คำ ผกา : ยินดีต้อนรับ

คำ ผกา

แม้ไม่ปลดล็อก แค่คลายล็อก ปี่กลองการเมืองก็ดังกระหึ่ม

บรรยากาศคึกคัก และการเมืองมีชีวิตชีวาขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

ไม่นับว่าคนใน “รัฐบาล” ปัจจุบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และคนก่นด่านักการเมือง ก่นด่าการเมืองมาก่อนว่าสกปรกเหลือเกิน โสมมเหลือเกิน ก็เริ่มเปิดตัวแล้วว่า “สนใจงานการเมือง”

และที่น่าจับตาที่สุดคือ การเปิดตัวว่าสนใจงานการเมืองและอาจลงในสนามแข่งขันทางการเมืองครั้งนี้ จะไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาล อันทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เอ…แล้วแบบนี้จะเป็นธรรมสำหรับคนอื่นๆ หรือไม่

ซึ่งเราก็จะน่าจะได้คำตอบประมาณว่า ในรัฐบาลอื่น เมื่อถึงเวลาที่จะเลือกตั้ง พรรคที่เป็นรัฐบาลอยู่ พรรคที่เป็นนายกฯ อยู่ก็ไม่เห็นต้องลาออกนี่นา

หลายๆ คนมีคำถามว่า เลือกตั้งคราวนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมบ้าง?

อ.สังศิต พิริยะรังสสรค์ บอกว่า การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นการเลือกตั้งที่มีการโกง การทุจริต สูงที่สุด เนื่องจากบ้านเมืองเราไม่มีการเลือกตั้งมานาน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

ดังนั้น นักการเมืองจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ อำนาจ ตำแหน่ง จะมีการซื้อเสียงมากกว่าครั้งไหนๆ

https://www.posttoday.com/politic/report/565257

หรือหลายๆ คนเริ่มส่ายหน้าระอาใจ แค่มีสัญญาณว่าจะเลือกตั้ง นักการเมืองก็ออกมาสาดโคลนใส่กัน

นักการเมืองเริ่มย้ายค่าย ย้ายพรรค

บ้างแปรจากแดงเป็นเหลือง บ้างแปรจากเหลืองเป็นแดง บ้างแปรจาก นปช. ไปเป็นสามมิตร

พรรคที่บอกว่าจะมีจุดยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย เสียงข้างมาก ไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอก

ตอนนี้เสียงชักจะอ่อน บอกว่า ถ้านโยบายสอดคล้องกันก็ยินดีทำงานร่วมกัน

โอ๊ยยย – เห็นไหม สันดานนักการเมือง ไร้จุดยืน ไร้อุดมการณ์ มีแต่จะเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง

พูดจาเป็นไม้หลักปักขี้เลน น่ารังเกียจที่สุด

เพิ่งออกมาด่ากันผ่านสื่ออยู่แป๊บๆ โผล่มาอีกที อ้าว ไปกราบตักเขาเสียแล้ว

ทีนี้มายาคติชุดเก่าๆ ของเหล่ามนุษย์ ignorance ชาวไทยก็จะกลับมา ตั้งแต่การเมืองน้ำเน่า นักการเมืองน้ำเน่า นักการเมืองไร้คุณภาพ วังวนของการเมืองแบบเก่ากำลังจะกลับมา

นักการเมืองที่อดอยาก หิวโหย เพราะไม่มีเลือกตั้ง ตอนนี้ปากมันแผล็บๆ เตรียมโกงบ้าน กินเมือง ให้สมกับที่อดอยากปากแห้งมานาน

จากนั้นก็จะสอดรับกับมายาคติอีกชุดของปวงชนชาวไทย (กลุ่มหนึ่ง) ที่บอกว่า เลือกตั้งทีไรบ้านเมืองวุ่นวายทุกที

แล้วคอยดูนะ หลังเลือกตั้งก็จะวุ่นวายอีก

เดินตามมายาคติสอง-สามชุดนี้แล้วก็ต้องมีคนไทยที่หูเบาว่า โอ๊ย เลือกตั้งไปก็เท่านั้น ไม่มีอะไรดีขึ้น บ้านเมืองก็วุ่นวาย แล้วนักการเมืองเอี้ยๆ ก็กลับมาลอยหน้าลอยตาใส่สูทเข้าไปนั่งในสภากันสลอน อิ๊ววววว ขยะแขยง

บ้างก็บอกว่า เลือกไปก็เท่านั้น เขาตั้งกฎ กติกา ล็อกไว้หมดแล้ว ว่าเขาต้องชนะ ต้องได้สืบทอดอำนาจ วุฒิสมาชิกก็เป็นของเขา เขียนกฎเอง คุมเกมเอง เป็นกรรมการเอง ลงเล่นเอง เป็นเจ้าสภาพสนามแข่งเอง

การเลือกตั้งครั้งนี้ก็แค่พิธีกรรมฟอกขาวให้การสืบทอดอำนาจนี้ชอบธรรม เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ไม่ต้องถูกบอยคอต ไม่มีใครคุยด้วยเพียงเพราะว่าเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

แต่ช้าก่อน ฉันคิดว่า มีการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดีกว่าไม่มีการเลือกตั้ง

ต่อให้ภายใต้กติกานี้ก็ตามที และต่อให้ใครที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลนี้จะลงสมัครรับเลือกตั้ง สังกัดพรรคการเมืองโดยไม่ลาออกจากตำแหน่ง

เรียกได้ว่า กล้าอยู่ กล้าพูด กล้าลง ก็กล้าเลือก!

และเพื่อไม่ให้เราต้องไขว้เขวไปกับมายาคติที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อสกัดดาวรุ่งที่ชื่อว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมักจะถูกทำแท้งซ้ำซากสิบปีครั้ง สิบปีครั้ง เป็นวังวนไปไม่ได้มีที่สิ้นสุด เราคนไทยต้องมาตั้งหลักกันใหม่ว่า

1. การเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมดของการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่การปกครองใดๆ ก็ตามที่ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่อาจแอบอ้างตัวเองว่าเป็น “ประชาธิปไตย”

2. บ้านเมืองอันปกตินั้นย่อมมีความไม่ลงรอย ไม่สามัคคี มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ขัดแย้งกัน – ย้ำว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติของสังคม – แต่ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องเดียวกับความแตกแยก เกลียดชัง

ยิ่งไปกว่านั้น ดัชนีชี้วัดความมีอารยะของสังคมคือขันติธรรมต่อความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย

การเคารพในการแสดงออกทางการเมืองของคนอื่นที่คิดไม่เหมือนเรา

ตระหนักว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิที่จะรวมกลุ่ม ชุมนุม ประท้วง ต่อต้าน แสดงจุดยืน เรียกร้องผลประโยชน์ให้กับกลุ่มของตน ตราบเท่าที่พวกเขาไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่ละเมิดผู้อื่น

และคนไทยต้องปรับโหมดความคิดกันใหม่ว่า บ้านเมืองที่เรียบร้อย เงียบเชียบ สงบราบคาบ เพราะคนทุกคนถูกกดเอาไว้ด้วยความ “กลัว” ต่างหาก คือสังคมที่ผิดปกติ

และที่ผิดปกติกว่านั้นคือ คนในสังคมที่อยู่ด้วยความกลัว ตามมาด้วยความเงียบ ตามมาด้วยความเคยชิน จนลืมไปแล้วว่าสิทธิพื้นฐานของตนเองในฐานะมนุษย์และพลเมืองของรัฐคืออะไร?

นั่นแหละคือสิ่งที่ผิดปกติที่สุด และเป็นสิ่งที่เราไม่พึงปรารถนาที่สุดที่จะให้มันเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา

3. นักการเมืองไม่ใช่นักบุญ ดังนั้น โปรดอย่าตกใจที่เห็นนักการเมืองสับปลับ ตอแหล เห็นแก่เงิน เห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เปลี่ยนอุดมการณ์ ย้ายพรรค ย้ายค่ายง่ายกว่าเปลี่ยนทรงผม

หรือพรรคการเมืองที่เราเชียร์ คนนั้นก็ดูดี พี่คนนี้ก็คนจริง แต่เอ๊ะ ทำไมมีอีลุงเลอะๆ เทอะๆ คนนี้มาเอี่ยว ไม่รู้จะเลือกพรรคไหน ดูไปดูมาก็เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ เขย่ากันไปมา ก็เละเทะเหมือนกันไปหมด

นี่ยังไม่นับคนเป่านกหวีด อดีตคนเสื้อเหลืองพันธมิตร ที่ตอนนี้เชียร์ “ลุงตู่”

แต่ถ้าลุงตู่ไปอยู่ หรือได้รับการสนับสนุนโดยพรรคที่เต็มไปด้วย “นักการเมืองหน้าเก่าน้ำเน่าเท่าเดิม” นี่ยิ่ง โอ๊ย ไม่รู้จะเอาตัวเองไปวางไว้ตรงไหน

แต่อย่าเพิ่งถอดใจ อย่างที่ฉันบอก ความเข้าใจผิดสุดๆ ของเราเกี่ยวกับการเมืองและนักการเมืองคือ เราไปคิดว่าสองอย่างนี้ต้องยืนอยู่บนฐานของความมีศีลธรรม จริยธรรม ต้องเป็นคนดี ต้องเป็นคนใจซื่อมือสะอาด ซึ่งผิด

ขอพูดซ้ำอีกสามครั้งว่า ผิด ผิด และผิด

เพราะพื้นที่การเมืองและนักการเมืองคือพื้นที่แห่งการต่อรองซึ่งผลประโยชน์ ที่มีทั้งผลประโยชน์ของประชาชนที่คนเหล่านี้รับอาสาไปเป็น “ตัวแทน” และผลประโยชน์ทางอำนาจ ตำแหน่ง การเงิน อันเป็นผลประโยชน์ส่วนบุคคลและของพรรค ในสามระดับของผลประโยชน์

แน่นอนว่า “ผู้เล่น” ในสนาม ย่อมอยากโกยผลประโยชน์มาไว้ในกระเป๋าของตัวเองให้มากที่สุด

แต่ขณะเดียวกัน ถ้าพวกเขามัวแต่โกยเข้ากระเป๋าตัวเอง ประชาชนก็จะไม่สนับสนุนเขา

ผลที่ตามมาคือ หากประชาชนไม่สนับสนุน เขาก็หมดโอกาสหาประโยชน์ให้ตัวเอง

สมการง่ายๆ เป็นเช่นนี้

ดังนั้น นักการเมืองที่ฉลาด ย่อมสามารถดึงประชาชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสมการแห่งผลประโยชน์นี้

ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของประชาชนอย่างเราว่าจะกดดันให้ผลประโยชน์ไหลมาหาประชาชนมากกว่าจะไหลเข้ากระเป๋านักการเมืองได้อย่างไร

และการที่ประชาชนจะเล่นในเกมต่อรองกับนักการเมืองได้ดีขึ้น เก่งขึ้น แข็งแกร่งขึ้น มีอำนาจมากขึ้น

สิ่งที่ประชาชนต้องการมีอย่างเดียวเท่านั้นคือ “เวลา” ในการอยู่กับประชาธิปไตยให้นานที่สุด ต่อเนื่องที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

และอย่าท้อที่ฉันจะบอกว่า มันอาจใช้เวลาถึงห้าสิบปี ร้อยปี สองร้อยปี แต่ประชาธิปไตยคือกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนกับพรรคการเมือง กับนักการเมือง มันไม่เคยมีทางลัด

และโปรดฟังอีกครั้งหนึ่งว่า การเลือกตั้งแค่ครั้งเดียวจะยังไม่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเชิงบวกที่จับต้องได้

เราอาจต้องอยู่กับการสืบทอดอำนาจ เราอาจต้องอยู่กับนักการเมืองฉ้อฉล เราอาจมีการคอร์รัปชั่นที่หนักหนาสาหัสกว่าที่เคยมีในประวัติศาสตร์ และขอทำนายว่า ใน 4 ปีหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจจะมีอะไรที่แย่กว่าที่มันเคยแย่ แต่อย่าเพิ่งโทษว่าเป็นเพราะ “การเลือกตั้ง”

แต่ต้องบอกตัวเองว่า เพราะมันเพิ่งมีการเลือกตั้งหลังจากที่เราถูกแช่แข็งมา 12 ปี สิ่งที่เราต้องอดทนและฝ่าฟันต่อไปคือการปกป้องการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นอีกตามวาระ และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น

นี่เป็นหนทางเดียวที่การเมืองเราจะคลี่คลายไปสู่จุดที่ประชาชนที่มีอำนาจทางการเมือง มีสิทธิ์ มีเสียงในการปกครองตนเองอย่างแท้จริง

เพราะหากเราปล่อยให้การเลือกตั้งหลุดลอยไปอีก เราจะเหมือนเด็กที่เรียนหนังสือถึง ป.4 แล้วถูกลากกลับมาที่อนุบาล เริ่มต้นใหม่เรียนถึง ป.2 แล้วถูกดึงกลับมาให้อยู่เตรียมอนุบาล เริ่มต้นใหม่ แล้วถูกดึงกลับมาให้กลายเป็นทารกที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องคอยกินกล้วยที่มีคนบดให้ป้อนให้ แล้วอีกหน่อยเขาจะบดขี้มาป้อนให้ก็ต้องอ้าปากกิน

ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการเลือกตั้งและการได้ไปเลือกตั้ง ขยับได้เล็กน้อยดีกว่าไม่ได้ขยับ ใช้โอกาสของการขยับได้เล็กน้อยนั้นผลักดันให้เกิดการตั้งคำถาม การตรวจสอบ การวิจารณ์ เชียร์ทุกคนที่จะลงสู่สนาม เพราะดีกว่าเขาเป็นกรรมการแล้วพับสนามไล่ทุกคนออก ปิดเกม แล้วแบ่งถ้วยรางวัลให้ตัวเอง

ขยับไปข้างหน้าได้ครึ่งก้าว ดีกว่ายืนอยู่กับที่แล้วมีคนหมุนนาฬิกาทวนเข็มซ้ำเติม ขยับได้ครึ่งของครึ่งก้าวก็ดีกว่าไม่มีการขยับ

ที่สำคัญ เมื่อขยับได้แล้วอย่าไปโวยวายว่า การเลือกตั้งที่มันฟอนเฟะจริงๆ นักการเมืองมันฟอนเฟะจริงๆ จะกลับไปนอนกินกล้วยบด

เขาขยับกันแล้ว เราก็ต้องช่วยกันผลัก ผลักแล้วตันก็ต้องยันไว้ให้ถึงที่สุด

ยินดีต้อนรับนักการเมืองทุกคนที่ลงสู่สนามจริงๆ ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ด้วยนะ