เกษียร เตชะพีระ : ศิลปะแห่งการจงใจลืม – ว่าด้วยการจัดการความจำ

เกษียร เตชะพีระ

ความจริงมีอะไรบางอย่างทะแม่งพิกลเกี่ยวกับคำถามที่ว่า หากเกิดเราอยากลืมอะไรบางอย่างขึ้นมา อะไรคือศิลปะแห่งการ “จงใจลืม” (The Art of Willful Forgetting) กัน?

เพราะหากการจงใจลืมบรรลุผลเด็ดขาดสัมบูรณ์ คือลืมสนิทแบบไม่มีเค้ารอยความทรงจำหลงเหลืออยู่เลย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรา “ลืม” มันไป?

หนักข้อกว่านั้น อย่างในภาวะบัดเดี๋ยวนี้ ถ้าการจงใจลืมมีประสิทธิผลสมบูรณ์แบบจริง เราจะรู้ตัวหรือว่าเรา “ลืม” อะไรไปบ้าง?

เราจะรู้ตัวได้อย่างไรว่าเราเคย “จำ” อะไรไว้บ้าง?

ในสภาพที่ไม่มีร่องรอยเค้ามูลให้พิสูจน์ทราบในความคิดจิตใจเราได้ เราจะจำแนกแยกแยะการจงใจลืมบางอย่างสำเร็จเต็มร้อย vs. การไม่เคยจำมันเลยแต่ต้น – ออกจากกันได้อย่างไร?

ฉะนั้น เอาเข้าจริง เบื้องหลังโจทย์การ “จงใจลืม” คือความมุ่งมาดปรารถนาที่จะหาทางจัดการความจำของเราต่างหาก เราอยากควบคุมมันได้ดังใจนึก ให้ลืมบ้างบางอย่าง จำบ้างบางอย่าง สามารถเรียกสิ่งที่ (เสมือน) ลืมกลับมาจำได้ และเสือกไสสิ่งที่ (เสมือน) จำไปซุกซ่อนในซอกหลืบเพื่อลืมมันได้ เมื่อใดก็ตามที่เราต้องการ

ทั้งนี้เพราะการจำ/ลืมกำหนดเอกลักษณ์ (identity) ทั้งเอกลักษณ์ส่วนตัวและรวมหมู่ การสร้างและดัดแปลงเอกลักษณ์ตั้งแต่ระดับบุคคล หมู่คณะ หรือแม้แต่ชาติ จึงเรียกร้องต้องการการจัดการความจำ/การลืม เพื่อผดุงเสริมสร้างเอกลักษณ์ที่ต้องการนั้นไว้

ดังที่ A.C. Grayling นักปรัชญาชาวอังกฤษ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง [ความทรงจำ -> เอกลักษณ์] ไว้ในบท “Memory” ในหนังสือ The Meaning of Things: Applying Philosophy to Life (2001) ของเขาว่า :

“…สิ่งที่ทำให้บุคคลคนหนึ่งเป็นคนคนเดียวกันตลอดชีวิตก็คือชุดความทรงจำที่สั่งสมกันขึ้นซึ่งเขาพกติดตัว

“เมื่อชุดความทรงจำนี้สูญหายไป เขาก็เลิกเป็นบุคคลคนนั้นแล้วกลายเป็นคนอื่น เป็นคนใหม่ที่ยังไม่ทันก่อตัวสำเร็จรูปขึ้นมา”

อันที่จริงมีตัวอย่างทำนองนี้มากมายในภาพยนตร์ไทย จีน แขก ฝรั่ง ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ที่ซึ่งพระเอก/นางเอกได้รับบาดเจ็บกระทบกระเทือน สูญเสียความทรงจำ/ความจำเสื่อม (ลืม) ไป จำไม่ได้ว่าตนเองเป็นใครมาจากไหน (สูญเสียเอกลักษณ์เดิม) แล้วสวมบทใหม่เป็นตัวละครอื่น (เอกลักษณ์ใหม่)

บุคคลฉันใด หมู่คณะหรือชาติก็ฉันนั้น ดังที่ Sholem Asch นักประพันธ์ชาวโปแลนด์เชื้อสายยิว (ค.ศ.1880-1957) เคยเขียนว่า : “ไม่ใช่อำนาจในการจำหรอก แต่สิ่งตรงกันข้ามกับมัน ซึ่งก็คืออำนาจในการลืมต่างหากที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของเรา”

หรือในกรณีชาติ Ernest Renan นักปรัชญาฝรั่งเศส (ค.ศ.1823-1892) ก็เคยเขียนไว้ในงาน “Qu”est-ce qu”une nation?” (ชาติคืออะไร?) ว่า :

“สารัตถะของแต่ละชาติก็คือบรรดาปัจเจกของชาติทั้งมวลต่างมีหลายสิ่งหลายอย่างร่วมกัน และต่างก็ร่วมกันลืมหลายสิ่งหลายอย่างไปแล้วด้วย”

ในยุคอันยาวนานหนึ่งภายใต้ระบอบเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์จาก พ.ศ.2501 ถึงกลางพุทธทศวรรษที่ 2510 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียว ได้ “ถูกทำให้ลืม” ชื่อปรีดี พนมยงค์ ไปจากความทรงจำรวมหมู่ของสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้

จนกระทั่งด้วยความพยายามอย่างเด็ดเดี่ยวสุ่มเสี่ยงกล้าหาญของนักศึกษาจำนวนหนึ่ง ธรรมศาสตร์ได้ “ถูกทำให้จำ” ปรีดี พนมยงค์ ขึ้นมาใหม่กลางสนามกีฬาแห่งชาติ ต่อหน้าธารกำนัล ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ พ.ศ.2526

ผลของการจงใจจัดการให้ลืมและสร้างความจำเกี่ยวกับอาจารย์ปรีดีขึ้นมาใหม่ดังกล่าวส่งผลต่อการผลัดเปลี่ยนเอกลักษณ์รวมหมู่ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้อย่างล้ำลึก จากยุค “สายลมแสงแดด” ภายใต้เผด็จการสฤษดิ์ มาสู่ยุค “ตื่นเถิดเสรีชน” ช่วง 14 ตุลาฯ 2516 และยุค “พ่อปรีดี” หลังปี พ.ศ.2526 เป็นต้นมา

การจำ (remember) ในความหมายรวมหมู่นี้จึงอาจถอดรหัสเชิงเอกลักษณ์ร่วมออกมาได้ดังที่ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เสนอแนะว่า หมายถึง การประกอบสร้างตัวเองขึ้นใหม่ในฐานะสมาชิกของชุมชนแห่งความทรงจำร่วมกัน (reconstitute oneself as a member of a community of memory)

พอจำปรีดีได้ ชาวธรรมศาสตร์ก็สมมุติตนเป็นลูกของพ่อปรีดีร่วมกัน และนับญาติเป็นพี่น้องร่วมพ่อเดียวกัน

การจัดการความจำ/การลืมระดับบุคคลซึ่งย่อมส่งผลต่อเอกลักษณ์ของบุคคลเอง ก็คงจะอิงหลักทำนองเดียวกันได้ แต่อาจต่างไปบ้าง

กล่าวให้ถึงที่สุด เราคงอยากหามุมพิเศษมุมใดมุมหนึ่งในฮาร์ดดิสก์ความคิดจิตใจของเรา ที่จะเอาความทรงจำส่วนตัวทั้งหลายทั้งปวงไปบรรจุไว้ แล้วลืมมันเสีย เว้นแต่จะเปิดโปรแกรมเรียกใช้เมื่อต้องการ

อุปมาอุปไมยเหมือนหนึ่งห้องเล็กในเรือนหลังใหญ่ ที่ซึ่งเราตบแต่งมันด้วยเครื่องเรือนอันสะดวกสบายที่สุด และประดับประดามันด้วยงานศิลปกรรมที่งดงามที่สุด

พร้อมทั้งจัดโต๊ะอาหารเย็นที่วิเศษเลิศหรูที่สุดขึ้นมา

หลังจากตรวจดูความประณีตบรรจงของทุกอย่างในห้องจนพึงพอใจเป็นที่สุดแล้ว เราก็ค่อยย่างก้าวออกมาข้างนอก

ล็อกประตูห้อง

แล้วโยนกุญแจทิ้งไป…