ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 ตุลาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
มีอำนาจ 3 ประเภทที่อาจนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
อำนาจทั้งสามประการนี้ควบคู่มากับประเทศไทยทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งเพื่อบันดาลให้ฝ่ายที่ใช้อำนาจเกิดความได้เปรียบเหนือผู้อื่น
อำนาจทั้งสามได้แก่ อำนาจอิทธิพล อำนาจเงิน และอำนาจรัฐ
อำนาจอิทธิพล เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจในท้องถิ่น เป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ มีสถานะเป็นบ้านใหญ่ที่มีทั้งเงินทั้งอำนาจ และบางครั้งก็เป็นอำนาจนอกระบบ มีคุ้มมือปืน มีอาวุธสงคราม มีธุรกิจผิดกฎหมายที่อยู่ข้างหลัง มีเส้นสายที่คุ้มครอง จนชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว สั่งอะไรก็ต้องทำ ไม่สามารถปฏิเสธได้เพราะเกรงกลัวอันตรายที่เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว
อำนาจเงิน เป็นเรื่องของคนที่ใช้เงินเป็นอำนาจ มีเงินเป็นกระสอบ ที่สามารถนำมาจับจ่ายเพื่อโน้มน้าวจูงใจ ทั้งจ่ายตรงต่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในลักษณะการซื้อเสียง จ่ายผ่านหัวคะแนนหรือผู้มีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนในพื้นที่เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงที่สนับสนุน เข้าทำนองไม่ใช่คนพื้นที่ไม่เป็นไร หิ้วกระเป๋าเงินมาก็ได้เป็น ส.ส. เหมือนสมัยหนึ่งที่มีหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งจาก กทม. ไปลงเลือกตั้งในภาคอีสาน จนเป็นคำเรียกกล่าวถึงโรคของจังหวัดนั้น
อำนาจรัฐ เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจปกครองรัฐ ไม่จำกัดว่าจะเป็นรัฐบาลกลาง หรือหน่วยงานบริหารระดับท้องถิ่น ที่จะอาศัยกลไกการจัดการ โครงการ งบประมาณ หรือแม้กระทั่งบุคลากรเพื่อไปสร้างความได้เปรียบให้กับฝ่ายของตนเองทั้งแบบแนบเนียนและแบบเห็นชัดจนน่าเกลียด
ในปัจจุบันอำนาจอิทธิพลเริ่มลดน้อยถอยลง ส่วนหนึ่งสาเหตุจากสังคมที่พัฒนามีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการปราบปรามกำจัดผู้มีอิทธิพลโดยการรักษากฎหมายของบ้านเมือง
ส่วนอำนาจเงินในการเลือกตั้งเริ่มใช้ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง หลังจากที่ผู้เลือกตั้งเริ่มให้ความสนใจต่อนโยบายของพรรคการเมืองและผูกติดกับชื่อของพรรคหรือผู้นำพรรคการเมืองมากกว่าสนใจจำนวนเงินไม่กี่ร้อยที่ได้รับในวันเลือกตั้ง
แต่อำนาจรัฐยังคงยืนยง เป็นประเด็นที่ต้องจับตาในการเลือกตั้งทุกยุคทุกสมัยว่า คนที่ครอบครองอำนาจรัฐ จะมีจิตใจที่เป็นกลางจริง ไม่ใช้อำนาจของตนที่มีเอื้อประโยชน์แก่ตนเองในการเลือกตั้ง สร้างความได้เปรียบให้แก่ฝ่ายตนเอง และคุกคามสร้างความเสียเปรียบแก่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือไม่
รูปแบบการใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบในอดีต
มีหลายวิธีการที่ผู้ครอบครองอำนาจรัฐ สามารถสร้างความได้เปรียบในฐานะที่เป็นผู้ออกกติกา ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจใช้กลไกอำนาจรัฐต่างๆ ทั้งเงิน ทั้งคน ทั้งอำนาจในการสั่งการบังคับบัญชา เพื่อหวังผลในการกลับมามีอำนาจในทางการเมืองต่อ ซึ่งหากมองย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นการใช้วิธีการเหล่านี้
1) การแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรของรัฐเพื่อไป “ทำงาน” สำคัญทางการเมือง ในช่วงก่อนเลือกตั้ง เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายอำเภอ หรือหัวหน้าหน่วยราชการในจังหวัดที่ใกล้ชิดหรือสามารถมีอิทธิพลต่อการใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ในจังหวะที่มีการเกษียณอายุราชการ การโยกย้ายดังกล่าวอาจดูประหนึ่งแนบเนียนจนสังเกตได้ยาก
แต่ก็มีหลายกรณีที่เป็นคำสั่งโยกย้ายนอกฤดูกาลลงไปในจังหวัดที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสื่อ ข่าวต่างๆ กระพือออกมาถึงทำนองว่า ต้องทำคะแนนให้ได้เท่าโน้นเท่านั้น มิเช่นนั้นจะมีผลต่อความสั่นคลอนของเก้าอี้ที่นั่ง
2) โครงการของราชการที่ใช้งบประมาณผ่านส่วนราชการ ดูเหมือนจะมีความขยันขันแข็งเป็นพิเศษในช่วงการเลือกตั้ง จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแยกกล้ายางให้เกษตรกร แต่ก็มีนักการเมืองขาใหญ่ในปีกรัฐบาลบังเอิญผ่านไป ก็สามารถขึ้นไปบนเวทีคว้าไมโครโฟนพูดยาวๆ เป็น 10-20 นาทีได้
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไปแจกจักรยานให้เด็กนักเรียนเพื่อไม่ต้องเดินไปโรงเรียน ก็เคยมีรัฐมนตรีไปทำหน้าที่ประธานในพิธี แม้ไม่แจกกับมือแต่ก็ถือว่ามาปรากฏตัวและพูดต่อประชาชนในเขตที่พรรคของตนมีการส่งผู้สมัคร
สองตัวอย่างนี้ เป็นเหตุการณ์ที่จัดว่า “เกรงใจ” ยิ่งแล้ว ที่ชัดเจนกว่านี้ยังมีอีกมากมายในอดีต ที่รัฐมนตรี ที่ ส.ส.ในซีกรัฐบาล มาแจกสิ่งของต่างๆ ที่เป็นโครงการของรัฐกับมือ กะเกณฑ์ชาวบ้านมาแทบจะทั้งตำบล ขึ้นแผ่นป้ายต้อนรับกันเอิกเกริก และทำเป็นโครงการต่อเนื่องติดต่อกันที 20-30 วันก็ยังมี ทั้งๆ ที่เป็นช่วงที่มีกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งแล้ว
ในด้านท้องถิ่นก็ใช่ย่อย จะเห็นการใช้งบประมาณของท้องถิ่น พากลุ่มแม่บ้านบ้าง กลุ่มอาสาสมัครประจำตำบล หมู่บ้านบ้าง ไปดูงานทัศนศึกษา ในช่วงประมาณ 2-3 เดือนก่อนครบวาระ อยู่เหนือก็ลงใต้ อยู่ใต้ก็ขึ้นเหนือ อยู่อีสาน หากไม่มีข้อห้ามก็ไปไกลถึงลาว ถึงจีน ทำเป็นโครงการของท้องถิ่น ไปฟรี กินฟรี พักฟรี มีเงินทอน โดยออกแบบกำหนดการให้บริษัททัวร์มารับเป็นฝ่ายจัดการ ให้มีกำหนดการบางวันที่ไม่สามารถจัดอาหารให้ได้แต่ต้องจ่ายคืนเป็นเงินสดแก่ผู้ร่วมคณะ มื้อละ 200-300 บาท นี่เรียกว่าไม่ต้องใช้เงินตนเองซื้อเสียงเลย
3) การซื้อเสียงในเชิงนโยบาย ประเด็นนี้ออกจะก้ำกึ่งว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบหรือไม่ เพราะสิ่งที่เกิดมาจากนโยบายของพรรคการเมืองหรือจากผู้เป็นรัฐบาลที่มุ่งจะแก้ปัญหาความยากจนหรือการสร้างรายได้ การพัฒนาอาชีพของประชาชน
หลายนโยบาย หลายโครงการสามารถสร้างการยอมรับและจดจำของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากมีผลสัมฤทธิ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้จริงและทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นสมัยการเป็นรัฐบาล กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นความชาญฉลาดของผู้ประดิษฐ์นโยบายและคำขวัญที่สามารถผูกใจประชาชนและแก้ปัญหาได้จริง
แต่นโยบายและโครงการที่ผุดคิดขึ้นอย่างรีบด่วนในจังหวะช่วงใกล้เลือกตั้ง การเร่งระบายงบประมาณลงไปในพื้นที่ในช่วงเวลาสั้นๆ ผลักดันให้ทำโครงการต่างๆ ที่ปราศจากการคิดวิเคราะห์ถึงประโยชน์หรือความต้องการที่แท้ของประชาชน โดยมุ่งหวังจะได้คะแนนนิยมจากชาวบ้าน ดูเป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม ก็อาจได้ผลตรงข้าม อย่างเช่น ให้เงินหมู่บ้านละ 200,000 บาท เพื่อสร้างถนนในหมู่บ้านทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น แต่บังคับให้ทำให้ได้ เงินสองแสนดังกล่าวก็กลายเป็นถนนไร้สาระสายหนึ่งที่มุ่งไปยังสวนยางหรือท้องนาให้เป็นที่โจษจันของชาวบ้าน ให้เงิน 200,000-500,000 บาท เพื่อทำโครงการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ น้ำดื่มหยอดเหรียญ หรือปั๊มน้ำมันหยอดเหรียญในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็อาจโจษจันถึงวิธีการคิดของเจ้าของนโยบายว่าไม่ตอบโจทย์ประชาชน ไม่ได้เพิ่มรายได้ แต่กลับลดรายได้เพิ่มรายจ่ายให้กับประชาชน สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงควรคิดวิเคราะห์ให้ดี
4) การใช้สื่อของรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้ง ในกรณีปกติไม่ต้องทำอะไร ฝ่ายที่เป็นรัฐบาลก็มีความได้เปรียบฝ่ายตรงข้ามอยู่แล้วจากการที่ได้ออกข่าวตามสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ จากการเสนอข่าวกิจกรรมของรัฐเป็นรายวัน
แต่สำหรับรัฐบาลที่ยังมุ่งประสงค์เอารัดเอาเปรียบคู่แข่งทางเมืองมากกว่านั้น จะมีการสั่งการให้สื่อภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ มีการจัดรายการประชาสัมพันธ์พิเศษเป็นรายวันทุกวันอีก
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นแทบทุกยุคทุกสมัย ซึ่งบุคลากรที่เป็นข้าราชการประจำเองก็ไม่สามารถมีปากมีเสียงหรือกล้าทัดทานคัดค้านได้
ฝ่ายที่กำกับดูแล เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้งหากรู้เห็นเป็นใจก็อาจทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือแม้จะเห็นชัดเจนว่าไม่ถูกต้อง ก็ไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เป็นสื่อของรัฐเนื่องจากมิใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรง เพราะยังเชื่อว่าฝ่ายการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะสามารถชนะเลือกตั้งและปูนบำเหน็จแก่ตนได้โดยเชื่อว่าท้ายสุด กกต.คงไม่สามารถทำอะไรได้
เคยมีตัวอย่างในอดีต ที่ฝ่ายรัฐบาลมีการจัดรายการพิเศษทางโทรทัศน์ทุกเย็นติดต่อกันเป็นเดือน ผู้ร่วมรายการแม้จะไม่ใช่คนของรัฐบาลทั้งหมด แต่ก็ดูไม่ยากว่าเป็นฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล เนื้อหาส่วนใหญ่ที่นำเสนอทุกเย็นในช่วงเลือกตั้งจึงเป็นการนำเสนอข้อมูลและความเห็นในเชิงสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลล้วนๆ โดยทุกฝ่ายได้แต่ทำตาปริบๆ
5) การใช้กลไกราชการในท้องถิ่นเพื่อให้การสนับสนุน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ครู เป็นกลุ่มบุคคลในระดับท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด และเป็นผู้ที่สามารถมีอิทธิพลทางความคิดแก่คนในหมู่บ้าน
การสั่งการจากส่วนกลางผ่านหน่วยงานที่กำกับดูแลกลไกส่วนท้องถิ่นเหล่านี้จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบ
อย่างไรก็ตาม กลไกดังกล่าวหาใช่กลไกที่วางใจได้ เนื่องจากผู้นำในท้องถิ่นเหล่านี้ล้วนมีสังกัด หรือสามารถเปลี่ยนแปลงไปมาได้
ดังนั้น การสั่งการอาจไม่ได้ผล เพราะเขาพอมองออกว่าในพื้นที่นี้ควรเลือกอยู่กับใครที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด
6) การเอาเปรียบในฐานะผู้กำหนดกฎเกณฑ์ กติกาที่ถูกยกร่างมาก็ดี กำหนดการต่างๆ ที่ตัวเองเป็นผู้กำหนดก็ดี การสร้างเงื่อนไขให้ฝ่ายตนสามารถออกตัวได้ก่อนก็ดี ล้วนมิใช่คำว่าเสรีและเป็นธรรมในการเลือกตั้ง เพราะฝ่ายที่กำหนดกฎเกณฑ์กติกา มักจะหาสิ่งที่ตนเองได้เปรียบที่สุด ยกเว้นจะมีความเป็นสุภาพบุรุษพอ การแข่งขันที่เป็นธรรมโดยไม่ใช้อำนาจรัฐเข้าไปสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบจึงเกิดขึ้น
การเอาเปรียบดังกล่าวยังรวมไปถึงการเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง จะเร็ว จะช้า ทุกอย่างล้วนเป็นเทคนิค เพื่อให้ฝ่ายตนเองเกิดการได้เปรียบสูงสุด การรู้กำหนดการฝ่ายเดียวทำให้สามารถเตรียมความพร้อมได้ดีกว่าอีกฝ่ายที่ไม่ทราบกำหนดการที่แน่นอน
วันนี้อำนาจอิทธิพลก็ลดน้อยถอยลงแล้ว อำนาจเงินก็เริ่มอ่อนแรง รอแต่ว่าอำนาจรัฐที่หากถูกนำมาใช้อย่างผิดๆ วันหนึ่งอาจได้รับการสั่งสอนจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจรัฐที่แท้จริง
ถึงวันนั้นจึงจะรู้ว่าใครคือเจ้าของอำนาจที่แท้