“กระเป๋าสตางค์” ไม่จำเป็นสำหรับ เด็กจีน ? – คนเคนย่า (อาจ)ไม่รู้ว่า “บริการที่ดี” คืออะไร ?

“เกมเสือข้ามห้วย” โดย กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร คอลัมน์ธุรกิจพอดีคำ

ณ องค์กรยักษ์ใหญ่แห่งเดิม

บริษัทรถยนต์ชื่อดังก้องประเทศ

ผู้บริหารกำลังถกเถียงกันเรื่องการสร้าง “นวัตกรรม” ของผลิตภัณฑ์ใหม่

“ผมคิดว่ารถยนต์แบบใหม่ต้องวิ่งเร็วนะ”

ผู้บริหารท่านหนึ่งเสนอไอเดีย

พร้อมกับผู้บริหารท่านอื่นๆ พยักหน้าหงึกๆ ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ

ผู้บริหารอีกท่านกล่าวแย้ง

“โลกยุคนี้ ผมคิดว่ารถยนต์ต้องมีรูปลักษณ์ที่ทันสมัย”

ไม่มีเสียงตอบรับ บรรยากาศเริ่มตึงเครียด

นี่เราไม่มี “ไอเดีย” ใหม่กันเลยหรือ

ซีอีโอของบริษัทเริ่มไม่สบอารมณ์

ผู้บริหารท่านอื่นๆ หันกันขวักไขว่ หลบสายตา

กรวิชญ์ พนักงานหนุ่มไฟแรง ที่นั่งอยู่แถวหลัง

ยกมือขึ้น นำเสนอไอเดีย

“ผมคิดว่าเรามาเล่นเกมเสือข้ามห้วยกันเถอะครับ”

ทุกๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปจัดกิจกรรมเรื่อง “ความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)”

ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัย

หรือองค์กรชั้นนำระดับประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

หรือซีอีโอบริษัท

ผมมักจะเริ่มด้วย “กิจกรรม” มาตรฐานของสแตนฟอร์ด ดี.สคูล (Stanford d.school)

ที่เรียกว่า “กิจกรรมกระเป๋าสตางค์” ครับ

กิจกรรมที่เริ่มต้นให้ผู้เข้าร่วม ลองวาด “กระเป๋าสตางค์ในอุดมคติ” ของตัวเองดู

ไม่มี “รายละเอียด” มากกว่านี้

ให้เวลา 3 นาที

ปฏิบัติ!

เมื่อหมดเวลา พอลองขอดูรูปภาพของ “กระเป๋าสตางค์” ในแต่ละคน

ก็พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่ง จะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม

มีสีสันสดใส มีระบบ “อิเล็กทรอนิกส์” ติดอยู่บ้าง

บ้างก็สามารถพูดตอบโต้กับผู้ใช้งานได้

บ้างช่วยจัดการค่าใช้จ่าย ช่วยล็อกให้เงินออกมาไม่ได้ ในเวลาที่ควรจะประหยัด

กระเป๋าตังค์สารพัดประโยชน์ ที่ช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้ออกแบบ

ในมุมมองของตัวเอง

ผมมักจะถามต่อสั้นๆ

ท่านคิดว่า “เด็กๆ สัก 5 ขวบในเมืองจีนตอนนี้ เขาจะต้องการกระเป๋าสตางค์แบบไหนกัน”

พี่ๆ ก็มักจะคิดกันเล็กน้อย แล้วตอบคล้ายกันว่า

คงจะ “ไม่ต้องมี”

เพราะที่จริงปัจจุบันประเทศจีนมีการใช้จ่ายผ่านมือถืออย่างแพร่หลาย

ทั้ง “อาลีเพย์ (AliPay) และ “วีแชตเพย์ (WechatPay)”

บ้างว่า ในเมืองใหญ่ๆ มีอัตราส่วนถึง 92% เลยทีเดียว

เด็กๆ ส่วนใหญ่ที่เกิดในยุคนี้

จะไม่มี “กระเป๋าตังค์” ใบแรก ให้ภาคภูมิใจอีกแล้ว

เมื่อเงินสดไม่มี กระเป๋าตังค์ที่เป็น “กระเป๋า” จึงไม่จำเป็น

แต่จะกลายเป็นการเก็บเงินบน “อากาศ”

ที่มีการใช้จ่ายผ่าน ” มือถือ” เท่านั้นเอง

เด็กๆ โตขึ้นมาไม่น้อย คงจะสงสัย

ทำไมผู้ใหญ่ถึงเรียก “ตัวเลขเงินที่แสดงผลในมือถือ”

ว่า “กระเป๋าตังค์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet)”

ทั้งๆ ที่มันไม่เหมือน “กระเป๋า” ที่เอาไว้ใส่หนังสือไปโรงเรียนเลยสักนิด

เด็กๆ รุ่นใหม่คงจะไม่มีโอกาสได้สัมผัส “กระเป๋าตังค์สี่เหลี่ยมเล็กๆ”

ที่ครั้งหนึ่ง คนทั้งโลกจะต้องมีไว้

เก็บกระดาษเป็นแผ่นๆ ยับๆ สกปรกๆ ที่เรียกว่า “เงินสด”

ฟังแล้วดู “ช่างโบราณ” ยังไงยังงั้น

มาที่ทวีปแอฟริกา ประเทศเคนยา

ถ้าไปถามเด็กๆ สมัยนี้ว่า “ธนาคาร” บริการดีมั้ย

เขาก็คงจะงง แล้วตอบกลับมาว่า

“บริการดีคืออะไร”

ก็ในเมื่อปัจจุบัน คนหลายล้านคนในเคนยาสามารถฝาก-ถอน จ่ายเงินกันผ่าน “มือถือ” เป็นเรื่องปกติไปแล้ว

ไม่มี “ธนาคาร” มากมายนักที่จะมี “สาขา”

มีมนุษย์คอยต้อนรับ คอยเขียนใบฝาก ใบโอนให้กับลูกค้า

ต้องรอคิว นานบ้าง ช้าบ้าง

เหมือนธนาคารหลากสีในประเทศของเรา

การที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่าง “เคนยา” สามารถมีประชากรที่ทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน “มือถือ” ปริมาณมหาศาล

ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปทำธุรกรรมที่ “สาขา”

เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา

การก้าวข้ามการวิวัฒนาการของการบริการโดยข้ามเรื่องของ “สาขา” ไปที่ “มือถือ” เลยนั้น

ภาษาทางนวัตกรรมเขาเรียกว่าการ “ลีพฟร็อก (Leapfrog)”

เหมือนอาศัยทางลัด ไม่ต้องผ่านทุกกระบวนการของการเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนตัวเองไปสู่สิ่งใหม่ๆ เลย

ซึ่งถือว่าเป็น “ข้อได้เปรียบ” ใหญ่หลวง เพราะประชากรยังไม่ยึดติดกับการ “มีสาขา” แบบเดิมๆ

การ “ลีพฟร็อก” นั้นมีให้เห็นมากมายในประเทศที่กำลังพัฒนา

รู้ตัวอีกที เขาก็นำหน้าประเทศเราไปสักพักใหญ่

องค์กรที่คิดจะสร้างนวัตกรรม ต้องมองให้ขาด

ไม่ใช่แค่คลื่นลูกถัดไป แต่อาจจะเป็นคลื่นลูกที่ถัดออกไปอีกสักหน่อย

แต่เป็นคลื่นลูกที่ใหญ่กว่า

นี่แหละที่เขาเรียกว่า “ลีพฟร็อก”

ห้องประชุมเงียบไปชั่วขณะ หลังจากที่กรวิชญ์โพล่งออกไป

“เล่นเกมเสือข้ามห้วย” กันเถอะครับ

ผู้บริหารถามทันที “อะไรนะ”

อ้อ ผมเพิ่งเปิด “กูเกิล” แปลนะครับ กลัวจะไม่เข้าใจกัน

เกมเสือข้ามห้วย คือลีพฟร็อก (Leapfrog) ไงครับ

อย่ายึดติดกับรูปแบบเดิมๆ

จงมองหาคลื่นลูกถัดไปกันอยู่เสมอ