ถึงเวลา สมศ. ต้องประเมินคุณภาพการทำงานของตัวเอง

วิเคราะห์วิจัยกันมาเป็นเวลานานพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาของบ้านเราว่าถึงเวลาจะต้องมีการปฏิรูปกันครั้งใหญ่ ผู้รู้ต่างนำเสนอผลการจัดอันดับเรื่องการศึกษา ปรากฏว่าประเทศไทยตกไปอยู่ในอันดับท้ายๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน

เมื่อเกิดการผลัดเปลี่ยนขึ้นในรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการ “เลือกตั้ง” ของประชาชน หรือรัฐบาลที่มาโดยการ “ปฏิวัติ รัฐประหาร” เรียกว่า “ยึดอำนาจ” ของประชาชนมาล้วนแล้วแต่ไม่ค่อยจะให้ความสำคัญด้านการศึกษาของชาติเท่าที่ควร

เรื่องนี้ดูกันไม่ยากจากการคัดเลือกตัวบุคลากร เช่น รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี มากำกับดูแลงานด้านการศึกษา ไม่ได้อยู่ในเกรดระดับต้นๆ เหมือนกับว่าไม่ได้เน้นเรื่องการศึกษา ทั้งๆ ที่เป็นกระทรวงสำคัญอันเป็นหัวใจหลักของประเทศในการผลิตคนมาสืบสานให้ประเทศชาติพัฒนาก้าวเดินไปอย่างทัดเทียมกับชาติอื่นๆ

ทุกวันนี้เราจึงมีปัญหาด้านการศึกษาของชาติเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเทคโนโลยี

เยาวชนที่ควรจะอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนต่างหันเหไปทำมาหากินมากกว่าจะเดินเข้าสู่มหาวิทยาลัยในระดับอุดมศึกษา ซึ่งไม่เหมือนแต่ครั้งก่อนๆ ซึ่งมีการแข่งขัน มีการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาเล่าเรียนในทุกระดับชั้น

เคยมีการสุ่มสอบถามว่าทำไมจึงไม่เรียนต่อ ตัวอย่างที่เก็บมาได้ด้วยเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างสูงบอกว่าถึงเรียนจบปริญญาตรี-โทก็หางานทำไม่ค่อยได้ ต้องมาตกงาน ขณะเดียวกันถึงได้งานทำกลับได้รับเงินเดือนตามอัตราที่ตั้งกันไว้ไม่พอสำหรับการครองชีพ

 

ได้กล่าวแล้วว่าย่อมต้องมีการปรับเปลี่ยนทางด้านการศึกษาเพื่อให้ทันกับความหมุนเวียนเปลี่ยนไปของโลกปัจจุบัน ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบันได้เปิดเผยข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า–

“มหาวิทยาลัยต้องไปคิดว่าจะปรับตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสม ที่ผ่านมาตนพูดมาตลอดขอให้มหาวิทยาลัยเร่งปรับตัว เพราะความเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม ที่สำคัญคือเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเร็วกว่าข้อมูลที่ทางธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ที่ระบุว่าตัวเลขคนตกงานประเทศไทยจะพุ่งสูง 72 เปอร์เซ็นต์ในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) หรืออีก 12 ปีข้างหน้า แต่เป็นภายในไม่เกิน 5 ปีที่จะถึงนี้แล้ว

ทั้งนี้ ตนได้มอบนโยบายและพูดเรื่องนี้มานานพอสมควร แต่มหาวิทยาลัยเองยังปรับตัวได้ช้า อาจเพราะคิดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวยังมาไม่ถึงซึ่งไม่เป็นความจริง มหาวิทยาลัยต้องเตรียมตัว เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว ขณะที่ทางภาครัฐต้องลงทุนกับมหาวิทยาลัยมากขึ้น โดยกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญช่วยพัฒนา–”

รัฐบาลไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องการศึกษา ประเทศเรามีกระทรวง รัฐมนตรี และข้าราชการจำนวนมาก แต่ดูเหมือนว่างานบริหารประเทศไม่ค่อยก้าวหน้า เจ้าหน้าที่เหล่านั้นซึ่งได้รับผลตอบแทนเป็นเงินเดือนจากภาษีประชาชนได้กลายเป็นเจ้านายของคนจ่ายเงินเดือน

ประเทศในเอเชียซึ่งเจริญก้าวหน้าด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร กองทัพต้องฟังนโยบายรัฐบาล และเป็นของประชาชน ประเทศนี้มีประชากรมากกว่าประเทศไทย แต่มีกระทรวงและหน่วยงานจำนวนรัฐมนตรี ข้าราชการจำนวนน้อยกว่าบ้านเรา งบประมาณสำหรับใช้ในการบริหารประเทศจึงไม่กลายไปเป็นเงินเดือนของรัฐมนตรีและข้าราชการเสียเป็นจำนวนมาก

 

สัปดาห์ก่อนตวัดข้อเขียนเฉียดเข้าไปเยี่ยมเยียน “องค์การมหาชน” ซึ่งการบริหารงานภายในกำลังมีปัญหาจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกิดการเปลี่ยนแปลงลาออกไปแล้วร่วม 20 คน ส่วนผู้ที่ยังปฏิบัติงานอยู่กำลังจะทนไม่ไหวกับการบริหารของ “ผู้นำองค์กร” เตรียมจะทำเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการบริหารขององค์การมหาชนแห่งนี้ก่อนที่ต้องมีกระเซ็นกระสายไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) ซึ่งรับผิดชอบงานตรงๆ ตามชื่อนั่นแหละ โดยประเมินผลและรับรองผลของสถานศึกษาทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับต้นจนถึงระดับสูงสุดที่มีการเรียนการสอนในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2543 เป็นหน่วยงานของรัฐ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนจะเปลี่ยนมาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

พิจารณาตามเนื้องานที่ต้องรับผิดชอบซึ่งมีความสำคัญทางการศึกษาของประเทศนั้น คิดเอาเองว่าจะต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และ มีจำนวนพอสมควร

ผลตอบแทนด้านเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และอื่นๆ ย่อมต้องสูงตามขึ้นไปด้วย หมายความว่างบประมาณแผ่นดินสำหรับบริหารจัดการองค์การมหาชนแห่งนี้จะต้องสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ว่ากันว่าระดับผู้อำนวยการรับเงินเดือนมากกว่ารัฐมนตรี โดยยังไม่นับประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ

ตั้งแต่ก่อตั้งมามี “ผู้อำนวยการ” เข้ามาบริหารงานติดต่อกันมา 2 ท่าน ท่านละ 2 เทอม เทอมละ 4 ปี แต่ต้องเรียนตรงไปตรงมาว่าไม่เข้าตาประชาชน ไม่เป็นที่ยอมรับของโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถานศึกษาในประเทศเท่าที่ควร

 

ผู้อำนวยการท่านก่อนเคยถูกร้องเรียนโดยรองผู้อำนวยการ ถึงต้นสังกัดว่าบริหารงานไม่โปร่งใสส่อไปทางทุจริตคิดมิชอบจนต้องถูกพักงานเพื่อทำการสอบสวนจนกระทั่งหมดวาระ ผลปรากฏว่าไม่พบความผิดเนื่องจากขุดคุ้ยค้นหาเรื่องการทุจริตได้ไม่ชัดเจน จึงเป็นเหตุให้ผู้ร้องเรียนถูกดำเนินการกลับในเรื่องต่างๆ โดยคณะกรรมการเพื่อเอาคืนกระทั่งหมดวาระไปโดยไม่มีโอกาสได้รักษาการผู้อำนวยการจนกว่าคณะกรรมการจะมีการสรรหาคนใหม่ได้เสร็จเรียบร้อย และไม่ได้รับผลประโยชน์ที่ควรจะได้ แถมท้ายต้องมีคดีความต้องแก้ต่าง

คณะกรรมการบริหาร สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินผลคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) ได้สรรหา “ผู้อำนวยการ” คนใหม่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2560 จนถึงปัจจุบันนับเวลาได้ปีเศษ ซึ่งก็หมายความว่าต้องผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานมาอย่างน้อย 2 ครั้งตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการบริหาร สมศ.กำหนด

แต่อดแปลกใจการประเมินเป็นอย่างยิ่งเพราะมันสวนทางกับความเป็นจริงของพนักงานในสังกัดที่กำลังวุ่นวายสับสนมากกับความรู้ความสามารถในการบริหารงานปัจจุบัน

เมื่อตอนสรรหาคณะกรรมการได้ลงคะแนนให้ชนะคู่แข่งเพียง 1 คะแนน แค่ 4 ต่อ 3 จึงเกิดการนินทากันว่าได้รับการทาบทามจากคณะกรรมการท่านหนึ่ง ซึ่งมาจากสังกัดเดียวกันหรือไม่? จะมีประโยชน์อะไรทับซ้อนอยู่บ้างหรือเปล่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารจะต้องติดตาม

กล่าวกันว่า “ผู้อำนวยการ” ท่านนี้หลังได้รับการสรรหาได้ลางานยาวเดินทางไปต่างประเทศ ก่อนจะกลับมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานภายใน สมศ.จนเกิดความสับสนวุ่นวาย ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เรียนรู้ระบบโครงสร้างการทำงานขององค์การมหาชนแห่งนี้

สำหรับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินผลคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบสำคัญอันเป็นเรื่องการศึกษาของชาติ คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกผู้รับผิดชอบองค์กรควรต้องใช้ความรอบรู้รอบคอบเพื่อประกอบการตัดสินใจ เนื่องจากว่าหากผิดพลาดจะสร้างความเสียหายเชื่อมโยงเป็นวงกว้างกระทบถึงบุคลากรผู้ปฏิบัติงานและงบประมาณจำนวนไม่น้อย

รวมถึงผลงานที่จะปรากฏออกมาว่าจะคุ้มค่ากับเม็ดเงินจำนวนมากหรือไม่?

 

ควรจะถึงเวลาที่ “สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินผลคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.)” จะต้องหันกลับมามองพร้อมประเมินการทำงานขององค์กรบ้าง โดยเฉพาะตัวผู้นำองค์กร

คณะกรรมการบริหาร สมศ.ซึ่งมีหน้าที่ประเมินผลงานของ “ผู้อำนวยการ” ควรให้ความสนใจสอดส่องรับฟังเสียงจากบุคลากรบ้างว่า ทำไมจึงเกิดการลาออกกันเป็นจำนวนมาก สำคัญที่สุดผลงานของ สมศ.นั้นปรากฏเป็นรูปธรรมบ้างหรือไม่?

เชื่อว่าพนักงานจะต้องส่งหนังสือร้องเรียนถึง “คณะกรรมการบริหาร สมศ.” แต่จะถึง “รัฐมนตรี” หรือเปล่า ไม่ทราบ

บอกท่าน “รัฐมนตรี” เสียเลยก็ได้ว่า “องค์การมหาชน” แห่งนี้ กำลังมีปัญหาการปฏิบัติงาน