รายงานพิเศษ : คุยกับทูต ไฆเม นัวลาร์ต เม็กซิโก ประตูการค้าของไทยไปสู่ภูมิภาคอเมริกา (2)

เส้นทางนักการทูตในต่างแดนของเอกอัครราชทูต ไฆเม บีร์กิลิโอ นัวลาร์ต ซานเชซ (H.E. Mr. Jaime Virgillio Nualart Sanchez) เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ.1982 โดยได้รับการแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานทูตเม็กซิโกประจำประเทศเบลเยียม อิตาลี อินเดีย และญี่ปุ่น ตามลำดับ

หน้าที่ต่อจากนั้นอีกหลายปีต่อมา คือ อธิบดีกรมวิเทศสัมพันธ์ กระทรวงต่างประเทศ (2001-2003) เลขานุการคณะกรรมการบริหารของสภาวัฒนธรรมและศิลปะแห่งชาติ และเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมระยะหนึ่ง ซึ่งได้รับเกียรติให้เป็นประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมของยูเนสโก หนึ่งในการประชุมทั่วไปของยูเนสโก (2004-2005)

จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศอียิปต์ มีอาณาเขตครอบคลุมประเทศซีเรีย ซูดาน และจอร์แดน (2006-2009)

ล่าสุดคือตำแหน่งเอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศอินเดีย โดยมีอาณาเขตครอบคลุมประเทศบังกลาเทศ มัลดีฟส์ เนปาล และศรีลังกา (2009-2016)

ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

เอกอัครราชทูต ไฆเม นัวลาร์ต เล่าว่า “มีโอกาสได้ร่วมจัดพิมพ์เรื่องที่เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน The New Mexican Politics of International Cooperation และ The Challenges of International Cooperation”

“และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากรัฐบาลประเทศสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี โปรตุเกส และโคลัมเบีย”

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและการศึกษา ความสัมพันธ์ไทยและเม็กซิโกในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มีข้อตกลงในความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการศึกษาหลายด้าน การแลกเปลี่ยนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการติดต่อให้เกิดความใกล้ชิดและความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ

ในปี ค.ศ.2003 มีข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยโกลีมา (University of Colima) แห่งประเทศเม็กซิโก

ในปี ค.ศ.2005 และปี ค.ศ.2006 กระทรวงต่างประเทศของไทยได้เสนอให้ทุนการศึกษาแก่เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศของเม็กซิโกที่เข้าร่วมโครงการบัวแก้วละตินอเมริกา (Buakaew Latin America)

หรือทุนการศึกษาของประเทศสมาชิกกลุ่มความร่วมมือภูมิภาคเอเชียตะวันออกและละตินอเมริกา (Forum for East Asia-Latin America Cooperation – FEALAC) ซึ่งรวมทั้งเม็กซิโก ในด้านความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนา

ในปี ค.ศ.2013 เป็นทุนการศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ตลอดจนการแลกเปลี่ยนกิจกรรมทางวัฒนธรรมด้านต่างๆ เพื่อเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมและเพิ่มพูนความรู้ซึ่งกันและกัน

ทูตนัวลาร์ต กล่าวว่า

“ผมมาอยู่ที่เมืองไทยได้เพียงสามเดือน แต่ได้มีโอกาสเข้าพบบุคคลสำคัญคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม ทั้งยังได้พบกับประธานและอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานเอกชนด้วย เช่น สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ ไทย (Thailand Incentive and Convention Association – TICA) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ของเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

สำหรับการหารือความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของทั้งสองประเทศนั้น ได้มีการหารือประเด็นหลักๆ ที่มองว่า ทั้งไทยและเม็กซิโกพร้อมเดินหน้าได้ทันทีมี 4 เรื่อง คือ

การร่วมมือด้านการบริหารจัดการโรงงานผลิตแมลงวันผลไม้ เนื่องจากเม็กซิโกมีความก้าวหน้าด้านโรงงานฉายรังสีเพื่อทำหมันแมลง โดยไทยจะร่วมมือด้านการบริหารจัดการโรงงานผลิตแมลงวันผลไม้

รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยรังสีและการฉายรังสีอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางสำหรับผู้สูงอายุ อาทิ อาหารสุขภาพ ผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร เครื่องสำอาง

และการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในงานตามอาณัติของคณะกรรมการนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เนื่องจากศักยภาพและความพร้อมของเม็กซิโกมีในหลายด้าน ด้านแรก คือ ความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีการเกษตร ประมง อาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพ ส่วนไทยมีความก้าวหน้าด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการแปรรูปอาหาร

ด้านที่ 2 คือ การพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์

และด้านที่ 3 การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเม็กซิโกให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะภูมิอากาศและเป็นเมืองตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาทางมลพิษทางอากาศมาแล้ว

โดยฝ่ายไทยหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับเม็กซิโก ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก OECD (Organization for Economic Cooperation and Development)

และอีกเรื่อง คือ การร่วมผลักดันนโยบายและมาตรการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา วทน. ในประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) อย่างเม็กซิโกและประเทศไทยให้เกิดขึ้นต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ ตลอดจนการให้ทุนสนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่างประเทศ

ความร่วมมือทางนโยบายอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยและเม็กซิโกเกี่ยวพันในการแบ่งปันค่านิยมและอุดมการณ์ที่คล้ายคลึงกัน และมีความความสัมพันธ์กับปัญหาต่างๆ ทั่วโลกทั้งในระดับภูมิภาคและพหุภาคี

ในระดับภูมิภาคทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยต่างยอมรับว่าโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ประเทศต่างๆ ต้องพึ่งพากันมากขึ้นและการลดช่องว่างเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ สามารถทำได้โดยพยายามนำความหลากหลายของแต่ละประเทศมาใช้ในรูปแบบได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) โดยรวมซึ่งทำให้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภูมิภาคก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง

ด้วยเหตุที่ประเทศไทยมีบทบาทสร้างสรรค์ในหลายองค์กรระหว่างประเทศในภูมิภาค นอกจากเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

ประเทศไทยยังมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy – ACMECS) และกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue – ACD)

บนพื้นฐานเดียวกัน เม็กซิโกได้มีบทบาทที่สำคัญหลายแห่งในภูมิภาคอเมริการวมทั้งกลุ่มอเมริกากลางและแคริบเบียน เช่น เม็กซิโกเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำใน Organization of the American Association of Caribbean States และริเริ่มโครงการ Puebla-Panama Program ซึ่งเป็นแผนพัฒนาในระดับภูมิภาคระหว่างประเทศเม็กซิโกและอเมริกากลาง

ความร่วมมือในกรอบพหุภาคีและด้านเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ ทั้งไทยและเม็กซิโกมีบทบาทและความร่วมมือในกรอบต่างๆ เช่น กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (APEC) สหประชาชาติ (UN) องค์การการค้าโลก (WTO) และเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและละตินอเมริกา (FEALAC) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีท่าทีที่สอดคล้องและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในเรื่องต่างๆ อาทิ แนวความ คิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ของสหประชาชาติ หรือภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก

ทั้งสองฝ่ายสามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันในการเลือกตั้งสำคัญๆ อาทิ การเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้ เม็กซิโกเป็นสมาชิก Forum for East Asia and Latin America Cooperation (FEALAC) และ OAS ซึ่งไทยได้ให้ความช่วยเหลือและร่วมมือทางด้านวิชาการตามโครงการของ สพร. อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 9

ไทยกับเม็กซิโกได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการจัดส่งความช่วยเหลือให้กับเฮติ ที่ได้รับผลจากภัยแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.2010 ซึ่งไทยได้จัดส่งความช่วยเหลือแก่เฮติผ่านรัฐบาลเม็กซิโก (โดยไทยได้อนุมัติเงินงบประมาณความช่วยเหลือระยะเร่งด่วนจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยการจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ เวชภัณฑ์มอบให้ทางการเม็กซิโกเพื่อจัดส่งให้เฮติ)

ทั้งไทยและเม็กซิโกต่างมีความกระตือรือร้นในหลายประเด็นทั้งทางเศรษฐกิจสังคมและการพัฒนา ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญในการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างงานในชนบท ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก

โดยมีวัตถุประสงค์หลักของการเพิ่มระดับของคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปและการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น

นโยบายทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยและเม็กซิโกต้องพึ่งพาภาคการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศ ยังส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมซึ่งให้ความสำคัญในข้อตกลงการค้าเสรีและการลงทุนต่างประเทศ ปัจจุบันเม็กซิโกได้ลงนามใน 12 เขตการค้าเสรี (12 FTAs) กับ 32 ประเทศทำให้เม็กซิโกเป็นหนึ่งในประเทศไม่กี่แห่งในโลกที่มีข้อตกลงการค้าเสรีมากที่สุดเท่าที่มีการลงนาม ในแง่นี้ ประเทศไทยได้มีการลงนาม เอฟทีเอ 8 (FTAs 8) และอยู่ในระหว่างการเจรจากับสหรัฐอเมริกาและประชาคมยุโรป

นอกจากนี้ ทั้งไทยและเม็กซิโกมีแรงจูงใจที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่เม็กซิโกมีทำเลที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐานที่มีความได้เปรียบในการดึงดูดการลงทุนในเขตทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนประเทศไทยมีแรงงานที่มีทักษะ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย และเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นความได้เปรียบต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย

อีกทั้งสองประเทศมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage)ในอุตสาหกรรมที่คล้ายกัน เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม สิ่งทอ รองเท้าและการท่องเที่ยว

ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้มีส่วนช่วยให้โอกาสแก่ประเทศเม็กซิโกและไทย ในการให้ความร่วมมือกันในรูปแบบที่สร้างสรรค์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันของแต่ละฝ่าย ผ่านช่องทางของการแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความรู้และวิธีการด้านเทคนิคและเทคโนโลยี

ทูตนัวลาร์ต เล่าเพิ่มเติมถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศไทยกับเม็กซิโก ว่า

“สิ่งที่เราขายให้แก่ประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมากกับสิ่งที่เราซื้อจากประเทศไทย แต่เราไม่ได้เป็นประเทศคู่แข่งต่อกัน สินค้าเม็กซิโกบางชนิดที่นำเข้ามาในประเทศไทย ก็เพื่อไปรวมผสมผสานกับเครือข่ายทั่วโลก และสินค้าไทยที่ส่งออกไปประเทศเม็กซิโกก็ได้ไปบูรณาการในโซ่การผลิตเดียวกัน นี่คือการค้าในขณะนี้ โดยเราคาดหวังให้การค้าขายเกิดความหลากหลายขึ้นซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตร เพื่อป้อนตลาดไทย ในด้านสินค้าเกษตร ปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ปลา”

“มีคณะผู้แทนจากกระทรวงเกษตรเม็กซิโก มาเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้พบปะและประชุมร่วมกับสถาบันหน่วยงานต่างๆ ของไทยที่เกี่ยวกับการประมง ปศุสัตว์และการเกษตรเพื่อเริ่มต้นการเจรจาต่อรองในการนำเข้าสินค้าของเม็กซิโกสู่ประเทศไทย”

“เราจะจัดการสัมมนาในเดือนพฤศจิกายนนี้อันเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในเม็กซิโก เพื่อส่งเสริมให้เม็กซิโกเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนไทย ในความเป็นจริง เม็กซิโกเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยในละตินอเมริกา และไทยเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 6 ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเม็กซิโก”