ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้า Selamat Datang di Indonesia ตอนที่ 3 “เยือนมาลาเจงกา”

สมหมาย ปาริจฉัตต์

มาลาเจงกา ครูรออยู่

ด้วยความที่ขนาดของพื้นที่กว้างใหญ่ ใช้เวลาเดินทางนานกว่าจะทั่วถึงกัน ผู้คนมากทั้งชุมชนเมืองและชนบท ความรับผิดชอบของคณะผู้บริหารกว้างขวาง

ตอนที่แล้วผมบอกว่า มาจาเลงกา น่าจะมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซีย

แต่เมื่อได้รับเอกสารแนะนำทางราชการใช้ภาษาอังกฤษว่า Majalengka District ขึ้นอยู่กับจังหวัดชวาตะวันตก (West Java Province)

ฐานะทางการปกครองของมาลาเจงกาจึงเทียบเท่ากับอำเภอหรือเขตอย่างใน กทม. หรือไม่ก็เทศบาลขนาดใหญ่ ระดับเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนครของไทย สถานะของผู้บริหารสูงสุดจึงไม่ใช่ผู้ว่าราชการ น่าจะเป็นนายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต หรือนายกเทศมนตรีซึ่งมาจากการแต่งตั้ง โดยกระทรวงมหาดไทย

เนื่องจากมีประชากรมาก ข้าราชการมาก การจัดโครงสร้างบริหารการปกครองของอินโดนีเซียจึงแบ่งหน่วยงานระดับกระทรวงมากถึง 34 กระทรวง กระทรวงมหาดไทยดูแลกิจการภายในแล้วยังมีกระทรวงประสานงานการเมือง กฎหมายและความมั่นคง

ส่วนด้านการศึกษาขึ้นกับกระทรวงการศึกษาและวัฒนธรรม แยกศาสนาออกมาต่างหากมีฐานะเป็นกระทรวงศาสนา นอกจากนั้นยังมีกระทรวงปฏิรูปการบริหารและปฏิรูประบบราชการ

ทั้งหมดแบ่งภารกิจและทำงานประสานกันอย่างไร เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ

 

คณะมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ เดินทางถึงศาลาว่าการเทศบาล กว้างขวาง ใหญ่โต โอ่โถง ข้าราชการในชุดเครื่องแบบสีกากีกระจายกันอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกคณะผู้มาเยือน

Mr.Dr. H. Sutrisno นายกเทศมนตรีมาถึงจับมือทักทายทุกคนและกล่าวต้อนรับ ข้าราชการหญิงทำหน้าที่แปลบาฮาซาอินโดนีเซียเป็นภาษาอังกฤษ

พูดถึงคำว่าบาฮาซา (Bahasa) นักเดินทางหลายคนเข้าใจไม่ตรงกัน คิดว่าเป็นภาษาหนึ่งของโลก จริงๆ แล้วความหมายแปลว่าภาษา มีที่มาจากภาษาสันสกฤตหมายถึงภาษาพูด

ที่ถูกต้องคำว่าบาฮาซาจะใช้กำกับชื่อภาษา เช่น บาฮาซาอินโดนีเซีย บาฮาซามาเลเซีย ฯลฯ เมื่อได้ยินคำพูดว่าภาษาบาฮาซามักเป็นที่เข้าใจกัน หมายถึงภาษาที่ใช้พูดกันในมาเลเซีย อินโดนีเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้บางแห่ง ซึ่งมีผู้ใช้จำนวนไม่น้อยในโลก

“ซาลามัตดาดัง ซาลามอัลเลกุม เวลคัม ยินดีต้อนรับ ขอให้ความสันติสุขจงมีแด่ท่าน” นายกเทศมนตรีกล่าวต้อนรับ และเล่าภาพรวมสภาพทางภูมิศาสตร์ของมาลาเจงกาว่า ขอบเขตพื้นที่ 1,204 ตารางกิโลเมตร อยู่ในเขตจังหวัดชวาตะวันตกซึ่งมีพื้นที่ 44,357 ตารางกิโลเมตร

ผมเทียบเคียงกับจังหวัดใหญ่ที่สุดของไทยคือนครราชสีมา มีพื้นที่ 20,494 ตารางกิโลเมตร

ขนาดจังหวัดของอินโดนีเซียจึงใหญ่โตกว้างขวางกว่าไทยเรามาก พื้นที่กรุงเทพมหานคร 1,568 ตารางกิโลเมตร เทศบาลหรืออำเภอมาลาเจงกาเกือบเท่ากรุงเทพฯ ทั้งจังหวัด

บทบาทความรับผิดชอบด้านการศึกษาขององค์กรท้องถิ่น ดูแลโรงเรียนทุกระดับ ตั้งแต่ก่อนปฐมวัย ปฐมวัย การศึกษานอกระบบ การศึกษาวิชาชีพ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา มีโรงเรียนทุกประเภทรวม 1,709 โรง ครู 11,613 คน นักเรียน 183,709 คน

“มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีมอบรางวัลให้กับครูอาเซียน ครูของโรงเรียนในมาจาเลงกาได้รับด้วยทำให้ชื่อเสียงของมาจาเลงกาขจรขจายไปทั่ว โดยเฉพาะทำให้กลุ่มครูมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะเพิ่มขึ้นไปด้วย” นายกเทศมนตรีกล่าวทิ้งท้าย

และแนะนำกรรมการสมาคมวิชาชีพครูของมาลาเจงกาในชุดเสื้อขาวลายดอกดำ ดูเท่โดดเด่นเป็นพิเศษ ทุกคนปรบมือแสดงความยินดี

 

ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ขึ้นกล่าวตอบ “ขอขอบคุณสำหรับการต้อนรับอันอบอุ่น ท่านนายกเทศมนตรีสละเวลามาพบพวกเรา ประทับใจข้อมูลที่เล่าให้ฟัง พื้นที่โรงเรียน สถิติต่างๆ เป็นประโยชน์มาก พบครูทุกประเทศ มีสื่อมวลชนมาร่วมด้วย ช่วยรายงานให้คนไทย ครูไทย ครูจากมิตรประเทศ ได้รับทราบจุดประสงค์

ประการแรก เพื่อพบครูที่ได้รับรางวัล พบครอบครัว พบเพื่อนครู มูลนิธิให้ทุนครูทุก 2 ปี การพบปะกับคณะผู้บริหารท้องถิ่นทำให้ชุมชนเกิดการยอมรับมากขึ้น ช่วยการดำเนินงานของมูลนิธิกับครูในแต่ประเทศได้มาก

สอง พบเจ้าหน้าที่ระดับสูง รัฐมนตรีและผู้บริหารการศึกษาและวัฒนธรรมของอินโดนีเซียได้รับฟังแนวทางการคัดเลือกครู การพัฒนาการศึกษาของอินโดนีเซีย

สาม พบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา นำครูที่ได้รับรางวัลไปพบแนะนำตัว เชิญนักลงทุนไทยในอินโดเซียมาร่วมทำโครงการเพื่อสนับสนุนการศึกษาและการทำงานของครู ชวนทุกส่วนมาร่วมสัมมนาย่อย ครั้งนี้มีครูที่ได้รับรางวัลรุ่นแรกจากมาเลเซียและอินโดนีเซียมาร่วมด้วย

ประธานมูลนิธิกล่าวจบ นายกเทศมนตรีเล่าต่อว่า “เคยเดินทางไปเมืองไทยที่ภูเก็ตประทับใจมาก เขาทำหน้าที่ตำแหน่งนี้มากว่า 10 ปีหลายเทอมต่อกัน เดิมทำงานด้านบริหารงบประมาณการศึกษา ก่อนขึ้นมาเป็นนายกเทศมนตรีจากการแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย”

“ได้รับแจ้งจากโรงเรียนว่าจะมีคณะมูลนิธิมาเยี่ยมเลยขอเป็นเจ้าภาพรับรอง ยืนยันจะส่งเสริม สนับสนุนโรงเรียนและครูต่อไป” เขาย้ำ

สะท้อนความมั่นใจในบทบาทของส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นที่มีต่อการศึกษา ความต่อเนื่องของผู้บริหารไม่ว่าของโรงเรียนหรือผู้บริหารท้องถิ่นจนถึงระดับสูง เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพและโอกาสทางการศึกษาอย่างมาก ถ้ามีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และไม่คอร์รัปชั่น

 

ก่อนคณะเดินทางต่อ นายกเทศมนตรีมอบโล่ที่ระลึก บนยอดออกแบบเป็นรูปมะม่วงผลไม้ประจำถิ่นมาลาเจงกา และมอบหมายให้ผู้อำนวยการด้านการศึกษานำการเดินทาง เปลี่ยนพาหนะเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ลัดเลาะไปตามทางสู่เนินเขา ถนนคดเคี้ยว บางจุดคับแคบ สูงชัน

เป้าหมายไปยังโรงเรียน SD Negiri 1 Makarwagi Prepping Public Elementary School

Mr. Encon Rahman ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีอินโดนีเซียคนที่สอง ปี 2017 กับนักเรียน พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ชาวบ้านทั้งชุมชนกำลังรออยู่