สุรชาติ บำรุงสุข : ไม่มีกองทัพในยุทธศาสตร์ชาติ ไม่มีการเมืองในยุทธศาสตร์ไทย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ยุทธศาสตร์ที่ดีเริ่มต้นด้วยการมีจุดมุ่งหมายที่ถูกต้อง” Michael Porter

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่รัฐบาลทหารผลักออกสู่เวทีสาธารณะด้วยการผ่านของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร และมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายนั้น มีประเด็นที่เป็นคำถามมากมาย

ไม่เพียงการผ่านร่างยุทธศาสตร์ที่ใช้ระยะเวลาของการถกแถลงเพียงหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น

หากแต่สาระที่ปรากฏอาจเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ละเลยไม่ได้ เพราะได้มีการกล่าวไว้ว่า ยุทธศาสตร์นี้เป็น “ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศในระยะยาว…” (หน้า 121)

โดยกำหนดทิศทางประเทศในอนาคตด้วยวิสัยทัศน์ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว”

ซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม การสร้างประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปีนี้ รัฐบาลทหารได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 6 ด้าน ได้แก่

1) ด้านความมั่นคง

2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

3) การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

4) การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

5) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

และ 6) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

แต่คำถามที่เป็นประเด็นสำคัญก็คือ ทำไมจึงไม่มียุทธศาสตร์ด้านการเมือง ด้านการทหาร และด้านการป้องกันประเทศปรากฏใน “กฎหมายยุทธศาสตร์ 20 ปี” นี้เลย

หรือว่านักยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารตัดสินใจที่จะละเลยยุทธศาสตร์ในสามส่วนนี้

ถ้าเช่นนั้นแล้วไทยจะก้าวสู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้จริงเพียงใด

และหากกำหนดให้ประเทศเดินไปในทิศทางดังกล่าว เราอาจจะต้องตั้ง “เป้าหมายใหม่” ทางยุทธศาสตร์เพื่อรองรับความต้องการในสามมิตินี้

ยุทธศาสตร์การเมือง : ประชาธิปไตยไทยต้องเข้มแข็งและยั่งยืน

ถ้าผู้นำรัฐบาลทหารไทยตั้งเป้าหมายว่า อยากให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้าจริง ผู้นำทหารอาจจะต้องยอมรับที่จะต้องสร้างการเมืองแบบที่เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล

โดยรัฐบาลทหารควรจะต้องตระหนักว่า การเมืองที่อยู่บนพื้นฐานของการรัฐประหารเป็น “การเมืองแห่งความล้าหลัง”

เพราะในชุดอุดมการณ์การเมืองของปีกอนุรักษนิยมแล้ว ระบอบการปกครองของกองทัพเป็นชุดการเมืองที่ล้าหลังที่สุดชุดหนึ่งของฝ่ายขวา

และโดยความเป็นรัฐบาลทหารที่จุดกำเนิดของการได้อำนาจ มาจากการใช้กำลังโค่นล้มรัฐบาลพลเรือน รัฐบาลทหารจึงไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะไม่เพียงแต่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารไม่มีความชอบธรรมในตัวเอง

แต่หากมองในทางรัฐศาสตร์ก็คือ คำอธิบายที่บอกว่า รัฐบาลทหารไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจทางศีลธรรม” (moral authority) ในตัวเองอีกด้วย

ดังนั้น เมื่อกองทัพได้อำนาจมาโดยไม่มี “ฉันทานุมัติทางการเมือง” ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกเพื่อเป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของประชาชน

รัฐบาลทหารในตัวเองจึงมีปัญหาทั้งในการดำรงอยู่ของตัวรัฐบาลเอง หากแต่ยังมีปัญหาในการมีความสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ อีกด้วย

การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในทางการเมืองจึงมีนัยโดยตรงต่อการสร้างกระบวนการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย

หรืออีกนัยหนึ่งการเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็ต้องการระบอบการเมืองที่พัฒนาแล้วเช่นกัน

ถ้าผู้นำทหารและบรรดาผู้สนับสนุนในปีกขวาจัดของไทย ยอมรับที่จะหันกลับดูบทเรียนการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ไม่มีอะไรจะเป็น “กระจกเงา” บานใหญ่ให้กับการเมืองไทยได้ดีเท่ากับการเมืองในพม่าหลังจากรัฐประหารในเดือนสิงหาคม 2531 (ค.ศ.1988)

การดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารกลายเป็นปัญหาทั้งทางการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศ

เพราะไม่เพียงแต่การถูกปิดล้อมและไม่เป็นที่ยอมรับในด้านต่างๆ เท่านั้น หากแต่รัฐบาลทหารยังเป็นสัญลักษณ์ของความด้อยพัฒนาอีกด้วย

อีกทั้งในวันนี้เห็นได้ชัดถึงความพยายามในการยกระดับทางการเมืองของเมียนมาที่ต้องการพาตัวเองให้หลุดพ้นจากวงจรของความด้อยพัฒนาทางการเมือง การเปิดประเทศโดยมีกระบวนการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญของความเป็น “สากล” ในการคัดเลือกบุคคลขึ้นสู่ตำแหน่งของฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร จึงเป็นดังสัญญาณเพื่อบอกถึงการพาประเทศกลับสู่บรรทัดฐานของประชาคมระหว่างประเทศ

แม้จะมีข้อถกเถียงถึงคุณภาพของประชาธิปไตยในเมียนมา และปัญหาของระบอบประชาธิปไตยใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอย่างน้อยก็มีการเลือกตั้งในเมียนมา

แต่ไม่มีการเลือกตั้งในไทย หรือในบริบทเดียวกันประชาธิปไตยไทยเคยเดินนำหน้าและเป็นตัวแบบให้กับการเมืองในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มาแล้ว

แต่วันนี้คุณภาพการเมืองไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศทั้งสอง

ดังนั้น ถ้ากำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างไทยให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ผู้นำทหารและบรรดากลุ่มผู้สนับสนุนรัฐประหารอาจจะต้องยอมเปิดโอกาสให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาทางการเมืองด้วย

การมีระบอบการปกครองที่เป็นที่ยอมรับในเวทีสากลจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของยุทธศาสตร์การเมืองของประเทศ

และในเวทีสากลแล้ว ระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับการเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรมถือเป็นบรรทัดฐานหลักของความเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

ดังจะเห็นได้ว่า แม้จะมีปัญหาทางการเมืองเพียงใดในหมู่ประเทศพัฒนาแล้วก็ตาม แต่ก็มิได้มีนัยถึงการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนด้วยการรัฐประหาร

ซึ่งหากกล่าวย้อนอดีตในการเมืองโลกแล้ว รัฐประหารเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเมืองในประเทศด้อยพัฒนา หรือรัฐบาลทหารคือความเป็นตัวแทนของการเมืองประเทศโลกที่สาม

ฉะนั้น ยุทธศาสตร์การเมืองจึงได้แก่ “ประชาธิปไตยต้องเข้มแข็งและยั่งยืน” เพื่อทำให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วทางการเมือง อันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

แต่หากการเมืองยังยึดติดอยู่กับรัฐประหารแล้ว โอกาสที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วคงเป็นเพียงความฝันมากกว่าความจริง!

ยุทธศาสตร์ด้านการทหาร : กองทัพไทยต้องเป็นทหารอาชีพและประชาธิปไตย

หากเรามุ่งหวังที่จะให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว การปฏิรูปกองทัพจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญเพื่อทำให้เกิด “ความเป็นทหารอาชีพ” (military professionalism) ขึ้นในสถาบันทหาร

เพราะไม่มีประเทศพัฒนาแล้วประเทศใด ที่กองทัพเป็น “ทหารการเมือง”

หรือกล่าวเชิงเปรียบเทียบได้ว่า รัฐบาลทหารคือสัญลักษณ์ของการเมืองประเทศด้อยพัฒนาเช่นใด ทหารการเมืองก็คือสัญลักษณ์ของการเมืองประเทศโลกที่สามเช่นนั้น ไม่แตกต่างกัน

และเป็นสัญลักษณ์ของความล้าหลังทางการเมืองอีกด้วย

ฉะนั้น หากต้องการจะก้าวสู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้ว การสร้างสถาบันกองทัพใหม่ที่ทหารต้องถอนตัวจากการเมืองจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในเบื้องต้น (หรือชุดความคิดเรื่อง “military withdrawal from politics” ดังที่ปรากฏในทฤษฎีของระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง)

เพราะตราบเท่าที่ทหารยังคงมีบทบาททางการเมืองแล้ว บทบาทในเชิงสถาบันของทหารจะเป็นปัญหาในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในที่สุดแล้วจะเกิดคำถามพื้นฐานที่สำคัญก็คือ แล้ว “ทหารจะเป็นทหาร หรือทหารจะเป็นนักการเมือง”

แต่ผู้นำทหารที่มีอำนาจเป็นรัฐบาลจากการรัฐประหารมักจะยืนยันว่า พวกเขาเป็นทหารและเป็นตัวแทนของสถาบันทหารที่เข้ามาทำหน้าที่ทางการเมือง

อันทำให้นักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาการเมืองในประเทศด้อยพัฒนาเรียกสถานะของผู้นำทหารที่มีอำนาจการเมืองเช่นนี้ว่าเป็น “นักการเมืองในเครื่องแบบ” (politicians in uniform)

เพื่อจำแนกให้เห็นถึงบทบาทที่เป็นจริงของทหารกลุ่มนี้ เนื่องจากด้วยสถานะและบทบาทของนายทหารที่คุมอำนาจการเมือง

พวกเขาจึงกลายสภาพเป็นนักการเมืองไปโดยปริยาย และด้วยเงื่อนไขทางการเมืองเช่นนี้ พวกเขาจึงไม่ได้มีความเป็นทหารอีกต่อไป

ในสภาพเช่นนี้การจะทำให้ประเทศก้าวสู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้วในบริบททางทหาร จึงมีนัยโดยตรงที่กองทัพจะต้องยุติบทบาททางการเมือง และเดินหน้าสู่ “กระบวนการสร้างความเป็นทหารอาชีพ” (military professionalization) ให้เกิดขึ้น

เพื่อเป็นหลักประกันว่า ทหารในกองทัพจะทำหน้าที่ทางทหาร และยอมรับว่ากองทัพเป็นกลไกรัฐ ไม่ใช่เป็นรัฐในตัวเอง (ดังที่นักรัฐศาสตร์เรียกสภาวะเช่นนี้ว่ากองทัพเป็น “รัฐซ้อนรัฐ”)

เงื่อนไขเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้บทบาทของทหารในการเมืองเปลี่ยนแปลงไป และขณะเดียวกันในความเป็นทหารอาชีพ ทหารจะถูกกล่อมเกลาให้เป็น “ทหารประชาธิปไตย” ที่มีนัยหมายถึงกองทัพถูกสร้างให้เคารพสิทธิเสรีภาพและยึดมั่นในนิติรัฐ

และตระหนักดีว่ากระบวนการทำให้เป็นการเมืองที่เกิดขึ้นในสถาบันทหารไม่เพียงแต่จะทำให้กองทัพต้องถอยออกจากภารกิจหลักทางทหารเท่านั้น หากยังทำให้สถาบันทหารกลายเป็น “คู่ขัดแย้ง” ในเวทีการเมืองของประเทศ และมีราคาที่สถาบันทหารต้องจ่ายในการมีบทบาทเช่นนี้จากปัญหาการต่อสู้ทางการเมืองภายในกองทัพด้วย

ฉะนั้น หากเราต้องการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ไทยคงต้องมียุทธศาสตร์ทหารที่ “กองทัพต้องเป็นทหารอาชีพ และทหารต้องเป็นประชาธิปไตย” ดังตัวแบบของกองทัพในประเทศพัฒนาแล้ว

ยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศ : กองทัพไทยต้องเข้มแข็งเพื่อป้องกันประเทศ

หากพิจารณากองทัพในประเทศพัฒนาแล้ว จะเห็นคุณสมบัติประการหนึ่งที่สำคัญคือ การมีกองทัพที่เข้มแข็งในทางการทหาร ไม่ใช่มาจากสาเหตุที่ประเทศพัฒนาแล้วมีเศรษฐกิจที่แข็งแรง จนเปิดโอกาสให้ประเทศเช่นนี้สามารถพัฒนากองทัพได้มากขึ้นเท่านั้น

แต่หากกองทัพไม่มีความเป็นทหารอาชีพและมีบทบาทหลักด้วยการเป็นรัฐบาลทหารแล้ว โอกาสของการพัฒนากองทัพในทางการทหารอาจจะลดลง เพราะผู้นำทหารมีบทบาททางการเมืองเป็นหลัก

และขณะเดียวกันบทบาทของกองทัพจะถูกใช้เพื่อเหตุผลทางการเมือง เช่น กองทัพทำหน้าที่ในการควบคุมทางการเมืองและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมคุมขังผู้เห็นต่าง การเซ็นเซอร์สื่อ ตลอดรวมถึงการทำหน้าที่เป็น “ตำรวจการเมือง”

หรือในบางสังคมกองทัพกลายเป็น “ตำรวจลับ” ในการจัดการกับฝ่ายตรงข้าม

ดังตัวอย่างของกองทัพอาร์เจนตินาที่รับบทหลักในการทำ “สงครามสกปรก” (The Dirty War) ด้วยการอุ้มฆ่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เป็นต้น

แม้กองทัพที่ทหารมีบทบาททางการเมืองสูงเช่นในละตินอเมริกานั้น กองทัพพยายามสร้างความชอบธรรมด้วยการสร้างหลักนิยมใหม่รองรับบทบาทดังกล่าว

แต่เมื่อระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเกิดขึ้น และกองทัพถอยออกไปจากการเมืองแล้ว ก็ยอมรับเป็นหลักการสำคัญว่า กองทัพมีบทบาทหลักในการป้องกันประเทศที่เกิดจากการโจมตีของข้าศึกจากภายนอก

แต่หากกองทัพจะต้องมีบทบาทภายในแล้ว ก็จะต้องเกิดจากการร้องขอของรัฐบาลพลเรือน เช่น ภารกิจช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (HADR) ภารกิจช่วยเหลือในการอพยพประชาชน (NEO) ภารกิจต่อต้านยาเสพติด ภารกิจต่อต้านการค้ามนุษย์ ภารกิจควบคุมความสงบ เป็นต้น ซึ่งภารกิจเช่นนี้จะเกิดขึ้นจากการร้องขอจากรัฐบาลพลเรือนภายใต้กรอบความคิดเรื่อง “ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารในระบอบประชาธิปไตย” ที่กองทัพอยู่ภายใต้หลักการ “การควบคุมโดยพลเรือน” (civilian control) ดังที่ปรากฏให้เห็นในประเทศพัฒนาแล้วโดยทั่วไป

ดังนั้น การปฏิรูปกองทัพเพื่อลดทอนความเป็นทหารการเมือง จึงเป็นความหวังของการทำให้เกิดทหารอาชีพ และความเป็นทหารอาชีพเช่นนี้จะเป็นหลักประกันโดยตรงต่อการสร้างความเข้มแข็งของกองทัพในทางการทหาร (ไม่ใช่การสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองของกองทัพ)

เพราะหลักการประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่ได้ปฏิเสธต่อการดำรงอยู่ของกองทัพในระบบการเมืองแต่อย่างใด หากถือว่าการพัฒนาการเมืองจะต้องทำให้กองทัพเป็นประชาธิปไตยคู่ขนานด้วย (เป็นความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารในระบอบประชาธิปไตย)

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงต้องการการมีกองทัพที่เข้มแข็งเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันประเทศ หรือหลักการพื้นฐานก็คือ บทบาทของกองทัพในประเทศพัฒนาแล้วโดยทั่วไป กองทัพเป็นเครื่องมือของ “การป้องปราม” หรือเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ในการยับยั้งการตัดสินใจของผู้นำรัฐข้าศึกในการตัดสินใจเปิดการโจมตี

การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจึงมิได้มีนัยถึงการปฏิเสธต่อการมีกองทัพ แต่ปฏิเสธต่อการมีบทบาททางการเมืองของกองทัพ ดังนั้น ถ้าพิจารณาจากตัวแบบของประเทศพัฒนาแล้ว เราอาจสรุปได้ว่า ยุทธศาสตร์ทหารของระบอบประชาธิปไตยก็คือ “การสร้างกองทัพให้มีความเข้มแข็งทางทหาร” เพื่อภารกิจในการป้องกันประเทศ

ไม่ใช่ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองของทหาร!