เพ็ญสุภา สุขคตะ : ‘Woodcut Printing’ งานศิลป์สุดโปรดของ อินสนธิ์ วงค์สาม

เพ็ญสุภา สุขคตะ

Woodcut Printing

ภาพพิมพ์ไม้แห่งความทรงจำ

เมื่อถามคุณลุงอินสนธิ์ วงค์สาม ว่าในบรรดาเทคนิคกรรมวิธีการสร้างงานศิลปกรรมทั้งหมดที่คุณลุงทดลองมาแล้วทุกประเภทนั้น ไม่ว่าเพนต์ ปั้น พิมพ์ ลึกๆ แล้วรู้สึกสนุกหรือชื่นชอบกับเทคนิคไหนมากที่สุด

คำตอบคือ งาน woodcut หรือภาพพิมพ์ไม้

คุณลุงบอกว่ายุคที่คุณลุงยังเป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น ศิลปินน้อยใหญ่ทั้งครูบาอาจารย์ และนักศึกษาต่างประกวดประขันกันส่งผลงานเข้าชิงรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ

ขณะนั้นเทคนิค woodcut กำลังฮิตฮ็อตป๊อปปูล่าร์มากที่สุด

ทำให้เราได้เห็นงานอมตะของศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ กับศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ก็เป็นเทคนิคแบบ woodcut เช่นกัน

น้อยคนนักจะเคยเห็นงานแนว woodcut แบบมีรูปบุคคลของคุณลุงอินสนธิ์ เนื่องจากงานที่หอศิลป์อุทยานธรรมที่ป่าซาง ส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมชิ้นโตๆ หรือหากเป็นภาพวาดและภาพพิมพ์ (ภาพพิมพ์หิน/ภาพพิมพ์โลหะ) ก็มักมีเนื้อหาแบบนามธรรมมากกว่ารูปธรรม

รูปสี่พี่น้องยืนเรียงกันจากงาน woodcut คือภาพความอบอุ่นในวัยเด็กของคุณลุง ไม่บ่อยนักที่เราจะพบภาพบุคคลในงานของอินสนธิ์ วงค์สาม

คุณลุงบอกว่าเคยเก็บแม่พิมพ์ woodcut ยุคที่ยังเป็นนักศึกษาไว้มากกว่า 200 ชิ้น บางชิ้นรักมาก เคยแม้กระทั่งหอบหิ้วไปเมืองนอกยุคผจญภัย “สุดขอบฟ้า” แต่หลายชิ้นถูกปลวกกินเสียหาย ตอนนี้พยายามเอาพิมพ์ที่ใช้ได้มาซ่อมแซมและจัดการพิมพ์งานเก่าๆ เผยแพร่ใหม่อีกครั้ง

“ลุงรู้สึกว่า วู้ดคัตนี่ เป็นอะไรที่สะใจ ถึงอกถึงใจ ตอบโจทย์ลุงได้มากที่สุดในบรรดางานทุกเทคนิค”

 

จากเด็กวัดสุทัศน์ถึงทหารเกณฑ์

เมื่อ 4 ปีก่อน ในบทความคอลัมน์เดียวกันนี้ ดิฉันเคยเล่าถึงชีวิตคุณลุงอินสนธิ์ ว่าในช่วงที่ต้องระหกระเหินจากเด็กป่าซาง “บ้านนอกคอกตื้อ” มาเรียนต่อเมืองกรุง คุณลุงต้องขออาศัยข้าวก้นบาตรจากหลวงลุงที่รู้จักกัน เพื่อประทังชีวิต และจะได้มีที่พักในวัดสุทัศนเทพวรารามมาแล้ว ดังนั้น ฉบับนี้จะไม่ขอกล่าวซ้ำในรายละเอียดอีก

แต่จากการสัมภาษณ์ครั้งล่าสุดนี้ คุณลุงได้เปิดเผยเรื่องราวใหม่ๆ อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งดิฉันยังไม่เคยทราบมาก่อนเกี่ยวกับตัวท่าน

ก็คือเมื่อคุณลุงอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ช่วงนั้นน่าจะกำลังเริ่มเรียนปี 1 หรือไม่ก็เพิ่งจบโรงเรียนเตรียมศิลปากร

โดยปกติแล้วเพื่อนนักเรียนศิลปากรมักหลบลี้หลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารกันให้ชุลมุน เพราะธรรมชาติของศิลปินนั้นไม่ใคร่จะชอบระเบียบวินัยเท่าใดนัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งชอบไว้ผมยาว ไม่อยากตัดผมเกรียน

ทว่า คุณลุงอินสนธิ์กลับเป็นนักศึกษาจากคณะจิตรกรรมฯ เพียงคนเดียวที่เต็มใจเดินเข้าไปสมัครเป็นทหารเกณฑ์อย่างหน้าชื่นตาบานเฉยเลย โดยไม่ต้องรอการลุ้นจับใบแดงใบดำ

ทั้งนี้ คุณลุงบอกว่า “มีนัยซ่อนเร้นนิดหน่อย” เพราะคุณลุงทราบจากเด็กวัดรุ่นพี่ที่วัดสุทัศน์ว่า การถูกเกณฑ์เป็นทหารนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสียทีเดียว อย่างน้อยเราจะได้เบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนด้วยนา เขาไม่ได้เกณฑ์เราไปใช้งานแบบ “อ้ายเณร” ฟรีๆ

คุณลุงปิดตาฝันไว้ว่าได้การล่ะ เอาวะ ผมเกรียนก็เกรียน ไม่นานเดี๋ยวก็ยาวใหม่ จะเอาเบี้ยทหารนี่แหละมาเป็นทุนในการซื้อสีอุปกรณ์ต่อชีวิตสำหรับเรียนเขียนรูป เพราะเป็นวิชาที่ผู้เรียนต้องลงทุนสูง

ยิ่งช่วงนั้นมีการประกาศกฎอัยการศึกพอดี คุณลุงก็จะได้เบี้ยทบทวีคูณเพิ่มอีก 1 เท่า เมื่อกลับมาเรียนต่ออีกครั้งที่ศิลปากรแม้จะตกรุ่นไป 1 ชั้น แต่คุณลุงก็ไม่เดือดร้อนด้านการเงิน

“เห็นไหมล่ะ ว่าลุงเป็นนักวางแผนตัวฉกาจ หึหึ”

 

ศิลปากรยุคนั้นคุณภาพคับแก้ว

เรียนกับปรมาจารย์ระดับชาติ

คุณลุงอินสนธิ์เล่าว่า อาจารย์ศิลป์เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ได้เลือกเฟ้นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ต่างๆ ให้แก่นักศึกษาศิลปากร ด้วยการเชิญปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่มีชื่อเสียงระดับชาติมาสอนเกือบทุกวิชา (ไม่นับวิชาด้านเทคนิค วิธีทางศิลปะ ที่อาจารย์ศิลป์จำเป็นต้องใช้พวกศิษย์เก่าก้นกุฏิรุ่นแรกๆ ซึ่งคุณลุงอินสนธิ์แอนตี้ไม่ยอมเข้าเรียน)

วิชาส่วนใหญ่เป็นวิชาพื้นฐานที่ต่อมาทำให้นักศึกษามีภูมิรู้รอบด้าน เท่าที่คุณลุงจำได้มี

– วิชาประวัติศาสตร์และสังคม เรียนกับนักคิดนักเขียนนามอุโฆษ “จิตร ภูมิศักดิ์”

– วิชาภาษาไทยและการแต่งคำประพันธ์เรียนกับ “พระยาอนุมานราชธน” หรือ “เสฐียรโกเศศ” รวมทั้ง “หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล”

– วิชาภาษาอังกฤษเรียนกับ “พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร” และ “ศาสตราจารย์จินตนา ยศสุนทร”

– วิชาการเขียนลายไทยโบราณเรียนกับครูช่าง “เลิศ พ่วงพระเดช” ผู้สืบทอดลายไทยจากสาย “พระเทวาภินิมมิต”

– วิชาสถาปัตยกรรมไทยพื้นฐานกับ “หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์”

– วิชาดนตรีวิจักษ์เรียนกับ “พระเจนดุริยางค์” และ “พลตรีหลวงวิตรวาทการ” เป็นต้น

ฟังชื่อเสียงเรียงนามปรมาจารย์ผู้สอนแต่ละท่านแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ไม่ได้เป็นแค่ศิลปินหรือ “ครูศิลปะ” ที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น หากแต่ยังเป็น “นักบริหารการศึกษา” ที่ยิ่งใหญ่อย่างยิ่งยวดอีกด้วย

 

เรียนจบแล้วไปไหน

ทำมาหากินอะไร

ไม่ง่ายเลยสำหรับ “คนพูดน้อยต่อยหนัก” อย่างคุณลุงอินสนธิ์ ที่จะให้หลังจากเรียนจบแล้ว คิดจะผันตัวเองไปเป็นครูสอนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง เฉกเช่นอาจารย์ทวี นันทขว้าง ผู้มีศักดิ์เป็นน้าห่างๆ และเป็นไอดอลของคุณลุง

หรือจะให้มาสอบบรรจุเป็นอาจารย์ ช่วยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี สอนที่คณะจิตรกรรมฯ เหมือนอย่างเพื่อนสนิทร่วมรุ่น เช่น อาจารย์สุมน สีแสง หรือ “ป๋ามน” ของดิฉัน

หรือแม้แต่กระทั่งจะให้เปิดสตูดิโอรับจ้างคุณหญิงคุณนายสาวไฮโซไฮซ้อ เขียนภาพพอร์ตเทรต เหมือนเพื่อนจิตรกรคนอื่นๆ

อู้ก็บ่าจ้าง (พูดก็ไม่เก่ง) แถมพรีเซนต์ตัวเองก็ไม่เป็น คงต้องเหนื่อยกายค่อนข้างหนักหนาสาหัสหน่อยล่ะชีวิตนี้

นี่คือที่มาของ “การเดินทางไกลครึ่งโลกด้วยสกู๊ตเตอร์” จากสยามสู่อิตาลีของคุณลุงอินสนธิ์

คือคุณลุงคิดว่า ในวัย 28 ปีขณะนั้น ยังไม่น่าจะใช่วัยที่ควร “ปลงตกกับสภาพสังคมเมืองหลวง” แล้วมุ่งหน้ากลับบ้านป่าซาง ไปใช้ชีวิต “บ้านไร่ป๋ายดอย” แบบคนสมถะอย่างเหงาๆ

ทว่าความร้อนรุ่มจากทรวงอกหนุ่มฉกรรจ์ผู้ที่พูดจาไม่เก่งคนนี้ ยังโหยกระสันหาทั้ง “ความรัก-ความใคร่ แรงบันดาลใจ” จากนานาอุปสรรค

เขาพร้อมที่จะสัมผัสทุกบทเรียนชีวิตด้วยการเผชิญโลกกว้างเยี่ยงกระทิงเปลี่ยว ไม่พรึงพรั่นต่อชะตากรรมใดๆ

 

จากฟลอเรนซ์สู่เวียนนา

ซูริก มิวนิก และปารีส

ดิฉันขอข้ามรายละเอียดเรื่องการเดินทางไปสุดขอบฟ้าของคุณลุงอินสนธิ์ไว้ ว่าได้รับรถมอเตอร์ไซค์มาจากการขอทุนองค์กรไหนอย่างไร การเดินทางวิบากต้องผ่านประเทศอะไรบ้าง เนื่องจากได้เขียนเรื่องนี้มามากกว่า 10 ชิ้นแล้ว ไม่เพียงแต่ในคอลัมน์นี้ 4 ปีก่อนตอนคุณลุงอายุครบ 80 ปี

แต่เคยเขียนลงทั้งสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ตั้งแต่เมื่อ 16 ปีก่อน

ทั้งลงนิตยสาร Fine Arts บ้าง ในสูจิบัตรประกาศเกียรติคุณคุณลุงในฐานะศิลปินแห่งชาติของกระทรวงวัฒนธรรมบ้าง หลายครั้งหลายคราเหลือเกิน ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ “ผลพวงที่ได้จากการเดินทางสุดขอบฟ้า” ของคุณลุง

หลังจากคุณลุงไปตามหาบ้านพักวัยเยาว์ของ Prof. Dr. Corrado Feroci (ต่อมาคือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี) แล้วยืนเคาะประตูบ้านเก่าของอาจารย์ศิลป์ที่เมืองฟลอเรนซ์หลังนั้น (ในขณะที่ปี 2505 อาจารย์ศิลป์สิ้นชีวิตไปแล้ว) พร้อมกับใช้ชีวิตที่ฟลอเรนซ์บ้านเกิดเมืองนอนของอาจารย์ศิลป์อยู่ในช่วงระยะหนึ่ง คุณลุงก็เดินทางท่องอิตาลีอย่างตื่นตาตื่นใจในอภิมหาสถาปัตยกรรมอันโอฬาริกของประเทศนี้

จากอิตาลี คุณลุงเดินทางไปยังกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพื่อสัมผัสกับศิลปินระดับโลกที่สถาบัน Academy of Fine Arts of Vienna ก่อนหน้านั้นแวะเมืองซูริก สมาพันธรัฐสวิส ต้นตำรับศิลปะ Dada Art และแวะที่มิวนิก ประเทศเยอรมนีอีกด้วย แต่ละเมืองคุณลุงใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ชีวิตผู้คนประมาณ 3-4 เดือน

โดยมีจุดมุ่งหมายสุดท้ายอยู่ที่มหานครปารีส ประเทศฝรั่งเศส คุณลุงอินสนธิ์นำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรี และสูจิบัตรนิทรรศการต่างๆ ที่แสดงมาตลอดเบี้ยบ้ายรายทางจากสยามถึงอิตาลี ต่อ Ecole Superieur des Beaux Arts สอบเข้าเรียนต่อระดับปริญญาโท โดยเปลี่ยนสาขาเดิมจากระดับปริญญาตรีที่เรียนด้าน Fine Arts หรือ “จิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์” มาเป็น “คณะมัณฑนศิลป์” ด้านการออกแบบนิเทศศิลป์ ตกแต่งภายใน และออกแบบผลิตภัณฑ์

การเลือกเรียนเรียนศิลปะในแนวประยุกต์ของคุณลุง ส่งผลให้งานศิลปะของคุณลุงมีมิติที่รอบด้านครบ 360 องศามากกว่าเป็นแค่งานวิจิตรศิลป์

กล่าวคือ งานประติมากรรม 1 ชิ้น นอกจากจะมองให้เป็น Visual Art หรือทัศนศิลป์แล้ว ยังแฝงฝากประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ อีกด้วย อาทิ ใช้เป็นฉากเฟอร์นิเจอร์ก็ได้ ใช้เป็นเก้าอี้ ตู้เก็บของ เครื่องเล่นกลางสนามเด็กเล่น

ทำให้ตลอดชีวิตคุณลุง สามารถรับจ้างทำงานไม้แกะสลักประเภทใช้เป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมตามส่วนต่างๆ ของบ้านเรือนได้อีกด้วย ถือเป็นอาชีพเสริม (ที่ต่อมากลายเป็นอาชีพหลัก) สร้างรายได้ให้คุณลุง ช่วยแก้ขัดในช่วงที่งานแบบ Fine Arts ใช่ว่าจะซื้อง่ายขายคล่องตลอดเวลาเสียเมื่อไหร่

สัปดาห์หน้าจะมาโฟกัสถึงการต่อสู้ดิ้นรนชีวิตในยุโรปและอเมริกาของ “อินสนธิ์ วงค์สาม” ว่าพานพบอะไรบ้าง ทั้งในด้านชื่อเสียง เกียรติยศ เงินตรา และแน่นอน ความรัก!