โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง /ความเชื่อมโยง

โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

 

ความเชื่อมโยง

 

เพิ่งได้อ่านหนังสือดีอีกเล่มหนึ่งอย่างไม่คาดฝัน เป็นหนังสือรุ่นเก่าชื่อ พ่อ : พระยาอนุมานราชธน เขียนโดยบุตรสาวของท่านที่เป็นนักเขียนคือ สมศรี สุกุมลนันทน์

การคุยไลน์กับเพื่อนๆ เป็นเรื่องดีเสมอ เมื่อเพื่อนคนหนึ่งส่งรูปให้ดูว่ากำลังอ่านหนังสือเล่มนี้ เราก็รีบยืมต่อโดยพลัน

ปกติผู้เขียนอ่านหนังสือสารคดีและเรื่องเล่ามากกว่าอ่านนวนิยาย

ในเมื่อเล่มนี้เป็นเรื่องของปราชญ์คนสำคัญคนหนึ่งของเมืองไทย เขียนโดยบุตรสาวที่เป็นนักเขียนอีกด้วย จึงไม่พลาดที่จะอ่าน

อ่านแล้วก็นึกถึงคำที่นำมาเป็นหัวเรื่องคราวนี้คือ “ความเชื่อมโยง”

อาจารย์สมศรี สุกุมลนันทน์ ซึ่งเป็นนักเขียนและนักคหกรรมศาสตร์ พวกเรารู้จักท่านจากการอ่านคอลัมน์ที่เฉียบคมในสตรีสาร ท่านเป็นมารดาของเพื่อนรักของผู้เขียนที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่ประถม 5 เพื่อนคนนี้เชื้อไม่ทิ้งแถวที่เป็นหลานนักปราชญ์ เธอเรียนเก่งมาก แถมยังวาดรูปเก่งอีกต่างหาก

นี่คือการเชื่อมโยงจากปู่มาถึงหลาน

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความหมายของการเชื่อมโยงสำหรับพระยาอนุมานราชธนหมายถึงการเชื่อมโยงระหว่างคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ หรือหมายถึงเรื่องของประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงถึงกันเสมอ ท่านใช้คำว่า “เก่ากับใหม่ต้องไม่ขาดจากกัน”

การเชื่อมโยงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก มีความหมายหลายอย่าง โดยเฉพาะการไม่ตัดขาดจากกัน การศึกษาที่คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ความเป็นมาและเหตุผลของสิ่งต่างๆ ที่คนรุ่นเก่าได้สร้างขึ้น

พระยาอนุมานราชธนเป็นปราชญ์ที่มีผลงานศึกษาค้นคว้าและงานเขียนมากมายในหลายสาขา เป็นผู้กระหายการเรียนรู้ และทำงานจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตในวัย 81 ปี

เป็นนักประวัติศาสตร์ นักนิรุกติศาสตร์ นักแปล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเพณีไทย นักโบราณคดี เคยเป็นอธิบดีกรมศุลกากร และอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมภาษาและหนังสือ ผู้ริเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ความคิดของท่านในเรื่องต่างๆ ควรแก่การฟังและจดจำอย่างยิ่ง

อย่างเช่น ในเรื่องภารกิจของกรมศิลปากร มีผู้เสนอความเห็นให้สอนศิลปะอย่างตะวันตก นายธนิต อยู่โพธิ์ ได้เข้าไปปรึกษาพระยาอนุมานราชธน ท่านให้ความเห็นว่า “ศิลปะของชาติอื่นๆ นั้น เขามีเจ้าของอยู่แล้ว และเขารักษาของเขาอยู่แล้ว ธุระอะไรที่จะไปช่วยเขารักษาสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา…กรมศิลปากรมีหน้าที่ฟื้นฟูและบำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้สร้างสรรค์และสืบต่อกันมาจนเป็นสมบัติประจำชาติ” ท่านยังให้ข้อคิดเสริมที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ของการมองเห็นพลวัตว่า “ถ้าจะแก้ไขปรับปรุงบ้างก็ต้องอยู่ในขอบเขตเพียงเพื่อให้มีความก้าวหน้าได้ มิให้รัดตัวตายไป”

น่าสังเกตว่าภาษาที่ใช้ในหนังสือ เช่น คำว่า “รัดตัว” ให้ความหมายเป็นอย่างดีและสะท้อนถึงภาษาในยุคสมัยของท่านซึ่งคนปัจจุบันอาจจะไม่พูดกันแบบนี้แล้ว

การ “แก้ไขปรับปรุงให้อยู่ในขอบเขตเพื่อให้มีความก้าวหน้า มิให้รัดตัวตายไป” นั้นก็เป็นเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างอดีตที่เป็นมากับปัจจุบันและอนาคตอีก

นึกไปถึงการที่เราเก็บบ้านของนักปราชญ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นเช่นห้องพระยาอนุมานราชธน ที่หอสมุดแห่งชาติ หรือการเก็บบ้านที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เคยอยู่และเปิดให้สาธารณชนได้เข้าชม ก็เป็นเรื่องเตือนใจเราถึงการเชื่อมโยงระหว่างยุคก่อนกับยุคปัจจุบัน ได้รู้ว่าใครที่มีส่วนสร้างชาติไทย ให้ประเทศไทยได้เป็นอยู่ในปัจจุบัน และสิ่งต่างๆ มีจุดกำเนิดอย่างไร

อย่างเช่น การมีวิทยาลัยนาฏศิลปในปัจจุบัน

ความมุ่งหมายในการจัดตั้งวิทยาลัยนาฏศิลป์มีความเป็นมาอย่างไร อ่านได้จากบันทึกของพระยาอนุมานราชธน

“ยังมีศิลปะอีกจำพวกหนึ่ง ที่สูงกว่าประยุกต์ศิลป์ เพราะทำขึ้นเพื่อไม่ใช่ประโยชน์กิน เพื่อประโยชน์ใช้สอย ทำขึ้นเพื่อความบันเทิง เพื่อยกจิตใจให้สูง เพื่อให้คนคิดและประดิษฐ์แต่สิ่งดีงาม ศิลปะเช่นนี้เขาเรียกว่าวิจิตรศิลปะ เป็นศิลปะเพื่อประโยชน์ในตัวของมันเอง คือศิลปะเพื่อศิลปะ ไม่ใช่ทำขึ้นเพื่อนำไปใช้ประกอบสิ่งอื่น นานาชาติที่เจริญเขาถือว่าศิลปะเช่นนี้เป็นของสูง เพราะเป็นของถาวร และเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาติ ผู้ที่ทำศิลปะชนิดนี้ให้มีขึ้นอย่างงาม เขาถือว่าเป็นผู้มีเกียรติสูง เรียกว่า ศิลปิน นาฏศิลปะก็เป็นสาขาหนึ่งในวิจิตรศิลป์ เพราะฉะนั้น เป็นกล่าวได้ว่า การทำหรือแสดงศิลปะอย่างนี้เป็นสิ่งที่มีเกียรติ”

การได้รู้สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีความลึกซึ้งขึ้น มองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ มากขึ้น

 

อีกอย่างหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นการรู้อย่างลึกซึ้งของท่านคือการที่ท่านสนใจนิรุกติศาสตร์ ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ภูมิหลังของภาษาและการสื่อสารของมนุษย์และนำมาใช้ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นในการพูดหรือการเขียน ท่านเป็นอีกผู้หนึ่งที่ไม่ชอบใจเป็นอย่างยิ่งเวลาที่นำความรู้จากตำรับตำราต่างชาติมาใช้ทั้งดุ้น โดยไม่คิดดัดแปลงให้เหมาะกับเรื่องของไทย และในการเขียนคำอธิบาย สำหรับท่านแล้ว ทุกสิ่งที่ท่านอธิบายจะใช้สำนวนไทยตลอด

เราจะพบสำนวนไทยของท่านตลอดเวลาที่อ่านหนังสือเล่มนี้

เพราะคำนึงถึงการเชื่อมโยงอยู่ตลอดเวลา พระยาอนุมานราชธนจึงมักพบปะ สนทนาวิสาสะกับ “เพื่อน” ในวัยอ่อนกว่า บุตรสาวของท่านใช้คำว่า “เพื่อนศิษย์” คือเป็นทั้งเพื่อนทั้งศิษย์ในเวลาเดียวกัน

ถ้าจะให้เอ่ยนามก็จะมี ดร.สุเมธ ชุมสาย ขจร สุขพานิช ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ เป็นต้น

ท่านเต็มใจที่จะพูดคุยกับศิษย์รุ่นหลังจนกลายเป็นเพื่อนกัน อย่างเช่น อาจารย์ขจร สุขพานิช ที่กลายเป็นดุจเกลอเดินทางไปเที่ยวด้วยกัน

อาจารย์สมศรีเขียนว่า ท่านเดินทางไปทั่วประเทศไทยทีละจังหวัด น่าจะครบทุกจังหวัด

ไม่ทราบเหมือนกันว่าท่านได้บันทึกการเดินทางนั้นๆ ไว้หรือเปล่า ถ้ามี นักอ่านย่อมไม่พลาด

 

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วภาพของปราชญ์คนสำคัญเปลี่ยนเป็นบุคคลที่จับต้องได้ และใช้ชีวิตอย่างแสนจะสามัญ ในชีวิตที่ดูธรรมดา ไม่ร่ำรวย อยู่บ้านไม้ธรรมดา

สิ่งที่นำความภาคภูมิใจมาให้ท่านน่าจะเป็นการที่มีลูกศิษย์มากมายที่ท่านได้ให้การถ่ายทอดความรู้และความคิดจนเขาเหล่านั้นกลายเป็นคนเก่ง ทรงภูมิความรู้ แล้วบุคคลเหล่านั้นก็ส่งมอบความรู้ให้กับคนรุ่นหลังๆ ต่อไป

ความเป็นพระยาอนุมานราชธนยังคงเชื่อมโยงอยู่กับความเป็นปัจจุบันอย่างไม่รู้จบ