บทวิเคราะห์/โซเชียลมีเดีย ห้ามเข้า

ในประเทศ

 

โซเชียลมีเดีย

ห้ามเข้า

 

คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2561

ซึ่งกล่าวอ้างว่าเป็น “คลาย” ล็อกทางการเมือง

ตอนหนึ่งระบุว่า

“เปิดทางให้พรรคการเมืองใช้เทคโนโลยีหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประชาสัมพันธ์/ติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคและสมาชิกพรรคของตนได้ แต่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ คสช. อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวก็ได้”

ซึ่งเมื่อพิจารณาเนื้อหาแล้ว เกิดคำถามขึ้นมาอย่างอื้ออึงจากพรรคการเมือง

ว่านี่คือ คลายล็อก หรือเป็นการเพิ่มล็อกกันแน่

เพราะด้านหนึ่ง ให้พรรคการเมืองใช้เทคโนโลยีหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประชาสัมพันธ์/ติดต่อสื่อสารกันได้

แต่ก็วางกรอบไว้เฉพาะพรรคและสมาชิกเท่านั้น

มิได้หมายถึงประชาชนทั่วไป หรือสาธารณะ

ยิ่งกว่านั้น ยังกำหนดเงื่อนไขสำคัญไว้ นั่นคือ

“ต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง”

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า กิจกรรมของพรรคการเมือง ที่ไม่ใช่หาเสียงหรือการหาเสียงสนับสนุน แล้วการใช้เทคโนโลยีหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์

จะมีประโยชน์อะไร

 

นี่ต้องถือเป็นความ “ย้อนแย้ง” อย่างสำคัญ

ต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 กับแนวทางหลักที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศมาตลอดเกือบ 5 ปีแห่งการครองอำนาจ

นั่นคือ ไทยแลนด์ 4.0

ที่เป็นประหนึ่งดั่งลมหายใจของรัฐบาลไปแล้ว ที่จะพลิกโลกสมัยเก่า ให้เป็นโลกสมัยใหม่

แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม

โดยเฉพาะที่สะท้อนผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 เป็นการหลงทิศเลยทีเดียว

นั่นคือ แทนที่จะนำโลกดิจิตอลมารับใช้เรื่องสำคัญของชาติอย่าง “เลือกตั้ง”

แต่กลับมีคำสั่ง “ห้าม” อย่างน่าตาเฉย

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา ว่าที่หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) โอดว่าจนปัญญาจริงๆ เพราะการควบคุมโลกโซเชียลให้เป็นไปในทางปิดหรือไม่ใช่สาธารณะนั้นเป็นอะไรที่ยากมาก

ขณะที่พรรค “เพื่อไทย” สะท้อนจุดยืนผ่านแถลงการณ์ว่า

การห้าม “การหาเสียง” และควบคุมการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่อาจตีความว่าเข้าข่าย “เป็นการหาเสียง” นั้น

ถือเป็นการใช้อำนาจจำกัดบทบาทพรรคการเมือง

และจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างยิ่ง

อีกทั้งยังสร้างปัญหาที่บั่นทอนการพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลายประการ

 

1จากกรณีที่รัฐบาลและ คสช.กำหนดวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 และอนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้ในระดับหนึ่งนั้น

เป็นการควบคุมให้ใช้อำนาจได้เพียงขั้นพื้นฐาน คือ ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานด้านธุรการภายในเท่านั้น

แต่ไม่ได้อนุญาตให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมหลักที่สำคัญในการรับฟังและสื่อสารข้อมูลนโยบายกับประชาชนได้

ในขณะที่กลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองฟากฝ่ายที่สนับสนุน คสช.

กลับสามารถเดินสายพบปะประชาชนในลักษณะหาเสียง รับฟังความเห็นในรูปแบบต่างๆ ได้

อีกทั้งรัฐบาลยังสามารถช่วงชิงโอกาส โดยอาศัย ครม.สัญจร และการทุ่มงบประมาณของรัฐ เพื่อสร้างคะแนนนิยมต่อประชาชนอย่างเต็มที่เพียงฝ่ายเดียว

อันเป็นการกระทำซึ่งรัฐบาลที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยทั่วไปไม่สามารถกระทำได้

ถือเป็นการแสวงประโยชน์และเอาเปรียบทางการเมืองต่อพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างน่าละอาย

 

2คำสั่งดังกล่าวเป็นเงื่อนไขบังคับพรรคการเมือง อันไม่เป็นธรรมและไม่สอดคล้องกับการสื่อสารที่เป็นจริงของยุคสมัยนี้

กรณีการห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะ “เข้าข่ายการหาเสียง” ซึ่งเป็นการใช้คำที่ไม่มีขอบเขตชัดเจน

ขาดรูปธรรมที่จะทำความเข้าใจ

และยังสามารถถูกนำไปตีความได้หลายด้าน

การเขียนกฎหมายในลักษณะเช่นนี้มีโอกาสที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ในการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบแก่พรรคการเมืองที่คิดต่าง

และอาจถูกนำมาตีความเพื่อใช้กลั่นแกล้งคู่แข่งได้โดยง่าย

 

3การห้ามการสื่อสารระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชน

เป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในการรับรู้ข้อเท็จจริงและมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นกับพรรคการเมือง

ทำให้กระบวนการสร้างนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ยิ่งถูกจำกัด

การสื่อสารทางตรงของพรรคการเมืองและประชาชนในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย เป็นกติกาสำคัญของประชาธิปไตยที่แข็งแรงทั่วโลกยึดถือเป็นหลักการสากล

การเลือกตั้งที่จำกัดสิทธิประชาชนในการรับรู้ รับฟัง และเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงในการตัดสินใจเลือกนโยบายที่พอใจ นับว่าเป็นการเลือกตั้งที่บั่นทอนพลังของจิตวิญญาณประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

 

4รัฐบาลพยายาม “ประโคมข่าวและสร้างภาพ” ตนเองว่าเป็นรัฐบาลที่มีความทันสมัย

ผลักดันประเทศไทยให้เป็น “ประเทศ 4.0”

แต่เรื่องที่ง่ายๆ เช่นนี้รัฐบาลยังไม่เข้าใจแล้วจะนำพาสังคมไทยไปสู่ “สังคม 4.0” ได้อย่างไร

“พรรคเพื่อไทยจึงขอเรียกร้องไปยัง คสช.และรัฐบาล ให้ปลดล็อกเงื่อนไขทางการเมืองทั้งหมดทันที มิใช่การคลายล็อกอย่างที่กำลังมีนัยยะซ่อนเร้นให้ดำเนินการในปัจจุบัน”

แถลงการณ์ระบุ

 

ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งพรรคอนาคตใหม่ พร้อมพวก ซึ่งตกเป็นจำเลยตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวนกรณีไลฟ์เฟซบุ๊กรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และเพจอนาคตใหม่ – future forward party ตามข้อกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดตามมาตรา 14(2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ได้เดินทางไปรับข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 17 กันยายน

โดยให้การปฏิเสธว่า ข้อความดังกล่าวเกี่ยวกับการดูด ส.ส. และการบังคับให้ ส.ส.ให้เข้าร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่สามารถกระทำได้ และจะไลฟ์ผ่านโซเชียลมีเดียต่อไป

เพราะสื่อโซเชียลช่องทางที่ถูกที่สุดในการเผยแพร่อุดมการณ์ของพรรค

และเห็นว่า พ.ร.บ.คอมพ์ เป็นปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ทำให้ประชาชนหวาดกลัว ปิดปากสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในอนาคต หากได้มีโอกาสเข้าร่วมรัฐบาล จะเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย เพราะประเทศไทย กฎหมายนี้มีไว้ใช้เพื่อป้องกันความมั่นคงของผู้มีอำนาจ และใช้จัดการกับผู้ที่เห็นต่าง

สิ่งที่เกิดขึ้นกับนายธนาธร นำไปสู่การคาดหมายว่า อาจมีนักการเมืองและพรรคการเมืองตกเป็นจำเลยได้อีกจากคำสั่งของ คสช. ที่ 13/2561 ซึ่งห้ามไม่ให้มีการหาเสียง ซึ่งมีกรอบที่กว้างขวางมาก

จนไม่รู้ว่าอะไรคือการหาเสียง และไม่ใช่

ในประเด็นนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. บอกว่า กำลังเร่งศึกษาว่ากรณีดังกล่าวควรมีขอบเขตแค่ไหนเพียงไร

 

ฟังจากฟากรัฐบาลบ้าง

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อ้างว่าได้เป็นการบอกแล้วว่านี่คือการคลายล็อก ต้องเป็นระยะๆ ไป ซึ่งก็เป็นไปตามขั้นตอน เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เดินไปถึงวันเลือกตั้งได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นเสียก่อน

“ไม่กลัวความไม่สงบหรือ” คือคำถามจากโฆษกรัฐบาล

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ที่กล่าวว่า

“ช่วงนี้ผมขอให้บ้านเมืองสงบก่อนได้หรือไม่ และถ้าผมเป็นนักการเมือง ผมว่าสิ่งที่ออกมานั้น ผมทำได้ ไม่เห็นจะยากเย็นอะไร การคลายล็อกทางการเมือง ส่วนตัวคิดว่าพอเพียงแล้ว ใครที่บอกว่าไม่พอ ไว้รอให้เป็นรัฐบาลก็ค่อยไปทำกันเอาเอง”

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวอย่างไม่อ้อมค้อมว่า (ที่ต้องกำหนดไว้อย่างนั้นเพราะ) “ยังไม่ให้หาเสียง การนำนโยบายมาพูดก่อนจึงไม่สามารถทำได้”

จากท่าทีของ คสช.และรัฐบาลดังกล่าว

เท่ากับปฏิเสธ “ดิจิตอล”

และซุกอยู่ใต้ “อะนาล็อก”

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งก็คงเข้าใจไม่ยากนัก

ด้วยเพราะ คสช.และรัฐบาลได้แสดงความต้องการอย่างชัดเจนหลายประการ คือ

1) ต้องการให้พรรคการเมืองมีเวลาหาเสียงโดยจำกัด

2) การเผยแพร่นโยบายจะผ่านเครื่องมือในวงแคบหรือขอบเขตเก่าในระบบอะนาล็อก

3) ความกลัวว่า “สื่อใหม่” จะทำให้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง

ตรงนี้เองจึงอ้างเรื่องความสงบขึ้นมาอ้างเพื่อสกัดยับยั้งฝ่ายตรงข้าม

พร้อมกับดำรงความได้เปรียบของฝ่ายรัฐบาลเอาไว้

เพราะด้านหนึ่ง “คู่แข่ง” ตกอยู่ในแวดล้อมของคำสั่ง คสช.

ขณะที่ตนเองสามารถโชว์ผลงานผ่านโซเชียลมีเดียในเครือข่ายที่มีอยู่มากมายได้โดยสะดวก

แต่กระนั้นต้องไม่ลืมว่า โลกโซเชียลนั้นยากที่จำกัดและควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ

มีช่องทางมากมายที่จะสื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมาย

ความหวังว่า การควบคุมจะทำให้พรรคคู่แข่งอ่อนเปลี้ยเสียขา อาจจะไม่เป็นจริง

เสียท่าผู้มีคำว่า ไทยแลนด์ 4.0 อยู่ในทุกลมหายใจ