การศึกษา / ‘หมอธี’ ผ่าทางตัน ศึก ‘ผอ.สพท.-ศธจ.’!!

การศึกษา

‘หมอธี’ ผ่าทางตัน

ศึก ‘ผอ.สพท.-ศธจ.’!!

 

ชื่นชมความเด็ดขาดของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่กล้าตัดสินใจว่าเวลาไหนควรอ่อน เวลาไหนควรแข็งเพื่อจัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) กับศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่ยืดเยื้อบานปลายมาเกือบ 2 ปี

ความขัดแย้งเริ่มขึ้นในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงวันที่ 3 เมษายน 2560

ชนวนคุกรุ่นคือข้อ 13 ที่กำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เดิมอำนาจตามมาตรา 53(3) เป็นของ ผอ.สพท. และอำนาจตามมาตรา 53(4) เป็นของผู้อำนวยการโรงเรียน เปลี่ยนมาเป็นโอนให้เป็นของ ศธจ. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)

นับแต่นั้นก็เกิดความขัดแย้งและการงัดข้อขึ้นระหว่าง ผอ.สพท.และ ศธจ.มาโดยตลอด

 

ร้อนถึง นพ.ธีระเกียรติต้องหย่าศึกด้วยการเรียกตัวแทน 2 ฝ่ายมาหารือร่วมกันก่อนได้ข้อสรุปว่าจะแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 ในข้อที่ 13 คืนการใช้อำนาจตามมาตรา 53(3) และ (4) จาก ศธจ. กลับคืนให้แก่ ผอ.สพท. และผู้อำนวยการโรงเรียน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานบุคคล

นอกจากนี้จะให้ ศธจ. เป็นผู้แทน ศธ.ทำหน้าที่ประสานงานบูรณาการการศึกษาในระดับจังหวัดโดยจะตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษาและคณะกรรมการการบริหารงานบุคคล ทั้ง 2 ชุดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ศธจ.เป็นเลขานุการ สำหรับคณะกรรมการการบริหารงานบุคคล จะมี ผอ.สพท.ในจังหวัดทุกคนร่วมเป็นกรรมการ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีสัดส่วนเท่ากับ ผอ.สพท. และผู้แทนจากส่วนต่างๆ

โดยเสนอร่างแก้ไขให้ พล.อ.ประยุทธ์พิจารณาไปเมื่อราวต้นเดือนมกราคม 2561 ทว่ากฤษฎีกาเชิญฝ่ายกฎหมายของ ศธ. ไปชี้แจงหลายรอบ และ ศธ.ดึงกลับมาแก้ไข 2 รอบ แต่ก็ยังไม่ได้รับความเห็นชอบ

ที่สุดฝ่าย ผอ.สพท.จึงเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 เพื่อขอรับทราบความคืบหน้าในการพิจารณายกเลิกความในข้อ 13 แห่งคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560

ครั้งนั้นนายวิษณุยอมรับทำนองว่าการแก้ไขคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 เป็นไปได้ค่อนข้างยาก และแนะนำให้ ศธ.ใช้วิธีการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านทางคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) แทน

 

นํามาสู่ฝ่าย ผอ.สพท.เคลื่อนไหวล็อบบี้ผู้บริหาร ศธ. จน ศธ.ยอมรับลูก แก้ไขมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระบุอำนาจในการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53 ให้เป็นของ ผอ.สพท.และผู้อำนวยการโรงเรียน ตามเดิม และจะเสนอ กอปศ. เพื่อพิจารณานำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหวังสงบศึกความขัดแย้งระหว่าง ผอ.สพท.และ ศธจ. และงานปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่จะได้เดินหน้าต่อไปได้ โดยก่อนนี้มีข่าวว่าจะเสนอ ครม.ภายในเดือนกันยายนนี้

แต่ฝ่าย ผอ.สพท. ไม่เชื่อมั่นว่า ศธ.จะจริงใจ ฉะนั้น ระหว่างที่ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ยังไม่มีผลบังคับใช้ ฝ่ายแกนนำ ผอ.สพท. เลยหารือร่วมกับเครือข่าย และออกมาตรการว่าให้ขึ้นป้ายสนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ แทนก่อนหน้านี้มีมติให้ ผอ.สพท.และรอง ผอ.สพท.ลาออกจากกรรมการ กศจ. และคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.)

นอกจากนี้ แกนนำ ผอ.สพท.ยังมีการคุยกันนอกรอบระหว่างแกนนำ ผอ.สพท.ว่าตราบใดที่ยังไม่คืนอำนาจตามมาตรา 53 แก่ ผอ.สพท.และผู้อำนวยการโรงเรียน ทาง ผอ.สพท.จะไม่มีการลงนามในหนังสือต้นเรื่องที่จะต้องส่งให้ ศธจ. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการครู เลื่อนวิทยฐานะครูและเลื่อนเงินเดือนครู แต่จะมอบหมายให้รอง ผอ.สพท.ลงนามแทน

 

ล่าสุดนำร่องไปแล้วโดย ผอ.สพท.แห่งหนึ่ง ถือเป็นการเดินเกมที่ผิดพลาดเพราะรอบนี้ทำให้ นพ.ธีระเกียรติฉุนขาดมองว่า ผอ.สพท.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ด้วยมองว่าสังคมอยู่ระหว่างการต้องการความปรองดองสามัคคีเพื่อให้งานปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าไปได้ แต่ฝ่ายปฏิบัติกลับก่อหวอด ไม่ยอมให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา

นพ.ธีระเกียรติสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา เรียกมาเคลียร์ นำมาสู่ สพฐ.เรียก ผอ.สพท.เข้าชี้แจง พร้อมกับที่นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ส่งข้อความผ่านไลน์ถึง ผอ.สพท.ทั่วประเทศ กำราบให้หยุดการเคลื่อนไหวในลักษณะที่ก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่าง ผอ.สพท.กับ ศธจ.

ขณะที่ฟาก ผอ.สพท. แก้เกี้ยวกับ สพฐ.ว่ายังคงให้ความร่วมมือ ศธจ.โดยดี ที่มอบหมายให้รอง ผอ.สพท.ลงนามแทน ก็เพราะติดราชการลงพื้นที่โรงเรียนบ่อย

 

ต้องรอดูว่าคำชี้แจงของ ผอ.สพท. จะทำให้เจ้ากระทรวงรู้สึกดีขึ้นหรือไม่ เพราะงานนี้ นพ.ธีระเกียรติฉุนจัดถึงกับลั่นวาจาว่า

“ผมคงไม่เคลียร์ ว่ากันไปตามกฎหมาย การที่ สพท.มาบอกจะไม่ยอมเซ็นหนังสือทำได้หรือไม่ ผิดหรือไม่ ผมได้สั่งผู้บริหาร สพฐ. ตั้งแต่นายบุญรักษ์ไปแล้วว่าต้องจัดการให้ได้ โดยให้ไปดูว่าถ้าพูดแบบนี้แล้วในฐานะผู้บังคับบัญชาสามารถทำอะไรได้บ้าง ไปดูข้อกฎหมาย ไม่ใช่ปล่อยให้ออกมาประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ผมเป็นรัฐมนตรี ถ้าผมบอกว่าจะไม่เซ็นหนังสือได้หรือไม่ เหตุผลเพราะผมไม่พอใจใครสักคน ประเทศจะอยู่อย่างไร เรื่องพวกนี้ ครูก็เบื่อ เพราะครูเขาอยากสอนเด็ก แต่ผู้บริหารพูดถึงแต่เรื่องอำนาจ ใครคุมใคร ใครให้เงินเดือนใคร ใครสั่งใคร แล้วจะปฏิรูปการศึกษาได้หรือไม่ การปฏิรูปการศึกษาต้องไปถึงเด็ก ผมขอพูดแรงๆ เพราะเขาก็พูดแรงมา ประเทศกำลังจะเดินไปข้างหน้า ถ้าให้ตั้งข้อสังเกตที่ออกมาพูดครั้งนี้ หรือเป็นเพราะกำลังจะเลือกตั้ง เรื่องนี้เป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เรื่องที่จะออกมาประท้วงเชิงสัญลักษณ์”

การกำราบ ผอ.สพท.รอบนี้ ต้องรอดูว่าจะสามารถยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่าง ผอ.สพท.และ ศธจ.ได้เด็ดขาดหรือไม่

เพราะตอนนี้สังคมเองก็เบื่อกับความขัดแย้งในเรื่องแย่งชิงอำนาจ

แต่ต้องการเห็นทุกฝ่ายแย่งกันพัฒนาคุณภาพการศึกษามากกว่า!!