อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ครึ่งหนึ่งของชีวิต (13) “มีกันและกัน”

“มีนิทานน่าฟังอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของเด็กหญิงคนหนึ่ง ขณะที่เดินเล่นอยู่ในทุ่งหญ้า เธอเห็นผีเสื้อติดหนามอยู่จึงค่อยๆ ปลดผีเสื้อตัวนั้นออกจากหนามปล่อยให้บินไป ไม่นานผีเสื้อตัวนั้นบินกลับมาแล้วแปลงร่างเป็นนางฟ้าแสนสวย”

“ที่เธอกรุณาฉัน” นางฟ้าพูดกับสาวน้อย “ฉันจะให้พรตามที่เธอปรารถนา”

สาวน้อยคิดอยู่ครู่หนึ่งจึงตอบว่า “ฉันอยากมีความสุข”

นางฟ้าเอียงหน้าเข้าไปกระซิบที่ข้างหูของสาวน้อยแล้วหายไปในบัดดล

เมื่อเด็กหญิงคนนั้นโตขึ้น ไม่มีใครเลยจะมีความสุขเท่าเธอ เมื่อมีใครถามถึงเคล็ดลับที่ทำให้เธอมีความสุข เธอก็เพียงแต่ยิ้มแล้วบอกว่า “ฉันได้มันมาจากนางฟ้าแสนสวยคนหนึ่ง”

เมื่อชีวิตย่างเข้าสู่วัยชรา เพื่อนบ้านกลัวว่าเคล็ดลับข้อนั้นจะตายไปพร้อมกับเธอ จึงช่วยกันเข้าไปขอร้องเธอว่า “บอกพวกเราหน่อยเถิด นางฟ้าองค์นั้นบอกเคล็ดลับอะไรไว้”

คราวนี้หญิงสาวในวัยชรา พูดพลางยิ้มออกมาว่า

“นางฟ้าบอกฉันว่า ทุกคนไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงใด ร่ำรวยเพียงใด มีอำนาจมากเพียงใด พวกเขาล้วนต้องการเสมอ”

แน่นอน พวกเราทุกคนต่างต้องการซึ่งกันและกัน

แง่งามในความรัก – Loving Each Other โดยลีโอ บุสคาเกลีย – Leo Buscaglia แปลโดย ธรรมรงค์ น้อยคูณ

 

ทุกครั้งที่หยิบหนังสือเกี่ยวกับความรักไม่ว่าเล่มใดก็ตามของลีโอ บุสคาเกลีย นักจิตวิทยาด้านความรักชาวสหรัฐขึ้นอ่าน

ผมจะพบแง่มุมใหม่ๆ เสมอ

ทว่าหนังสือแปลภาคภาษาไทยเล่มนี้ของเขาเป็นหนังสือที่แปลกประหลาด

มันถูกทอดทิ้งตามกองหนังสือเก่า แทนที่จะพบมันอยู่บนชั้นหนังสือทั้งที่มันมีเนื้อหาที่ไม่เคยล้าสมัยเลย

ราคาในกองกระบะหนังสือเก่าของมันอยู่ที่ยี่สิบบาท

น้อยเสียจนซื้อชาเขียวบรรจุขวดแม้เพียงขวดหนึ่งยังไม่ได้ด้วยซ้ำไป

ตัวหนังสือถูกตีพิมพ์ด้วยสำนักพิมพ์จตุจักรที่ปราศจากตัวตนไปเสียแล้วในเวลานี้

กระนั้นถ้อยความข้างในของหนังสือเล่มนี้กลับยังมีชีวิตชีวาอยู่อย่างน้อยก็ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความรักและคิดที่จะรักกัน

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ในขณะที่ล่องไปในดินแดนอีสานครั้งล่าสุด

จากลำปาวไปยังทุ่งกุลา จากทุ่งกุลาไปสู่เมือง และจากเมืองสู่ชายฝั่งแม่น้ำโขง

เรื่องราวของนางฟ้าที่แฝงตนอยู่ในรูปกายของผีเสื้อสร้างความคิดคำนึงมหาศาลให้แก่ผม

“เราทุกคนล้วนต้องการซึ่งกันและกัน”

ข้อความอันเรียบง่าย ทว่ากลับเหมือนมีบางสิ่งกีดขวางอยู่ไม่ให้เราเข้าถึงความเรียบง่ายนั้น

หากเราต้องการกัน ทำไมเราจึงไม่อาจแสดงความต้องการนั้นได้

หากการรู้ว่าเราทุกคนล้วนโดดเดี่ยวและต้องการใครบางคน

เพราะเหตุใดเล่า เราจึงไม่อาจก้าวข้ามความโดดเดี่ยวที่ว่านั้นได้ ปริศนาแห่งความสัมพันธ์ของมนุษย์ดูจะเป็นปริศนาที่ลึกล้ำไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะในปริศนาแห่งความรัก

การตระเวนอีสานในครั้งนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวเมื่อหลายสิบปีก่อน

ในช่วงเวลานั้นผมยังเป็นเพียงนักศึกษาหนุ่มที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างที่พบว่าตนเองมีโอกาส

กิจกรรมหนึ่งที่ผมหลงใหลเอามากๆ คือการออกค่ายอาสาพัฒนา

มีคำกล่าวว่าสิบวันในช่วงปิดภาคการศึกษา ไม่มีอะไรที่ประหยัดรายจ่ายเท่ากับการสมัครไปค่ายอาสาพัฒนาอีกแล้ว เงินไม่กี่ร้อยบาท ทำให้เราได้ทั้งอาหาร ที่พัก เพื่อน และการท่องเที่ยวในที่ที่แปลกตา

หากตัดเอาส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลงแรงในกิจกรรมทั้งหลายภายในค่ายไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้าง งานการครัว งานการสอนหนังสือ ฯลฯ แล้ว

งานออกค่ายอาสาพัฒนาก็คือการตากอากาศชั้นดีนั่นเอง

 

หมู่บ้านแรกที่ผมมีโอกาสไปถึงนั้นเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีชื่อว่าหมู่บ้านโนนสะทอน

พวกเราทุกคนถูกจัดให้พักตามบ้านของชาวบ้านหลังละสองหรือสามคนบ้าง สำหรับบ้านหลังใหญ่จำนวนนักศึกษาอาจมากถึงสี่หรือห้าคนก็เป็นได้

ผมได้โอกาสพักร่วมกับนักศึกษาต่างคณะที่รักชอบในกีฬาฟุตบอลเหมือนกัน

ดังนั้น ในทุกวันเมื่อหมดเวลาทำงาน พวกเราจะลงไปเตะบอลกับเด็กน้อยในหมู่บ้านอยู่เสมอ

สนามบอลที่ปล่อยฝุ่นสีแดงตลบอบอวลอยู่หน้าประตูแทนสนามหญ้าเขียวขจีที่ผมเคยชินยังเป็นภาพที่ติดตาผมมาจนถึงทุกวันนี้

การผูกมิตรกับเด็กน้อยประจำหมู่บ้านอย่างไม่ตั้งใจนั้น นำพาไปสู่การจัดตั้งกลุ่มเรียนรู้ที่ใช้ห้องเรียนและนักศึกษาที่สนใจจะทำงานกับเด็กขึ้นกลุ่มหนึ่งในที่สุด

คนที่มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์จะติวเข้มด้านตัวเลขให้กับเด็กที่อ่อนคำนวณ

คนที่หลงใหลในการใช้ภาษาจะสอนวิธีการใช้ภาษาแบบเพลิดเพลิน ไม่เคร่งเครียดกับเด็กที่สนใจ

นักศึกษาหญิงบางคนสอนการเย็บปักถักร้อยและการทำอาหารแบบง่ายๆ ให้กับเด็กผู้หญิงที่สนใจ

สิ่งสำคัญในการเรียนรู้แบบนี้คือตัวพี่เลี้ยงจะต้องเรียนรู้จากเด็กด้วยเช่นกัน

และเอาสิ่งที่เรียนรู้นั้นมานำเสนอในการประชุมค่ายช่วงค่ำของทุกวัน

 

ไม่ช้าก็เร็ว นักศึกษาหลายคนในค่ายที่สมัครทำงานด้านการเรียนรู้สามารถเพิ่มพูนทักษะที่หลายอย่างก็ไม่รู้ว่าจะนำมันมาใช้เช่นไรในชุมชนเมือง

อาทิ บางคนเรียนรู้การเก็บขี้ยางตามต้นไม้เพื่อมาทำขี้ไต้

บางคนเรียนรู้วิธีตีผึ้ง วิธีเลี้ยงควาย

ส่วนผมนั้นสมัครใจสอนในการละเล่นและสมัครใจรับความรู้ใหม่เกี่ยวกับการหาปลา

ทุกเช้าผมจะนั่งไล่รายชื่อเกมการละเล่นแปลกๆ ที่ตนเองเคยเล่นมา

เกมโบราณเรียกชื่อ เกมไล่จับตามเส้น เรื่อยเรียงไปถึงเกมเปิดไพ่ไล่ฆ่าแบบโจรสลัด

เช่นเดียวกับที่ทุกเย็นผมจะตามเด็กน้อยคนหนึ่งที่เวลาตลอดวันเขาดำรงตนในฐานะนักเรียนของผมไปยังหนองน้ำประจำหมู่บ้าน

ที่นั่นผมได้ทดสอบความสามารถของตนเองในการวางเบ็ด เกี่ยวเหยื่อ ผสมรำกับเนื้อสัตว์แบบอื่นให้เป็นเหยื่อที่โอชะ

ไปจนถึงวิธีวางไซ ยกยอ ยกสวิง ไม่น่าเชื่อว่าเด็กชายอายุสิบเอ็ดขวบที่มีชื่อว่าเคนจะมีความสามารถขนาดนั้น

ยามเย็น เราทั้งคู่จะนั่งหรือทำงานในความเงียบเพื่อรอการกินเหยื่อของปลา

เคนสอนผมถึงวิธีการปลดปลาหมอไม่ให้เงี่ยงบนตัวของมันทำร้ายเราได้

วิธีก่อกองไฟโดยฟืนเพื่อเผาปลากินรองท้องก่อนถึงอาหารมื้อค่ำ

ผิวของผมคล้ำดำลงทุกที พอๆ กับที่เคนสามารถประยุกต์เกมใหม่ๆ ที่ผมสอนไปมาเป็นของเล่นเฉพาะตัวได้

เขาแปลงบันไดงูในกระดานของเล่นงูไต่บันไดเป็นสะพานข้ามห้วยต่างๆ ในดินแดนแถบนั้น

เคนเป็นคนมีความสามารถมากในการวาดรูป เขามีกล่องสีกล่องหนึ่งที่ใช้ทุกวันจนด้ามดินสอสีแทบจะจับได้ไม่ถนัดแล้วจนต้องพึ่งพาการมัดดับกิ่งไม้เพื่อใช้งานมัน ในฐานะคนที่ชอบงานศิลปะด้วยเช่นกัน

ยามค่ำหลังเลิกการประชุมค่าย เคนจะแวะมาหาผมที่บ้านและเราสองคนจะนั่งวาดรูปเรื่อยเปื่อยไปด้วยกัน

 

สองอาทิตย์ของเวลาค่ายไม่ใช่เวลาที่เร็วนัก แต่ก็ไม่ใช่เวลาที่เนิ่นนานเช่นกัน ในที่สุดวันอำลาของเราก็มาถึง นักศึกษาทุกคนขึ้นรถบัสที่จัดเตรียมไว้กลับสู่เคหสถาน

ในขณะที่ทั้งชาวบ้านและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าแถวเรียงหน้ากระดานมาส่งพวกเรากลับถิ่นฐาน เสียงเพลง “โบกมือลา เสียงเพลงครวญมาต้องลาแล้วเพื่อน…” ดังขึ้นรอบแล้วรอบเล่า

เคนจดชื่อและที่อยู่ของเขาใส่มือให้ผม “ถ้าพี่คิดถึงผม เขียนจดหมายมาคุยกันบ้าง”

ในยุคที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่นับว่าในหมู่บ้านนั้นไม่มีแม้โทรศัพท์บ้าน ดังนั้น ทุกครั้งที่ผมคิดถึงเคน ผมจึงเขียนจดหมายหาเขาเสมอ

จากจดหมายฉบับหนึ่งเป็นจดหมายหลายฉบับ จากจดหมายสั้นเป็นจดหมายฉบับยาว

จากจดหมายธรรมดาเป็นจดหมายที่พ่วงด้วยสิ่งของ

ทุกครั้งที่ผมเข้าร้านขายเครื่องเขียนและเห็นกล่องสีไม้ ผมจะซื้อมันส่งไปให้เคนเสมอ

จากสีราคาถูกไปจนถึงการตั้งใจเก็บเงินซื้อสีไม้กล่องใหญ่ให้เขาในวันสิ้นปี

จากสีไม้ไปสู่สีน้ำ จากสีน้ำไปสู่สีโปสเตอร์

เคนตอบจดหมายตามรายสะดวก ลายมือของเขาทรงพลังขึ้นตามจำนวนปีอันแสดงให้เห็นถึงการฝึกฝีมือเป็นระยะ

เขาส่งภาพวาดที่เขาวาดมาให้ชมบางรูปและเล่าถึงรางวัลที่เขาได้รับจากการประกวดภาพวาดในโรงเรียน

ฝีมือของเคนดีกว่าเด็กทั่วไปเป็นแน่ๆ แต่ก็ยังห่างไกลจากช่างวาดภาพมืออาชีพอยู่มากมาย

 

การศึกษาของผมมาถึงปีสุดท้าย ความวุ่นวายที่จะต้องจบการศึกษามาถึง ในขณะที่เคนเองก็เริ่มต้นเป็นนักเรียนชั้นมัธยมที่หมายถึงการต้องออกเดินทางไปศึกษาในตัวอำเภอ

ช่วงนั้นเองที่การติดต่อระหว่างเราเริ่มขาดหายลง

มิช้านานการขาดหายก็กลายเป็นความเคยชิน ผมเลิกเขียนจดหมายหาเคนก่อนการจบการศึกษาไม่นานนัก และหลังจากนั้นก็แทบลืมไปแล้วว่าผมเคยมีกิจกรรมดังกล่าว

หลายปีต่อมาในขณะที่ผมกลายเป็นพนักงานบริษัทเต็มตัว

เย็นวันหนึ่งผมฆ่าเวลาก่อนการฉายภาพยนตร์ด้วยการเดินเตร็ดเตร่เข้าไปในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง

ชั้นล่างของห้างมีงานแสดงศิลปะของนักศึกษา ผมเดินเข้าไปในงาน ชมภาพวาดทิวทัศน์หลายภาพที่น่าสนใจก่อนจะหยุดอยู่ที่หน้าภาพวาดว่าด้วยชายหาปลาสองคนที่กำลังช่วยกันยกยอ

ภาพวาดนั้นวาดโดยเคน ผู้ที่ส่งเสียงทักทายผมอย่างดีใจ

ผมได้รู้ว่าเคนจบการศึกษาชั้นมัธยมในอำเภอ เข้าเรียนด้านอาชีวศึกษาชั้นต้นด้านศิลปะในจังหวัดก่อนจะเข้ามาศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้านศิลปะในเมืองหลวง

เขาเล่าถึงกล่องสีจำนวนมากที่ผมส่งถึงเขาว่ามันมีผลกระทบต่อชีวิตของเขาอย่างไรบ้างจนกระทั่งถึงบัดนี้

“ผมอยากเขียนจดหมายหาพี่ แต่พอเวลาผ่านไปผมก็คิดว่าพี่น่าจะย้ายที่อยู่ เพราะมีฉบับหนึ่งที่ถูกตีกลับ เจอพี่วันนี้ผมดีใจอย่างบอกไม่ถูก”

 

เราทั้งคู่แลกที่อยู่กันอีกครั้งพร้อมกับเบอร์โทรศัพท์จากที่ทำงานของผม ก่อนที่ผมจะขอตัวจากไปชมภาพยนตร์ ระหว่างที่นั่งชมภาพยนตร์ผมคิดถึงเคน เขาได้รับความรู้และประสบการณ์ด้านศิลปะแม้จะเพียงเล็กน้อยจากผมและได้เติบโตไปในเส้นทางที่ควรจะเป็น

แต่ผมเล่า ความรู้ด้านการหาปลาจากเขา ผมจะนำมันไปทำสิ่งใดบ้าง

หลายปีผ่านไป จนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อผมต้องพัวพันกับงานเขียนเกี่ยวกับอาหารและปลาดินแดนอีสาน ไม่น่าเชื่อว่าความรู้ที่ผมได้จากเคนถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งหลังกาลเวลาผ่านไปนับสิบสิบปี

วิธียกยอที่เคนสอนผม วิธีผูกเบ็ด สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกรื้อฟื้นและทำให้ผมพบว่าเราต่างมีส่วนที่ได้เรียนรู้จากบุคคลอื่นแฝงอยู่ในตนเองเสมอ

เราไม่อาจดำรงตนอยู่ในโลกได้อย่างโดดเดี่ยวและการพึ่งพาของเรา ความต้องการของเราที่มีต่อกันนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราไม่ช้าก็เร็ว

แน่นอนพวกเราทุกคนล้วนต่างต้องการซึ่งกันและกัน