ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 21-27 กันยายน 2561

ขอแสดงความนับถือ

 

ในคอลัมน์แตกกอ-ต่อยอด ฉบับนี้

ศิลา โคมฉาย แวะเข้าไปในบรรยากาศ “ร้อยปีชาตกาลนายผี 15 กันยายน”

ด้วยความหลังของ “หน่วยศิลปินกองทัพป่า”

“…สหายนำท่านหนึ่งมาร่วมวงศึกษา ในบทว่าด้วยการสัมมนาศิลปะวรรณคดีที่เยนอาน

ท่านพูดด้วยความรู้สึกเดียวกับคนรุ่นสงครามโลก คือ ร็อก แอนด์ โรล เป็นดนตรีชั้นต่ำ…

ท่านโยนระเบิดลงกลางวง เมื่อพูดถึงกีตาร์ เป็นเครื่องดนตรีสามานย์ ใครก็เล่นได้”

วันต่อมานายผีปรากฏตัว

ปลอบประโลมอย่างเปิดกว้าง ทำนองว่า

“ทำอะไรอย่างไรก็ได้ กับงานศิลปะที่มีผลสนับสนุนการปฏิวัติ และให้กำลังใจผู้คนในขบวนการ…”

นั่นคือความเปิดกว้างของ “นายผี” ดังกล่าว ศิลา โคมฉาย บอก

 

เมื่อพูดถึงงานศิลปะที่สนับสนุนการปฏิวัติ และให้กำลังใจผู้คนในขบวนการ…ตามคำกล่าว ‘นายผี’

เหล่าสหายอาจรำลึกถึง รำลาว “7 สิงหาจงเจริญ” ของสหายแจนแวน

ที่แต่งทั้งคำร้องและทำนอง แทนแบบฉบับที่สหายรุ่นเก่ารำกันมา

“ดังดวงไฟน้อยๆ จากน้อยแล้วค่อยโตใหญ่ เป็นทะเลไฟ โต้ไฟปฏิกิริยา” (ข้อมูล : เพลงเพื่อชีวิตจากป่าเขา สะท้อนเรื่องราวชีวิตคนยุคปฏิวัติ : Wathanyu Suriyawong|)

กลายเป็นเพลงที่รู้จักกันดีในป่า

สหายแจนแวน คือ “มงคล อุทก หรือ หว่อง คาราวาน” นั่นเอง

เขา “จากไป” ในเวลาใกล้เคียงกับวาระร้อยปีชาตกาลนายผี ที่ศิลา โคมฉาย รำลึกถึง

แม้สหายวันนี้จะมีจุดยืนและมุมมองที่แตกต่างกันไปคนละทีป

แต่ถึงวาระนี้ก็ควรร่วมถอดหมวกไว้อาลัย “มงคล อุทก” ที่จากไป

ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช

 

ส่วนคอลัมน์ “คนแคระบนบ่ายักษ์”

แพทย์ พิจิตร เขียนถึงศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นตอนที่ 11

ถือเป็นบทอำลา ในวันที่อาจารย์ชัยอนันต์จากไป

แพทย์ พิจิตร ชวนพิจารณาถึง “รูปร่าง” ของนักวิชาการผู้นี้

นอกจากเป็นคนที่หัวโตกว่าตัวมาก

และผมขาวตั้งแต่อายุสามสิบแล้ว

ที่สำคัญมากคือ คิ้ว

“คิ้วที่โดดเด่นและมีอะไรพิเศษเหนือผู้คนทั่วไป”

พิเศษอย่างไร โปรดพิจารณา

และนั่นอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เรา “ลดธงอาลัย” ต่อการจากไปของนักวิชาการท่านนี้

โอ วรุฒ

 

ส่งท้ายด้วย “อีเมล” ของติยะ เชียงใหม่

“อาลัย

โอ วรุฒ

น้าหว่องมงคล

อ.ชัยอนันต์

การเมืองปล่อยไปก่อน

หาเสียง ดูดเสียง ตามสบาย”