“คม” ความคิด : เทวินทร์ วงศ์วานิช

เทวินทร์ วงศ์วานิช / “คม” ความคิด (1)

หมายเหตุ : เนื้อหามาจากหนังสือ “คม” ความคิด ที่พิมพ์ขึ้นในวาระที่นายเทวินทร์ วงศ์วานิช เกษียณจากตำแหน่ง CEO ของ ปตท. สิงหาคม 2561

จากเด็กปั๊ม

หลายคนคงไม่ทราบว่าผมเคยเป็นเด็กปั๊ม…

ไม่คาดคิดเหมือนกันว่าจะมาเป็นผู้บริหารบริษัทน้ำมันในวันนี้

ช่วงปิดเทอมสมัยเป็นเด็กนักเรียน ถ้าผมไม่ไปหาคุณปู่คุณย่าที่ขอนแก่น คุณพ่อจะให้ไปฝึกงานเป็นเด็กปั๊ม

คุณพ่อสอนว่า “ถ้าเราจะทำอะไร…เราต้องรู้เรื่องนั้นจริงจัง”

ช่วงที่ผมมีเวลาว่างก็เลยได้มีโอกาสเรียนรู้ ไม่ได้คิดว่าโตขึ้นมาจะมาทำงานอะไรเกี่ยวกับน้ำมันหรอก

แต่ไปเป็นเด็กปั๊มก็สนุกดีครับ

ได้ถือหัวจ่ายเท่ๆ เติมน้ำมัน

ได้รู้อะไรหลายๆ อย่างจากการสัมผัสผู้คน ทั้งกับเด็กปั๊มด้วยกัน

เราได้เข้าใจเขา ได้รู้ว่าเขาคิดอะไร ชีวิตเขาเป็นอย่างไร

สัมผัสกับเจ้าของปั๊ม หรือผู้จัดการปั๊มว่าเขาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง

และกับลูกค้าที่มาเติมน้ำมันว่าเขาเป็นอย่างไร

สิ่งสำคัญที่ผมได้กับตัวเองก็คือ การที่เราสามารถทำอะไรได้ทุกอย่างโดยไม่เลือกงาน

ไม่มีงานอะไรที่เล็กเกินไป

หากเป็นงานที่สุจริต ถ้าเรามีโอกาสได้ทำก็ควรทำให้เต็มที่และสนุกกับมัน

ไม่คาดคิดเหมือนกันว่าจะมาเป็นผู้บริหารบริษัทน้ำมันในวันนี้

สู่วิศวะเจาะน้ำมัน

ผมมีประสบการณ์ทำงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมากว่า 30 ปีได้

เริ่มต้นทำงานที่บริษัทยูโนแคล (ประเทศไทย) เป็นที่แรก ในตำแหน่ง “วิศวกรฝึกหัด”

ต้องยอมรับว่ายุคนั้นบริษัทไทยยังไม่มีเทคโนโลยีมากพอที่จะทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยได้

จึงต้องเปิดสัมปทานให้กับบริษัทต่างชาติที่มีศักยภาพ

ซึ่งยูโนแคลก็เป็นหนึ่งในบริษัทเหล่านั้น

ตอนที่ผมเข้าทำงานกับยูโนแคลมีวิศวกรคนไทยไม่มาก น่าจะไม่เกิน 10 คน

นอกนั้นเป็นชาวต่างชาติหมด

การได้เริ่มต้นทำงานที่นี่เป็นโอกาสที่ดีมาก

เพราะยูโนแคลเปิดให้วิศวกรที่เข้าใหม่ได้เรียนรู้งานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งกระบวนการ

แล้วเขาตัดสินว่าเราเหมาะกับตรงไหน

อย่างผมเข้าไปตอนแรก เริ่มต้นทำงานในฝ่ายการผลิตก่อน 6 เดือน

จากนั้นไปยังฝ่ายเจาะหลุมอีก 6 เดือน

แล้วไปทำงานบริหารแหล่งปิโตรเลียม 2 ปี

แล้วมาทำงานด้านวางแผนและประเมินผล

ที่เล่ามาอย่างนี้เหมือนง่าย

แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องพบอุปสรรคมากมาย

จากประสบการณ์ที่ยูโนแคล ผมพบว่าคนไทยมีความสามารถครับ ทำงานสู้ฝรั่งได้เลย

ขอแค่มีโอกาส มุ่งมั่นตั้งใจทำงานให้รู้จริง ใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ

เราจะทำได้ดีเท่าหรือดีกว่าฝรั่งได้อย่างแน่นอนครับ

ปัญหาตั้งแต่ “ก้าวแรก”

ก้าวแรกที่ผมลงจากเฮลิคอปเตอร์ แท่นเจาะหลุมชื่อ ROBRAY T-7 กำลังวุ่นวาย

มีปัญหาก้านเจาะติดกับผนังหลุมระหว่างเจาะหลุมขั้นสุดท้ายทำให้เจาะต่อไม่ได้

ผู้คุมแท่นเจาะวันนั้นเป็นวิศวกรฝรั่ง พอเขารู้ว่าผมมาถึงก็เรียกให้ไปร่วมหารือแก้ปัญหากับทีม เป็นทั้งการอธิบายและการสอนการทำงานไปในตัว

ลองนึกดูนะครับว่าวิศวกรจบใหม่ เริ่มทำงานมาได้ 6 เดือน เพิ่งย้ายไปฝึกอีกแผนกซึ่งยังไม่ค่อยรู้อะไร มาถึงไซต์งานก็มีปัญหาทันที

ผมจะตื่นเต้นและได้เรียนรู้มากแค่ไหน

เหตุการณ์นั้นเป็นวันแรกที่ผมเจอกับ มร.นีล แมคกี (Neil McGee) ครูเจาะปิโตรเลียมคนแรกของผม

หลังจากนั้นผมก็มีครูอีกหลายคน ประสบการณ์เรายังน้อย ต้องกล้าพูดกล้าถามจากหัวหน้าฝรั่งที่เขามีประสบการณ์มากมาย

จนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังระลึกถึงทุกท่านและถือว่าทุกคนเป็นครูของผม

โอกาสพลาด 80-90%

ก่อนเจาะปิโตรเลียม นักสำรวจและวิศวกรที่มีความรู้ ประสบการณ์ ได้ศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์อย่างรอบคอบอย่างดีที่สุด

แต่จากประสบการณ์ของผมเซอร์ไพรส์ในการเจาะปิโตรเลียมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

คนทำงานในวงการปิโตรเลียมเคยชินกับการที่ผลออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวังอยู่แล้ว

หลายครั้งที่เราวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากพื้นที่แหล่งสำรวจปิโตรเลียม หรือทำการประเมินหลุมสำรวจแล้วมั่นใจว่ามีปิโตรเลียมแน่

แต่พอเจาะลงไปจริงๆ แล้ว “ไม่เจอ” ก็มี

เรากำลังทำงานกับสิ่งที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินกว่า 3 กิโลเมตร ไม่มีใครมองเห็นด้วยตาจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร นอกจากการประเมินข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เก็บรวบรวมมาเพื่อวิเคราะห์

แม้จะมีคนคิด มีคนช่วยเช็ก ทีมงานคุยกันจนได้ข้อยุติแล้วว่าน่าจะมี

แต่สุดท้ายก็พลาดกันทั้งหมดก็เคยเป็นมาแล้ว

จากสถิติของการสำรวจทั้งโลก เรามีโอกาสพลาดถึง 80-90%

นี่คือความท้าทายของการทำงานด้านนี้

สิ่งสำคัญคือ เรานำสิ่งผิดพลาดมาเป็นประสบการณ์มากกว่านำมาท้อแท้ การทำงานอื่นๆ ก็เช่นกันครับ

เราอาจต้องเจอกับความล้มเหลวเป็นสิบๆ ครั้ง

กว่าจะค้นพบนวัตกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ

นวัตกรรมที่นำมาใช้ทางธุรกิจ แบ่งได้เป็น 3 อย่าง คือ

1. Disruptive Innovation สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการรูปแบบใหม่ ซึ่งต้องลงทุนเพิ่ม ใช้เวลา และเผชิญความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่จะสร้างการเติบโตที่สำคัญจากตลาดใหม่ สร้างงาน และเปลี่ยนวิถีชีวิตคนได้ เช่น Sony Walkman, Digital Camera, Notebook, Smart Phone, Amazon, Google, Facebook, Cloud, Uber, Fin-Tech, Drone

2. Sustaining Innovation เป็นการพัฒนา ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือบริการให้แตกต่างจากเดิม ดีขึ้น สะดวกขึ้น เพื่อเอาชนะคู่แข่ง ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มกำไรมากขึ้น แต่ไม่ได้สร้างตลาดใหม่ เช่น iPod, iPhone, Tablet, 3-D TV, Mobile Banking

3. Efficient Innovation ใช้เทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่ม Productivity ใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ให้เต็มที่ ใช้คน วัตถุดิบ และพลังงานน้อยลง ทำให้ต้นทุนต่ำลง แข่งขันได้ดีขึ้น และมีกำไรมากขึ้น

องค์กรส่วนใหญ่จะมุ่งหานวัตกรรมเพื่อทำข้อ 3 และ 2 ก่อน เพราะลงทุนน้อย เห็นผลเร็ว แต่ข้อ 1 จำเป็นมากสำหรับสร้าง Growth ในระยะยาว นวัตกรรมจะเกิดได้อย่างเป็นระบบต้องมาจากวัฒนธรรมองค์กรที่ยอมให้มีการลองแนวความคิดใหม่ๆ กล้าเสี่ยงและยอมรับความล้มเหลวได้

เราอาจต้องเจอกับความล้มเหลวเป็นสิบๆ ครั้ง กว่าจะค้นพบนวัตกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ