ผ่า!โพลการเมือง มีเรื่องอิทธิพลมาเกี่ยวข้อง? ต้องปรับแผนอย่างไร ในวันที่มี “คนหลอกโพล”

“การทำโพลสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองต้องรอบคอบ การเมืองมันมีได้มีเสีย เป็นเรื่องของอำนาจ บางครั้งมีเรื่องของอิทธิพล (ซึ่งสูงกว่ามาเฟียด้านอื่นๆ) ถ้าผลสำรวจออกมามันส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนหรือพฤติกรรมการแสดงออกทางการเมือง ที่ผมพูดตรงนี้ก็เพราะว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีการแข่งขันกันสูง ในช่วงนั้นไม่มีใครอยากตอบ คนไม่อยากยุ่ง แต่ถ้าช่วงที่เปิดเสรีในยุคที่ประชาธิปไตยมากๆ ใครๆ ก็อยากจะตอบ เช่น สมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นช่วงการสำรวจความคิดเห็นที่คนอยากจะตอบ แม้บางทีตัวเองไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง ก็อยากแสดงความเห็น”

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล เล่าถึงสถานการณ์ทำโพลการเมืองในไทยว่าไม่ง่าย และต้องใช้ความรอบคอบสูง

รศ.ดร.สุขุมเล่าว่า การทำโพลเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องดูทั้งหลักวิชาการสำรวจ ศึกษาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะระยะหลังๆ นี้มีความเข้มงวดมาก กกต.-กฎหมายการเลือกตั้ง ผนวกกับการวิเคราะห์ทางรัฐศาสตร์ อย่างการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ เพราะครั้งหน้าเขตจะเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้จะส่งผลอย่างยิ่งต่อโพล

“ขณะเดียวกันเราต้องใช้จิตวิทยา ดูว่าผู้คนที่เราสำรวจหรือถามในช่วงที่ผ่านมานี้สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลหรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้คือ “การสร้างความสงบ” แต่ความสงบพอนานเข้าจะกลายเป็นเผด็จการ ซึมลึกนานๆ จะส่งผลต่อ “เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง” พอท้องมันหิว คนมันจะไม่สนใจเรื่องของความสงบแล้ว คนไปโฟกัสว่าจะทำอย่างไรเศรษฐกิจจะดีขึ้น การถามจึงต้องคำนึงหลายปัจจัย”

“เวลาที่มีผลสำรวจออกมา บรรดานักการเมืองก็จะมีการกล่าวอ้างผลดีต่อตัวเองตลอดเวลา เมื่อตัวเองได้รับความนิยม แม้ว่าเวลาสำรวจจะผ่านมากี่ปีแล้วก็ตาม ก็ยังคงอ้างอิงแต่ผลเก่าตรงนั้น เช่นกันเรื่องจุดอ่อน ไม่รู้สำรวจมาเมื่อไหร่ แต่ฝ่ายตรงข้ามก็จะนำข้อมูลมาพูดมาใช้ มันเป็น “การเลือกใช้โพล” เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว “สื่อมวลชน” จึงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะบางครั้งคนก็จะมองว่าโพลเป็นตัวทำลายประชาธิปไตย เป็นการชี้นำบ้าง หรือเข้าข้างบ้าง เป็นต้น”

: คนสงสัยไปสำรวจกันที่ไหน ใช้หลักการเลือกอย่างไร?

หลักวิชาการทำโพลจริงๆ การเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่ม ต้องกระจายให้สามารถเป็นตัวแทนได้ เช่น ถ้าบอกว่า “สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ” ในความหมายนี้คือต้องครบทุกเขต ต้องมีตัวแทนของเขตรอบนอก เขตชั้นใน ตรงใจกลาง กลุ่มตัวอย่างต้องกระจาย เช่นกันถ้าสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับคนไทยก็ต้องให้ครบทุกจังหวัด

ต่อมาต้องดูเรื่องของอาชีพ ต้องเป็นการกระจายอาชีพ เช่น ถ้าไปเอาแต่ทหาร ตำรวจ อาจจะมีการเบี่ยงเบนไปได้ อาชีพต้องควบคุม แล้วถ้าทำเรื่องการเมือง คนที่ตอบก็ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ถ้าเป็นเด็กจะกลายเป็นแค่กองเชียร์แต่ไม่มีคะแนน

รวมถึงพิจารณาเรื่องของการศึกษา/รายได้ เพราะแต่ละคนมีต่างกัน รายได้ต่างกัน อาชีพต่างกัน ภูมิลำเนาต่างกัน เรื่องพวกนี้ส่งผลต่อความคิดเห็น

เพราะฉะนั้น จะต้องกระจายกลุ่มตัวอย่างให้ครบ เป็นเทคนิคในการทำโพล จากนั้นต้องแบ่งเป็นช่วงอายุ วัยรุ่นชอบพรรคนี้ ถ้าอายุมากชอบอีกแบบหนึ่ง เป็นความชอบต่างกันในแต่ละ Generation ในยุคสมัยที่ต่าง เพราะถ้าใครติดอกติดใจในยุคที่พรรคนี้กำลังโด่งดัง คนก็ยังฝังใจจำ ฆ่ายังไงก็ไม่ตาย มันถึงมีคำออกมาว่า แค่เอ่ยชื่อพรรค ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ยังได้เลย

เพราะฉะนั้น การสุ่มตัวอย่างต้องมีกระจาย Area Sampling และการสุ่มก็ต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ว่าเจอใครแล้วถามหมด อาจใช้หลักนับ 5 จากบ้านหลังที่ 1 ไปหลังที่ 5 หลังที่ 10 หลังที่ 15 หรือใช้เกณฑ์ถนนเว้นถนน ไม่ใช่เอาแค่ถนนเดียวมาสรุปความคิดเห็นของคนในเขตนั้นเลยไม่ได้

แต่จริงๆ แล้วสำหรับประเทศไทย ถ้าเราเข้าใจพื้นที่ คนที่อยู่ชุมชนแออัดก็จะเลือกแบบหนึ่ง แต่คนที่บ้านมีรั้วจะเลือกอีกแบบหนึ่ง นี่คือองค์ประกอบที่เราจะต้องพิจารณาว่าเราสุ่มได้ครบถ้วนหรือไม่

อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ “วันอาทิตย์” จะเป็นวันที่คนตอบได้ดีที่สุด เพราะถ้าไปทำวันจันทร์รถก็ติด วันธรรมดาคนก็ทำงาน คนกรุงเทพฯ ไม่มีอารมณ์ตอบ เรื่องวันจะมีผล ประกอบกับสถานการณ์ที่ไม่ได้นิ่ง เวลาข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์หรือเวลาโทรทัศน์นำเสนอข่าว คนก็จะคล้อยตามหรือว่ามีอารมณ์ร่วมในเรื่องนั้นๆ เราไปถามว่าคิดเห็นอย่างไรว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สนใจการเมืองเพียงแค่คำพูดที่ออกมาประโยคเดียว บางคนก็ตอบว่าก็ดีสิเพราะบ้านเมืองสงบ คนก็ตอบตามกระแสตรงนี้

หรือการให้รัฐมนตรีเล่นการเมืองได้ ที่เวลาเราไปถามชาวบ้าน อิทธิพลของสื่อที่นำเสนอ ข่าวในช่องทางต่างๆ มันจะมีผลต่อการตอบของประชาชน ฉะนั้น คนทำโพลจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงสถานการณ์ตรงนี้ ก็จะต้องออกแบบการสอบถามให้ดี

: ทำไมโพลของหลายสำนักออกผลมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังได้อันดับ 1

สิ่งที่สะท้อนได้เลยคือพฤติกรรมของคนไทยที่ยังคงมีความเชื่อผู้นำ ใครที่เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นแล้วไปถามชาวบ้านคนนั้นจะได้เปรียบ คือเป็นนายกฯ อยู่คนก็จะรู้จะจำได้ว่ามีการออกโทรทัศน์บ่อยๆ มีชื่อลงหนังสือพิมพ์ มีคนกล่าวถึงอยู่มาก มีรายการเห็นทุกวันศุกร์ นี่คือความเคยชินของคนไทย

ประเด็นต่อมาเราจะเห็นได้ว่าคู่แข่งเปิดหน้าเปิดตาชัดเจนยังออกมาไม่เต็มที่ หลายคนก็สงสัยว่าทำไมยังเห็นชื่อของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ติดอยู่ ยังมีชื่อคุณชวน หลีกภัย มันสะท้อนว่าคนยังจดจำอดีตหรือประสบการณ์ที่ตัวเองคิดว่าจะคนนี้ก็ดีนะ

หรือบางครั้งมีชื่อของคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ปรากฏขึ้น มันสะท้อนให้เห็น ประชาชนมองว่าเศรษฐกิจแย่ ต้องหวังพึ่งคนอื่น

มองต่อไปข้างหน้า ถ้าสมมุติว่า พล.อ.ประยุทธ์ประกาศหนุนพรรคหนึ่งขึ้นมา ก็จะส่งผลต่อคะแนนนิยมและแรงเสริมมาอีก แต่เราต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่าตอนที่ คสช.เข้ามาใหม่ๆ คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นสูงมาก 70 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาก็ลดลงมาเรื่อยๆ เพราะอยู่นานมา

ปัจจุบันนี้อยู่ประมาณ 20 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่มันยังคงเป็นที่หนึ่งอยู่ เป็นนัยยะว่าลดลง

ที่สำคัญ ต้องมองเห็นว่ามีคู่แข่งอะไรไหม บางทีคนตอบไม่ได้คิดหรอกว่าคุณทักษิณเป็นนายกฯ ไม่ได้แต่ยังเลือกตอบ หรือกระทั่งมีชื่อของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ บางทีคนไปตีความว่าเอาผลของ 3 คนนี้มารวมกันแล้วก็ชนะ พล.อ.ประยุทธ์

คุณต้องไม่ลืมว่าคนจะเลือกทักษิณ แต่ไม่จำเป็นว่าเขาต้องเลือกสุดารัตน์หรือสมชาย อย่าเอาตัวเลขมาบวกกันง่ายๆ จากนี้ไปพอเปิดชื่อ เปิดหน้ากันมาครบๆ มีการรณรงค์หาเสียง ชูนโยบาย ผมมองว่าตอนนี้แหละต้องมาวิเคราะห์กันอีกที

แต่ย้ำว่าเป็นเรื่องปกติที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่อันดับต้นๆ เพราะใครที่ดังตอนไหน คนก็จะเลือกตอบเอาไว้ก่อน

: อิทธิพล-ความเกรงกลัวของชาวบ้านส่งผลต่อการตอบหรือไม่?

นี่คือคำถามที่ดี ในการทำโพลแต่ละครั้งถ้าเราไปทำในค่ายทหาร หรือไปทำในที่ใดที่หนึ่งซึ่งประชาชนยังมีความหวาดระแวงอยู่ มันก็จะมีเรื่องของความกลัวเข้ามาเกี่ยว เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่มานาน

พอเราลงไปถามชาวบ้าน ชาวบ้านก็จะถามกลับมาว่ารัฐบาลให้มาทำเหรอ? เราก็จะได้คำตอบอีกแบบหนึ่ง

หรือเขาอาจจะบอกว่า ขออนุญาตนายอำเภอมาหรือยัง? ถ้าเราตอบกลับไปว่าไปขอมาแล้ว ชาวบ้านก็จะคิดแล้วว่าคุณจะมีบทบาทอะไรยังไง

คำว่าอิทธิพลต่อคนที่เขาจะเลือกก็มีส่วนหนึ่ง ถ้าใครบอกว่าไม่เลือกก็จะโดนเขม่นจากเพื่อนบ้าน เช่น หมู่บ้านนี้เขาเลือกกันหมดแล้ว ผู้นำท้องถิ่นก็อาจจะไปบอกชาวบ้านว่าถ้าไม่เลือกก็จะไม่ได้งบฯ มาพัฒนาท้องถิ่น มันก็จะมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ส่งผล หน้าที่ของสำนักโพลคือต้องพยายามที่จะถามคำถามที่ไม่เป็นการชี้นำ

มีอยู่หลายครั้งเหมือนกันว่าต้องการที่จะเลือกพรรคนี้ แล้วพอเราถามว่าอยากให้ใครเป็นนายกฯ มีการตอบอีกแบบ สำนักโพลต้องทำแยกหลายๆ ประเด็นเพื่อให้คนไปวิเคราะห์ได้ว่า ถ้ามองผ่านมาภาพรวม พล.อ.ประยุทธ์อาจจะผ่าน แต่พอแยกประเด็นออกมา เช่น เศรษฐกิจอาจจะด้อยอย่างเห็นได้ชัด การทำโพลจึงต้องอธิบายตรงนี้ได้อย่างละเอียด วิเคราะห์ลึกลงไปแต่ละด้าน เช่น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์แก้ไขสถานการณ์เศรษฐกิจได้ ก็จะได้รับความนิยมมากกว่านี้ คนมองว่าเรื่องนี้ยังอ่อนอยู่ ก็ตีความไปได้หมด

: คนกรุงเทพฯ หลอกโพลเก่ง?

คนกรุงเทพฯ มีความคิดว่าตัวเองฉลาดขึ้นและมองว่าไม่ควรจะบอกทั้งหมด คนต่างจังหวัดจะเป็นคนตรงๆ ถ้าจะโกหกก็เลือกที่จะไม่ตอบ คนกรุงเทพฯ ถ้าไม่ตอบก็กลัวที่จะเสียศักดิ์ศรีว่า ทำไมถามแค่นี้ไม่ตอบ ไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองเลยหรือ? คนกรุงเทพฯ จะหลอกโพล

เช่นเดียวกับคนสหรัฐที่หลอกเรื่องประธานาธิบดี

ครั้งที่แล้วที่เราทำโพลของผู้ว่าฯ กทม. หลายสำนักก็หน้าแตกกันยับเยินเพราะคนอยากจะหลอกโพล ก็จะคิดมากว่า ถ้าสมมุติตอบไปแบบนี้ คนที่เราเชียร์ก็จะแพ้ ถ้างั้นก็โกหกไปให้ย่ามใจ ทำให้ไม่ต้องลงพื้นที่เยอะ ไม่ต้องปรับกลยุทธ์ คนกรุงเทพฯ โกหกได้เก่งแนบเนียนกว่าก็จริง

สำนักโพลเองก็ต้องมาปรับกลยุทธ์ในการอ่านใจคนให้ได้ และก็ปรับคำถามโดยไม่ใช้ลักษณะการทำตรงโดยการผ่านอ้อมๆ เพื่อให้ได้คำตอบดีกว่า การเลือกตั้งปี 2562 เราก็ไม่ต้องปรับอะไรมาก เพราะว่าเราว่างเว้นจากการเลือกตั้งมานานพอสมควร คนอยากเลือกตั้ง คนอยากมีส่วนร่วมทางการเมือง เราที่เก็บข้อมูลมาตลอดแล้วพอจะรู้ว่ากระแสเป็นอย่างไร คนก็จะไปโกหกช่วงใกล้ลงคะแนน โดยเฉพาะในช่วง 7 วันก่อนถึงวันจริง

ฉะนั้น คนทำโพลจะต้องดูระยะเวลา ใช้จิตวิทยาและเครื่องมือในการประมวลผล รวมถึงการกระจายกลุ่มตัวอย่างไม่ให้กระจุกตัว

รับฟังบทสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ที่

https://bit.ly/2P27xwL