วิกฤติศตวรรษที่21 : ความเป็นไปของประชาธิปไตย ในประเทศโลกที่สาม และประเทศกำลังพัฒนา

วิกฤติศตวรรษที่21

วิกฤติประชาธิปไตย (24)

ประชาธิปไตยประเทศกำลังพัฒนาบนโลกที่ตนไม่ได้สร้าง

การพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองมา ต้องดำเนินไปบนโลกที่ตนไม่ได้สร้าง ผู้แสดงหลักได้แก่ สหรัฐและตะวันตก ในการกำหนดกติกาและมาตรฐานการปฏิบัติ

เช่น ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ก็มีธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นต้น มากำหนดว่าประเทศใดด้อยพัฒนา ประเทศใดกำลังพัฒนา ประเทศใดพัฒนาแล้ว รวมทั้งทิศทางการพัฒนาว่าควรจะไปในทิศทางไหนหรือด้านใด และกระบวนการหรือวิธีการควรเป็นอย่างไร

และยังมีนักทฤษฎีการพัฒนาของตะวันตกจำนวนหนึ่ง สร้างตัวแบบของการพัฒนาสำหรับประเทศเหล่านี้ขึ้น ในด้านการเมืองการปกครอง ก็ตั้งเกณฑ์หรือมาตรฐานว่าอย่างไรเป็นการรวบอำนาจ อย่างไรจึงจะเป็นประชาธิปไตย โดยรวมเป็นกติกาและมาตรฐานวิธีการแบบเสรีนิยม

ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย โดยทั่วไปก็ไม่ได้ปฏิเสธลัทธิเสรีนิยมเสียทีเดียว แต่ยังต้องการลัทธิอื่นอีกหลายลัทธิสำหรับการพัฒนา เนื่องจากทุนในประเทศของตนยังไม่ได้เติบโตมาก เช่น การอุตสาหกรรมล้าหลัง ทุนการเงิน การธนาคารอ่อนแอ ไม่อาจสู้กับทุนของสหรัฐและตะวันตกที่ก้าวสู่ขั้นผูกขาดแล้วได้เลย

สิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการ มีสามสี่ประการ

ก่อนอื่นได้แก่ ลัทธิชาตินิยม การรักษาอธิปไตยด้านต่างๆ ได้แก่ อธิปไตยเหนือดินแดน อธิปไตยในทรัพยากรธรรมชาติของตน และอธิปไตยในตลาด การค้า การเงินและการลงทุน เป็นต้น

บางประเทศใช้ลัทธิชาติภูมิ เช่น มาเลเซียใช้นโยบาย “ภูมิบุตร” ให้สิทธิพิเศษแก่คนเชื้อสายมาเลย์ (เริ่มใช้ปี 1969)

ต่อมาได้แก่ลัทธิประชานิยม ซึ่งบางแห่งมีการผสมกับสังคมนิยม เกิดจากความจำเป็นที่ต้องยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชนของตนให้พ้นจากความยากจนโดยเร็ว สู่ระดับกลาง เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ-การเมืองต่อไป

และประชานิยมบางแห่ง ก็ผสมกับเรื่องทางประชากรและวัฒนธรรม เช่น ในมาเลเซีย ทั้งหมดยังเพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคม อีกด้วย

ท้ายสุดได้แก่ การสร้างและรักษาอัตลักษณ์ของตน เป็นอัตลักษณ์ของชาติหรือสมาคมของชาติ ที่สำคัญได้แก่ ศาสนา ประเพณีความเชื่อ ปทัสถานค่านิยมจารีตหรือหลักปฏิบัติทางสังคมและด้านภาษา เป็นต้น เพื่อสร้างเป็นเอกภาพ ความเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่นในชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

อย่างเช่น ในสมาคมอาเซียนถือว่า การสร้างอัตลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญเรื่องหนึ่งของกลุ่ม

นอกจากนี้ เป็นที่สังเกตว่ามีการฟื้นฟูการเคร่งศาสนาขึ้นในหลายประเทศด้วย

ดังนั้น ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายจึงต้องดิ้นรนต่อสู้ เพื่อมีบทบาทในการกำหนดกติกาการแสดงบนเวทีโลกบ้าง

การดิ้นรนต่อสู้นี้แสดงชัดเจนในช่วงต้นของสงครามเย็น (ตั้งแต่ทศวรรษปี 1950 ถึงกลางทศวรรษปี 1970 เป็นเวลาราว 25 ปี)

ในห้วงเวลาดังกล่าวประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในโลกที่สามได้สร้างผู้นำที่โดดเด่น และทฤษฎีการต่อสู้กับอิทธิพลตะวันตกอย่างแหลมคมขึ้นไม่น้อย

ที่สมควรกล่าวถึงได้แก่ เจตนารมณ์บันดุง ทฤษฎีอาณานิคมแผนใหม่ ทฤษฎีการพัฒนาแบบพึ่งพา ซึ่งได้เป็นพื้นฐานทางความคิดและกลยุทธ์ในการต่อสู้ของประเทศกำลังพัฒนา และตลาดเกิดใหม่จนถึงปัจจุบัน

“เจตนารมณ์บันดุง” เป็นการกลั่นกรองแนวคิดในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เอื้อต่อการพัฒนาของประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย

ที่สำคัญได้แก่ หลักปัญจศีลของอินโดนีเซีย อินเดียและจีน ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญ กลายเป็นเหมือนอุดมการณ์ของประเทศกำลังพัฒนา และยังคงใช้ได้อยู่จนถึงสถานการณ์ปัจจุบัน จากเจตนารมณ์บันดุง พัฒนาขึ้นเป็น “ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ที่ยังคงรวมตัวกันถึงขณะนี้

เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศไทยซึ่งในขณะนั้นเอียงข้างสหรัฐและโลกเสรี ก็เข้าร่วมเจตนารมณ์บันดุงและขบวนการดังกล่าว

ส่วนอินเดียเอียงข้างสหภาพโซเวียต ได้เป็นแกนในการเคลื่อนไหวเหล่านี้

ประเทศในโลกที่สาม และประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่อ่อนแอกว่า มักต้องการทฤษฎี/ลัทธิหลากหลายแนวทางมาผสมกันในการสร้างนโยบาย ทั้งภายในและภายนอก ดังนี้

1) ทฤษฎีอาณานิคมใหม่ นำเสนอโดยผู้นำของแอฟริกาในกลางทศวรรษ 1960 ใจความสำคัญว่าแม้อาณานิคมแบบเก่าที่ใช้กำลังทหารเข้ายึดครองดินแดนต่างๆ จะหมดไปแล้วโดยพื้นฐาน แต่ก็เกิดลัทธิอาณานิคมใหม่ขึ้น ที่ใช้การเข้าครอบงำทางเศรษฐกิจ-การเงินแทน การต่อสู้ที่สำคัญจะต้องเน้นในมิตินี้ นับเป็นการวิเคราะห์ที่แหลมคมและเห็นชัดขึ้นในขณะนี้ ท่ามกลางการใช้และคุกคามที่จะใช้การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ และการทำสงครามทางการค้าของสหรัฐต่อประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง แม้แต่พันธมิตรของสหรัฐเอง

2) ทฤษฎีการพัฒนาแบบพึ่งพา สร้างและนำเสนอโดยนักคิดนักวิชาการในภูมิภาคละตินอเมริกา เป็นทฤษฎีที่ชี้ชัดว่าประเทศกำลังพัฒนาต้องปฏิรูปสิ่งต่างๆ ในโครงสร้างระบบโลกที่ตนไม่ได้สร้าง และเป็นสิ่งผูกรัดการพัฒนาเป็นอย่างมาก

บุคคลสำคัญที่วางรากฐานทางความคิดทฤษฎีนี้ได้แก่ ราอูล เพรบิช นักเศรษฐศาสตร์ชาวอาร์เจนตินา (Raul Prebisch 1901-1986) เป็นอาจารย์สอนวิชานี้อยู่กว่า 20 ปี เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง (1930-1932) เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางอาร์เจนตินาคนแรก (1935-1943) ผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริเบียน (1950-1963) ต่อมาเป็นเลขาธิการผู้ก่อตั้ง “การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา” หรืออังค์ถัด ระหว่างปี 1964-1969 องค์การนี้เน้นส่งเสริมความร่วมมือของประเทศกำลังพัฒนาให้ก้าวทันและไม่เสียเปรียบบนเวทีเศรษฐกิจโลก (เลขาธิการองค์การนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวละตินอเมริกัน และการประชุมใหญ่จัดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่เกือบทั้งหมด มีเลขาธิการใหญ่จากเอเชีย เช่น จากประเทศไทย เป็นต้น)

งานของเพรบิชชี้ให้เห็นว่า มีการค้าแลกเปลี่ยนที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นศูนย์กลาง และประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นชายขอบ โดยประเทศอุตสาหกรรมขายสินค้าอุตสาหกรรมราคาสูง ส่วนประเทศกำลังพัฒนาที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีราคาต่ำ เกิดเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ทำให้ทรัพยากรและความมั่งคั่งไหลจากประเทศชายขอบสู่ประเทศศูนย์กลาง

ประเทศกำลังพัฒนาต้องพัฒนาอุตสาหกรรมและคุ้มครองตลาดของตน โดยรัฐบาลมีบทบาทสำคัญ โดยฐานะตำแหน่งและการงาน เพรบิชเป็นนักปฏิรูป ต้องการเพียงแก้ไขระบบตลาดโลกให้เท่าเทียมกันมากขึ้น

ต่อมามีนักคิดและนักวิชาการจากตะวันตกและภูมิภาคอื่นอีกจำนวนหนึ่งได้พัฒนาทฤษฎีนี้ต่อไป มีการนำทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์มาใช้ มีลักษณะสู้รบและเป็น “ซ้าย” กว่า

เช่น ทฤษฎีระบบโลกของอิมมานูเอล วอลเลอสตีน เป็นต้น

ทฤษฎีการพึ่งพาในปัจจุบัน มีเนื้อหาสำคัญสามประการได้แก่

ก) การแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศ เกิดมีประเทศศูนย์กลาง ได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางธุรกิจการเงินโลก ประเทศกึ่งชายขอบมีอำนาจน้อยกว่า แต่ก็ร่ำรวย เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น ประเทศชายขอบมี แอฟริกาใต้ อินเดีย บราซิล เป็นต้น ประเทศชายขอบสุด กัมพูชา แซมเบีย เอลซัลวาดอร์ ประเทศเหล่านี้ขูดรีดกันเป็นทอดๆ โดยประเทศศูนย์กลางอยู่สูงสุด ส่วนประเทศชายขอบสุดต้องรับใช้หรือถูกขูดรีดโดยประเทศที่เหนือกว่าทั้งหมด

ข) การแบ่งทางชนชั้น ในแต่ละกลุ่มประเทศ ยังมีการแบ่งทางชนชั้น เป็นคนรวยส่วนน้อยนิดเป็นผู้ปกครอง และคนจนส่วนใหญ่ผู้ถูกปกครอง ผู้ปกครองในประเทศเหล่านี้มีทั้งด้านที่ต่อสู้และสมรู้ร่วมคิดกัน ในด้านการสมคบคิดก็เพื่อรักษาอำนาจของตนและระบบกดขี่ขูดรีดของโลกไว้

ค) ระบบทุนนิยมโลก ความสัมพันธ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในระบบทุนนิยมโลก เห็นได้จากการมีสถาบันระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ สถาบันการเงินขนาดใหญ่ ไปจนถึงสถาบันการศึกษาและวัฒนธรรม รับใช้ผลประโยชน์ศูนย์กลางและคนรวยทั้งโลก

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ที่แนวคิดเชิงสังคมนิยมถูกกลบด้วยแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ประกอบกับมีวิกฤติหนี้เรื้อรังในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ทฤษฎีการพึ่งพามีผู้สนใจน้อยลง แต่ทฤษฎีนี้ก็มีประโยชน์ในการช่วยอธิบายว่า

ก) การพัฒนาไม่ว่าในมิติใดของประเทศกำลังพัฒนาเป็นสิ่งที่ยากมากกระทั่งเป็นไปไม่ได้ พบว่าประเทศกำลังพัฒนามีไม่กี่ประเทศที่สามารถก้าวสู่ประเทศที่มั่งคั่งได้ เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์

นอกนั้นเกือบทั้งหมดติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง

ประเทศไทยติดอยู่ที่นี่นานนับสิบปีแล้ว

ประเทศจีนที่สร้างความอัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ-สังคมที่มุ่งหวังจะก้าวสู่การเป็นประเทศมั่งคั่งภายในเวลาไม่นานจากนี้ ก็กำลังเผชิญกับการท้าทายคุกคามใหญ่ จากการปิดล้อม การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ และการทำสงครามการค้าจากสหรัฐ ซึ่งทำให้เกิดความสงสัยว่าจะสำเร็จตามคาดหวังหรือไม่

ข) ระบบทุนนิยมโลกที่เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจ-การเมืองครอบคลุมโลกในขณะนี้ มีความคงทนมาก แม้ว่าจะประสบวิกฤติรุนแรง และถึงสมมุติว่าสหรัฐล่มสลายไป ระบบทุนโลกและโลกาภิวัตน์ก็ยังดำเนินต่อไปในตัวแบบใหม่

การสร้างเจตนารมณ์และทฤษฎี รวมทั้งการเคลื่อนไหวที่เป็นจริงทั้งอย่างสันติและอาบเลือดของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ได้ผลในระดับหนึ่ง เช่น สามารถสร้างอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าได้ ทำให้สถาบันการเงินมั่นคงขึ้น และพัฒนาสถาบันทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนขึ้น แต่ผลได้บ้างนี้ไม่พอเพียงที่จะพลิกสถานการณ์ สหรัฐและตะวันตกยังคงเป็นผู้มีบทบาทหลักบนเวทีเศรษฐกิจการเมืองโลกต่อไป

การก้าวสู่ลัทธิเสรีนิยมและโลกาภิวัตน์ของประเทศกำลังพัฒนา

ปลายสงครามเย็น สหรัฐและตะวันตกเริ่มปรากฏความเสื่อมถอย และต้องปรับตัวเพื่อรักษาอำนาจของตนไว้ ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 ไปจนทศวรรษ 1980 สหรัฐได้สร้างทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ขึ้นและผลักดันกระบวนโลกาภิวัตน์ให้แพร่ไปทั้งโลก ขณะเดียวกันพบว่าประเทศสังคมนิยมจำต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ หลายประเทศได้รับเอาแนวคิดนี้มาปฏิบัติ ที่สำคัญได้แก่ การทำ “สี่ทันสมัยของจีน” (1979) เปเรสทรอยก้าของรัสเซีย (1985) และ “โด่ยเหมย” ของเวียดนาม (1986)

คล้ายกับว่ามันจะเป็นชัยชนะเด็ดขาดของโลกเสรี แต่ที่จริงมันเป็นการเริ่มต้นของการสร้างระเบียบโลกใหม่

“ศตวรรษแห่งอเมริกา”และสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต สหรัฐก้าวสู่การเป็นอภิมหาอำนาจ เป็นผู้จัดระเบียบโลกแต่เพียงผู้เดียว เกิดความคิดที่จะสร้างศตวรรษแห่งอเมริกาขึ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดร้ายแรง เพราะว่าการที่โลกเป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าชาติอื่นก็ต้องการให้เป็นเช่นนั้นด้วย เช่น จีนเปิดรับตลาดการค้าการลงทุนเสรี ก็เพื่อทำสี่ทันสมัยของตนไม่ใช่เพื่อสนองนโยบายโลกาภิวัตน์ของสหรัฐ และก็ดำเนินการปกป้องตลาดของตนไว้อย่างดี ทั้งในการค้าการลงทุน การรับเทคโนโลยีจากตะวันตก

ในช่วงเวลานี้ เราได้เห็นการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นเสรีนิยมมากขึ้นในอินเดีย (1991)

การละทิ้งสังคมนิยมของรัสเซีย (1991)

การรวมเยอรมนีตะวันออกเข้ากับเยอรมนีตะวันตก (1990) การทำสงครามอ่าวครั้งที่หนึ่ง (1990) สหรัฐ-นาโตขยายอิทธิพลเข้าไปในยุโรปตะวันตกออกและประเทศที่เคยร่วมสหภาพโซเวียตขนานใหญ่ คล้ายกับว่าสหรัฐและตะวันตกอยู่ในกระบวนรุก แต่ในอีกด้านหนึ่ง เป็นการกระจายพลังอำนาจของตนให้เจือจางลงจนกระทั่งเกิดการท้าทายจากกลุ่มก่อการร้ายสากลที่เป็นองค์การต่ำกว่ารัฐ สหรัฐนำโลกสู่สงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อใด ซึ่งเป็นการเจือจางพลังอำนาจสหรัฐมากขึ้นไปอีก ต้องขยายสมรภูมิออกไปจนถึงด้านเศรษฐกิจและการค้า

ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา ผู้คนต้องนั่งระทึกใจว่า วันนี้สหรัฐประกาศจะทิ้งระเบิดประเทศใดเพิ่มขึ้นอีก ในขณะนี้ สมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ประเทศทั้งหลายต้องอกสั่นขวัญแขวนว่า สหรัฐจะด่าทอ แซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ และขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าแก่ตนหรือไม่ โลกจะต้องถูกข่มขู่คุกคามแบบนี้ไปอีกนานเท่าใด

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงทฤษฎีภูมิรัฐศาสตร์กับลัทธิครองความเป็นใหญ่และสงครามเย็นใหม่