ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 กันยายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | วิกฤติศตวรรษที่ 21 |
เผยแพร่ |
วิกฤติประชาธิปไตย (22)
ประชาธิปไตยในประเทศตลาดเกิดใหม่
ประเทศตลาดเกิดใหม่หมายถึงประเทศที่มีการพัฒนาสถาบันเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคมแบบทุนไปพอสมควร แต่ก็ยังไม่เทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้วทางเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตยังใช้เทคโนโลยีขั้นต่ำ-กลาง ขาดประสิทธิภาพ จำนวนไม่น้อยแม้ผลิตอาหารก็ยังไม่พอ ขาดระบบโลจิสติกส์ที่มั่นคง สถาบันการเงินการลงทุนไม่เข้มแข็ง ประชากรยากจนรายได้น้อยขาดกำลังซื้อ ขนาดเศรษฐกิจจึงเล็กตามไปด้วย
โดยรวมต้องพึ่งพาทุน เทคโนโลยี และตลาด มหาอำนาจเพื่อการพัฒนายังต้องการการปกป้องคุ้มครองเศรษฐกิจตนเองยาวนานพอสมควรในระยะการตั้งไข่
ในทางการเมือง ขาดพรรคการเมืองสมัยใหม่ที่มีฐานมวลชนกว้าง ประชาชนจำนวนไม่น้อยติดยึดกับตัวบุคคลมากกว่าหลักการและอุดมการณ์ทางการเมือง
รัฐสมัยใหม่มีภาระหน้าที่มากทั้งในการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม และมักจำต้องใช้การรวบอำนาจแบบใดแบบหนึ่งหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง กว่าที่จะสามารถพัฒนาเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตกได้
ตัวอย่างที่ทำได้สำเร็จ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ และเขตไต้หวัน ในทางสังคม ขาดสถาบันทางสังคมหรือภาคประชาสังคมที่มีพลัง ได้แก่ องค์การเพื่อสาธารณประโยชน์ กลุ่มเอ็นจีโอและเครือข่าย
ยิ่งกว่านั้นสถาบันสังคมเดิม เช่น ครอบครัว และชุมชนยังถูกทำให้อ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว หรือสถาบันทางศาสนาถูกแปรให้เป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น เป็นต้น
หนทางประชาธิปไตยของประเทศตลาดเกิดใหม่ (ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกเรียกหลายอย่างว่าประเทศด้อยพัฒนา ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศโลกที่สาม ประเทศซีกใต้) ไม่เคยง่าย ต้องผ่านอุปสรรคขั้นถึงเป็นถึงตายโดยตลอด
ขวากหนามเหล่านี้เกิดทั้งภายในประเทศจากคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ตนและพวกในหมู่ผู้ปกครองห่างเหินจากผลประโยชน์ของชาติและประชาชน การมีนโยบายและการนำที่ไม่ยั่งยืน คำนึงถึงผลได้เฉพาะหน้ามากเกินไป และอันตรายจากภายนอก
ที่สำคัญ เกิดจากการเข้าแทรกแซงปิดล้อมล้มล้างเปลี่ยนระบอบโดยสหรัฐและกลุ่มที่ดำเนินมาตลอดกว่า 70 ปีมานี้
ประเทศตลาดเกิดใหม่จำต้องสร้างหนทางประชาธิปไตยของตน บนสถานการณ์และประสบการณ์ที่เป็นจริงจากรากฐานทางความคิด ไปจนถึงวิสัยทัศน์ นโยบายและการปฏิบัติ ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ดีได้แก่เจตนารมณ์บันดุง
หนทางประชาธิปไตยกับเจตนารมณ์บันดุง
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนหน้าที่สหรัฐจะเข้าร่วมสงครามอย่างเป็นทางการไม่กี่เดือน ผู้นำของสหรัฐและอังกฤษขณะนั้นคือ แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ และวินสตัน เชอร์ชิล ได้หารือลับวางแผนการปกครองหรือจัดระเบียบโลกหลังสงคราม เรียกว่า “กฎบัตรแอตแลนติก” (ประกาศ 14.08.1941)
มีสาระสำคัญที่เอื้อต่อสหรัฐและอังกฤษ ในขณะนั้นได้แก่ การเลือกตั้งเสรี การค้าเสรี เสรีภาพของปัจเจกบุคคล เสรีภาพเหนือน่านน้ำมหาสมุทร การจัดตั้งกองกำลังสันติภาพและการปลดอาวุธยึดครองศัตรู
หลังจากสหรัฐเข้าร่วมสงครามอย่างเป็นทางการ ได้ขยายวงให้กฎบัตรแอตแลนติกเป็นกฎบัตรนานาชาติ มีประเทศอื่นเข้าร่วมลงนามด้วยคือสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐจีน (ภายใต้การนำของเจียงไคเช็ก) และตามด้วยประเทศอื่นอีกกว่า 20 ประเทศ กฎบัตรแอตแลนติกนี้ถือเป็นรากฐานของอุดมการณ์ตะวันตกในการต่อสู้กับลัทธินาซีของเยอรมนี ต่อมาได้เป็นพื้นฐานในการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติและร่างกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งสำเร็จในเดือนตุลาคม 1945
ในประเด็นเสรีภาพ สหรัฐและพันธมิตรแอตแลนติกได้ดำเนินงานต่อ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐและพันธมิตรแอตแลนติกได้ชูเสรีภาพใหญ่สี่ประการ ได้แก่ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพจากความกลัว และเสรีภาพจากความต้องการ เป็นอุดมการณ์ในการทำสงคราม
และอาศัยการกระทำที่ผิดร้ายแรงของพวกนาซี มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว เป็นต้น ขับเคลื่อนประเด็นเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนขึ้น จนกระทั่งมีการร่างและประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเดือนธันวาคม 1948
ปฏิญญาสากลฯ นี้ไม่ใช่สนธิสัญญา ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย แต่ได้กลายเป็นเหมือนประทับตราค่านิยมตะวันตกที่เน้นเสรีภาพของปัจเจกชนว่าเป็นมาตรฐานที่ถูกต้องสำหรับการปกครองหรือการเป็นประชาธิปไตย ถ้าเป็นแบบอื่นก็ไม่ใช่และไม่ถูกต้อง จะเห็นได้ว่ามีบางประเทศที่เป็นสังคมนิยมที่ได้ให้ความสำคัญแก่กรรมสิทธิ์รวมหมู่ และกรรมสิทธิ์ของสังคมมากกว่ากรรมสิทธิ์เอกชน
อย่างเช่น สหภาพโซเวียต ไม่ได้รับรองปฏิญญาสากลฯ นี้
ซาอุดีอาระเบียที่เคร่งอิสลาม มีการจัดความสัมพันธ์ทางเพศภาวะที่แน่นอน และไม่ยอมรับพฤติกรรมที่ถือว่าเบี่ยงเบนทางเพศ เป็นต้น ก็ไม่รับรองปฏิญญานี้เช่นกัน
การที่ปฏิญญาสากลฯ ไม่มีการบังคับใช้ กลายเป็นจุดอ่อนให้มีการละเมิดในเรื่องนี้อยู่เสมอ
สหรัฐเองก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานที่วางและปฏิเสธการยกคำประกาศสิทธิมนุษยชนให้เป็นเหมือนกฎหมาย ที่ผูกพันให้ต้องปฏิบัติ ในขณะที่ตนเองใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตี แทรกแซง กระทั่งเข้าล้มล้างเปลี่ยนระบอบปกครองของประเทศอื่นด้วยข้ออ้างทางสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม การพิทักษ์ประชาธิปไตย
เป็นที่สังเกตว่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสหรัฐได้เริ่มรุนแรงขึ้นในศตวรรษที่ 21
และเห็นชัดในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งมีท่าทีเข้าข้างลัทธิความยิ่งใหญ่ชนผิวขาวและต่อต้านผู้อพยพชัดเจน สร้างบรรยากาศลัทธินาซีใหม่ที่ผู้นำสหรัฐคนก่อนๆ ลงแรงต่อต้าน กลุ่มลัทธินาซีใหม่ที่ถือลัทธิเชื้อชาติและชาตินิยมรุนแรงได้เคลื่อนไหวอย่างคึกคักอีก เช่น แดเนียล เบิร์นไซด์ ผู้นำขบวนการชาติสังคม (นาซีใหม่) ชักธงชาตินาซีขึ้น และชนะคดีความโดยอ้างสิทธิการแสดงออก
ขณะที่ในเยอรมนีมีกฎหมายห้ามการแสดงสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซี
(ดูบทรายงานชื่อ Neo-Nazis thriving in Trump”s America amid lack of hate speech laws ใน mainichi.jp 24.06.2018)
นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2018 รัฐบาลสหรัฐประกาศถอนตัวจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยเห็นว่าลำเอียงในการตำหนิอิสราเอลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวปาเลสไตน์
การที่คำประกาศปฏิญญา แถลงการณ์ และอุดมการณ์ต่างๆ มักไม่ได้มีการปฏิบัติอย่างเต็มที่และตรงไปตรงมา เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในฐานะเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางเศรษฐกิจ-การเมือง-ค่านิยมวัฒนธรรมเป็นสำคัญ ไม่ใช่ตั้งใจจะปฏิบัติเช่นนั้น นี้เป็นสิ่งธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา จะโทษใครเต็มที่ก็ไม่ได้
ย้อนกลับมาที่ประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ที่เพิ่งพ้นจากการเป็นอาณานิคมและกึ่งอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก ได้มีบทเรียนที่เจ็บปวดว่า ความเป็นอิสระ มีอำนาจอธิปไตย สิทธิในการปกครองตนเอง สามารถกำหนดนโยบายต่างๆ โดยไม่ถูกกำหนดโดยมหาอำนาจเจ้าอาณานิคม เป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เพราะหากปราศจากสิ่งนี้แล้ว การสร้างชาติและการพัฒนาใดๆ ล้วนไม่อาจเป็นไปได้ และก็ไม่มีชาติใดที่จะได้ประชาธิปไตยภายใต้การปกครองของประเทศอื่น
จากบทเรียนและประสบการณ์นี้ ประเทศดังกล่าวได้ร่วมกันสร้าง “เจตนารมณ์บันดุง” ขึ้น เป็นเหมือนการสร้างอุดมการณ์ที่เทียบกับกฎบัตรแอตแลนติกและปฏิญญาสากลฯ เป็นเหมือนกฎบัตรของประเทศซีกใต้
เจตนารมณ์บันดุง เกิดจากการประชุมสุดยอดของผู้นำในประเทศเอเชียและแอฟริกาในปี 1955 ประเทศเจ้าภาพสำคัญได้แก่อินโดนีเซียและอินเดีย นอกจากนั้นได้แก่ พม่า ศรีลังกา และปากีสถาน ประเทศสำคัญจากแอฟริกา ได้แก่ เอธิโอเปีย อียิปต์ และซูดาน จีนเพิ่งเข้ามาร่วมกลุ่ม แต่มีบทบาทสำคัญในการประชุม
ผลการประชุมได้สร้างเจตนารมณ์บันดุงขึ้น มีสาระสำคัญ 10 ข้อด้วยกัน ข้อแรก ยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแต่ต้องเป็นไปตามความมุ่งหมายและหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อต่อมาที่เหลือเป็นจุดยืน ท่าทีและเป้าประสงค์ของประเทศเอเชีย-แอฟริกา
จุดยืนและท่าทีหลักได้แก่เคารพบูรณภาพของอธิปไตยและดินแดนของทุกชาติ ยอมรับความเสมอภาคของทุกเชื้อชาติและประชาชาติไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ไม่เข้าแทรกแซงในกิจการภายในของชาติอื่น
เป้าประสงค์สำคัญได้แก่ การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ-วัฒนธรรมระหว่างเอเชีย-แอฟริกา เป็นการประกาศว่าทั้งสองทวีปนี้เป็นของตัวเอง ไม่ใช่อาณานิยมของมหาอำนาจใด เป้าประสงค์ต่อมาคือการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมและจักรวรรดินิยมใหม่ไม่ว่าโดยชาติใด (ในขณะนั้นหมายถึงทั้งสหรัฐและสหภาพโซเวียต)
เจตนารมณ์บันดุงนี้ได้ขยายวงไป ก่อให้เกิดการตั้งขบวนการประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ปี 1961 จนถึงศตวรรษที่ 21 เจตนารมณ์บันดุงก็ยังมั่นคงและมีผู้สืบทอด ในวาระครบรอบ 60 ปี (เดือนเมษายน 2015) มีการจัดประชุมผู้นำและผู้แทนจากในเอเชียและแอฟริกากว่า 110 ประเทศเพื่อระลึกเจตนารมณ์นี้ ผู้นำของไทยได้เข้าร่วมการประชุมด้วย
ที่ประชุมได้ออกเอกสารหลักชื่อ “การสร้างความร่วมมือใต้-ใต้ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความไพบูลย์โลก” มีความสำคัญว่า ในโลกที่ซับซ้อนและท้าทาย ยิ่งจำต้องเน้นหลักการความไพบูลย์ ความเป็นปึกแผ่นและเสถียรภาพ ย้ำว่าเจตนารมณ์บันดุงที่ประกาศเมื่อ 60 ปีก่อนยังคงแข็งแกร่งและใช้ได้ และจะต้องสืบทอดเจตนารมณ์นั้นต่อไป โดยกระชับความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศซีกใต้-ใต้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างสรรค์และมีนวัตกรรม แต่ความร่วมมือนี้ ไม่ใช่ต้องการมาแทนที่ความสัมพันธ์เหนือ-ใต้ หากต้องการมาสร้างเสริมให้สมบูรณ์ขึ้น
หนทางความร่วมมือใต้-ใต้ควรต้องคำนึงถึงมิติด้านต่างๆ
ข้อแรก ได้แก่ การสร้างความเป็นปึกแผ่นทางการเมือง นั่นคือสร้างความสอดประสานทางวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อและอารยธรรมต่างๆ ต่อต้านลัทธิรุนแรงสุดขั้ว ลัทธิเชื้อชาติ ลัทธิแบ่งแยกผิว การหวาดกลัวคนต่างชาติ และความไม่อดทนอื่นๆ การยึดหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ การยึดหลักการปกครองตนเอง ซึ่งในนี้รวมถึงการสนับสนุนความเป็นอิสระของรัฐปาเลสไตน์ การสร้างสันติภาพที่ยาวนานและครอบคลุมในตะวันออกกลาง การสร้างสันติภาพและความมั่นคงโลกโดยผ่านองค์การสหประชาชาติเป็นแกน (ขณะที่สหรัฐออกอาการปฏิเสธองค์การที่ตั้งขึ้นมาเองนี้)
มิติต่อมาได้แก่ เศรษฐกิจและการพัฒนา ภูมิภาคเอเชีย-แอฟริกา มีสัดส่วนประชากรร้อยละ 75 ขนาดเศรษฐกิจร้อยละ 30 ของโลก กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้น โดยเชื่อว่าการค้าและการลงทุนเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ
ดังนั้น จะต้องสร้างระบบการค้าพหุภาคีที่มีฐานบนกฎระเบียบ (ไม่ใช่การแซงก์ชั่นหรือตั้งกำแพงภาษีตามใจชอบ) เปิดกว้าง เน้นการพัฒนา ไม่กีดกันและครอบคลุมทุกฝ่ายขึ้น กระชับความร่วมมือในภูมิภาค คำนึงถึงความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ การเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและสามารถซื้อได้ ความสำคัญของการเดินเรือที่จะเชื่อมเอเชียและแอฟริกาเข้าด้วยกัน การมีโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่พอเพียงและเชื่อถือได้ เป็นต้น
ในมิติความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม คำนึงถึงการต่อสู้โรคระบาด ส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตย โดยเห็นว่าประชาธิปไตยมีหลายรูปแบบ เช่น แบบในสิงคโปร์ เป็นต้น (ไม่ใช่มีแต่ของแบบตะวันตก) ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและประชาชนในภูมิภาคทั้งสองนี้ (ดูเอกสารชื่อ Bandung Message 2015 – Strengthening South-South Cooperation to Promote World Peace and Prosperity ใน bandungspirit.org เมษายน 2015)
จากคำประกาศดังกล่าวเห็นความมั่นใจมากขึ้นของประเทศในเอเชีย-แอฟริกาในการแสดงบทบาทร่วมกับตะวันตก สร้างระเบียบโลกที่มีสันติภาพและความไพบูลย์ เป็นโลกาภิวัตน์ที่เป็นแบบพหุภาคีมีหลายขั้วอำนาจ ไม่ใช่มีเพียงขั้วอำนาจเดียวอยู่ที่สหรัฐอย่างที่เป็นอยู่
ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงบางตัวอย่างประชาธิปไตยของประเทศกำลังพัฒนา ประเทศตลาดเกิดใหม่กับภูมิรัฐศาสตร์ และบทบาทที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มประเทศเหล่านี้