“คม” ความคิด เทวินทร์ วงศ์วานิช : ทางออกปัญหาพลังงานไทยตามหลักอริยสัจ 4

“คม” ความคิด (4)

ทางออกปัญหาพลังงานไทยตามหลักอริยสัจ 4

เราจะพูดถึงทางออกของปัญหาพลังงานไทยตามหลักธรรม “อริยสัจ 4” ของพระพุทธเจ้ากัน

เมื่อได้ตระหนักว่า ปัญหา (ทุกข์) ของประเทศไทยคือการมีพลังงานไม่พอใช้ และต้องนำเข้าพลังงานมูลค่ามหาศาล

โดยมีความจริงที่เป็นสาเหตุ (สมุทัย) จากสภาวะทางกายภาพของประเทศที่มีทรัพยากรพลังงานน้อย

ในขณะที่ความต้องการใช้มีมาก และใช้กันอย่างขาดประสิทธิภาพ

นอกจากนั้นก็ยังมีข้อติดขัดในการพัฒนาพลังงานตามแผนระยะยาวมาโดยตลอด

ผมก็จะชวนทุกคนน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาช่วยกันคิดหาทางออก (นิโรธ) โดยเริ่มจากข้อเสนอเบื้องต้น 5 ข้อ ดังนี้

1. บริหารการใช้พลังงานอย่างมีเหตุผลและพอประมาณ ด้วยการรณรงค์เรื่องประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนในระบบขนส่งมวลชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคคมนาคมและขนส่งในระยะยาว

2. ส่งเสริมการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม อย่างเร่งด่วน ต่อเนื่อง

3. พัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานทางเลือก ที่สามารถจัดหาได้ภายในประเทศ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อทดแทนการใช้ปิโตรเลียม

4. จัดหาพลังงานให้เพียงพอ และลงทุนเป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งในและนอกประเทศเพื่อบริหารความเสี่ยง

5. เสริมสร้างระบบการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ให้เกิดความเชื่อมั่น เชื่อถือในความมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม ทั้งการให้สัมปทานปิโตรเลียม การกำกับดูแล โครงสร้างภาษีและราคา การเปิดเผยข้อมูลและสร้างความเข้าใจกับสังคม รวมถึงการส่งเสริมการแข่งขันเสรี

ที่จริงแนวคิดทั้งหมดนี้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ได้พยายามผลักดันมาโดยตลอด แต่ติดขัดที่สังคมยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่แท้จริง และเช่นเดียวกับหลักธรรมะของพระพุทธเจ้า ปัจจัยสำคัญที่จะสามารถแก้ไขปัญหาหรือดับทุกข์ได้คือ ต้องกำจัดกิเลสในใจ

ในกรณีนี้ได้แก่ ความอยากมี อยากได้ อยากใช้พลังงานอย่างขาดเหตุผลในราคาถูกๆ โดยไม่คำนึงถึงภาระของประเทศ

หากเรายังยึดเอาความสบายไว้ก่อนในระยะสั้น พลังความคิด สติ และปัญญา ก็จะอ่อนแรงไม่เพียงพอที่จะยุติกิเลสได้

พลังงานในอุดมคติ (Ideal Energy)

พลังงานแต่ละชนิดยังมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ไม่มีพลังงานที่สมบูรณ์แบบทั้งหมด

คุณสมบัติของพลังงานในอุดมคติ (Ideal Energy) คือราคาถูก มีใช้อย่างเหลือเฟือ พึ่งพาได้ตลอดเวลา ปลอดภัยต่อผู้ใช้ และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ

แต่ ณ วันนี้ เรายังไม่มีพลังงานในอุดมคติ เราต้องยอมรับความจริงในการเลือกใช้พลังงานว่า จะได้บางอย่าง และก็ต้องยอมเสียบางอย่าง (Trade-offs)

รัฐบาลเป็นผู้เลือก Energy Mix ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ศักยภาพทรัพยากร โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี ความจำเป็นเร่งด่วน และสภาพภูมิประเทศ

โดยจะกำหนดนโยบาย ออกกฎหมาย กฎระเบียบ และกำกับดูแล การพัฒนาพลังงานตาม Energy Mix นั้นเพื่อสนับสนุนความเจริญก้าวหน้า

และไม่ให้เกิดอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ

ต้องคิดไกลๆ คิดถึงลูกหลาน

สมัยเด็กๆ ผมฝันแบบแฟนตาซีหน่อยๆ นะครับคือ ฝันอยากเป็นซูเปอร์แมน เป็นซูเปอร์ฮีโร่ อยากเหาะได้ อยากบินได้ ไปที่ไหนก็ได้

แต่ในความเป็นจริงเราทุกคนก็รู้ดีว่า “เป็นไปไม่ได้”

ที่เริ่มมาอย่างนี้ ผมอยากจะบอกว่า “ปิโตรเลียม” ก็เช่นเดียวกัน เราต้องคิดไกลๆ คิดถึงลูกหลานเราในอนาคตว่าต้องมีพลังงานใช้

ภารกิจนี้จะสำเร็จได้ ไม่ใช่ด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือด้วยซูเปอร์ฮีโร่คนใดคนหนึ่งนะ

เราคนไทยทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน

ช่วยกันรักษาพลังงานให้คนไทยรุ่นต่อไปได้มีใช้อย่างยั่งยืน

เติบโตอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

โครงการ “แยก แลก ยิ้ม” เป็นโครงการดีๆ ที่เราอยากให้คนไทยทุกคนมาช่วยกันแยกขยะ เพียงแค่พวกเราแยกขยะลงให้ถูกถัง ที่ทาง ปตท.ได้จัดเตรียมไว้เพื่อแยกประเภทขยะ ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท.กว่า 1,400 สาขาทั่วประเทศ พนักงานที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท.ก็จะคอยเก็บ คัดแยกและนำขยะจำพวกขวดแก้ว กระป๋อง และขวดพลาสติกไปขาย

เงินที่ได้มาก็จะนำไปแลกเปลี่ยนเป็นประโยชน์ สร้างเป็นรอยยิ้มให้ชุมชน

กิจกรรมนี้ หลังจากเริ่มได้เพียง 3 เดือน ก็สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

เงินจากโครงการได้นำไปก่อสร้างห้องน้ำของโรงเรียนหนองโพธิ์ประชานุกูล (อ.พระยืน จ.ขอนแก่น) เป็นเงิน 200,000 บาท และมอบทุนการศึกษา/อุปกรณ์กีฬาให้กับโรงเรียนไทยรัฐวิทยา (อ.เมือง จ.ขอนแก่น) เป็นเงิน 20,000 บาท

ผมคิดว่า key success factor ของทั้งโครงการ “แยก แลก ยิ้ม” เป็นผลมาจากความร่วมมือกันตลอด Value Chain ของผู้แทนจำหน่ายในฐานะคู่ค้า คนในชุมชน ลูกค้าที่มาใช้บริการที่ปั๊ม และ ปตท.ที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ทำสาธารณประโยชน์ให้กับชุมชน

ทุกคนต่างมองเห็นร่วมกันว่า การที่ธุรกิจจะเติบโตได้นั้น จะต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

โดยไม่ลืมและให้ความสำคัญกับชุมชนที่อยู่โดยรอบ

อันจะเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

กระจายความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรมในสังคม

โลกเราได้รับการพัฒนาไปไกลกว่าคำว่า “โตคนเดียว รวยคนเดียว” นานแล้ว

เพราะนักธุรกิจหลายคนทราบดีว่าหลักการนี้ใช้ไม่ได้จริง

เมื่อถึงจุดหนึ่งธุรกิจจะโตได้มากกว่าเดิม สังคมและเศรษฐกิจโดยรวมจะต้องโตไปด้วยกัน

ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจจะประสบความสำเร็จและยั่งยืนได้

จะต้องมีการกระจายความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรมในสังคม

ลดการผูกขาด โดยมีกฎหมาย ทุกองค์กร

และทุกคนในสังคมร่วมมือกัน

นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

เรื่องที่พวกเราหลายคนคงเคยเจอในการตัดสินใจคือ เมื่อเรารู้สึกว่าอยากจะทำอะไร ก็อาจจะประเมินความเสี่ยงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ทำให้ไม่ได้เตรียมทางออกไว้ล่วงหน้า

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หรือ Disruption สิ่งที่คาดหวังหรือวางแผนไว้ไม่เป็นไปตามนั้น คำถามคือ เรามีทางออกแล้วหรือยัง

หรือเราจะอยู่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่

วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีก่อน และอีก 2-3 ครั้งที่ตามมาได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและธุรกิจต่างๆ มากมาย

ล่าสุดที่ใกล้ตัวผมหน่อย คือวิกฤตของอุตสาหกรรมน้ำมันในปี 2557 ที่ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงจากระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหลือต่ำกว่าครึ่งในเวลาไม่กี่เดือน

ทำให้การลงทุนในแหล่งน้ำมันของบริษัททั่วโลก รวมทั้งของ ปตท.สผ. ที่ตัดสินใจไปก่อนหน้านั้น บนพื้นฐานของความคุ้มทุนที่ 80 เหรียญ/บาร์เรล กลายเป็นภาระขาดทุน และต้องนำมาด้อยค่าทรัพย์สินในที่สุด

ยังดีที่ ปตท.สผ.มีภูมิคุ้มกันจากการผลิตก๊าซฯ ที่ไม่ถูกกระทบรุนแรงนัก และมีฐานะการเงินที่เข้มแข็ง ไม่มีหนี้สิน จึงสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์มาได้

บทเรียนจากวิกฤตเหล่านี้และอื่นๆ ยืนยันว่าการดำเนินธุรกิจโดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ลงทุนด้วยความพอประมาณ ตามกำลัง มีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกัน

เป็นแนวทางที่ช่วยผ่อนเบาผลกระทบได้เมื่อเกิด Disruption

Fail fast, Learn fast

โลกธุรกิจในอนาคตยังจะต้องเผชิญกับ Disruption จากนวัตกรรมต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

การตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรนั้นไม่ง่ายเลย

ผมเชื่อว่าการหา “จุดสมดุล” ที่เหมาะสมระหว่างความกล้าเสี่ยง (Aggressiveness) และความระมัดระวัง (Conservativeness) โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมาพิจารณาความพร้อมขององค์กร น่าจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืน

นอกจากนั้น แนวคิด “Fail fast, Learn fast” ก็เป็นอีกคำตอบหนึ่งในการทดลองและสร้างประสบการณ์ในเรื่องใหม่ๆ ที่ยอมผิดพลาด โดยไม่กระทบองค์กรเกินไป

แต่เรียนรู้และแสวงหาทางเลือกต่อไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนขนาดใหญ่ มองในแง่ดี โลกอนาคตภายใต้ Continuous Disruption ทั้งน่าสนใจ ตื่นเต้น และท้าทาย

รวมถึงมีโอกาสมากมายรอผู้ที่กล้า และมีไอเดียรออยู่