จรัญ พงษ์จีน : เช็คสถานะ-อำนาจ-บทบาท ส.ว.แต่งตั้ง 250 ชีวิต ตาม รธน.60

จรัญ พงษ์จีน

ถึงนาทีนี้ ใครๆ ก็เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า “ประเทศไทยใกล้จะมีเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งแล้ว” มันต้องเกิดขึ้นแน่ในต้นปี 2562 ตามไฟต์บังคับ หมายความว่า “คสช.” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะตีกรรเชียง อ้างโน่นอ้างนี่เพื่อเลื่อนโปรแกรมอีก ย่อมไม่ได้แล้ว พลิ้วไม่ออกอีกต่อไปแน่นอน

ลงเอยตาม “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” ที่ประกาศใช้มาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน “กฎหมายลูก” ที่ผูกโยงกับการเลือกตั้งทั้ง 4 หมวดหมู่ ก็ฉลุยทุกประเด็น

เหนือสิ่งอื่นใด “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา” ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ “กกต.” ได้ออกมาบอกใบ้ ประมาณว่าการเลือก ส.ว. จะต้องทำคลอดให้เรียบร้อยก่อนศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะระเบิดเถิดเทิงภายใน 50 วัน จึงมีการคาดการณ์กันว่า ส.ว. จะต้องแต่งตั้งให้แล้วเสร็จช่วงต้นเดือนมกราคม 2562 สอดคล้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีขึ้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน

“สมาชิกวุฒิสภา” ตามนิยามรัฐธรรมนูญ เป็นตัวแทนของประชาชน เสมอไหล่กับ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” เพียงแต่มีความแตกต่างกันในเรื่องของ “ที่มา” ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดไว้ให้สมาชิกวุฒิสภามีจำนวน 250 คน

โดยกำหนด “ที่มาและจำนวน” ไว้ 2 ช่วงเวลา คือ “ช่วงที่ 1” เป็นไปตามบทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่ คสช.ถวายคำแนะนำ

แยกย่อยมาจาก 2 ส่วน จำนวน 50 คน มาจากคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน เมื่อเลือกได้ครบจำนวนแล้ว ให้นำรายชื่อเสนอต่อ คสช. เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 50 คน และรายชื่อสำรองอีก 50 คน

“กองที่ 2” ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช.ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางด้านการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 12 คน คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในอันจะเป็นประโยชน์แก่การทำหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศ จำนวนไม่เกิน 400 คน และนำรายชื่อเสนอ คสช. คัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่คัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ให้เหลือ 194 คน

รวมกับ 6 คน โดยตำแหน่ง อันประกอบด้วย ผู้ดำรงตำแหน่ง “1.ปลัดกระทรวงกลาโหม 2.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 3.ผู้บัญชาการทหารบก 4.ผู้บัญชาการทหารเรือ 5.ผู้บัญชาการทหารอากาศ 6.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ในวาระแรกเริ่ม ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน อยู่ในวาระ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง

โดย “ส.ว.โดยตำแหน่ง” เมื่อพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในขณะได้รับแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาก็ให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาด้วย และให้ดำเนินการเพื่อแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งแทน ให้สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง อยู่ในตำแหน่งเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่

 

“สมาชิกวุฒิสภา” หรือ “ส.ว.” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นอกจากจะเป็น “ตัวแทนของประชาชน” แล้ว ยังมีอำนาจท่วมท้นล้นเหลือ ทั้งติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย จัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้ในบางกรณี ให้กระทำโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

กล่าวได้ว่า “ส.ว.” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ “ปู่มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธานร่าง มีพลังไฮเพาเวอร์ อิทธิฤทธิ์สารพัด เหนือ ส.ว.ปี 2540 และปี 2550 หลายสิบเท่า ขณะเดียวกันก็มีประเด็น “ตกม้าตาย”

ซึ่งจนป่านนี้แล้ว เซียนเหยียบเมฆ “กูรู” ระดับ “ปู่มีชัย” ไม่รู้ว่าจะพลั้งพลาด หรือ “เจตนา” เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการประชุมร่วมของ “ส.ว.” กับ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ตามรัฐธรรมนูญ “ส่วนที่ 5” ใน “มาตรา 156” ซึ่งมีอยู่ 16 ประการด้วยกันคือ

1. การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 17

2. การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาตามมาตรา 19

3. การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467 ตามมาตรา 20

4. การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามมาตรา 21

5. การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุมตามมาตรา 121

6. การปิดประชุมรัฐสภาตามมาตรา 122

7. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 132

8. การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติใหม่ตามมาตรา 146

9. การพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรา 147

10. การเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 155 และมาตรา 165

11. การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภาตามมาตรา 157

12. การแถลงนโยบายตามมาตรา 162

13. การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามตามมาตรา 177

14. การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาตามมาตรา 178

15. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256

และ 16. กรณีอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

“ตกม้าตาย” ก็เพราะว่า อำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ในการประชุมร่วมกับ ส.ส. เขียนไว้สวยหรู ชนิด “วัวตายควายล้ม” ทั้ง 16 ประการ ที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 156

ไม่มีวาระว่าด้วยการประชุมร่วม “พ.ร.บ.งบประมาณ”

หมายความว่า กรณี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้เป็นเชนคัมแบ๊ก คืนตึกไทยคู่ฟ้า มีเสียงโหวตจากรัฐสภาอย่างเอกฉันท์

เมื่อแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศไปได้สักระยะ พอ พ.ร.บ.งบประมาณเข้าสู่รัฐสภา

“ส.ว.” ไม่มีสิทธิใดเข้าไปถกแถลง ร่วมโหวต ทำหน้าที่เป็น “ฝักถั่ว” ได้ “สภาล่าง” คือ “สภาผู้แทนราษฎร” ล่อกันเพียวๆ

“ฝ่ายค้าน” ซึ่งจะแปรสภาพเป็น “เสียงข้างมาก” เมื่อไม่มี ส.ว.เป็นตัวช่วย

“งบประมาณ” ไม่ผ่าน ถูกยำเละตุ้มเป๊ะ “บิ๊กตู่” ก็อยู่ไม่รอด ต้องยุบสภาสถานเดียว

นี่คือเงื่อนตาย ที่ทำท่าจะคลายไม่ออก บอกไม่ถูก