มนัส สัตยารักษ์ : พลังใจจากน้ำตา

นํ้าตาไหลพรากเป็นระยะๆ มาตั้งแต่หัวค่ำวันที่ 13 ตุลาคม ถัดมาอีก 2 วันก็เหมือนเดิมเพราะยังอยู่ในอารมณ์อาลัยจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ภาพและเสียงที่ได้เห็นและฟังจากสื่อต่างบอกว่าคนไทยทั้งชาติตกอยู่ในความทุกข์เดียวกัน

แต่พอเข้าวันที่ 3 เริ่มมีภาพและข้อความแปลกประหลาดมาจากผู้ที่มีความคิดต่อต้านสถาบันกษัตริย์ แม้จะมีจำนวนน้อยมากแค่หลักสิบหรือแค่เป็นเศษผงของคนไทยกว่า 60 ล้าน หรือกล่าวได้ว่าของคนเกือบทั้งโลกเลยก็ว่าได้ และเราบางคนก็เห็นว่าพวกเขาเป็นแค่คนบ้าหรือคนเสียสติ

ไอ้หรืออีพวกนี้บางคนไม่ได้ตั้งใจทำระยำอัปรีย์เฉพาะกับสถาบันกษัตริย์ พวกเขาทำกับคนไทยทุกคน ทำกับมหาวิทยาลัยและกับธงชาติด้วย!

แม้จะรู้ว่าเป้าหมายที่มันมุ่งดูหมิ่นเหยียดหยามมิใช่องค์พระเจ้าอยู่หัว ก็ตาม แต่ความรู้สึกแรกของเราก่อนจะ “รู้ทัน” ก็คือเจ็บปวดและโกรธแค้น

เราต่างตระหนักดีว่าสภาพการณ์เช่นนี้เริ่มจากการ “แสดงความคิดเห็น” ขยับขึ้นมาเป็น “เสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็น” ตามอย่างบางประเทศฝั่งตะวันตก จนเปลี่ยนสภาพเป็น “ความเห็นต่าง” และแล้วในที่สุดก็เข้าสู่สถานการณ์ที่ต้องใช้คำว่า “วิวาท” หรือวิวาทะโดยไม่จำต้องมีความคิด หรือวิวาทะโดยมีความเห็นบิดเบี้ยวข้างๆ คูๆ ไปอย่างไรก็ได้

จะเดาสุ่ม โกหกมดเท็จหรือปั้นเรื่องขึ้นมาเองก็ได้ จะถูกจับโกหกได้ภายหลังก็ไม่เป็นไร เพราะมีคนหลงเชื่อกระจายข่าวออกไปแล้ว

หลังจากนั้นก็คอยจับผิดฝ่ายตรงข้าม พอจับผิดไม่ได้ก็งัด “ของเก่า” ที่ทิ้งไปแล้วมาใช้ใหม่ หรือไม่ก็สร้างเรื่องใหม่ขึ้นมาให้เรื่องบวกกลายเป็นลบ เพื่อจะได้ป่าวประณามฝ่ายตรงกันข้ามได้

ในยุคของโซเชียลมีเดียอะไรก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก

 

ในวันแรกและวันที่สองของการสูญเสียพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของเรา ขณะที่นายกรัฐมนตรีและคนของรัฐบาลออกมาแถลงข่าว ผมอดจะวิตกแทนไม่ได้ เพราะเรื่องของความคิดเห็น ความเห็นต่าง และความเห็นโดยเสรี

ทั้ง 3 ประการนี้ล้วนเป็นจุดเริ่มของความแตกแยกในบ้านเมือง

ปัญหาปกติธรรมดาของบ้านเมืองนั้นโต้เถียงกันสาหัสพออยู่แล้ว บางประเด็นไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงแต่ชี้แจงหรืออธิบายไม่เคลียร์ก็โดนด่าว่าจนแทบเสียผู้เสียคน

แล้วกรณีสวรรคตและเปลี่ยนรัชกาลอันมิใช่เป็นเรื่องกิจวัตร แต่เป็นเรื่องพิเศษที่อ่อนไหวง่าย เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพิธีกรรมและศาสนา เรื่องของธรรมเนียมประเพณีอันสืบทอดกันมาแต่โบราณกาล เหล่านี้ผิดพลาดได้ง่าย และผิดพลาดไปนิดเดียวอาจจะโดนโจมตีไม่รู้จบ

มิใช่จะดูหมิ่นความสามารถของรัฐบาลนะครับ แต่ตระหนักในขีดความสามารถอันไร้ขีดจำกัดของนักรบไซเบอร์

 

ผมไม่แน่ใจว่าใครจะรู้จริงเรื่องธรรมเนียมประเพณี ตัวอย่างใกล้ตัวที่สุดก็คือหลังจากฌาปนกิจแม่ของผมเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็ไปรวมตัวกันที่บ้านของพี่ชาย ลูกชายผมไปเคาะเปียโนเพลง Beethoven Sonata No 8 เบาๆ แบบมืออยู่ไม่สุขหรืออดไม่ได้เมื่อเห็นคีย์

พี่ชายผมให้หยุดด้วยเหตุผลว่า “หลังงานศพเขาไม่บันเทิงกัน”

ผมไม่เห็นด้วยเลย เพราะเพลง Beethoven Sonata No 8 ไม่ใช่เรื่องบันเทิง เป็นศิลปะ เป็นเพลงค่อนข้างเศร้า อย่างน้อยก็เศร้ากว่าเพลงไทยเดิมที่เล่นในวัด หรือเศร้ากว่า Gloomy Sunday ที่ทำให้คนฟังฆ่าตัวตายด้วยซ้ำไป

แต่พี่เขาเป็นอดีตนักดนตรี สจม. ที่เคยร่วมวงกับในหลวงครั้งเสด็จทรงดนตรีที่จุฬาฯ และเป็นอดีตข้าราชการฝ่ายปกครอง ย่อมสันทัดกรณีนี้มากกว่าผมแน่นอน

สรุปแล้วก็ไม่น่าจะผิดธรรมเนียมประเพณีอะไรหรอก เพียงแต่ไม่อยู่ในกาลเทศะ ที่จะมีอารมณ์ฟังเพลงเศร้ามากกว่า

เช่นเดียวกับใคร (ก็ไม่ทราบ) ที่คงจะอ้างธรรมเนียมประเพณี ทำการปลดพระบรมฉายาลักษณ์และพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งป้ายสัญลักษณ์ ภปร. ออกจนถูกวิจารณ์ว่า “ทำลายความผูกพันระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์”

รัฐบาลรับฟังรีบเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นใช้ผ้าดำและผ้าขาวล้อมกรอบไว้ทุกข์ แล้วออกตัวว่าปลดออกเฉพาะภาพที่ดูเป็นการเฉลิมฉลอง

 

ผมน้ำตาไหลพรากทุกครั้งที่ได้เห็นภาพพระมหากษัตริย์ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ผู้นำและประชาชนชาวต่างชาติยกย่องสรรเสริญพระเจ้าอยู่หัวของเรา

น้ำตาเอ่อเบ้าตาเมื่อมีคนไทยให้สัมภาษณ์นักข่าว CNN ทั้งน้ำตาด้วยเสียงสะอื้น

ดีใจทั้งน้ำตาเมื่อได้เห็นนักร้องหมู่ฝรั่งร้องเพลงพระราชนิพนธ์ โดยไม่มีเครื่องดนตรี ได้ไพเราะและเป็นภาษาไทยชัดเจน

น้ำตาคลอเมื่อได้เห็นเอกสารที่ศิลปินชาวต่างชาติบันทึกถึงพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระองค์ และเข้าใจความยิ่งใหญที่คนไทยเทิดทูนพระองค์ท่านเป็น “พ่อ”

ผมน้ำตาไหลพรากอีกครั้งจากเสียงฟลุต เพลงสรรเสริญพระบารมี ของ สอ.กวินทร์ หลีสกุลวานิช (ใช้นามในเฟซบุ๊กว่า Kevin Lee)

ฯลฯ ฯลฯ และ ฯลฯ

ทั้งหมดเป็นน้ำตาจากความตื้นตันใจ

 

เกิดพลังใจเมื่อได้เห็นเพื่อนตำรวจได้ทำหน้าที่ถวายอารักขาพระเจ้าอยู่หัว

ภูมิใจที่เห็นภาพตำรวจยืนตัวเปียกโชกกลางสายฝนกระหน่ำโดยไม่ท้อถอยรอบพระบรมมหาราชวังเนื่องในวาระถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

ดีใจที่ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. เผยถึงการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนที่เดินทางมาร่วมลงนามถวายความอาลัยว่า… ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ปัญหาอาชญากรรม ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ไม่มีเลย

นี่เป็นเพราะพระบารมีพ่อหลวงท่าน

 

ตายังคลอคลองด้วยน้ำตาแต่มีพลังใจเพิ่มขึ้น…

เมื่อเห็นภาพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งแก่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินจากโรงพยาบาลศิริราชกลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2549

“ตำรวจทางใต้เป็นอย่างไรบ้าง ฉันเป็นห่วง ไปดูแลผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตและครอบครัวด้วย ไปช่วยหาวิธีการทำงาน ให้เขาปลอดภัยยิ่งขึ้น ดูแลขวัญและกำลังใจให้ดี ฉันเป็นห่วงมาก”