เมืองที่ยังสร้างไม่เสร็จ : มนัส สัตยารักษ์

ขับรถออกจากบ้านเกือบเที่ยงแล้ว พอเลี้ยวเข้าถนนศรีนครินทร์ โฉบหน้าจะไปทางถนนหัวหมาก สังเกตเห็นว่าถนนที่กำลังเปลี่ยนเป็นอุโมงค์หรือสะพานหรือฝังตอม่อทำรางรถไฟฟ้าก็ตาม ต่างปิดกั้นด้วยแท่งแบริเออร์แสดง “เขตพื้นที่ทำงาน” เหลือทางไว้ให้รถแล่นเบียดกันได้สักเลนหรือสองเลน เช่นเดียวกับที่ถนนรามคำแหง ถนนพัฒนาการและศรีนครินทร์ทางไปศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ทั้งหมดล้วนเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาการจราจรในวันนี้

ในพื้นที่เขตทำงานมีเครื่องจักร เครื่องมือขุดเจาะ ลากจูง ตอกอัด รวมทั้งวัสดุที่จะใช้ในการก่อสร้าง พร้อมสรรพ…

แต่ไม่มีคนทำงาน!

นึกสาปแช่งคนวางแผนก่อสร้างและผู้รับเหมาอยู่ในใจ ที่ไม่คิดถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านผู้ใช้รถใช้ถนน ไม่คำนึงถึงส่วนสูญเสียทรัพยากรและสิ้นเปลืองของงบประมาณแผ่นดิน

ตกเย็นฝนตก ผมรีบขับรถกลับบ้านกะให้ทันก่อนน้ำท่วมซอยเข้าบ้าน เส้นทางที่ใกล้และคิดว่าสะดวกที่สุดจากสนามราชมังคลากีฬาสถาน ถนนหัวหมาก ก็คือทางแยกจะไปหมู่บ้านกรุงเทพกรีฑา เลี้ยวขวาเข้าถนนศรีนครินทร์ซึ่งมีสะพานวงเวียนลอยฟ้าตัดใหม่ข้ามไปได้โดยไม่มีสัญญาณไฟให้ต้องหยุดชะงัก

แต่เป็นการตัดสินใจผิด…

แล่นขึ้นสะพานวงเวียนไปได้เพียงครู่เดียวก็ต้องชะลอต่อแถวอยู่ห่างๆ จากรถคันหน้า และหยุดหลีกทางให้รถคันหนึ่งที่ค่อยๆ เลื่อนไหลถอยหลังกลับลงถนนใหญ่

จนในที่สุดผมดึงเบรกมือหยุดสังเกตการณ์รอบตัวเพื่อตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป

มองลงไปทางถนนศรีนครินทร์ปรากฏว่ารถติดแน่นสนิทแบบไม่ขยับ ตรงกลางแถวมีรถพยาบาลคันหนึ่งเปิดไฟสัญญาณวับวาบ (อย่างไร้ผล) ผมมีประสบการณ์เคยถูกตรึงอยู่ในรถแบบนี้แล่นจากสุราษฎร์ธานีไปหาดใหญ่ จึงได้แต่ภาวนาอยู่ในใจว่าขอให้คนป่วยในรถปลอดภัยเถิด ขณะเดียวกันก็ปลอบใจตัวเองว่ามีคนที่เคราะห์ร้ายกว่าเราอยู่กลางถนนนั่น

ชายคนหนึ่งจ๊อกกิ้งฝ่าฝนสวนทางขึ้นมาจากถนนศรีนครินทร์ เขาส่งสัญญาณมาตลอดทางว่าไม่มีช่องทางไปได้ ช่วยให้ผมและเพื่อนร่วมทุกข์ตัดสินใจกลับรถลงจากวงเวียนแล้วแล่นไปทางถนนที่กำลังก่อสร้าง ไปกลับรถตรงทางเข้าสนามกอล์ฟราชกรีฑาฯ แล้วกลับไปยังศูนย์การค้าเดอะไนน์ เพื่อกินมื้อค่ำ

สักครู่ได้รับโทรศัพท์จากบุตรสาวว่า น้ำท่วมซอยทางเข้าบ้านค่อนข้างสูง มีรถจอดตายเต็มซอย ถ้าจะเข้าบ้านต้องเดินกลับ หรือรอจนกว่าน้ำจะระบายออกหมด

ถ้าเราจำเป็นต้องใช้ชีวิตในกรุง (และปริมณฑล) ข้อแรกเราต้องรู้จักปรับตัวตามสถานการณ์ที่ไม่ค่อยแน่นอนและเชื่อถือได้ยาก (แม้แต่อุตุนิยมวิทยาก็ต้องฟังหูไว้หู หรือต้องอัพเดตอยู่ตลลอดเวลา) ขณะเดียวกันก็ต้องรับฟังความคิดหรือข้อเสนอใหม่ๆ ที่ “ไม่เคยมีใครในโลกเขาทำกัน” อีกด้วย

อย่างเช่น พาดหัวข่าวในสื่อโซเชียลว่า “ยกเลิกรถเมล์แก้ปัญหารถติด” เป็นต้น

ถ้าดูแต่เฉพาะ “พาดหัวข่าว” ก็เป็นกรณีที่มีผู้เสนอให้ยกเลิกรถเมล์สาธารณะซึ่ง “ไม่มีใครในโลกเขาทำกัน” เพราะปรัชญาของการขนส่งสาธารณะก็คือ ขนส่งคน ไม่ใช่ขนส่งรถ เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า รถเมล์นั้นบรรทุกผู้โดยสารได้คันละ 70-80 คน ในขณะที่รถเก๋งบรรทุกได้เพียง 4-5 คน (รวมคนขับ) และรถเก๋งส่วนใหญ่ที่แล่นอยู่บนถนนในกรุงเทพฯ มักจะมีแต่คนขับเพียงคนเดียว

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. (ดูแลงานจราจร) พยายามชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมจากพาดหัวว่า “ไม่ได้เสนอเลิกรถเมล์ แต่เสนอให้ใช้มินิบัสเฉพาะสายที่มีการก่อสร้างทางรถไฟฟ้า และ ขสมก.ต้องลดจำนวนรถเมล์ประจำทางที่เก่าและใหญ่ในถนนรามคำแหง หรือสายที่มีรถปริมาณมากแต่คนใช้บริการน้อย”

พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผบช.สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ บอกว่า “เราเพิ่มรถซัตเติลบัสเพื่อไม่ให้รถเข้ามาสะสมตรงจุดวิกฤตของการจราจร แต่เพิ่มอย่างเดียวมันไม่ได้แก้ปัญหา มันต้องลดจำนวนรถโดยสารด้วย เลยบอก ขสมก.ว่าต่อไปรถที่เคยวิ่งในถนนรามคำแหงหนึ่งร้อยคัน วันนี้เราต้องจัดรถซัทเทิลบัสไปแทนห้าสิบคันในชั่วโมงเร่งด่วน”

แต่ก็ช้าไป เจ้าของไอเดียถูกประณามจากผู้ประกอบการขนส่งและจากสื่อโซเชียลอย่างทันควันและหลากหลาย ทำนองว่า ไม่ใช้สมองคิด…สมองหมาปัญญาควาย…ป่วยอยู่หรือเปล่า…แก้ปัญหาแบบไม่เห็นหัวประชาชน ฯลฯ เป็นต้น

แม้จะมีคอมเมนต์เห็นด้วยจำนวนน้อย แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อคิดดีๆ ที่สุภาพ และประสบการณ์จากต่างประเทศที่พบความสำเร็จสมบูรณ์แบบจากการจัดระบบบริการขนส่งสาธารณะ หลายส่วนให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์

หนึ่งในนั้นตรงกับที่ผมเคยเสนอเมื่อนานมาแล้วว่า หยุดรถยนต์เก๋งส่วนบุคคลในกรุงเทพฯ เปลี่ยนค่านิยม “รถยนต์เก๋งส่วนตัวคือความร่ำรวยและสะดวกสบาย” เป็น “ทุกขลาภ”

แต่ในนาทีนี้ผมพบคำตอบใหม่อีกคำตอบหนึ่งแล้วว่า กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองที่ถนนบางสายต้องไม่มีรถขนาดใหญ่ ในเมื่อรัฐไม่คำนึงถึงผลกระทบในการก่อสร้าง

หลังจากที่ออกนอกบ้านแล้วกลับเข้าบ้านไม่ได้จนต้องนอนโรงแรมราคาแพง ประกอบกับการที่ต้องเผชิญภัยอยู่กลางถนนตามลำพังมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ผมมีความคิดว่ากรุงเทพฯ กำลังกลายเป็นเมืองหลายภาพลักษณ์ โลกให้ฉายาแตกต่างกันอย่างตรงข้าม แต่ละฉายาก็ขัดแย้งกันเอง เป็นเมืองประหลาด หรือ “เมืองพิเศษ” ที่ไม่เหมือนใคร

เป็นเมืองที่ดูเหมือนว่าคนร่ำรวยหรือมีฐานะเท่านั้นถึงจะอยู่ได้ แต่เราก็มีคนตกงานและคนยากไร้เต็มเมือง

เป็นเมืองที่มีกฎหมายมากมายหลายฉบับกำหนดข้อห้ามและข้อที่ต้องปฏิบัติหยุมหยิมจนต้องมีข้าราชการจำนวนมากถึงมากที่สุดให้เพียงพอควบคุมประชาชนให้ดำเนินการตามกฎ มีทหารและตำรวจแทบทุกซอกมุม แต่ผู้ร้ายก็เต็มเมืองและอาชญากรก็ล้นคุก

กทม.กำลังเข้มงวดกวดขันกับ “การทำมาหากิน” ของคนระดับล่าง (ซึ่ง กทม.ไม่เชื่อว่าเป็นคนระดับล่างจริง) กวาดล้างหาบเร่แผงลอยริมทางเท้าและริมถนนใหญ่ให้ไปกระจายอยู่แออัดอยู่ทุกปากซอยในลักษณะ raging behind

รัฐลงทุนหลายแสนล้านสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงในกรุงและปริมณฑลไว้เพื่อผู้คนในกรุงเทพฯ ไม่สร้างไปต่างจังหวัดเพื่อประเทศจะได้มีโอกาสขยายความเจริญทางเศรษฐกิจและพัฒนาไปตามเส้นทางที่รถไฟฟ้าผ่าน ประชาชนจะได้กลับภูมิลำเนา มีที่อยู่และที่ทำกินโดยไม่ต้องมาเผชิญโชคตกระกำลำบากอยู่ในกรุงเทพฯ

เรื่องนี้ขอปิดท้ายด้วยประโยคที่เกริ่นไว้ตอนเริ่มต้น…

ถ้าเราจำเป็นต้องใช้ชีวิตในกรุง (และปริมณฑล) เราต้องรู้จักปรับตัวตามสถานการณ์