ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 ตุลาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
หกตุลารำลึก (1) สงครามและการปฏิวัติในเดือนตุลา
“การปฏิวัติไม่ใช่เตียงนอนที่ปูด้วยกลีบกุหลาบ”
ฟิเดล คาสโตร
หนึ่งในคำถามปัจจุบันที่หลายคนมีต่อคนรุ่นผม ที่อาจจะต้องเรียกโดยนัยของชีวิตว่า “คนผ่านเดือนตุลา” หรือ “คนเดือนตุลา” ในสำนวนของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อันหมายถึงคนที่มีชีวิตโลดแล่นอยู่กับเหตุการณ์ทางการเมืองชุดใหญ่ของไทยคือ จากชัยชนะในเดือนตุลาคม 2516 จนถึงการปราบปรามในเดือนตุลาคม 2519 และเดินทางเข้าร่วมสงครามหลังจากนั้น…
ทำไมคนเหล่านี้ส่วนหนึ่งที่เคยมีบทบาททางการเมืองในแบบของการเป็น “ฝ่ายซ้าย” จนถึงขั้นของการเข้าป่าจับอาวุธต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล แต่คนเหล่านี้ปัจจุบันกลับมีบทบาทและแนวทางการเมืองที่หลากหลาย
อะไรทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตแห่งเดือนตุลา?
สงครามของคนเดือนตุลา
ในวาระที่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เวียนมาครบรอบอีกครั้ง ผมอยากทดลองทบทวนถึงความเปลี่ยนแปลง ทั้งกับชีวิตและสถานการณ์ที่ล้อมรอบความเป็นยุคสมัยแห่ง “เดือนตุลา”
ถ้าเรามองย้อนอดีตผ่านสถานการณ์ในขณะนั้นว่าด้วยสงคราม บนสมมติฐานที่ว่าสงครามมีผลกระทบต่อรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องในลักษณะต่างๆ กันตามเงื่อนไขของแต่ละคน หรืออาจกล่าวเป็นภาษาทางทฤษฎีในบริบทส่วนตัวบุคคลว่า ผลกระทบนี้เป็นไปตามเงื่อนไขที่เป็นอัตตวิสัยและภาววิสัยของแต่ละคน
หากต้องตอบแบบสั้นๆ ก็คือ ชีวิตทางการเมืองของคนในเดือนตุลาคม 2516-2519 นั้น น่าจะยุติและเปลี่ยนแปลงไปด้วยการสิ้นสุดของสงครามปฏิวัติในไทย
ชีวิตหลังจากนั้นเป็นเส้นทางของแต่ละคน และแต่ละคนเป็นผู้เลือก ไม่ใช่จัดตั้งเลือก
ซึ่งก็คือการกลับสู่ความเป็นตัวตนของแต่ละคน
หรือกล่าวในภาษาเก่าก็คือ เป็น “ชีวิตที่ไม่มีจัดตั้ง” และเป็นชีวิตที่แต่ละคนต้องดูแลตัวเอง และในหลายกรณีรวมถึงครอบครัวตัวเองด้วย
หรือเป็นดังชีวิตที่ปลดปล่อยตัวเองออกจากจัดตั้งแบบเดิม จนอาจเปรียบเทียบว่า ชีวิตของคนในรุ่นนี้ผ่านสงครามปลดปล่อย 2 ครั้ง คือ
สงครามปลดปล่อยที่บรรรดาคนเดือนตุลาตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
และสงครามปลดปล่อยตัวเองออกจากสถานการณ์เก่าอันเป็นผลจากการสิ้นสุดของสงครามปฏิวัติในชนบทไทย
แม้ผมจะไม่ได้เดินทางสู่ชนบทเช่นเพื่อนๆ หลายคนเพื่อเข้าร่วมในสงครามปฏิวัติครั้งนี้โดยตรง แต่ก็เป็นคนคนหนึ่งที่เป็นผลผลิตจากสงครามชุดนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์และบริบทสงครามของไทยชุดนี้ (ไม่ได้หมายเพียงแค่ตัวสงครามเท่านั้น) มีส่วนอย่างสำคัญต่อชีวิตของคนรุ่นผม
บทความนี้จึงเป็นเรื่องของ “คน รัฐ และสงคราม” ในยุคสมัยดังกล่าว
คน-รัฐ-สงคราม
หลายคนที่เป็นนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตอบได้ทันทีว่า ผมกำลังนำเอาแนวคิดของวอลต์ซ (Kenneth Waltz) นักทฤษฎีใหญ่ในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในผลงานปริญญาเอกที่ถูกนำมาตีพิมพ์เป็นตำราหลักคือ Man, the State, and War (1959)
วอลต์ซพยายามเสนอระดับของการอธิบายสาเหตุสงครามว่าสามารถแยกออกได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับของตัวบุคคล ระดับของรัฐ และระดับโลก กรอบความคิดเช่นนี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในเวลาต่อมาสำหรับการมองการเมืองระหว่างประเทศว่าปัญหาจำแนกได้เป็น 3 ระดับเช่นกัน
แต่ผมอยากเอาแนวคิดเช่นนี้มาทดลองมองปัญหาการเมืองภายในของคนยุคนั้น
เพราะในความเป็นคนในยุคแห่งเดือนตุลา พวกเราก็มี 3 ระดับเช่นกัน คือ พวกเรา รัฐไทย และสงคราม
และตัวเราและยุคสมัยของเราก็ถูกครอบไว้ด้วยปัจจัยสองส่วนที่สำคัญคือ สถานการณ์ของรัฐไทย และสถานการณ์สงครามของรัฐไทยในบริบทโลก และถึงที่สุดแล้ว สงครามที่รัฐไทยต้องเผชิญเป็นปัจจัยใหญ่สุดที่ลากเอาชีวิตและจิตวิญญาณของคนรุ่นนี้เข้าสู่การมี “ชีวิตใหม่” ในฐานที่มั่นในเขตป่าเขา
ฉะนั้น หากมองจากชีวิตของผู้คนแล้ว คนหนุ่มสาวในยุคแห่งเดือนตุลาตัดสินใจในเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต…
ตัดสินใจเข้าสู่สงคราม ทั้งที่คนเหล่านี้ไม่เคยผ่านโรงเรียนทหาร ไม่เคยผ่านการฝึกทางยุทธวิธี
มากที่สุดสำหรับนักศึกษาชายคือ ผ่านการฝึก รด.
แต่สำหรับนักศึกษาส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาไม่ได้ผ่านหลักสูตรอะไรเลย แม้แต่การฝึกแบบทหารใหม่ก็ไม่เคย ผ่านก็แต่ประสบการณ์การชุมนุมที่ท้องสนามหลวงและธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ไม่เป็นหลักสูตรอะไรเลยทั้งในทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี!
โดยนัยเช่นนี้คงต้องยอมรับความจริงที่ว่า คนรุ่นก่อนถูกบังคับให้ต้องมีชีวิตที่ผ่านสงคราม เช่น ผู้คนทั้งในยุโรปและเอเชียที่มีชีวิตอยู่ในยุคสงครามโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือ 2 ก็ตาม
คนรุ่นนี้ไม่มีทางหลีกเลี่ยง เพราะสงครามมา “เคาะประตูหน้าบ้าน” อย่างที่หนีไม่ได้
แต่เพื่อนผมหลายคนเดินทางเข้าสู่สงครามในชนบทเพื่อเข้าร่วมในความฝันชุดใหญ่ของการเป็น “นักปฏิวัติ”…
การปฏิวัติเป็นเส้นทางเดินของชีวิตคนเดือนตุลา ขณะเดียวกันก็เป็นอุดมคติชุดใหญ่ของความเป็นคนหนุ่มสาวที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองและสังคมในขณะนั้น
คำตอบง่ายๆ ที่ตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ตั้งแต่การเรียกร้องทางการเมืองตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย ยกระดับเป็นการต่อสู้ในเมือง
จนถึงการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทก็คือ
พวกเราอยากเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
และเราฝันอย่างมากว่าการปฏิวัติคือคำตอบที่แท้จริงแต่เพียงประการเดียวในการสร้างสังคมใหม่
ยุคแห่งการปฏิวัติของคนหนุ่มสาว
ความฝันของคนหนุ่มสาวในสังคมไทยไม่ได้แปลกแยกจากคนรุ่นนี้ในเวทีโลก
หลังจากการกำเนิดของขบวนคนหนุ่มสาวในการชุมนุมใหญ่ที่ปารีสในเดือนพฤษภาคม 1968 (พ.ศ.2511) แน่นอนว่าหากมองด้วยมุมแคบๆ แล้ว เหตุการณ์นี้เป็นเพียงการประท้วงแบบธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส แต่หากมองถึงผลกระทบในระดับมหภาค ขบวนการ 1968 เป็นดังการปฏิวัติของคนหนุ่มสาวทั่วโลก และเป็นการกำเนิดของ “วัฒนธรรมการประท้วง” ของนักศึกษาทั่วโลกด้วย
ผลผลิตที่เป็นรูปธรรมของการปฏิวัตินี้ ได้แก่ การขยายตัวของขบวนการสังคมนิยมในโลกตะวันตก
การขับเคลื่อนของขบวนการสิทธิเสรีภาพ การกำเนิดของขบวนการต่อต้านสงคราม และมีนัยต่อมาเป็นขบวนการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ หรือแม้กระทั่งขบวนการสิ่งแวดล้อม ตลอดรวมถึงการขยับตัวของขบวนการสิทธิสตรี ล้วนแต่เป็นผลผลิตจากขบวนการเคลื่อนไหวในปีนี้เช่นกัน
ผลสะเทือนชุดนี้ยังเกิดขึ้นกับการเรียกร้องเสรีภาพในประเทศสังคมนิยม ไม่ว่าจะเป็นในเชโกสโลวะเกีย ยูโกสลาเวีย และโปแลนด์
และหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือ การต่อสู้เพื่อเสรีภาพจนเป็นเสมือนกับการมาถึงของ “ฤดูใบไม้ผลิที่ปราก” (The Prague Spring)
ที่แม้จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของนักศึกษา แต่ก็เป็นความพ่ายแพ้ที่มีผลสะเทือนทั่วโลก
ขบวนการ 1968 จึงเป็นดัง “การปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งที่สอง” และตามมาด้วยการไหลบ่าของกระแสปฏิวัติของคนหนุ่มสาวที่แพร่กระจายไปทั่วโลก
จนอาจกล่าวได้ว่าโลกขณะนั้นอยู่ในกระแสซ้าย… กระแสปฏิวัติกลายเป็นธงนำของคนรุ่นใหม่ มีแต่พวกหัวเก่าเท่านั้นที่เกาะอยู่กับกระแสขวา
ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกกับการที่คนหนุ่มสาวในสังคมไทยจะอยู่ในบริบทของกระแสโลกชุดนี้ด้วย และไม่แปลกอะไรที่วีรบุรุษของคนเหล่านี้จะเป็นเหมา เช คาสโตร และโฮ
เพราะในการประท้วงทั่วโลก รูปภาพที่ถูกชูเป็นสัญลักษณ์ตัวบุคคล 4 คนหลักมักจะได้แก่ เหมาเจ๋อตุง เช กูเวรา ฟิเดล คาสโตร และโฮจิมินห์
คนเหล่านี้ถูกยกย่องจากคนหนุ่มสาวในฐานะของการเป็น “นักปฏิวัติ”
บรรทัดฐานของความเป็นวีรบุรุษของคนรุ่นใหม่ก็คือ คนที่เสียสละและอุทิศตนในการเป็นนักปฏิวัติ นั่นจึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า ทำไม “เชไม่ตาย”… แม้เขาจะถูกสังหารในสงครามปฏิวัติ แต่เป็นเพียงการตายทางกายภาพ
ชีวิตแห่งการปฏิวัติของเชไม่เคยตาย เขากลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในหมู่คนหนุ่มสาวทั่วโลกในยุคนั้น
กระแสเช่นนี้ส่งผลให้นักศึกษาทั่วโลกกลายเป็นนักกิจกรรมฝ่ายซ้าย
ยิ่งมองจากการเคลื่อนไหวในยุโรปและประเทศตะวันตกอื่นๆ ก็ยิ่งเห็นข้อสังเกตนี้ชัดเจนขึ้น
ถ้ามองนักศึกษาไทยจากปี 2516-19 ก็จะเห็นภาพที่ไม่แตกต่างกัน
โลกของฝ่ายซ้ายขึ้นสู่กระแสสูง และกลายเป็นกระแสหลักในหมู่ปัญญาชนไทย
เช่นเดียวกับในเวทีสากล และกล่าวถึงที่สุดของกระแสนี้ก็คือ “การปฏิวัติ” เหมือนเช่นที่คนหนุ่มสาวทั่วโลกใฝ่ฝันถึง
อย่างน้อยภาพที่ฝาผนังห้องเรียนที่มหาวิทยาลัยลียง (Lyon) ที่เขียนชื่อของคาร์ล มาร์กซ์ เป็นตัวอักษรขนาดใหญ่ติดไว้ บ่งบอกอย่างชัดเจนถึงทิศทางของคนหนุ่มสาวในขณะนั้น
การต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในฝรั่งเศสในปี 1968 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ ไม่แตกต่างกับความพ่ายแพ้ที่เชโกสโลวะเกีย และในหลายประเทศมีผลที่แตกต่างกันไป
บางส่วนของคนเหล่านี้ผันตัวไปสู่การเป็นพวกนิยมความรุนแรง เช่น The Black Power และ The Black Panther ซึ่งเป็นองค์กรของนักกิจกรรมผิวสีในสหรัฐ เป็นต้น
และแม้คนหนุ่มสาวที่เข้าร่วมการต่อสู้เหล่านี้จะไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิวัติที่พวกเขาฝันถึง แต่พวกเขาก็ประสบความสำเร็จในการทำให้การปฏิวัติเป็นกระแสโลกสำหรับการต่อสู้ของนักศึกษาในขณะนั้น
การเคลื่อนตัวของขบวนคนหนุ่มสาวในยุคดังกล่าวทำให้เกิดเป็นสำนวนเปรียบเปรยว่า “ไม่มีขบวนนักศึกษาใดในโลกที่ไม่เป็นซ้าย”
หรืออาจกล่าวในอีกมุมมองหนึ่งได้ว่า คนหนุ่มสาวยุคนั้นเป็น “กบฏ”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกบฏต่ออำนาจรัฐและประเพณีดั้งเดิม ซึ่งก็คือโลกอยู่ใน “ยุคแห่งการกบฏของคนหนุ่มสาว”
และกบฏทั้งหลายเหล่านี้ล้วนฝันถึงการปฏิวัติไม่แตกต่างกัน
ความฝันที่ล่มสลาย
เมื่อการปราบปรามครั้งใหญ่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทางเลือกในชีวิตของคนหนุ่มสาวไทยที่เข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมือง ดูจะไม่เหลือมากมายนัก…
คนส่วนหนึ่งถูกฆ่า คนส่วนหนึ่งบาดเจ็บ คนอีกส่วนเป็นจำนวนมากถูกจับ
แหล่งพักพิงในชนบทที่แม้ครั้งหนึ่งจะเป็นเรื่องที่ดูห่างไกล และบางครั้งก็เป็นเพียงการคุยเล่นในหมู่พวกเรา กลายเป็นทางเลือกเดียวที่เหลือ อันทำให้คำว่าการ “เข้าป่า” ในยุคนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง เพราะมีความหมายโดยตรงถึงการเข้าร่วมสงครามปฏิวัติกับพรรคคอมมิวนิสต์
แล้วในที่สุดคนหนุ่มสาวเหล่านี้ก็ออกเดินทางเข้าร่วม “การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ” ในชนบทไทย
เพื่อนๆ หลายคนเปลี่ยนสถานะจากนักศึกษาเป็นนักปฏิวัติ
และหลังจากเหตุการณ์ในปี 2519 ต่อเนื่องเข้าปี 2520 แล้ว สงครามปฏิวัติไทยขยายตัวอย่างไม่เคยมีมาก่อน
จนมีการประมาณการจากหลายฝ่ายว่า มีโอกาสอย่างมากที่สงครามนี้จะจบลงเช่นเดียวกับชัยชนะในอินโดจีน…
การปฏิวัติรุดหน้าไปอย่างเข้มแข็ง จนแทบจะไม่มีใครเชื่อเลยว่า แล้ววันหนึ่งการปฏิวัติในไทยก็จบลงอย่างน่าฉงน!
สงครามจบลงอย่างที่ทำลายความฝันของนักปฏิวัติรุ่นผมชนิดที่ไม่มีอะไรเหลือเลย
คนรุ่นผมกลายเป็นเสมือน “ผู้แพ้” เป็นดังทหารผ่านศึกที่รบแพ้สงครามในวันที่ 6 ตุลา
และแพ้อีกครั้งจากการสิ้นสุดของสงครามปฏิวัติ
กล่าวให้ชัดเจนก็คือ พวกผมแพ้จากการถูกล้อมปราบในเมือง และก็แพ้จากการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ล้อมรบสงครามปฏิวัติไทย และเป็นปัจจัยแทรกซ้อนสำคัญจนสุดท้ายสงครามต้องยุติลง
แม้ตอนที่ถูกปราบปรามในเมืองอาจจะพออธิบายได้ว่าเป็นดัง “ความพ่ายแพ้ทางยุทธวิธี” เพราะในขณะนั้นหลายคนยังมีความหวังว่าสงครามปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ในชนบทเป็น “แนวรบทางยุทธศาสตร์” ที่เป็นโอกาสของชัยชนะในอนาคต ใช่ว่าการปราบปรามในปี 2519 จะทำให้ความฝันและการต่อสู้ต้องยุติลงทั้งหมด การต่อสู้ในชนบทกลายเป็นคำตอบสำหรับความฝันในขณะนั้น
แล้วคนรุ่นผมก็เอาชีวิตและจิตวิญญาณทั้งหมดผูกตัวเองเข้ากับกงล้อแห่งสงคราม พร้อมกับหวังอย่างสวยหรูว่า การปฏิวัติจะพาสังคมเราให้ก้าวไปข้างหน้าดังที่วาดฝันไว้
แต่แล้วเรื่องนี้กลับกลายเป็น “หนังตลกร้าย” ที่จบแบบหักมุมอย่างที่ไม่คาดคิด… เลิกรบ เลิกสงคราม!
ทหารผ่านศึกที่แพ้สงครามในเมือง แล้วยังเดินทางไปแพ้สงครามในชนบทอีก จะทำอย่างไรกับชีวิตของตนเอง
ในอีกด้านสงครามที่ครอบชีวิตของคนในยุคเดือนตุลาหายไป จนกลายเป็นหนึ่งในคำถามใหญ่ของชีวิต ทำไมสงครามปฏิวัติจบอย่างรวดเร็วในสังคมไทย
และการจบของสงครามนี้คือ จุดพลิกผันในชีวิตของคนแห่งยุคเดือนตุลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…
คน รัฐ และสงครามผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง จนการสิ้นสุดสงครามเป็นดังการสิ้นสุดของ “ยุคแห่งเดือนตุลา”!