อติภพ ภัทรเดชไพศาล : เมื่อก่อนคนอิตาเลียน ดูโอเปร่ากันอย่างไร?

ภาพพิมพ์ปี 1837 แสดงภาพโรงโอเปร่าแบบอิตาเลียนมีชั้นบอกซ์ของเวนิซ

ในบันทึกความทรงจำของพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ระบุว่าการแสดงโอเปร่าครั้งแรกในสยามเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2463 โดยอาจารย์ดนตรีชาวอิตาเลียน (ไม่ระบุชื่อนามสกุล)

“ท่านได้พยายามฝึกสอนนักดนตรีอย่างขะมักเขม้น ถึงกับได้นำวงดุริยางค์นี้ออกประกอบการแสดง opera ที่สวนมิสกวัน, opera ที่แสดงนี้คือเรื่อง “Cavalleria Rusticana” ของ Mascagni ซึ่งเปิดการแสดงขึ้นโดยอาศัยตัวละครแต่ชาวต่างประเทศที่สมัครเล่นเข้ามาร่วมการแสดง นับว่าเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทยที่มีการแสดง opera ขึ้นเป็นครั้งแรก สำหรับวงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงนั้น อาจารย์อิตาเลียนท่านนี้ได้ใช้วงดุริยางค์ทหารม้ารวมมาสมทบกับนักดนตรีของวงดนตรีฝรั่งหลวงกรมมหรสพ”

จึงถือได้ว่า โอเปร่าในสังคมไทย เบื้องต้นกำเนิดขึ้นในราชสำนักและในหมู่ชาวต่างชาติ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลในระดับสูง

ดังนั้น ภาพลักษณ์ของการแสดงชนิดนี้จึงเลี่ยงไม่พ้นจากการเป็นศิลปะการแสดงสำหรับชนชั้นสูงมาตั้งแต่แรก

จนถึงทุกวันนี้ ก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าโอเปร่าเป็นศิลปะการละครชั้นสูงของชาวตะวันตก มีขนบการรับชมรับฟังที่เชื่อมโยงกับมารยาททางชนชั้น เช่น ควรแต่งกายด้วยชุดสุภาพ ตั้งใจฟัง นั่งชมเงียบๆ ไม่พูดคุยส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น เป็นต้น

แต่แรกเริ่มเดิมที ณ ช่วงเวลาแห่งการถือกำเนิดโอเปร่าในอิตาลี ขนบธรรมเนียมเหล่านี้ไม่เคยมีอยู่ และลักษณะการรับชมโอเปร่าก็ไม่ได้มีทีท่าที่เคร่งครัดเช่นในปัจจุบันแต่อย่างใด
โอเปร่าแรกเกิด ในฐานะงานค้นคว้าของนักวิชาการ
โอเปร่าถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยกลุ่มปัญญาชนในเมืองฟลอเรนซ์ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ปัญญาชนกลุ่มนี้เรียกกลุ่มตนเองว่า Camerata มีสมาชิกทั้งที่เป็นกวี นักดนตรี นักวิชาการสายมนุษยนิยม เช่น Giulio Caccini ผู้เป็นนักร้อง/นักแต่งเพลง

Vincenzo Galilei (บิดาของ Galileo Galilei) นักแต่งเพลง/นักทฤษฎีดนตรี และ Ottavio Rinuccini กวี เป็นต้น

การถือกำเนิดขึ้นของโอเปร่า แท้จริงแล้วเกิดจากความต้องการที่จะค้นคว้าถึงศิลปะการแสดงในยุคกรีกโบราณ โดยปัญญาชนกลุ่ม Camerata เชื่อว่า บทละครประเภททราจิดี (tragedy) ที่ตกทอดมาแต่ยุคกรีกโบราณนั้น ล้วนแล้วแต่มีไว้เพื่อการขับร้องทั้งสิ้น (ไม่ใช่มีไว้อ่านในใจหรืออ่านออกเสียงเฉยๆ)

ดังนั้น พวกเขาจึงทดลองให้มีการขับร้องบทละครในรูปของเพลง

แต่แน่นอนว่าพวกเขาไม่สามารถค้นคว้ากลับไปได้ว่าดนตรีในสมัยกรีกโบราณแท้ที่จริงแล้วมีรูปแบบและเสียงเป็นอย่างไร

สิ่งที่ปัญญาชนกลุ่ม Camerata ทำ จึงเป็นการนำบทกวีมาขับร้องด้วยสไตล์ดนตรีซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในอิตาลีขณะนั้น

ความแปลกใหม่ของโอเปร่าคือการร้องด้วยสไตล์ “recitativo” ซึ่งหมายถึงลักษณะ “กึ่งพูดกึ่งร้อง”

การร้องเพลงในสไตล์นี้ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นโดย Vincenzo Galilei และ Girolamo Mei นักประวัติศาสตร์/มนุษยนิยม ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 1590

และถูกนำมาใช้ในโอเปร่าเรื่องแรกคือ Dafne ประพันธ์โดย Jacopo Peri สมาชิกของกลุ่มในราวปี 1597

แต่อย่างไรก็ตาม โน้ตเพลงเรื่อง Dafne ได้สูญหายไปแล้ว และหลักฐานโน้ตเพลงโอเปร่าที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบก็คือเรื่อง Euridice (ประพันธ์โดย Peri เช่นกัน)

Euridice เป็นงานที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองงานแต่งงานของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 4 ดังนั้น จึงไม่ใช่งานละครที่สามัญชนจะมีโอกาสได้รับชมรับฟัง เช่นเดียวกับงานดนตรีชิ้นอื่นๆ ก่อนหน้าของกลุ่ม Camerata ก็เป็นไปเพื่อการรับฟังในหมู่ปัญญาชน-ชนชั้นสูงเท่านั้น

และงานทั้งสองชิ้นก็ถูกถือเป็นเสมือนงานทดลอง ที่ไม่ก่อให้เกิดกระแสความนิยมโอเปร่าขึ้นในหมู่ผู้ฟังแต่อย่างใด

จนกระทั่ง Claudio Monteverdi เขียนโอเปร่าเรื่อง L”Orfeo ขึ้นในปี 1607 นั่นเอง ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เนื่องจาก Monteverdi ได้จัดระเบียบการแสดงใหม่ ปรับใช้เสียงร้องและเสียงดนตรีอย่างเป็นระบบ อันทำให้สามารถดึงดูดความสนใจและผลักเคลื่อนอารมณ์ของผู้ชมได้มากกว่าเดิม ส่งผลให้โอเปร่าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่ชนชั้นสูง

แต่กว่าที่โอเปร่าจะเข้าสู่วงจรศิลปะการแสดงที่ได้รับความนิยมในวงกว้างได้ ก็ต่อเมื่อมีการเปิดโรงละครเก็บเงินครั้งแรกในเวนิซ คือ Teatro San Cassiano ในปี 1637 แล้วเท่านั้น

โอเปร่ากับคาร์นิวัล ในฐานะกิจกรรมทางสังคม
ในบทความของ Edward Muir เรื่อง An Evening at the opera in seventeenth-century Venice (ตีพิมพ์ใน The Oxford Handbook of the New Cultural History of Music ค.ศ.2011) กล่าวถึงความนิยมโอเปร่าของชาวอิตาเลียนในช่วงแรกๆ ว่าสัมพันธ์อยู่กับความนิยมในเสียงร้องเพลงของสตรี

ความนิยมเสียงร้องเพลงของสตรีเริ่มต้นขึ้นในราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 จากการขับร้องเพลงของสตรีชั้นสูงในที่พักอาศัย และเริ่มมีการเฟ้นหาแม่ชีนักร้องเสียงดี เป็นเสียงนักร้องนำในเพลงศาสนาตามคอนแวนต์ต่างๆ

ดังที่นักชมโอเปร่ามีศัพท์เฉพาะ ใช้เรียกนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นพิเศษว่า diva ซึ่งแปลได้ว่า “เทพธิดา”

นอกจากนั้น การแสดงโอเปร่าในช่วงแรกยังสัมพันธ์อยู่กับเทศกาลคาร์นิวัล (Carnival) ในเวนิซ ซึ่งหมายถึงเทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงก่อนเทศกาลมหาพรต (Lent) ของชาวคริสต์ มีขบวนแห่ และการละเล่นบันเทิงใจตามสถานที่ต่างๆ

ตัวอย่างเช่น โอเปร่าเรื่อง L”Orfeo ของ Monteverdi ที่กล่าวถึงไปแล้วเมื่อครู่ ก็ถูกจัดแสดงครั้งแรกขึ้นที่ราชสำนักแห่งเมืองมันโตวา ในช่วงเทศกาลคาร์นิวัลนั่นเอง

Edward Muir ให้ข้อมูลว่า ก่อนการถือกำเนิดของโอเปร่า มีการแสดงละครในเทศกาลคาร์นิวัลของชาวเวนิซอยู่ก่อนแล้ว ในรูปแบบละครสวมหน้ากากที่เรียกว่า “Commedia dell”arte” เป็นละครชวนหัว ซึ่งบ่อยครั้งมีเนื้อหาล่อแหลมเรื่องเพศและเสียดสีการเมือง

ละครชวนหัวชนิดนี้ได้รับการอุปถัมภ์โดยชนชั้นสูงรุ่นใหม่ฝ่ายเสรีนิยม และมักมีความขัดแย้งกับกลุ่มขุนนางหัวเก่าผู้กุมอำนาจทางการเมืองมาตั้งแต่ราว ค.ศ.1500

สมาคมที่ทำการอุปถัมภ์คณะละครเหล่านี้บางครั้งจึงต้องกระทำการอย่างลับๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากชนชั้นนำผู้ไม่พอใจการแสดง

และผลจากการที่ชนชั้นนำสั่งแบนละครชวนหัวจำนวนหนึ่งไม่ให้จัดแสดงในที่สาธารณะ ส่งผลให้ละครเหล่านี้ต้องเปลี่ยนสถานที่ไปจัดแสดงในบ้านของชนชั้นสูง และสุดท้ายก็นำไปสู่การสร้าง “โรงละคร” ชั่วคราว

ดังปรากฏว่าในปี 1580 ได้มีการสร้างโรงละครขึ้นสองแห่งใกล้กับย่านโสเภณี โดยมีลักษณะที่โดดเด่นคือ “ชั้นบอกซ์” (box) เป็นรูปกล่องสี่เหลี่ยมบรรจุผู้ชมเรียงซ้อนเป็นชั้นๆ

รูปแบบชั้นบอกซ์ของโรงละครสองแห่งนี้เอง ที่เป็นต้นแบบให้กับโรงโอเปร่าแบบอิตาเลียน (teatro all”italiana) ในเวลาต่อมา และแพร่หลายไปทั่วยุโรป

มีหลักฐานว่าละครชวนหัว Commedia dell”arte นี้ เคยเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงโอเปร่าที่เกิดขึ้นในสมัยแรกๆ เช่น ในระหว่างที่นักร้องโอเปร่าหยุดพัก กลุ่ม Commedia dell”arte จะขึ้นแสดงสลับฉาก หรือขึ้นไปร่วมแสดงในฉากที่ต้องการคนจำนวนมาก เช่น ฉากสงคราม เป็นต้น

Edward Muir ถึงกับกล่าวว่า แท้จริงแล้ว “โอเปร่า” เรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ในปี 1637 ก็คือการแสดงละครชวนหัว Commedia dell”arte ที่ถูกปรับปรุงและผสมผสานจนเกิดเป็นรูปแบบใหม่นั่นเอง

และกลุ่มชนชั้นสูงผู้อุปถัมภ์และสร้างโรงโอเปร่าเก็บเงินขึ้นครั้งแรกนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นคนกลุ่มเดียวกันกับที่เคยอุปถัมภ์ละคร Commedia dell”arte มาก่อน

ดังนั้น รูปแบบการรับชมโอเปร่าในช่วงแรกๆ จึงมีลักษณะไม่แตกต่างไปจากการรับชมละครชวนหัวในเทศกาลคาร์นิวัล นั่นคือเป็นกิจกรรมทางสังคม (social event) มากกว่าที่จะเป็นไปเพื่อการฟังดนตรี-ดูละครอย่างจริงจัง

ผู้ชมในโรงโอเปร่าจึงไม่ได้ใส่ใจกับความเป็นไปบนเวทีนัก และส่วนใหญ่จะพูดคุยกันอย่างอิสระ เดินไปมา ดื่มสุรา กินอาหาร เล่นพนัน โต้เถียงกัน พลอดรักกัน หรือกระทั่งร่วมเพศกันในชั้นบอกซ์

และอาจหันมาให้ความสนใจกับโอเปร่าเพียงในบางขณะ เช่น ในขณะที่นักร้องหญิงคนดังออกมาหน้าเวที เป็นต้น

นอกจากนั้น การสวมหน้ากากที่เคยเป็นธรรมเนียมของการเข้าร่วมคาร์นิวัลมาก่อนยังกลายเป็นธรรมเนียมของการชมโอเปร่าอีกด้วย และการสวมหน้ากากย่อมหมายถึงการปกปิดอัตลักษณ์

ดังนั้น การพบปะกันของชนชั้นสูงที่ไม่ปรารถนาให้สังคมรับรู้จึงสามารถเกิดขึ้นได้ในโรงโอเปร่า ทั้งในเรื่องของการเมืองและเรื่องส่วนตัวอย่างความสัมพันธ์ทางเพศ

อนึ่ง อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือในช่วงเวลาแรกเกิดของโอเปร่าจนเริ่มได้รับความนิยม สังคมชาวอิตาเลียนยังเผชิญกับสภาวะที่ชนชั้นสูงจำนวนมาก “ไม่แต่งงาน”

ดังปรากฏว่าตั้งแต่ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 สภาวะเงินเฟ้อทำให้ชนชั้นสูงส่วนมากไม่นิยมให้บุตรสาวแต่งงาน เพราะเหตุที่ต้องแบ่งสมบัติส่วนหนึ่งไปให้ฝ่ายเจ้าบ่าวในรูปของสินสอด (dowry)

และเนื่องด้วยการแต่งงานข้ามชนชั้นเป็นเรื่องต้องห้าม บุตรีของชนชั้นสูงส่วนมากจึงถูกส่งเข้าอารามแม่ชี หรือไม่ก็ต้องดำรงตนอยู่เป็นโสด

กลุ่มชนชั้นสูงทั้งชายหญิงที่เป็นโสดเหล่านี้เอง ที่เป็นกลุ่มผู้ชมโอเปร่าในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 และอาศัยโรงโอเปร่าเป็นแหล่งปลดปล่อยพฤติกรรมทางเพศนอกสถาบันการแต่งงาน โดยเฉพาะในชั้นบอกซ์ ซึ่งสามารถปิดม่านให้ปลอดพ้นจากสายตาของผู้ชมคนอื่นๆ

โรงโอเปร่าเมื่อแรกมี จึงเป็นสถานที่ที่ปะปนของคนต่างประเภท จากชนชั้นสูงไปจนกระทั่งหญิงโสเภณี จนในเวนิซช่วงหนึ่งถึงกับต้องตรากฎหมายบังคับให้หญิงชั้นสูงสวมหน้ากากขณะไปโรงโอเปร่า เพื่อเน้นย้ำว่าตนเองแตกต่างไปจากหญิงโสเภณีที่ไม่ปิดหน้าและแสดงตนอย่างเปิดเผย

โรงโอเปร่าจึงเป็นสถานที่สำหรับพบปะสังสันทน์ เพื่อแสดงตัวตน เพื่อปกปิดตัวตน พร้อมกับการสังเกตการณ์ผู้อื่นเพื่อเก็บข้อมูลไว้ใช้ในการซุบซิบนินทากันในหมู่ชนชั้นสูง

และไม่เคยมีมารยาทและขนบการรับชมรับฟังอย่างในปัจจุบันแต่อย่างใด