สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา : แพทย์ประจำพระพุทธองค์คนแรก (และคนเดียว)

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (19) แพทย์ประจำพระพุทธองค์คนแรก (และคนเดียว)

ท่านผู้นี้คือ หมอชีวก โกมารภัจจ์ (ชาวบ้านทั่วไปอ่าน ชีวะกะ ไม่รู้ “กะ” ได้ยังไง เพราะไม่ประวิสรรชนีย์!) ท่านเป็นบุตรนางนครโสเภณี นามสาลวดี ตำแหน่ง “นครโสเภณี” (ตามศัพท์แปลว่าผู้หญิงยังเมืองให้งดงาม) เป็นตำแหน่งพระราชาทรงแต่งตั้ง โดยคัดเลือกสตรีผู้เลอโฉม มีความรู้ความสามารถในการให้ความบันเทิงเริงรมย์แก่แขกเมืองผู้มีเกียรติเพื่อเป้าหมายคือ “ดึงดูดเงินตรา” เข้าประเทศ ต่อมาภายหลังเท่านั้นอาชีพนี้ได้ลดคุณค่าลง

นางสาลวดี มีบุตรขึ้นมาด้วยความเผลอไผลไม่ตั้งใจ ถ้าเป็นบุตรสาวก็อาจเลี้ยงไว้เพื่อสืบทอดตำแหน่งในวันหน้า แต่บังเอิญเป็นบุตรชาย นางจึงให้นำไปทิ้งไว้หน้าประตูวัง

แสดงว่าไม่ต้องการทิ้งจริงๆ คะเนว่าเวลาเช้าเจ้าชายอภัย พระราชโอรสพระเจ้าพิมพิสารมักเสด็จจากวังไป “จ๊อกกิ้ง” ทางประตูนั้น จึงให้สาวใช้เอาเด็กใส่กระด้งไปวางไว้ใกล้ประตูวัง โดยสาวใช้ยืนดูอยู่ห่างๆ

ทุกอย่างเป็นไปตามคาด เจ้าชายอภัยเสด็จออกมา ได้เห็นหมู่นกการ้องเซ็งแซ่อยู่ใกล้ๆ จึงรับสั่งให้มหาดเล็กไปดูว่า นกกามันร้องทำไม มหาดเล็กกลับมากราบทูลว่า นกกามันเฝ้าเด็กคนหนึ่งมีคนทิ้งเอาไว้

ตรัสถามว่า “ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่” เมื่อได้รับรายงานว่า มีชีวิตอยู่ (ชีวโกติ) จึงเสด็จไปดูและนำไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม ได้ขนานนามเด็กน้อยว่า “ชีวก” (แปลว่า มีชีวิตอยู่ หรือแปลแบบไทยๆ ว่า “บุญยัง”)

เพราะทรงเลี้ยงเหมือนลูกที่เกิดในวังจึงมีสร้อยนามว่า “โกมารภัจจ์”

ชีวก โกมารภัจจ์ หนีพระบิดาบุญธรรมไปเรียนศิลปวิทยาที่ตักสิลา 7 ปี วิชาที่เรียนคือแพทย์แผนโบราณ อยู่รับใช้อาจารย์ไปด้วยเรียนด้วย จนเมื่อยามอยากกลับบ้านนั้นแหละได้ถามอาจารย์ว่าตนเรียนจบหรือยัง อาจารย์ทดสอบด้วยการให้ออกจากสำนักไปหาตัวอย่างใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ ที่ใช้ทำยาไม่ได้มา

ชีวกไปทั้งวันก็ไม่ได้มาสักอย่าง เพราะรู้ว่าต้นไม้ทุกต้น สมุนไพรทุกชนิด ใช้ทำยาได้หมด อาจารย์จึงกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นเธอจบแล้ว”

ลาอาจารย์กลับบ้านไปหาพระบิดาบุญธรรม บังเอิญช่วงนั้นพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จปู่ทรงประชวรด้วยโรค “ภคันทลา” (ริดสีดวงทวาร) ได้ถวายการรักษาจนหาย ได้รับบำเหน็จความดีความชอบมากมาย

พร้อมได้รับแต่งตั้งให้เป็นแพทย์หลวง ประจำราชสำนักเมืองราชคฤห์

ในช่วงเวลาดังกล่าว พระเทวทัต ผู้ถูกลาภสักการะครอบงำอยากใหญ่ คิดปฏิวัติพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้นเถอะ ได้แรงอุปถัมภ์จากเจ้าชายอชาตศัตรู ผู้หลงผิดเพราะถูก “ล้างสมอง” วางแผนกำจัดพระพุทธเจ้าต่างๆ นานา แต่ละแผนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ด้วยพุทธานุภาพแต่ก็ทำความลำบากให้พระพุทธองค์พอสมควร

ครั้งหนึ่งเทวทัตขึ้นบนเขาคิชฌกูฏ กลิ้งก้อนหินลงมาหมายให้ทับพระพุทธองค์ แต่ก้อนหินกลิ้งไปปะทะชะง่อนผา กระเด็นไปอีกทางหนึ่ง ถึงกระนั้นเศษหินได้กระเด็นไปต้องพระบาทจนห้อพระโลหิตทรงได้รับทุกขเวทนา

พระสงฆ์จึงนำพระพุทธองค์ไปยังสวนมะม่วงของหมอชีวก ซึ่งอยู่เชิงเขาคิชฌกูฏ แล้วไปตามหมอชีวกมาถวายการรักษา

สวนมะม่วงนี้ หมอชีวกได้รับพระราชทานจากพระเจ้าพิมพิสาร ได้ถวายให้เป็นวัดสำหรับประทับของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ มีนามว่า “ชีวกัมพวัน” (ปัจจุบันซากปรักหักพังปรากฏอยู่)

หมอชีวกได้ใส่ยาสมานแผล แล้วเอาผ้าพันไว้ กราบทูลว่า ตอนเย็นจะกลับมาเอาผ้าออก เขาได้เข้าไปดูคนไข้ในเมือง วุ่นวายอยู่กับคนไข้จนถึงค่ำ นึกขึ้นได้ว่าได้เวลาแก้ผ้าพันแผลจากพระบาทพระพุทธเจ้า จึงรีบจะออกนอกเมือง

แต่ประตูเมืองปิดเสียก่อน ออกมาชีวกัมพวันไม่ได้

เช้าขึ้นมาก็รีบเฝ้า กราบทูลถามว่า เมื่อคืนพระองค์ทรงมีพระอาการร้อนหรือไม่ (เพราะถ้าไม่แก้ผ้าพันแผลออก คนไข้จะมีอาการร้อนทั่วกาย)

พระพุทธองค์ ทรงรับสั่งให้พระอานนท์แก้ออกตามเวลากำหนดแล้ว จึงมิได้มีพระอาการดังกล่าว

ทรงทราบว่าหมอชีวกหมายถึงร้อนแบบไหน แต่ทรงต้องการตรัสเทศนาสอนหมอชีวก จึงตรัสว่า

“ตถาคตดับความร้อนทุกชนิดได้แล้ว ตั้งแต่วันตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โคนต้นโพธิ์” แล้วได้ตรัสพระคาถาว่า

คตทฺธิโน วิโสกสฺส วิปฺปมุตฺตสฺส สพฺพธิ

สพฺพคนนฺถปฺหีนสฺส ปริฬาโห น วิชฺชติ

“ผู้เดินทางมาจนสุดทางแห่งสังสารวัฏ หมดความโศก หลุดพ้น ไม่ยึดมั่นสิ่งใดๆ แล้ว ไม่มีความเร่าร้อน ไม่ว่าร้อนภายนอก (กาย) หรือร้อนภายใน (ใจ)”

หมอชีวก โกมารภัจจ์ ได้เป็นนายแพทย์ประจำพระพุทธองค์คนแรกและคนเดียว ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

เขาได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ได้บรรลุโสดาปัตติผล ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางเป็นที่รักของปวงชน