เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : เข้าใจและเข้าถึง หัวใจของศาสนา

นิทานเซนสองเรื่องเล่าซ้ำๆ กันอยู่เป็นตัวอย่างเสมอ เรื่องหนึ่งที่ว่า

เจ้าเมืองไปหาอาจารย์เซนในป่า ถามถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาว่าคืออะไร อาจารย์บอกมีสามข้อคือ ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำจิตบริสุทธิ์

เจ้าเมืองหัวเราะบอกว่า “ง่ายแค่นี้เอง เด็กเจ็ดขวบก็รู้”

อาจารย์เซนบอกว่า “เด็กเจ็ดขวบก็รู้ แต่ผู้ใหญ่เจ็ดสิบก็ยังทำไม่ได้”

เรื่องจบแค่นี้

อีกเรื่องคือ

พระสองรูปเดินสวนกันบนสะพานข้ามลำน้ำ พระรูปหนึ่งถามพระอีกรูปว่า “น้ำใต้สะพานนี่ลึกแค่ไหน”

พระที่ถูกถามผลักพระผู้ถามหล่นโครมลงน้ำ

เรื่องจบแค่นี้ แบบเซนคือให้รู้ด้วยตัวเอง

ให้รู้ด้วยตัวเอง นี่แหละสำคัญนัก เป็นหัวใจของการศึกษาเลยทีเดียว ซึ่งตรงความหมายของศัพท์คำว่าศึกษา เพราะศึกษามาจากคำว่าสิกขา (สะ+อิถขะ) แปลว่าดูตัวเองด้วยตัวเอง เพื่อให้รู้ด้วยตัวเองนั่นเอง

Chile Center เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ก็ความหมายเดียวกับสิกขานี่แล้ว

เราอยู่กับหัวใจของการศึกษา แต่ไม่เคยเข้าใจความหมายของการศึกษาจริงๆ สักเท่าไรเลย

รู้ด้วยตัวเอง นี่แหละหัวใจของการศึกษา

นิทานเซนเรื่องแรกแสดงเรื่องความรู้กับความเข้าใจและการปฏิบัติ

เจ้าเมืองแสดงถึงความรู้ ชนิดที่เรียกว่า “รู้สักว่ารู้” คือได้แต่รู้แบบรับรู้ แต่ไม่เข้าใจถึงสิ่งที่รู้นั่นเลยว่าหมายถึงอะไรและสำคัญอย่างไร

เมื่อไม่เข้าใจก็ไม่เห็นความสำคัญถึงขั้นที่จะนำมาปฏิบัติ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอย่างที่อาจารย์เซนว่าไว้คือ

“ผู้ใหญ่เจ็ดสิบก็ยังทำไม่ได้”

คนเราโดยทั่วไปก็มักเป็นเช่นนี้ คือ “รู้สักว่ารู้” รู้อะไรมากมาย ถึงขั้นกระหายใคร่รู้ ครั้นรู้แล้วก็แล้วกัน บางทีถึงขั้นพกเอาความรู้ไว้โอ่ภูมิกันก็มีเป็นอันมาก

เพราะฉะนั้น ใครเป็นเจ้าเมืองควรระวังไว้ให้จงหนัก โดยเฉพาะเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ และการกระทำหรือการปฏิบัติ

นิทานเซนเรื่องที่สอง แสดงถึงเรื่องระดับของความรู้สามขั้นคือ รู้จัก รู้จริง รู้แจ้ง

ถ้าพระที่ถูกถามจะตอบคำถามว่าน้ำลึกแค่ไหน เชิงประมาณก็อาจบอก เช่น “ลึกท่วมหัว” นี่เป็นคำตอบให้ “รู้จัก” คือรู้สักว่ารู้ แต่ถ้าพระจะตอบเชิงปริมาตรก็อาจบอกว่า “ลึกราวสองเมตร” นี่ก็เป็นคำตอบให้ “รู้จริง” ด้วยเหตุด้วยผลที่เป็นวิทยาศาสตร์

การผลักพระผู้ถามให้หล่นโครมลงน้ำนี่แหละเป็นวิธีให้ “รู้ด้วยตัวเอง” อันเป็นความรู้ขั้น “รู้แจ้ง”

การศึกษาทั้งหลายนั้นมีหัวใจอยู่ที่การรู้แจ้ง คือรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งต้องผ่านกระบวนการสามขั้นตอนทั้งสิ้น คือกระบวนการ รู้จัก รู้จริง รู้แจ้ง

จักได้มาซึ่งสามกระบวนการนี้ก็แต่ด้วย “การดูตัวเองด้วยตัวเอง” ดังความหมายของคำว่า “สิกขา” นั้นเอง

นิทานเซนนั้นมุ่งจำเพาะเรื่องของ “พุทธธรรม” เป็นสำคัญ ซึ่งก็คือความรู้ในเรื่องสำคัญสูงสุดของชีวิต นั่นคือความรู้เรื่องความ “ดับทุกข์”

ความดับทุกข์จึงเป็นหัวใจ หรือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ซึ่งบุคคลจะบรรลุถึงได้ก็แต่ด้วยวิธีผ่านกระบวนการสามขั้นตอนดังกล่าวคือ รู้จัก รู้จริง รู้แจ้ง ดังกล่าว

ภาษาธรรมเรียกกระบวนการสามขั้นตอนด้วยศัพท์ว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

ปริยัติ คือ ศึกษาเพื่อรู้จัก

ปฏิบัติ คือ การปฏิบัติเพื่อรู้จริง

ปฏิเวธ คือ การรู้แจ้งอันเป็นผลได้จากการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้วนั้น

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุกล่าวไว้ในเบื้องต้นของหนังสือ “แก่นพุทธศาสน์” ตอนหนึ่งว่า

“ที่ว่าหลักพุทธศาสนามูลฐานนั้นหมายความว่า เป็นหลักที่มีความมุ่งเฉพาะไปยังความดับทุกข์นี้อย่างหนึ่ง แล้วเป็นสิ่งที่มีเหตุผลในตัวเองที่ทุกคนอาจเห็นได้ โดยไม่ต้องเชื่อตามบุคคลอื่นนี้อย่างหนึ่ง

นี่คือส่วนประกอบที่สำคัญของสิ่งที่เป็นหลักมูลฐาน

ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อดับทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านทรงปฏิเสธไม่ยอมเกี่ยวข้องด้วย ไม่ยอมพยากรณ์อย่างปัญหาที่ว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่ อะไรไปเกิด เกิดอย่างไร ได้รับผลอย่างไร อย่างนี้มันไม่ใช่เป็นปัญหาที่มุ่งตรงไปยังเรื่องความดับทุกข์ และยิ่งกว่านั้นมันยังไม่เป็นพุทธศาสนา ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ไม่อยู่ในขอบวงของพุทธศาสนา เพราะไม่ได้มุ่งหมายที่จะดับทุกข์ นี้อย่างหนึ่งแล้ว แล้วยังมีอยู่ว่า ผู้ถามนั้นก็ได้แต่จะเชื่อตามผู้พูดดายไป เพราะว่าผู้ตอบก็ไม่อาจจะเอาอะไรมาแฉให้เห็นได้ ได้แต่พูดไปตามความรู้และความรู้สึก ผู้ฟังก็ไม่อาจจะเห็นสิ่งนั้นได้ ก็ต้องเชื่อตามผู้พูดดายไป มันก็เลยเตลิดออกไปนอกเรื่องทีละนิดๆ จนเป็นเรื่องอื่นไปไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์ และอยู่ในลักษณะที่ผู้ฟังต้องเชื่อตามผู้พูด อย่างหลับหูหลับตาเรื่อยไป แล้วเดินออกไปนอกวงของการดับทุกข์ยิ่งขึ้นทุกทีฯ”

ท่านอาจารย์ใช้คำว่า “หลักพุทธศาสนามูลฐาน” ซึ่งหมายถึง “ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา” ดังท่านได้เกริ่นกล่าวไว้ในตอนต้นหนังสือ “แก่นพุทธศาสนN” เล่มนี้ ดังความว่า “อาตมาขอเน้นตรงที่ว่า “เป็นหลักมูลฐาน” เพราะความรู้ชนิดที่ไม่ใช่หลักมูลฐานก็มี และเข้าใจอย่างไม่ถูกต้องก็มี คือมันเขวออกไปทีละน้อยๆ จนเป็นพุทธศาสนาใหม่ ถึงกับเป็นพุทธศาสนาเนื้องอกที่งอกออกไปเรื่อยๆ ฯ”

ท่านอาจารย์ปรารภเป็นมรดกธรรมว่า

“ขอให้ทุกคนเข้าใจและเข้าถึงหัวใจของศาสนาตนและเข้าใจหัวใจของศาสนาอื่น”

สมดังที่มหาตมะคานธีกล่าวว่า

“ผู้ใดที่เข้าถึงศาสนาของตน ผู้นั้นย่อมเข้าถึงศาสนาของผู้อื่นด้วย”