บทความพิเศษ/ โชคชัย บุณยะกลัมพ/หุ่นยนต์เข้าทดแทนงานมนุษย์ 7 ปีข้างหน้า 75 ล้านตำแหน่ง

บทความพิเศษ/ โชคชัย บุณยะกลัมพ
https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

 

หุ่นยนต์เข้าทดแทนงานมนุษย์ 7 ปีข้างหน้า 75 ล้านตำแหน่ง

 

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจหลายอย่าง

ทำให้หลายองค์กรเริ่มมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการทำงาน

ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือระบบอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่มีบทบาทมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหลากหลายอาชีพ

จนคนทำงานหลายๆ คนเกิดความกังวลว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด

งานที่หุ่นยนต์จะเข้ามาทดแทนนั้นมักจะเป็นงานที่มีรูปแบบการทำงานแบบเดิมซ้ำๆ หรือเป็นงานที่เน้นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก งานหลักที่หุ่นยนต์จะมาช่วยสนับสนุนการทำงานของมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อาชีพเฉพาะทางเริ่มนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดในแวดวงการแพทย์ โดยหุ่นยนต์นั้นสามารถทำงานร่วมกับทีมศัลยแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

งานด้านบริการ เช่น พนักงานจองตั๋วเครื่องบิน พนักงานต้อนรับในโรงแรม แนวโน้มการใช้งานหุ่นยนต์ในภาคบริการมีโอกาสแซงหน้าหุ่นยนต์ภาคการผลิต

โดยจะเห็นว่ามีองค์กรจากหลากหลายธุรกิจที่นำหุ่นยนต์ไปใช้ในการให้บริการ

ซึ่งหุ่นยนต์สามารถเข้ามาช่วยทำให้การทำงานง่ายขึ้นทั้งผู้ให้บริการและลูกค้าที่มาใช้บริการ

งานด้านคำปรึกษา เช่น ที่ปรึกษาทางการเงิน – มนุษย์ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่จะช่วยให้คำปรึกษาด้านการลงทุนผ่านซอฟต์แวร์การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เพื่อแนะนำให้นักลงทุนจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และข้อมูลที่ได้มีความแม่นยำสูง

ประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) การประชุมด้านเศรษฐกิจโลกมุ่งเน้นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตลาดแรงงานของงานทั้งหมดทั่วโลกจะถูกดำเนินการโดยเครื่องจักรและหุ่นยนต์ การศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่าทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐต่างยังไม่ทราบถึงขอบเขตของความท้าทายสำคัญในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้อย่างถ่องแท้ ภายในปี 2025

รายงานจากผู้จัดงานประชุมเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลง ระบุว่ากว่า 50% ของงานทั้งหมดทั่วโลกจะถูกดำเนินการโดยเครื่องจักรและหุ่นยนต์ภายในปี ค.ศ. 2025 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า

สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ประเมินว่าเครื่องจักรจะเป็นผู้ทำงานราว 52% ของงานทั้งหมดในภาคแรงงานภายใน 7 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ใช้เครื่องจักรอยู่เพียง 29%

ในที่สุดเทคโนโลยียุคใหม่ไม่ได้แค่เข้ามาทำลายตำแหน่งงานของมนุษย์เท่านั้น

แต่ยังสร้างตำแหน่งงานใหม่ทดแทนในจำนวนมากกว่าด้วย

โดยคาดว่าภายในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือปี 2022 การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเครื่องจักรและระบบอัลกอริธึม หรือการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ จะทำให้มีตำแหน่งงานหายไป 75 อัตรา

แต่มีงานใหม่เกิดขึ้น 133 ล้านอัตรา หรือเท่ากับว่าจะมีตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้น 58 ล้านอัตราทั่วโลก

สิ่งที่เป็นความท้าทายที่สำคัญคือการฝึกอบรม พร้อมทั้งให้ความรู้ใหม่แก่พนักงานเพื่อเตรียมรับมือกับโลกใหม่แห่งการทำงานที่มีความเสี่ยง รายงานกล่าวว่า เกือบ 50% ของบริษัทต่างๆ คาดว่าจะลดจำนวนแรงงานที่ทำงานเต็มเวลาในบริษัทลงภายในปี ค.ศ.2022

ในขณะที่เกือบสองในห้าคาดว่าจะเพิ่มจำนวนพนักงาน

และกว่าหนึ่งในสี่คาดว่าระบบอัตโนมัติจะสร้างบทบาทใหม่ในองค์กรของตน

นอกจากนี้ ผลการศึกษาใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมระบุว่าประเภทงานที่จะถูกหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาทดแทนมากที่สุดคือ งานในกลุ่มบัญชี การจัดการลูกค้า อุตสาหกรรม ไปรษณีย์และงานเลขาฯ

แต่งานที่ต้องใช้ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ยังอยู่ เช่น เซลส์ การตลาด การบริการลูกค้า รวมถึงอีคอมเมิร์ซ และโซเชียลมีเดีย จะเป็นกลุ่มที่อาจมีดีมานด์มากขึ้น

นอกจากนี้ งานในอุตสาหกรรมการบิน การเดินทางและท่องเที่ยวยังน่าจะเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องคงแรงงานมนุษย์ไว้อยู่

อนาคตภาคแรงงาน 2018 ฉบับที่สอง ซึ่งสำรวจผู้บริหารที่เป็นตัวแทนของพนักงานกว่า 15 ล้านคนใน 20 บริษัท ระบุว่าการสร้างงานมีแนวโน้มที่เป็นด้านบวกมากขึ้น เมื่อเทียบกับรายงานฉบับที่แล้วที่ทำขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2016 เนื่องจากบรรดาผู้บริหารธุรกิจต่างตระหนักรู้ถึงโอกาสต่างๆ ที่เทคโนโลยีจะสามารถทำให้เป็นไปได้

ถ้าเราดูแนวโน้มในปัจจุบัน งานรูทีน (routine) ทั้งหลายมีโอกาสทดแทนได้โดยหุ่นยนต์

สมัยก่อนแรงงานถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร

แต่ตอนนี้หุ่นยนต์มีความฉลาดมากขึ้น มันสามารถทำงานอะไรที่ซับซ้อนขึ้น

เพราะฉะนั้น งานบางอย่างก็จะถูกทดแทนได้ เช่น งานบัญชีที่คิดตัวเลขเดบิต เครดิต งานขายของทางโทรศัพท์ หรืองานบางลักษณะของทนายความ

คือมันไม่ใช่แค่เฉพาะแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว พวกพนักงานออฟฟิศก็สามารถที่จะถูกทดแทนได้เหมือนกัน แม้แต่คุณหมอเอง

เช่นกรณีหมอทั่วๆ ไป หุ่นยนต์ก็ทำแทนได้

ขณะเดียวกันก็จะเกิดงานรูปแบบใหม่ๆ เนื่องจากในปัจจุบันข้อมูลมีอยู่เยอะมากที่เราเรียกว่า Big Data เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราขาดแน่นอนคือคนที่จะวิเคราะห์ข้อมูล ก็จำเป็นต้องมีพวกนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ที่จะมาวิเคราะห์ข้อมูล จัดระเบียบข้อมูล

นอกจากนี้ งานพวกบริหารจัดการ บริหารทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นอะไรที่ซับซ้อน งานที่ต้องวิเคราะห์ งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไรต่างๆ เป็นงานที่หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีทักษะพวกนี้ Critical Thinking, Creative, Innovative

WEF กล่าวว่า ความท้าทายสำหรับบรรดานายจ้างนั้นรวมไปถึงการให้ทำงานนอกสถานที่ การสร้างเครือข่ายความปลอดภัยเพื่อปกป้องคนงาน และการอบรมทักษะใหม่ให้แก่พนักงาน

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะ ตลอดจนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีควบคู่กันไป

รูปแบบของงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจไม่มั่นคงเหมือนกับงานในปัจจุบัน

เนื่องจากภาคธุรกิจมีแนวโน้มว่าจะหันไปจ้างงานแบบสัญญาจ้างเป็นจ๊อบๆ 3 เดือน 6 เดือนมากขึ้นด้วย