84 ปี “อินสนธิ์ วงค์สาม” ย้อนปูมศิลปินยองป่าซาง ย้อนรอยสายเลือดเจ้ายอง

เพ็ญสุภา สุขคตะ

4ปีที่แล้ว ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ปี 2542 ชาวลำพูน “อินสนธิ์ วงค์สาม” มีอายุครบรอบ 80 ปี ครั้งนั้นดิฉันได้เขียนบทความเชิงวิจารณ์ศิลปะให้คุณลุงลงคอลัมน์นี้มาแล้วมากถึง 5 ตอน ใช้ชื่อบทความว่า “อินสนธิ์ วงค์สาม” 8 ทศวรรษ – 8 พัฒนศิลป์

โดยดิฉันได้จำแนกแยกประเภทผลงานของคุณลุงทั้งหมดออกเป็น 8 กลุ่มหลักๆ ตามห้วงระยะเวลาการทำงาน แล้วกำหนดชื่อแต่ละยุคให้คุณลุงไว้ดังนี้

ยุคที่ 1 : สืบสานงานช่างทอง ทดลองฟอกโลก

ยุคที่ 2 : คือทรวดทรงและสีสันแห่งสนามเด็กเล่น

ยุคที่ 3 : คืนสู่รากเหง้า-หลงเงารากไม้

ยุคที่ 4 : แรงกระเพื่อมตะวันตก สู่รอยเคลื่อนไหวตะวันออก

ยุคที่ 5 : ขุดค้นความจริง กลิ้งบนแผ่นพิมพ์

ยุคที่ 6 : ประติมากรสร้างชีวา ประติมากรรมมีชีวิต

ยุคที่ 7 : เสน่หาภาพเขียนสีน้ำ

และยุคที่ 8 : ห้วงคำนึงถึงแผ่นทอง

บทความทั้งหมดนั้นท่านสามารถหาอ่านย้อนหลังได้ในฉบับปี 2558 ระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม

ครั้นในปี 2561 นี้ คุณลุงอินสนธิ์มีอายุครบ 84 ปีหรือ 8 รอบนักษัตร เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา

ร้าน Temple House (กึ่งร้านกาแฟกึ่งแกลเลอรี) ตั้งอยู่ด้านหลังของวัดพระธาตุหริภุญชัย ถนนอินทยงยศ ใจกลางเมืองลำพูน ได้จัดนิทรรศการพิเศษ ด้วยการนำเอาผลงานชิ้นเยี่ยมในยุคต่างๆ ของคุณลุงอินสนธิ์มาจัดแสดง (จนถึงสิ้นเดือนกันยายนศกนี้)

งานเปิดตัวมีขึ้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน ดิฉันได้พบคุณลุง ท่านอยากให้ดิฉันสัมภาษณ์และเขียนถึงท่านอีกครั้ง

โดยคราวนี้จะเป็นการพูดคุยถึงปูมลึกปูมหลังแห่งชาติพันธุ์ยอง

รวมทั้งวิธีคิด วิสัยทัศน์ โลกทัศน์ ชีวทัศน์ของคุณลุงในแง่มุมต่างๆ ที่ดิฉันยังไม่ได้เขียนถึง

รับรองว่าเนื้อหาจะไม่ซ้ำกับเมื่อ 4 ปีก่อนอย่างแน่นอน

 

จริงไหมที่คนเขาบอกว่าคุณลุง
มีเชื้อสายเจ้ายอง?

ประเด็นแรกที่ต้องผ่าตัดเจาะลึกกันก็คือเรื่องเชื้อสายเจ้ายองของคุณลุงอินสนธิ์ ว่าจริงเท็จอย่างไร สืบเชื้อกันมาจากสายตระกูลไหน ทำไมจึงมาปักหลักปักฐานบ้านป่าซางน้อย

โดยเฉพาะคำถามที่ว่า “เจ้าน้อยวงค์สาม” คือใคร ตกลงเป็นปู่ หรือตา หรือเป็นทวดฝั่งไหนของคุณลุง?

“แม่ของพ่อลุง เป็นลูกของเจ้าน้อยวงค์” อ่านซ้ำอีกครั้ง หากอ่านแบบย้อนศร ก็สามารถอธิบายได้อีกอย่างว่า เจ้าน้อยวงค์ คือพ่อของย่าคุณลุงใช่หรือไม่ ก็แปลว่า เจ้าน้อยวงค์ (หรือเจ้าน้อยวงค์สาม) คือทวดของคุณลุงนั่นเอง

ประวัติของเจ้าน้อยวงค์ค่อนข้างคลุมเครือ คนทั่วไปมักกล่าวกันว่าท่านเป็นเจ้ายอง แต่คุณลุงอินสนธิ์ไม่ทราบแน่ชัดนักว่าท่านจะมีเชื้อสายผสมของคนเมือง (ไทโยน) ที่คาบเกี่ยวกับสาย ณ ลำพูน ของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย (คือสายคนล้านนาพื้นเมืองเดิม ที่ไม่ใช่ชาวยองอพยพเมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมา) ด้วยหรือไม่ เหตุที่เจ้าน้อยวงค์จะเรียกเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ ว่า เจ้าพี่ ทุกคำ

ที่มาของคำว่า “วงค์สาม” อันมีเจ้าน้อยวงค์เป็นต้นสกุลนั้น เกิดจากการที่บรรพบุรุษชาวยองที่อพยพมาตั้งแต่สมัยพระญากาวิละขึ้นไปเกณฑ์ชาวยองในปี 2348 นั้น มีเครือญาติกันทั้งหมด 3 ตระกูล คือสายของเจ้าน้อยวงค์ อีกสายคือนามสกุล “กาญจนกามล”

ส่วนอีกสกุลหนึ่ง คุณลุงจำไม่ได้ ทั้งสามสกุลเดิมเคยตั้งรกรากแถบวัดหัวขัว ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน ต่อมาค่อยๆ เคลื่อนย้ายออกมาอยู่ที่อำเภอป่าซาง

 

เจ้านางบัวเขียวอาลัยหาพระเจ้าตาก

เรื่องที่น่าตื่นเต้นเรื่องหนึ่งที่คุณลุงบอกว่าค่อนข้างเป็นความลับ ไม่เคยเผยให้ใครทราบมาก่อน

ก็คือเรื่องของ “เจ้านางบัวเขียว” สาวงามในตระกูลเจ้ายองที่พระญากาวิละหมายตาไว้ว่าจะส่งตัวไปถวายให้กับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1

แต่เจ้าบัวเขียวไม่อยากไป เนื่องจากนางยังเสียใจที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสวรรคต

คือเจ้านางองค์นี้ไม่ประสงค์จะเป็นบาทบริจาริการับใช้ในรัชกาลที่ 1

นางจึงใช้คาถาอาคมเสกตัวเองให้ผิวกายเป็นสีเขียว ทำให้ใครๆ ก็เรียกเจ้านางองค์นี้ต่อมาว่า “เจ้านางบัวเขียว” ซึ่งเดิมไม่ได้ชื่อนี้

ในที่สุดไปไม่ถึงราชสำนักสยาม พระญากาวิละจำต้องสั่งให้ส่งตัวนางและเครือญาติกลับมาอยู่ป่าซางทั้งตระกูล

ซึ่งเจ้านางบัวเขียวก็เป็นญาติคนหนึ่ง (ประมาณลูกพี่ลูกน้อง) ของเจ้าน้อยวงค์

เกี่ยวกับเหตุผลที่ว่าทำไมพระญากาวิละจึงเลือกไปตีเมืองยองในรัฐฉาน “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ช่วงต้นรัตนโกสินทร์นั้น

คุณลุงเล่าว่า เหตุเพราะพระญากาวิละเคยประทับอยู่ที่เวียงป่าซางมาก่อนนานถึง 14 ปี เพื่อซ่องสุมผู้คนไปขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่

กิตติศัพท์ของครูบากางเป็ดก็ดี ครูบากึ๋งม้าก็ดี สองพระเกจิชื่อดังจากเมืองยอง ที่สอนวิชาให้พระญากาวิละเอาชนะม่าน (พม่า) ได้ ทำให้พระญากาวิละได้เรียนรู้จักนิสัยใจคอของคนยองเป็นทุนเดิมตั้งแต่นั้นมา

กล่าวคือ บริเวณเวียงป่าซางนั้นมีชาวยองอาศัยปะปนอยู่กับชาวไทโยนก่อนแล้วจำนวนมาก

เมื่อชาวยองได้เล่าให้พระญากาวิละฟังถึงความเป็นเมือง “อู่ข้าวอู่น้ำ” ทำให้พระญากาวิละมีความมุ่งมั่นที่จะไปตีเมืองยองเพื่อเอาประชากรมาไว้ในลำพูนให้จงได้

น่าคิดว่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหน้านี้ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยกล่าวถึงสภาพความเป็นจริงว่ามีชาวยองอาศัยในเวียงป่าซางอยู่ก่อนหน้านั้นนานแล้ว

แบบเรียนท้องถิ่นมักโฟกัสว่า ชาวยองคือผู้ที่อพยพมาอยู่ใหม่ในลำพูนและป่าซาง หลัง พ.ศ.2348 ช่วงที่พระญากาวิละไปเกณฑ์มา

 

จากเจ้าแม่จันทร์โสมถึงเจ้าแม่คำต่อม

เจ้าน้อยวงค์สาม สมรสกับ “เจ้าแม่จันทร์โสม” ผู้ได้รับฉายาว่าทอผ้าไหมได้งามวิจิตรเกินใครๆ สายตระกูลของเจ้าแม่จันทร์โสมก็เป็นเจ้ายองที่อพยพมาจากเมืองยอง

เป็นผู้สร้างวัดหัวขัวที่ตำบลเวียงยอง ก่อนย้ายมาอยู่ป่าซาง

คุณลุงบอกว่า แม่เจ้าจันทร์โสมค่อนข้างถือตัวว่าเป็น “เจ้า” มากกว่าฝ่ายชายคือเจ้าน้อยวงค์

คือหากใครเรียกท่านโดยไม่มีคำนำหน้าว่า “เจ้า” แล้วละก็ แม่เจ้าจันทร์โสมจะไม่หันหน้าไปมอง และเคืองมาก (คำว่า เจ้าแม่ แม่เจ้า เจ้านาง ใช้แทนกันได้สำหรับสตรีสูงศักดิ์สายไทขึน ไทยอง)

น่าเสียดายที่การทอผ้าไหมแถวป่าซางไม่เหลือให้เห็นอีกแล้ว

ขึ้นชื่อว่า “ผ้าทอป่าซาง” ทุกวันนี้มีแต่ผ้าฝ้าย 100% ทั้งๆ ที่บริเวณใต้ถุนคุ้มของเจ้าแม่จันทร์โสมในอดีตจะไม่มีการทอผ้าฝ้ายเลย มีแต่ผ้าไหม

เพราะคนสมัยก่อนจะแยกว่า “เจ้านุ่งซิ่นไหม ไพร่นุ่งซิ่นฝ้าย”

เจ้าน้อยวงค์สาม กับเจ้าแม่จันทร์โสม มีบุตรธิดาด้วยกันทั้งหมด 9 คน

ธิดาคนโตคือ “เจ้าแม่คำต่อม” ซึ่งท่านนี้ก็คือย่าของคุณลุงอินสนธิ์นั่นเอง

คุณลุงบอกว่าคนทั่วไปเรียกเจ้าแม่คำต่อมว่า “อี่นาย” เสมอ หมายถึง “เจ้าสตรีที่มีเชื้อสายยอง”

เจ้าแม่คำต่อมเป็นผู้หญิงที่ไม่ค่อยชอบทอผ้า แต่ชอบอะไรไปในทางบู๊โลดโผนสักหน่อย จึงชอบไปเวทีมวย ภาษาล้านนาเรียกมวยคาดเชือก (ไม่สวมนวม) ว่า “เตะลูกกูย” (บ้างออกเสียงสั้นเป็นกุย)

ทำให้พบกับ “พ่อหนานปุ๋ย พุทธวงค์” (คุณปู่ของคุณลุงอินสนธิ์) นักมวยเนื้อหอมใจหิ่น

คำว่า “ใจหิ่น” คุณลุงบอกว่า ชาวล้านนาใช้เรียกคนที่ใจบ้าบิ่น ล้อเล่นอะไรไม่ได้ รักศักดิ์รักศรียิ่งชีวิต จึงหนักไปทางหุนหันพลันแล่นสักหน่อย

 

ปริศนา “เหล่าเซอ” สันป่ากว๋าว

น่าแปลกทีเดียว ที่เชื้อสายของพ่อหนานปุ๋ยคนนี้ ผ่าเหล่าแผกชาติพันธุ์คนอื่นๆ ในป่าซาง

คือแทนที่จะเป็นชาวยอง แต่กลับเป็นชาว “เหล่าเซอ” (ซึ่งปัจจุบันยังเหลือชื่อบ้านนามเมืองในป่าซางอยู่แห่งหนึ่งที่เรียกว่าบ้านเหล่าเซอกองใน)

คุณปู่บอกคุณลุงว่า เหล่าเซอเป็นชนชาตินักรบ เข้มแข็ง เด็ดขาด เน้นการเสกคาถาอาคมอยู่ยงคงกระพัน น่าจะเป็นนักรบที่สืบเชื้อสายเก่าถึงยุคพระนางจามเทวีโน่น (ตรงนี้คุณลุงบอกว่าต้องใส่เครื่องหมายคำถามไว้ก่อน)

ซึ่งคุณลุงก็ไม่แน่ใจว่าชนเผ่านี้จะเกี่ยวข้องอะไรหรือไม่กับชนเผ่า “ลีซอ” ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Leuser” ซึ่งเป็นกลุ่มชนบนที่ราบสูง

แต่พ่อหนานปุ๋ย คุณปู่ของคุณลุงอินสนธิ์ยืนยันว่า เทือกเถาเหล่ากอชาวเหล่าเซอไม่ใช่ชาวเขาอพยพจากที่สูงสู่ที่ราบแต่อย่างใด

เคยตั้งถิ่นฐานบริเวณวัดสันป่ายางหลวง เขตเทศบาลเมืองลำพูน (คุณลุงเรียกวัดนี้ว่า สันป่ากว๋าว)

และถูกกำหนดให้สืบทอดอาชีพนักรบ นักมวย ในลักษณะ “เดนตาย” หรือ “ท้าพนันเอาบ้านเอาเมือง” มาหลายชั่วโคตร

หมายความว่า หากถูกส่งไปรบที่ใด หากไม่ชนะ กลับมาจะต้องถูกปาดคอตายทั้งตระกูลโดยไม่มีข้อแม้ ดังนั้น จึงแพ้ไม่ได้ ต้องชนะลูกเดียว คุณปู่เล่าให้คุณลุงอินสนธิ์ฟังว่า ตระกูลของท่านเคยรบชนะเจ้าเมืองลำปาง ได้ธิดาเจ้าลำปางมาเป็นชายาก็มี (ไม่ได้มีการระบุนามว่าคือเจ้านายลำปางองค์ไหน)

ยอมรับว่าข้อมูลแปลกๆ เหล่านี้ช่างจุดประกายให้ดิฉันอยากค้นคว้าหาหลักฐานข้อเท็จจริงเสียยิ่งนัก ว่าใครเป็นใคร ทำอะไรที่ไหน อย่างไร

หากมีโอกาสคงได้ตามรอยค้นหาคำตอบพร้อมต่อภาพจิ๊กซอว์แต่ละตัว จะได้มองเห็นเหตุการณ์บ้านเมืองประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลำพูนในลักษณะสแกนรายละเอียดของมนุษยชาติ (ที่ไม่ถูกบรรจุในตำราเรียนเล่มใด) ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในที่นี้ขอยึดเรื่องมุขปาฐะที่คุณลุงอินสนธิ์เล่าอย่างละเอียด ถ่ายทอดไปตามเนื้อผ้าของท่านก่อนนะคะ

ความที่คุณปู่ของคุณลุงอินสนธิ์ (พ่อหนานปุ๋ย พุทธวงค์) เป็นนักมวย นักรบ ทำให้คุณลุงอินสนธิ์เรียนรู้วิชา เตะลูกกูยเป็นตั้งแต่ยังเด็ก คุณลุงบอกว่าในวัย 16-17 คุณปู่ฝึกลุงชกมวยโหดมาก ต้องเอาฝ่ามือผ่าต้นไม้ให้แยกเป็นสองซีก และขั้นต่อมาต้องให้รากต้นไม้ลอยออกจากพื้นดินได้ จึงจะถือว่าเจ๋งจริง

ส่วนนามสกุล “พุทธวงค์” นั้น คุณลุงอินสนธิ์ไม่แน่ใจว่ามีความเป็นมาอย่างไร เกี่ยวข้องอะไรกับเจ้าหลวงพุทธวงค์ของเชียงใหม่หรือไม่

ในเมื่อฝ่ายหญิงศักดิ์สูงกว่าฝ่ายชาย ครั้นสมรสและมีบุตรธิดาร่วมกัน จึงไม่ให้ใช้นามสกุลฝ่ายชาย

ลูกๆ ของเจ้าแม่คำต่อม และพ่อหนานปุ๋ย พุทธวงค์ จึงใช้นามสกุล “วงค์สาม” ตามสายเจ้าของฝ่ายหญิง

ซึ่งลูกชายคนโตนั้นก็คือ เจ้าหนานหมื่น วงค์สาม ผู้เป็นบิดาของคุณลุงอินสนธิ์ วงค์สาม นั่นเอง

สัปดาห์หน้าจะมาดูกันว่า เจ้าหนานหมื่นจักถนัดไปทางหมัดมวยเหมือนบิดาหรือไม่

และใครคือผู้จุดประกายวิชาช่างศิลปะให้คุณลุงอินสนธิ์

รวมทั้งสายตระกูลฝ่ายแม่และตายายของคุณลุงอินสนธิ์นั้น ที่ว่าเป็นพ่อค้าวัวต่าง เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างมะละแหม่งในพม่ากับกาดบ้านแซม ป่าซางนั้น ตกลงสายตระกูลฝ่ายแม่นี้เป็นชาวไทยองหรือพม่าอย่างไรกันแน่?

โปรดติดตาม