บทวิเคราะห์ : พท.ปรับแผน-แยกเดิน ปัดฝุ่นพรรคเพื่อธรรม รับมือ “ยุบพรรค” รอบ 3 ดัน “สมชาย” นั่งหัวหน้า

หลัง คสช.ออกคำสั่งคลายล็อก พรรคการเมืองก็คึกคักกระปรี้กระเปร่า

พรรคเพื่อไทย สืบเชื้อสายมาจากพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน ได้รับการจับตาในฐานะพรรคที่ชนะเลือกตั้ง ส.ส.ติดต่อกัน 4 ครั้งหลังสุด

2 ใน 4 เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ต้องจับตาเนื่องจากหลังตกเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยคณะรัฐประหาร คสช. มาตลอดกว่า 4 ปี แน่นอนว่าพรรคการเมืองอื่นพลอยโดนลูกหลงไปด้วย

แต่พรรคเพื่อไทยคือเป้าหมาย

เมื่อสัญญาณเลือกตั้งส่งออกมาว่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 หรืออย่างช้าไม่เกิน 5 พฤษภาคม 2562

พรรคเพื่อไทยสามารถฟื้นคืนชีพ เหมือนที่พรรคพลังประชาชนเคยทำ ด้วยการคว้าชัยชนะเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 นายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

หรือพรรคเพื่อไทยเคยทำ ในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทะยานขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีภายในระยะเวลาแค่ 49 วัน

จะซ้ำรอยเช่นนั้นหรือไม่

ประเด็นหนึ่งของการคลายล็อก เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ เพื่อเลือก “หัวหน้าพรรค” และคณะกรรมการบริหารพรรค

สำหรับพรรคการเมือง ตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดผลแพ้-ชนะ

ต่อให้เป็นพรรคเพื่อไทย หลังจากพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนโดน “ยุบ” ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนโยบายพรรคมากกว่าตัวหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหาร

ในขณะที่คนภายนอกอยากรู้ว่าใครจะเป็น 1 ใน 3 รายชื่อบุคคลในบัญชีพรรค ที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างเช่น ในการเลือกตั้งปี 2554 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเมื่อชนะเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1

 

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงคุณสมบัติคนที่จะเป็นหัวหน้าพรรค

ต้องเป็นคนที่สมาชิกยอมรับ มีวิสัยทัศน์ มองโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ทันต่อเหตุการณ์ ที่สำคัญจะต้องทำหน้าที่ในสถานการณ์พิเศษได้

นายภูมิธรรมยังพูดถึงรายชื่อบุคคลที่มีศักยภาพและความเหมาะสม อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายโภคิน พลกุล นายชัยเกษม นิติสิริ นายชูศักดิ์ ศิรินิล

และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

นอกเหนือจากรายชื่อตามที่นายภูมิธรรมระบุ ยังมีคนที่ได้รับการพูดถึง ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี “น้องเขย” ของนายทักษิณ ชินวัตร

ยังมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน นายภูมิธรรม เวชยชัย ก็มีชื่ออยู่ในข่าย

รวมถึงเครือญาติตระกูล “ชินวัตร” ที่มีภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่

เริ่มจากนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสซี แอสเสทฯ “ลูกเขย” นายทักษิณ ชินวัตร

นายยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ลูกชายนายสมชายและนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ “หลานชาย” นายทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นข่าวจะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ก่อนที่ทั้งหมดได้รับการปฏิเสธทั้งจากเจ้าตัวและแกนนำพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะชื่อนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ สามีของ “เอม พินทองทา” ลูกสาวคนโตของนายทักษิณ

“พรรคไม่เคยหารือเรื่องนี้ ไม่รู้ใครปล่อยข่าว และมีวัตถุประสงค์อะไร เมื่อเป็นข่าวลอยๆ จึงไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์ ยืนยันว่าพรรคไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้” นายภูมิธรรม เวชยชัย กล่าว

เรื่องใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางว่า จำเป็นต้องได้รับพิจารณาเห็นชอบจาก “นายใหญ่” ในต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้โดยการผลักดันของ “นายหญิง” บ้านจันทร์ส่องหล้า บวกการมีคอนเน็กชั่นกับแกนนำใน คสช.

ทำให้ชื่อของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มาแรงกว่าเพื่อน ถึงจะมีเสียงค้านจากแกนนำพรรค และแกนนำมวลชนสนับสนุนพรรคบางส่วนก็ตาม

กระทั่งก่อนหน้าคลายล็อกไม่นาน ชื่อของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็โดดเด่นขึ้นมาแทน

นอกจากคุณสมบัติการเป็นเครือญาติสายตรง ได้รับความไว้วางใจ ยังมีประสบการณ์เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงวิกฤตม็อบพันธมิตรฯ ปี 2551 เป็นคนสุภาพอ่อนน้อม มีความประนีประนอมสูง

จากการซาวเสียงอดีต ส.ส. สมาชิกพรรค และแนวร่วมมวลชน ไม่มีใครคัดค้าน เชื่อว่าจะสร้างเอกภาพในพรรค เหมาะที่จะนำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง

 

มหากาพย์ว่าด้วยหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เกี่ยวพันถึงยุทธศาสตร์เฉพาะหน้าในการทำศึกเลือกตั้งเพื่อเอาชนะพรรคผู้มีอำนาจก็เกิดการหักเหอีกครั้ง

เมื่อมีการประเมินว่า ยิ่งพรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มชนะเลือกตั้งมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องเจอกับ “ยาแรง” จากฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นเท่านั้น แรงที่สุดอาจถึงขั้น “ยุบพรรค” และ “ตัดสิทธิ” กรรมการบริหารพรรค

โดยอาศัยกรณีคลิปวิดีโอคอลของนายทักษิณ ชินวัตร พูดคุยสั่งการสมาชิกและอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ระหว่างงานเลี้ยงฉลองวันเกิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

รวมถึงกรณีฝ่ายกฎหมาย คสช. แจ้งความดำเนินคดีกับ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ นายภูมิธรรม เวชยชัย นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายวัฒนา เมืองสุข นายนพดล ปัทมะ และนายชัยเกษม นิติสิริ แกนนำพรรค

ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น เป็นภัยต่อความมั่นคง จากการตั้งโต๊ะแถลงข่าววันครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร คสช. มาเป็นมูลเหตุ

นั่นทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยต้องเร่งปรับแผน หาแนวทางรับมือเพื่อความไม่ประมาท ด้วยการปัดฝุ่นพรรค “เพื่อธรรม” สำรองไว้ในกรณีฉุกเฉิน

ขณะที่สถานการณ์ในพรรคเพื่อไทย ลงตัวด้วยการให้ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ขึ้นนั่งเป็นหัวหน้าพรรคเต็มตัว นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นเลขาธิการพรรค น.ต.ศิธา ทิวารี เป็นผู้อำนวยการพรรค

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะเป็นส่วนสำคัญในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค ที่จะตั้งขึ้นเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเลือกตั้ง

เชื่อว่าตามสูตรนี้จะช่วยลดปัญหาขัดแย้งในพรรคลงได้

ส่วนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จากที่ได้รับการวางตัวเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

จะถูกปรับโยกไปรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อธรรม ที่กำลังจะมีการประชุมใหญ่ในวันที่ 30 กันยายน ที่โรงแรมออร์คิด จ.เชียงใหม่

สิ่งหนึ่งที่ยืนยันกระแสข่าวดังกล่าว คือการที่นายสมชายและนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ไม่ได้ไปปรากฏตัวในการประชุมอดีต ส.ส. และรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา

สำหรับกำลังขับเคลื่อนพรรคเพื่อธรรมนั้น คาดว่าจะมีอดีต ส.ส.ภาคเหนือและภาคอีสาน ประมาณร้อยละ 90 ย้ายจากพรรคเพื่อไทย ไปเข้าสังกัดพรรคเพื่อธรรม

ในขณะที่แกนนำตัวหลักและอดีตรัฐมนตรี รวมถึงอดีต ส.ส.ที่มีปัญหาสุ่มเสี่ยงด้านคดีความจะยังอยู่กับพรรคเพื่อไทย แต่จะต้องคิดหาวิธีบริหารจัดการว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ผู้สมัครเลือกตั้งทั้งสองพรรคซ้ำซ้อนกัน

 

ถึงแม้ในสายตาของคนทั่วไป รวมทั้งสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางส่วนจะมองว่า

ฝ่ายตรงข้ามไม่น่าเล่นเกมแรงถึงขั้นยุบพรรค เพราะอาจทำให้เกิดกระแสตีกลับ กลายเป็นคะแนนสงสาร

ช่วยส่งเสริมให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลาย เหมือนที่เคยเกิดกับพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนมาแล้วเมื่อปี 2550 และ 2554

แต่หากมองจากสภาพความเป็นจริง การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นถูกมองว่าไม่ต่างจากสงครามการเมืองไร้รูปแบบ

กลุ่มผู้ถืออำนาจพยายามใช้ “อภินิหารทางกฎหมาย” กลไกสารพัดวิธี เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับพรรคในเครือข่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ เป็นฝ่ายชนะเลือกตั้งให้ได้

การ “ยุบ” เพื่อไทย ไปพร้อมกับ “ยึด” ประชาธิปัตย์จึงเป็นอีกวิธีหนึ่ง หากสำเร็จไม่เพียงจะช่วยทุ่นแรง ลดต้นทุนการทำศึกเลือกตั้งในด้านอื่นๆ

ยังเท่ากับเป็นการการันตีชัยชนะแบบร้อยเปอร์เซ็นต์อีกต่างหาก