กรองกระแส : ทิศทาง การเมือง การเมือง เรื่อง “นโยบาย” ชัยชนะ พ่ายแพ้

นอกเหนือจากประเด็นอันเกี่ยวกับ “รัฐประหาร” แล้ว ประเด็นอันเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจ” จะกลายเป็นนโยบายสำคัญต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่เกินปลายปี 2560 อย่างแน่นอน

เห็นได้จาก “วิกฤตข้าว” อันเนื่องจากเรื่อง “ราคา”

สัมผัสได้จากความรู้สึกและความเห็นในลักษณะสะสมที่ต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มายังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

และความมั่นใจว่าจะต้องเกิด “รัฐประหาร” ขึ้นอีก

การล้างท่อ “วิกฤต” ในทางการเมืองด้วยกระบวนการ “รัฐประหาร” มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่าจะเป็นหนทางในแบบ “อภิมหานิรันดร์กาล” ในสังคมการเมืองไทย

เหมือนที่เคยเกิดหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490

เหมือนที่เคยเกิดหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500 เหมือนที่เคยเกิดหลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520

พรรคการเมืองใดที่ต้องการมีบทบาทต้องชู 2 ประเด็นนี้ขึ้นสูงเด่น

1 เสนอบทวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการ ขณะเดียวกัน 1 เสนอวิธีการและกระบวนการในการหาทางออกเพื่อให้หลุดพ้นไปให้ได้

เป้าหมายก็คือ ให้พ้นไปจาก “วงจรอุบาทว์” ในทางการเมือง

10 ปี การเมือง
ใต้ “รัฐประหาร”

แม้สังคมไทยจะมีความเคยชินกับกระบวนการของ “รัฐประหาร” เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารโดยกระบวนการรัฐธรรมนูญของ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารโดยกำลังทหารที่นำโดย พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม เมื่อปี 2476

แต่รัฐประหารที่อยู่ในความครุ่นคิดของสังคมไทยมากที่สุด

1 คือ รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และ 1 คือ รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อันเป็นความต่อเนื่องกัน

ต่อเนื่องกันเพื่อมิให้ต้อง “เสียของ” เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2549

ไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็ตามที่อาสาตนเองเข้ามาให้ประชาชนตัดสินใจเลือกในการเลือกตั้งก่อนปลายปี 2557 จะหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นต่อ “รัฐประหาร” ไปมิได้อย่างเด็ดขาด

ทั้งพรรคเพื่อไทย ทั้งพรรคประชาธิปัตย์

พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องอธิบายว่าเพราะเหตุใด พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และรวมถึงพรรคเพื่อไทยเองจึงต้องตกเป็นเป้าหมาย

พรรคประชาธิปัตย์ยิ่งจำเป็นต้องอธิบายมากยิ่งกว่า

นั่นก็เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนอย่างไรกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นั่นก็เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนอย่างไรกับ กปปส. ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ พรรคประชาธิปัตย์มีท่าทีอย่างไรต่อรัฐประหารไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เห็นด้วย หรือว่าไม่เห็นด้วย

ประเด็นอันเกี่ยวกับ “รัฐประหาร” จึงจะร้อนแรงอย่างเป็นพิเศษทันทีที่เข้าสู่กระบวนการของการเลือกตั้งในห้วงก่อนปลายปี 2560

เพื่อนำไปสู่ “การเลือก” เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจของ “ประชาชน”

ปัญหา เศรษฐกิจ
จะบริหารอย่างไร

ต้องยอมรับว่านโยบาย “ประชานิยม” ที่เสนออย่างเป็นระบบของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 ถือเป็นจุดขายและความสำเร็จอย่างสำคัญ

ทำให้พรรคไทยรักไทยกำชัยอย่างถล่มทลายในเดือนกุมภาพันธ์ 2548

ขณะเดียวกัน ความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยจากนโยบาย “ประชานิยม” นั้นเองทำให้พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย สามารถต่อยอดได้

ไม่ว่าจะถูกมรสุมจาก “รัฐประหาร” หนักหนาสาหัสอย่างไรก็ตาม

การนำเสนอหลักการ “ประชารัฐ” ในยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อาจเป็นไม้เด็ดโดยมีเป้าหมายเพื่อโค่นหลักการ “ประชานิยม”

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง คือ การลอกเลียนแบบ “ประชานิยม” ครบถ้วน

นโยบายหลายนโยบายที่เคยถูกคัดค้านต่อต้านในยุคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าเรื่องรถไฟความเร็วสูง ไม่ว่าเรื่องจำนำข้าว ทั้งนี้ แทบไม่นับรวมโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตลอดจนโครงการบ้านเอื้ออาทร ในยุคของพรรคไทยรักไทยล้วนได้รับการสานต่อและนำมาใช้

เหมือนกับ “ประชารัฐ” จะเป็นนวัตกรรม เป็นไม้เด็ดจากคณะรัฐประหารที่จะบดขยี้ “ประชานิยม” ของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยให้กลายเป็นผงฝุ่น

ตรงนี้คือความแหลมคมยิ่งในทางเศรษฐกิจ การเมือง

คำถามก็คือ หากทุกโครงการที่ลงมือโดยคณะรัฐประหารประสบผลสำเร็จ ส่งผลให้ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจทะยานไปข้างหน้าด้วยความคึกคัก ประเทศไทยมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ในอีกด้านหนึ่งย่อมหมายถึงพรรคเพื่อไทยจะต้องใช้พลังวิริยภาพอย่างเต็มที่เพื่อเอาชนะ

เชื่อได้เลยว่า ประเด็น “จำนำข้าว” จะกลายเป็นแนวทางที่จะนำมาคู่ขนานและเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็น “ประกันราคา” หรือ “จำนำยุ้งฉาง”

เป็นการเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจในการเลือกตั้งก่อนปลายปี 2560

การเมือง ปกติ
นโยบาย สำคัญ

พรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ อาจเป็นคู่สัประยุทธ์อย่างสำคัญและแหลมคมอย่างยิ่งในสมรภูมิการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน “นโยบาย” ก็มีบทบาทและความหมายเป็นอย่างสูง

ความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยเมื่อเดือนมกราคม 2544 เป็นความสำเร็จจากนโยบาย ผลสะเทือนก็คือ พรรคการเมืองเฉพาะกิจที่ไม่มี “นโยบาย” ก็ค่อยๆ หมดบทบาทลงไปเป็นลำดับ

สัมผัสได้จากพรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา เป็นต้น

การต่อสู้ผ่านกระบวนการของ “นโยบาย” จึงมีความสำคัญ ไม่ว่ามรสุมจาก “รัฐประหาร” จะหนักหนาสาหัสมากเพียงใดก็ตาม

“นโยบาย” ต่างหากคือปัจจัยนำไปสู่ชัยชนะหรือพ่ายแพ้