเชียลจึงอาจเป็นดาบสองคมได้ คือจะมีฝ่ายต่อต้านหรือไม่ชื่นชอบเข้ามาใช้พื้นที่เพจ ด่าทอ วิพากษ์วิจารณ์ เจ้าของเสียเอง

ซึ่งจะไปว่าใครก็ไม่ได้ เพราะตนเองเป็นคนเปิดประตูให้เขาเข้ามาเอง

และนี่คือตัวอย่างข้อความและความเห็นในเฟซบุ๊กของ พล.อ.ประยุทธ์

Akaraphol Jenwanichkul : นายกเค้าเปิดให้ประชาชนเสนอ แลกเปลี่ยน ความเห็น

มีไม่กี่ที่ในโลกนะครับ ที่นายกจะมาเป็นเอดมินเอง

ตัดอคติออก ให้ท่านได้ทำงานดีกว่า

ส่วนตอนเลือกตั้ง จะเลือกไม่เลือก ก็แล้วแต่ท่าน

Kru Deaw Rattanakul : ใครเชื่อว่าเล่นเองก็บ้าละ ชิบหายย

Akaraphol Jenwanichkul : ใครคิดไงแล้วแต่ท่าน ผมแค่โอเคกับไม่ต้องเล่นกีฬาสี

Natee Chookorn : โลกสวยชิบหาย แม่งเปิดหาเสียง ในขณะที่มันล็อกคนอื่นไม่ให้ทำ

แล้วสั้นๆ นะ กูไม่สนับสนุนรัฐบาลเถื่อนเว้ยยยย

สมบัติ บุญงามอนงค์ : รับสมัครแอดมินมั้ยครับ พอดีไม่มีเงินใช้ บัญชีธนาคารถูกอายัดมาสี่ปีกว่าแล้ว

Sahaow Suedsom : ลุงตู่ทำความดีให้ชาติ สิ่งดีๆ ต้องปกป้องคุ้มครองลุงตู่ ส่วนพวกชั่วๆ ชังชาติอย่างขี้ข้าแดงและไอ้อีกบฏรกชาตินับวันต้องตกต่ำไกลตายห่าและดิ้นเป็นขี้ข้าแดงถูกเชียดทุกตัวจริงไหมสวะชั่วทุกๆ ตัว

Bellawan Tippayakorn : รักทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ค่ะ

รักทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ค่ะ

รักทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ค่ะ

รักทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ค่ะ

รักทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ค่ะ

VaVa Nis : รักมากไม่ตามไปอยู่กับเค้าล่ะคะ ไปนั่งๆ นอนๆ ให้เค้าเลี้ยงดู ให้สมกับความจงรักภักดีนะคะ 555

Karnokporn Pongsattapichate : ถึงจะมีทีมด่ามาก ก็อย่าไปสนใจเลยค่ะ ก้อนหินก้อนกรวด ย่อมมีมากกว่าเพชรแท้เป็นธรรมดา ใจท่านเป็นเพชรแท้ ขอให้ท่านหนักแน่นแบบเพชรแท้ตลอดไปนะคะ สู้ สู้ ค่ะ

ฯลฯ

จะเห็นว่า ดุเดือด และยากที่จะคุมประเด็น

ซึ่งนี่คือโลกไซเบอร์ ใครหวังว่าจะได้รับคำชื่นชมอย่างเดียว อาจจะผิดหวัง

พล.อ.ประยุทธ์ดูจะทำใจไว้พอประมาณ จึงได้โพสต์ข้อความหลังจากเปิดเพจระยะหนึ่งว่า

“ขอบคุณทุกคนมากที่ให้ความสนใจในการที่ผมเปิดเฟซบุ๊ก เห็นคนเขียนมาหามากมาย ผมดูแล้วส่วนใหญ่จะมาเขียนเอาสนุก ทั้งชอบ ทั้งไม่ชอบ เป็นเรื่องปกติ ผมเปิดเฟซบุ๊กเพราะต้องการทราบปัญหาของพี่น้องประชาชน ผมจะได้หาแนวทางให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงไปดูและแก้ปัญหา ตอนนี้หากใครมีปัญหา หรือข้อแนะนำอะไรลองเข้าเว็บไซต์ของผม ผมมีทีมงานช่วยเอาข้อมูลมาให้ผมดูโดยตรง อาจจะตอบช้าบ้าง แต่ยังไงผมก็จะพยายามติดตามอ่านให้ได้มากที่สุดครับ”

ขณะเดียวกันให้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาอธิบายว่า ปัจจุบันเป็นโลกยุคใหม่ที่ต้องสื่อสารหลายทางกับประชาชน เราต้องปรับตัว การมีประชาชนติดตามเป็นจำนวนมากย่อมสะท้อนให้เห็นว่ามีคนสนใจ แม้มีคนแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ก็ต้องอดทนอ่านสิ่งที่เขาสะท้อนออกมาให้ได้

“นายกฯ เข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติที่มีคนแสดงความเห็นทั้งดีและไม่ดี จะรักหรือไม่รักก็ไม่เป็นอะไร ไม่ได้ท้อใจ” พล.ท.สรรเสริญระบุ

จะอดทน ไม่แปลงร่างเป็น “ลุงฉุน” ในโลก “ไซเบอร์ธิปไตย” ได้นานเท่าใด

โปรดติดตาม