บทวิเคราะห์ : บทเรียนที่ควรรู้จากงานเปิดไอโฟนรุ่นใหม่ของแอปเปิ้ล

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

งานเปิดตัวโทรศัพท์ไอโฟนรุ่นใหม่นับเป็นงานใหญ่ประจำปีที่คนใช้ไอโฟนตั้งหน้าตั้งตาคอย

และทุกครั้งทันทีที่แอปเปิ้ลเปิดตัวไอโฟนใหม่ในคีย์โน้ตเสร็จสิ้น ปรากฏการณ์ที่คาดเดาได้เพราะเกิดขึ้นซ้ำๆ กันทุกปี ก็จะมีดังต่อไปนี้

1. ผู้ใช้ไอโฟนเดิมจะตั้งข้อสงสัยขึ้นมาทันทีว่า ทำไมพอไอโฟนรุ่นใหม่ออก ไอโฟนรุ่นเก่าในมือถึงได้งอแงขึ้นมา ของบางคนก็เครื่องดับ บางคนก็จอแตก บางคนก็แบตเตอรี่เสื่อมกะทันหัน ทั้งๆ ที่เมื่อวานก็ยังใช้ได้ดีเด่

2. มุขต้องขายอะไรถึงจะซื้อไอโฟนได้ โดยที่ขายไตหนึ่งข้างเป็นมุขยอดฮิตที่ทุกเพจบนเฟซบุ๊กไม่ลืมที่จะแซะ ควบคู่กับมีผู้หญิงกับผู้ชายที่เดินมาด้วยกัน และผู้ชายเหลียวหลังมองผู้หญิงเซ็กซี่ที่เพิ่งจะเดินผ่านไป โดยมีตัวอักษรแปะไว้ว่า ผู้ชายคือตัวฉัน ผู้หญิงข้างๆ คือไอโฟนรุ่นเก่า และผู้หญิงเจ้าเสน่ห์ที่เดินผ่านไปคือไอโฟนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว

3. การกระแทกกระทั้นจากผู้ใช้แอนดรอยด์ แหม…เปิดตัวใหม่ แต่สเป๊กเนี่ยเทียบชั้นโทรศัพท์แอนดรอยด์รุ่น 4 ปีที่แล้วไม่ได้ ดีไซน์ก็ไม่เปลี่ยน สองซิมชาวบ้านเขาก็ทำกันมานานแล้ว ยังจะมาโม้อะไรอีก ฯลฯ

นี่แหละค่ะ ความสนุกของงานเปิดตัวไอโฟนใหม่พร้อมปฏิกิริยาที่คาดเดาได้

 

สําหรับซู่ชิง งานเปิดตัวไอโฟนใหม่ปีนี้มีความพิเศษตรงที่ปีนี้เป็นปีแรกที่ซู่ชิงมีโอกาสได้ไปร่วมงานเปิดตัวด้วยตัวเอง

คือบินไปร่วมงานที่แอปเปิ้ลพาร์กในคูเปอร์ติโน สหรัฐอเมริกา โดยที่ปกติในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะได้แต่นั่งเฝ้าหน้าจอดูถ่ายทอดสดหรือดูคลิปคีย์โน้ตย้อนหลังเท่านั้น

ดังนั้น สิ่งที่อยากจะนำมาเล่าให้ฟังวันนี้ก็จะแบ่งเป็นสองส่วนด้วยกัน

คือเล่าถึงผลิตภัณฑ์ที่แอปเปิ้ลเปิดตัว และความรู้สึกของซู่ชิงจากการได้เข้าไปนั่งฟังคีย์โน้ตสดๆ ด้วยตัวเองค่ะ

มาถึงวันนี้เชื่อว่าคุณผู้อ่านก็คงจะพอทราบกันแล้วว่างานในครั้งนี้แอปเปิ้ลเปิดตัวไอโฟนใหม่ 3 รุ่น ภายใต้ชื่อ iPhone XS, iPhone XS Max และ iPhone XR ซึ่งหน้าตาก็ไม่ได้หนีไปจากรุ่นก่อนสักเท่าไหร่

แต่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น หน่วยประมวลผลที่ทรงพลังขึ้น กล้องเก่งขึ้น และสีสันสดใสให้เลือกสำหรับรุ่น iPhone XR

นอกจากนี้ก็มีนาฬิกา Apple Watch Series 4 ที่ปรับโฉมนาฬิกาใหม่ให้มีหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น

พร้อมด้วยความสามารถทางด้านสุขภาพต่างๆ ที่เก่งกว่าเดิม

อย่างฟีเจอร์การตรวจจับอาการลื่น สะดุด ล้ม เพื่อที่จะให้ผู้สวมใส่ขอความช่วยเหลือได้ทันที เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ใช้งานที่สูงวัยหน่อย ที่การล้มแต่ละครั้งอาจจะหมายถึงอาการบาดเจ็บหนักได้

และฟีเจอร์การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ที่เราเรียกกันย่อๆ ว่า ECG หรือ EKG

 

แน่ว่าการเปิดตัวครั้งนี้ก็ไม่พ้นคำครหาว่าแอปเปิ้ลไม่มีอะไรใหม่

ดีไซน์ทุกอย่างก็เหมือนเดิม เพิ่มเติมแค่ขนาดหรืออะไรแบบนั้น

แต่สิ่งที่ซู่ชิงอยากจะบอกก็คือ ในความรู้สึกของคนใช้ไอโฟนแล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยรองในการที่จะตัดสินใจว่าพวกเขาจะซื้อไอโฟนรุ่นใหม่หรือเปล่า

คนใช้ไอโฟนซื้อไอโฟนเพราะ “ประสบการณ์” ในการใช้

มันคือมูลค่าที่ไปไกลกว่าเรื่องของสเป๊กหรือราคาไปแล้ว

นี่เป็นเหตุผลที่ทุกปีที่แอปเปิ้ลเปิดตัวใหม่ ไม่เคยมีปีไหนเลยที่จะไม่ถูกกระแหนะกระแหนแต่ก็สามารถจบท้ายด้วยการทำยอดขายถล่มทลายทั้งที่ราคาเครื่องก็แพงขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องนี้แอปเปิ้ลรู้ดี ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิลพูดว่า

“แอปเปิลคิดมาโดยตลอดว่า ถ้าหากบริษัทสามารถสร้างนวัตกรรมและสร้างมูลค่าได้ก็จะมีกลุ่มคนที่พร้อมจะยอมจ่ายเงินเพื่อให้ได้มันมา ซึ่งสำหรับแอปเปิ้ลแล้วคนกลุ่มนี้มีขนาดใหญ่พอที่แอปเปิ้ลจะทำธุรกิจดีๆ ได้เลย”

อีกเรื่องที่อยากจะพูดถึงก็คือมาตรฐานที่ไม่เคยตกของงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ล

หรือที่เราเรียกกันคุ้นปากว่าคีย์โน้ต ซึ่งเป็นงานคีย์โน้ตที่ทำได้เนี้ยบที่สุด น่าดูที่สุด และได้กลายเป็นต้นแบบงานคีย์โน้ตของแบรนด์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในวงการหรือนอกวงการเทคโนโลยีไปโดยปริยาย

ใครที่ติดตามดูงานคีย์โน้ตของวงการเทคโนโลยีบ่อยๆ จะเห็นว่าทุกงานได้ถูกปรับให้มีท่วงทำนองที่คล้ายคลึงกับงานของแอปเปิ้ล

แต่ไม่ว่าจะปรับมู้ดแอนด์โทนอย่างไรก็ไม่สามารถลอกแก่นของแอปเปิ้ลไปได้

จุดเด่นของคีย์โน้ตของแอปเปิลคือความเนี้ยบชนิดแทบจะไม่มีที่ติ จังหวะที่เดินไปข้างหน้าอย่างฉับไว

และรูปแบบการเรียบเรียงเนื้อหาที่ไหลลื่นตามขั้นตอน

ซึ่งแอปเปิ้ลได้ใช้ต่อเนื่องกันมานานหลายปีแล้ว

 

ผู้บริหารแอปเปิ้ลที่จะขึ้นเวทีแต่ละคนต้องซักซ้อมกันมาอย่างหนักหน่วง

สิ่งแรกที่จะเห็นได้ชัดคือภายในงานจะไม่มีพร็อมเตอร์หรือหน้าจอที่จะขึ้นบทให้ผู้บริหารได้อ่านเลย

แอปเปิ้ลมีความมั่นใจในเรื่องนี้อย่างเต็มเปี่ยมและต้องการแสดงออกให้เห็นว่าผู้บริหารทุกคนพูดออกจากใจไม่ใช้สคริปต์ด้วยการเหวี่ยงกล้องมุมกว้างจากทางฝั่งเวทีสวนขึ้นไปที่ผู้ชมเพื่อให้เห็นกันชัดๆ

หากย้อนกลับไปถึงในยุคของสตีฟ จ๊อบส์ นั้นก็มีข้อมูลว่าตัวเขาเองซ้อมการขึ้นพูดคีย์หนักหน่วงมาก คือจะซ้อมคีย์โน้ตทั้งงานที่ยาว 90 นาที ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลาห้าวันติดต่อกัน

ถึงขนาดที่ว่าเขาจำทุกสไลด์ได้เป๊ะๆ ตั้งแต่เริ่มจนจบ

ซึ่งผู้บริหารคนอื่นๆ ก็ทำตามมาตรฐานเดียวกัน

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ทุกคนขึ้นเวทีอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะพวกเขาผ่านการซ้อมแบบเดียวกันนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนนั่นเอง

เคล็ดลับอีกอย่างที่เว็บไซต์ inc.com ตั้งข้อสังเกตคือ ในงานคีย์โน้ต ไม่มีผู้บริหารแอปเปิ้ลคนไหนที่ขึ้นเวทีนานเกิน 10 นาทีเลย

สาเหตุว่าทำไมจะต้องขึ้นไม่นานเกิน 10 นาทีนั้นอาจจะอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางประสาทวิทยาศาสตร์ที่บอกว่ามนุษย์เราจะมีนาฬิกาจับเวลาติดตั้งมาในสมองด้วย ซึ่งนาฬิกานั้นจะหยุดจับเวลาที่ประมาณ 10 นาที

แปลว่าเราจะให้ความสนใจกับอะไรบางอย่างได้เพียงแค่ 10 นาทีเท่านั้นก่อนที่สมองจะเริ่มสอดส่ายไปคิดเรื่องอื่น

ดังนั้น ใครก็ตามที่ต้องการจะนำเสนองานของตัวเองให้น่าสนใจก็ควรจะหาอะไรบางอย่างมาคั่นทุกๆ 10 นาที

ถ้าหากไม่ใช่การเปลี่ยนตัวผู้พูดแล้วก็อาจจะเป็นการเปิดวิดีโอ หรือสาธิตอะไรบางอย่างเพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศก็ได้

 

หากถอดประกอบร่างของคีย์โน้ตแอปเปิ้ลครั้งล่าสุดออกมาก็จะเห็นได้ชัดว่าทุกอย่างเป็นไปตามนั้นเป๊ะๆ

แค่ภายใน 60 นาทีแรก ผู้ชมก็ได้ยินเสียงและเห็นหน้าคนไปแล้วถึง 10 คน ไม่ว่าจะมายืนบนเวทีเอง หรือโผล่มาให้เห็นในวิดีโอ ทุกคนใช้เวลากันไม่เกินคนละ 10 นาที

ซึ่งพูดกันตามตรงนะคะว่าไม่ใช่ว่าในคีย์โน้ตแอปเปิ้ลจะไม่มีช่วงน่าเบื่อเลย แต่ช่วงที่กราฟความสนใจตกนั้นมันอยู่ไม่นาน และจะถูกดึงกลับขึ้นมาด้วยการปรากฏตัวของผู้พูดคนต่อไป ซึ่งก็เป็นการเริ่มต้นรีเซ็ตนาฬิกาจับเวลาในสมองของผู้ฟังใหม่นั่นเอง

ทั้งการมีผลิตภัณฑ์ที่คนเชื่อมั่นในคุณภาพอยู่แล้ว ประกอบกับการวางแผนการนำเสนออย่างละเอียดทุกขั้นตอน ก็เลยทำให้มนต์เสน่ห์ของคีย์โน้ตแอปเปิ้ลไม่เคยจางหายไปไหน และเป็นหนึ่งในงานที่คนตั้งตาคอยชมมากที่สุดงานหนึ่งของปี จะเสียดายอยู่หน่อยหนึ่งก็ตรงที่ปีนี้ไม่มีการทิ้งท้ายด้วยวลี One more thing… ที่แอปเปิ้ลมักจะเก็บไว้ท้ายงานเพื่อเปิดตัวสิ่งที่เก็บเป็นความลับเพื่อเซอร์ไพรส์ผู้ชมก่อนงานจะเลิก

“สร้างมูลค่าอยู่เสมอ และซ้อมให้หนักจนไม่เหลือช่องว่างสำหรับความผิดพลาด” นี่อาจจะเป็นบทเรียนที่เราได้จากงานคีย์โน้ตของแอปเปิ้ลในทุกปีค่ะ