หลังเลนส์ในดงลึก : “ตามวัย”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ในการคุยกับ “หนังสือ” ครั้งล่าสุดเมื่อสองเดือนที่แล้ว เหตุผลที่หนังสือเล่มนั้นมาขอคุยกับผมคือ เป็น คอลัมน์ ซึ่งเลือกคุยกับเฉพาะคนที่แก่แล้ว

แก่ หมายถึงคงมีประสบการณ์ พอที่จะเล่าสู่กันฟังว่าความจริงสำหรับผมนี่คือเรื่องน่าภูมิใจพอสมควร

การได้มีโอกาส “เรียน” กับเหล่าสัตว์ป่าพวกมันสอนความจริงข้อหนึ่งให้เห็น

นั่นคือ เติบโตไปตามวัย

รวมทั้งสิ่งสำคัญที่สุด อยู่ในวัยนั้นให้เป็น

 

สิบกว่าปีก่อน

งานของผมเริ่มเปลี่ยนไป ไม่มีภาพสัตว์ป่าชัดๆ หรือในสภาพแสงเงาอันสวยงาม

เจตนาเพื่อจะสื่อว่า สำหรับสัตว์ป่าไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดบนโลกใบนี้ อนาคตก็จะมืดมนเหมือนๆ กัน

กระนั้นก็เถอะ

ความมีเบื้องหน้าของสัตว์ป่านั้นเป็นความจริงแต่เมื่อเฝ้าดูอย่างละเอียดจริงจัง

ผมก็พบว่า บางทีพวกมันอาจไม่ได้คิดเช่นนั้น สัตว์ป่าส่วนใหญ่ ยังคงดำเนินชีวิตตามวิถีที่เคยเป็นมาตั้งแต่พันปีก่อน

การเดินทางอพยพโยกย้ายถิ่นของบรรดานก รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม นี่คือภาพอันเห็นได้ชัด

หลายชนิดเดินทางเป็นฝูงใหญ่

แต่ก็มีหลายตัวเดินทางลำพัง

ผมเขียนถึง “ความรู้สึก” เรื่องการเดินทางบ่อยๆ ไม่ว่าจะเรียกการเดินทางของสัตว์ป่าว่าอย่างไร เพราะหน้าที่ สัญชาตญาณ เพราะตามๆ กันไป

หรือเพราะ “ความหวัง”

แต่เมื่อถึงเวลา สัตว์ป่าทุกตัวจะเริ่มเดินทาง บางตัวเคลื่อนย้ายตัวเองไปยังแหล่งอาหารใกล้ๆ บางตัวไปไกลนับพันนับหมื่นกิโลเมตร

สู่จุดหมายเดิมๆ

พวกมันเดินทางแม้จะรู้ว่าต้องพบกับความยากลำบากอย่างไรบ้าง หลายตัวรู้ว่านี้อาจเป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย

สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถปิดกั้น หรือหยุดยั้งความหวังถึงแหล่งอาหารอันสมบูรณ์ที่รออยู่เบื้องหน้าได้

สำหรับสัตว์ป่า เมื่อเริ่มต้นเดินทาง

ดูเหมือนว่านี่คือหน้าที่ของชีวิต

เมื่อเติบโตถึงวัยหนึ่ง

ผมเริ่มเข้าใจว่า กรณีนี้สำหรับคนก็เช่นกัน ความแตกต่างนั้นอยู่ที่

เหล่าสัตว์ป่ามี “ความหวัง” รออยู่เบื้องหน้า

ส่วนคนเมื่อจากไปไกล

ที่คิดถึงคือสิ่งที่จากมา

 

เมื่ออยู่ในเมือง หรือแม้แต่เมื่อทำงานอยู่ใกล้ๆ สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งทุกวันนี้ไม่ได้ขาดแคลนหรืออยู่ “หลังเขา” ถูกตัดขาดออกจากโลกภายนอก ดังเช่นเมื่อก่อน

เกือบทุกแห่งมีแผงโซลาร์เซลล์ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มีจานรับสัญญาณดาวเทียม

คนในป่าสามารถ “ท่องโลก” ได้

การติดต่อสื่อสารว่องไว

ผมอยู่ใน “โลกเสมือน” ดังเช่นคนอื่นๆ

เมื่อออกจากที่นั่นไม่ถึง 500 เมตร

ผมก็จะพบกับ “โลกเดิม”

ปฏิบัติตัวแบบเดิมๆ ให้คุ้นชินกับการไม่ได้รับรู้เรื่องราวของโลกภายนอก

ไม่มีข่าวคราว ไม่มีการติดต่อ เจ็บป่วยไข้ต้องรับมือกับมันเพียงลำพัง หรือดูแลกันไปตามประสา

คนในป่ารู้ดีว่า ทุกๆ ครั้งเมื่อเจ็บป่วยทางกาย หัวใจคล้ายจะอ่อนล้ากว่าปกติ

“อ่อนล้า” กระทั่งหลายคนไม่กล้าเงยหน้าสบตากับดวงจันทร์ ซึ่งส่องแสงสว่างนวล

แน่นอนว่า สัตว์ป่า ไม่อ่อนแอเช่นนี้

พวกมันหลายตัวใช้ดวงจันทร์เป็นเครื่องนำทางสู่จุดหมายเสียด้วยซ้ำ

 

อยู่ในป่าครั้งที่ทำงานแรกๆ

สิ่งสำคัญที่สุดในความรู้สึกช่วงเวลานั้นคือ กองไฟ

ผมใช้เวลาอยู่ข้างกองไฟค่อนข้างมาก เพราะว่าไปแล้วสำหรับเรา ข้างๆ กองไฟคือทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นห้องครัว ห้องกินข้าว ห้องนอน เป็นเครื่องทำความร้อนให้ความอบอุ่น รวมทั้งเป็นโรงละคร

นั่งดูเปลวไฟร่ายรำ ฟังเสียงปะทุของฟืน

เหล่านี้คือความรื่นรมย์อย่างหนึ่ง

อยู่ข้างๆ กองไฟ ใช้เวลาทบทวนถึงสัตว์ป่า

ความยากลำบากของพวกมัน ไม่ได้อยู่ที่การดำรงชีวิต

สัตว์หลายชนิดสามารถปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้

หากการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างฉับพลัน ความรู้ ความชำนาญซึ่งถ่ายทอดจากพ่อ-แม่สู่ลูก

คือปัจจัยสำคัญ

ในแต่ละวัย พวกมันจะเรียนรู้เพื่ออยู่อย่างเหมาะสม

สัตว์ป่าทุกตัว ล้วนมีหน้าที่ ไม่มีตัวใดเกิดมาอย่างสูญเปล่า

มีความจริงอยู่ว่า บนโลกใบนี้ทุกชีวิตต่างใช้สิ่งต่างๆ ร่วมกัน

น้ำ อากาศ ผืนดิน และความอบอุ่นจากแสงดวงอาทิตย์

มีความจริงอีกประการที่ซ่อนอยู่

คือ สัตว์ป่าเกิดมาและมีไว้เพื่อทำนุบำรุงสิ่งต่างๆ เหล่านี้

 

สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นเมื่อนั่งอยู่ข้างๆ กองไฟคือจะมีเงาไหววูบวาบ

เงาไม่เหมือนกับร่างจริง มันจะดูผิดเพี้ยนใหญ่โต ความยากลำบากของชีวิตสัตว์ป่าไม่ใช่อยู่ที่การดำรงชีวิตไปตามวิถี

หากอยู่ที่คนจำนวนไม่น้อยมักมองเห็นเพียงแต่เงาของสัตว์ป่า

เราซึ่งผิดเพี้ยนไปจากชีวิตที่พวกมันเป็น

ถึงวันนี้ ผมยังอยู่ใกล้ๆ กองไฟเช่นเดิม

แต่ไม่ได้ใช้เวลาข้างๆ กองไฟมากนักแล้ว

อยู่บนเปล อ่านหนังสือ นานๆ มองไปที่กองไฟ

ถอยห่างออกมา คล้ายกับว่า เปลวไฟดูไหวอ่อนช้อยกว่าเดิม

 

ความโชคดีประการหนึ่งของผมคือได้มีโอกาสรู้จักมักคุ้นกับเหล่านักวิชาการด้านสัตว์ป่า

โดยเฉพาะ ผศ.ดร.ประทีป ด้วงแค รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ซึ่งเปิดโอกาสให้ผมได้พูดคุยถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับลูกศิษย์ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาการจัดการสัตว์ป่า และทุ่งหญ้า

ช่วงเวลาที่พวกเขามาฝึกงานภาคสนามในป่าห้วยขาแข้ง

ผมได้เห็นความมุ่งมั่นเอาจริง

ของอาจารย์ และลูกศิษย์

ดร.ประทีป มีความมุ่งมั่นที่จะเตรียมตัวลูกศิษย์ให้พร้อมที่จะออกมาทำงานในป่า

ลูกศิษย์ของเขาจำนวนไม่น้อยกำลังทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีอยู่ในป่า

และนี่คือ ความหวัง

อันทำให้รู้ว่า วันพรุ่งนี้ของเหล่าสัตว์ป่าจะไม่มืดมนนัก

ในวันนี้

ผมไม่พยายามทำภาพสัตว์ป่าให้มืดหรือไม่ชัดเพื่อสะท้อนถึงความมืดมนในอนาคตของพวกมัน

แต่พยายามถ่ายทอดสิ่งที่พวกมันเป็นออกมาจริงๆ

อีกนั่นแหละ การทำงานกับสัตว์ป่าช่วงเวลาที่จะพบเจอพวกมันมักจะเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ลับสันเขา

ภาพของผมจึงมืด และ “ไม่ชัด” อยู่เช่นเดิม

สิ่งหนึ่งที่ผมบอกกับเหล่าลูกศิษย์ของ ดร.ประทีป

คือ เมื่อทำงานกับสัตว์ป่า ต้องเตรียมรับกับความรู้สึกอกหัก เพราะไม่ว่าจะพยายามเท่าไหร่ สัตว์ป่าซึ่งมีประสบการณ์อันเลวร้ายกับคน จะไม่วางใจเรา

และจะบอกย้ำความเชื่อของผมเสมอๆ

เติบโตไป “ตามวัย”

สิ่งสำคัญกว่าคือ อยู่ใน “วัย” ของตัวเองให้เป็น