มุกดา สุวรรณชาติ : การแข่งขันทางเศรษฐกิจ จะต้องสร้างความเชื่อมั่น …การเมือง การปกครองและความยุติธรรม

มุกดา สุวรรณชาติ

การแข่งขันในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

ปรับตัว ปรับประเทศไม่ทัน…ลำบากแน่

การเปลี่ยนแปลงในประเทศ และในโลก พัฒนาเร็วขึ้นในรอบ 4-5 ปีนี้ เพราะการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เร็วจนผู้คนส่วนใหญ่ตามไม่ทัน

ไม่ทันทั้งในแง่ที่ไม่รู้

ไม่ทันเพราะไม่มีกำลังทรัพย์จะซื้อมาใช้

ดังนั้น คนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่เป็นก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ จะตามทันหรือไม่ การเปลี่ยนแปลงก็มีผลกระทบมาถึงทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลกระทบนั้นมีทั้งแบบที่มองเห็นชัด มองไม่เห็น เป็นภัยร้ายและเป็นผลดี

พวกคนรวยที่อยู่ในยุโรปไม่รู้สึก วันที่มีการเริ่มรบกันในซีเรีย และยังคิดไม่ถึงผลกระทบ พอถึงวันนี้ก็รู้แล้วว่ามันสั่นสะเทือนมาถึงหน้าบ้านที่ตนเองอาศัยอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คนที่เคยทำงานกับสิ่งพิมพ์ถึงวันนี้ก็รู้ว่ายอดขายได้ลดลงไปมากแล้ว ที่อยู่ไม่ไหวก็ต้องปิดตัวเองลงไป

คนที่เคยค้าขายด้านพลังงานเคยขุดน้ำมันขายได้แพงๆ ก็พบแล้วว่ารายได้ของตนเองลดน้อยลงและในอนาคตอาจจะลดน้อยลงไปอีก

สินค้าการเกษตรซึ่งเคยมีคนประเมินไว้ว่าเมื่อคนในโลกเพิ่มขึ้นสินค้าควรจะขายดีแต่วันนี้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ มนุษย์สามารถเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าการเกษตรทั้งธัญพืชผลไม้อาหารที่จะบริโภคทุกชนิดสัตว์น้ำสัตว์บกถูกนำมาเลี้ยงและพัฒนาพันธุ์ การป้อนอาหารสู่ตลาดต้องแข่งขันสูง

ผู้คนในทุกประเทศจึงต่างพากันดิ้นรนไม่ว่าคนรวยหรือคนจน

แม้เศรษฐีก็มีความทุกข์เพราะตัวเองมีเงินเป็นร้อยล้านพันล้านแต่ดอกเบี้ยที่จะได้รับจากธนาคารเหลือศูนย์หรือติดลบคือต้องเสียค่าฝากเงิน

คนจนซึ่งอยู่ห่างชั้นมากกลับไม่มีเงินที่จะใช้ให้ดำรงชีวิต

การดำรงชีวิตของผู้คนในแต่ละประเทศ คือชีวิตของประเทศ

ถ้าไม่อยากป่วย ไม่อยากตาย ก็ต้องจัดความสมดุลของร่างกาย

หมายความว่าจะต้องมีการเมืองการปกครองที่ดี มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ดี

เมื่อรวมกันแล้วสามารถสนับสนุนให้ประชาชนใช้ชีวิตสร้างโอกาสการทำมาหากิน มีสิทธิเสรีภาพซึ่งจะทำให้เกิดความสุขได้ระดับหนึ่ง

แต่เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ของทั้งโลกนี้

ถ้าเราดูซีเรียวันนี้ที่นั่นเหมือนนรก

…ย้อนมาดูบ้านเราชีวิตของชาวบ้านที่ดำรงอยู่ดีกว่าที่นั่นเยอะ

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศก็อาจไม่ดีเท่า

ชาวบ้านจึงจะถามกันว่า…พรุ่งนี้และอนาคตเราจะอยู่กันอย่างไร

 

ประเทศไทยคือผู้ผลิตเลี้ยงโลก…ไม่ใช่เห็บ

โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเราคือโครงสร้างทางเศรษฐกิจของผู้ผลิต ไม่ใช่ผู้ผลิตธรรมดา แต่อยู่ในระดับที่ส่งสินค้าออกไปเลี้ยงทั่วโลก

โครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทยจึงไม่ใช่…เห็บ…ซึ่งเป็นปรสิต

เราไม่ได้เกาะกินสัตว์อื่น ไม่ได้ดูดเลือดสัตว์อื่นจึงจะอยู่ได้

แต่เราเป็นผู้สร้าง

เราผลิตธัญญาหารตั้งแต่ ข้าว ข้าวโพด มัน เลี้ยงทั้งคนทั้งสัตว์ทั่วโลก

ผลิต-ส่งน้ำตาลออกไปทั่วทั้งโลก

เราส่งอาหารทะเลออกขายไปทั่วโลก

เราส่งออกเนื้อไก่ไปทั่วโลก สามารถผลิตรถยนต์ขายไปทั่วโลก

สินค้าเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ก็ส่งออกไปทั่วโลก

สภาพการดำรงอยู่และโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่เพียงผูกพันกับคนในประเทศ ยังผูกพันกับประเทศรอบข้าง เงินค่าจ้างค่าแรงที่กระจายออกไปตามแนวชายแดนสินค้าเพื่อความสะดวกสบายของชีวิตทั้งหยูกยาอาหารก็กระจายออกไปตามแนวชายแดน

ดังนั้น ไม่ว่ามองจากภายใน มองจากรอบบ้าน หรือมองกว้างไกลออกไปทั้งโลก ประเทศไทยยังเป็นจักรกลชิ้นหนึ่งในการดำเนินชีวิตของคนทั้งโลก

แม้จะไม่ใช่มหาอำนาจ แต่สิ่งที่เราทำไม่ใช่การทำลาย

เราเป็นผู้ที่สร้างสรรค์การดำเนินชีวิตของทั้งโลก

โดยโครงสร้างแบบนี้ดูแล้วประชาชนของเราควรจะมีเงิน มีชีวิตที่สุขสบายพอสมควรและมีความสุข

แต่เป้าหมายเหล่านั้นไม่สามารถสร้างขึ้นได้โดยโครงสร้างเศรษฐกิจเท่านั้น ยังจะต้องมีโครงสร้างทางการเมืองการปกครองมาเป็นส่วนประกอบ

รัฐจะต้องกำหนดการแบ่งสรรผลประโยชน์ที่ได้รับจากการผลิตต่างๆ กระจายมาในรูปภาษีและสวัสดิการเพื่อเกื้อหนุนกับประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานเป็นผู้สร้างสรรค์

มิฉะนั้นสภาพของคนที่เป็นพื้นฐานแรงงานการผลิต ก็จะต้องอยู่อย่างยากจนต่อไป

การกำหนดค่าแรงวันละ 300 หรือที่จะเพิ่มให้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดโอกาสให้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

การมีสวัสดิการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีการประกันสังคม ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความสุขสบายเป็นหลักประกันของชีวิตคนชั้นล่างในประเทศนี้ ถ้าเศรษฐกิจโตรุ่งเรือง คนที่อยู่ส่วนบนซึ่งเป็นเจ้าของทุนเป็นหัวหน้างานระดับสูงเป็นผู้จัดการซึ่งมีรายได้จากผลกำไรก็จะยิ่งร่ำรวยมากขึ้น

ส่วนคนชั้นล่างพอจะลืมตาอ้าปากได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัย หลายด้าน…เพราะ

 

ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของโลก

ที่ไม่สามารถแยกออกได้

กลไกการค้าแบบสากลมีหลายปัจจัยที่จะสร้างความสำเร็จ

1. สภาพของเศรษฐกิจทั่วทั้งโลกต้องเติบโตพอควร ยิ่งคนมีเงินมีจำนวนมาก ก็จะมีกำลังซื้อจากหลายประเทศทั่วโลก การค้าและการส่งออกจะทำรายได้เข้าประเทศได้มากขึ้น

2. สภาพเศรษฐกิจภายในประเทศต้องไม่ทรุดลงไปอีก คนส่วนใหญ่ต้องมีงาน มีการผลิต ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ผู้ใช้แรงงานมีเงินในกระเป๋าจึงเกิดกำลังการซื้อ เศรษฐกิจก็จะหมุนเวียนต่อเนื่องและผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต

3. เสถียรภาพทางการเมืองการปกครองต้องอยู่ในสภาพที่มั่นคงและนิ่งพอสมควรจึงจะทำให้มีผู้กล้าลงทุน …ผู้ลงทุน ณ เวลานี้ไม่เพียงคนต่างประเทศ ยังหมายถึงคนในประเทศด้วย เพราะบัดนี้เราได้พบว่าคนในประเทศของเราเองส่งเงินออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นทุกที

4. กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ตำรวจ จนถึงศาลยุติธรรมจะต้องมีความยุติธรรมที่มีมาตรฐาน ต้องให้นานาชาติเชื่อถือ

คนที่ลงทุนเป็นพันล้าน หมื่นล้าน ก็กลัวเหมือนกันว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นแล้วจะถูกยึดทรัพย์ พวกเขาจะทำอย่างไร ทรัพย์สินจำนวนมหาศาลของการลงทุนขนาดใหญ่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ง่ายๆ ไม่เหมือนเงินในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเอามาซื้อหุ้นถ้ารู้สึกว่าสถานการณ์ไม่ดีก็ขายทิ้งโอนเงินออก

แต่ถ้าอยู่ในรูปโครงสร้างพื้นฐานหรือโรงงานไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ ดังนั้น ต้องสร้างความเชื่อมั่น ไม่ใช่ความกลัว

 

เสถียรภาพทางการเมืองการปกครอง

และความยุติธรรมในอนาคต

จะเป็นอย่างไร

1.ดูจากปัจจัยของความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แม้ความขัดแย้งยังไม่ยุติ แต่ปัจจุบันสถานการณ์ยังอยู่ในสภาพคลื่นใต้น้ำ ถือว่าที่ผิวน้ำมีความสงบ การสัญจรทางน้ำยังใช้ได้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญการเลือกตั้งและการประนีประนอมของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่จะยอมรับกติกาและทำตามกติกาที่เหมาะสม ขณะนี้ยังไม่มีใครประเมินได้ ได้แต่หวังว่าจะดีขึ้น

2. ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช การขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการขององค์รัชทายาทจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดความสงบ คนในประเทศและต่างประเทศคาดว่าการครองราชย์ที่เป็นไปตามกฎมนเทียรบาลและตามรัฐธรรมนูญจะเรียบร้อยในเร็วๆ นี้ตามคำแถลงของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

18 ตุลาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า

…เรื่องการสืบราชสันตติวงศ์นั้น ขอทุกคนอย่ากังวล เป็นเรื่องที่ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ชัดเจน มีกฎมนเทียรบาล และจารีตประเพณี ขอทุกคนทั้งในและต่างประเทศอย่าได้มีความกังวลหรือสงสัยใดๆ เพราะขณะนี้มีความชัดเจนแล้ว เมื่อพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลผ่านพ้นช่วงเวลา 7 วัน 15 วันไประยะหนึ่งน่าจะได้เวลาอันสมควรที่จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 ต่อไป นั่นคือขั้นตอนที่รัฐบาลจะต้องนำเรื่องแจ้งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อมีมติตามรัฐธรรมนูญ โดยระหว่างนี้รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่ามีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน เดี๋ยวจะเข้าใจอะไรกันผิดอีก

3. การดำเนินการเลือกตั้งตามโรดแม็ปที่วางไว้น่าจะเป็นไปตามปกติตามคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่า…

ส่วนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่จะทรงลงพระปรมาภิไธยภายในกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยจะไม่กระทบต่อปฏิทินการทำงานเป็นอันขาด ประเทศหยุดไม่ได้ ยิ่งต้องช่วยและร่วมมือกันในการสร้างความเข้าใจ รวมพลังกันขับเคลื่อน สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลเดินหน้าประเทศซึ่งวันนี้ยังอยู่ในขั้นตอนตามโรดแม็ปทุกประการยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

รองนายกฯ วิษณุ กล่าวว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่จะทรงลงพระปรมาภิไธยด้วยพระองค์เอง แต่จะเป็นเมื่อไรนั้นไม่สามารถตอบได้ แต่ขอให้ความมั่นใจว่าจะไม่กระทบขั้นตอนระยะเวลาในปฏิทินการทำงานเป็นอันขาด เพราะเมื่อนายกฯ ทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญ ร่างดังกล่าวจะอยู่ที่สำนักราชเลขาธิการได้ 90 วัน

ดังนั้น อย่างไรเสียจะอยู่ในช่วงเวลานั้น หรือหากล่าช้ากว่านั้นก็ไม่มีผลกระทบใดๆ เนื่องจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สามารถทำงานของเขาได้ จึงอย่าไปตีความอะไร ทุกอย่างตรงไปตรงมาหมด ส่วนรัฐบาลเองจะได้เตรียมการ สถานการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็พร้อม

เรื่องการเมืองการปกครอง ถ้ามีใครให้ความเห็นหรือรายละเอียดต่างกัน ต้องเชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะมีอำนาจสูงสุด เป็นทั้งนายกฯ และหัวหน้า คสช.

คนทั่วไปก็เลยคาดกันว่า มาตรา 23 จะสามารถดำเนินการได้ในเร็ววันนี้ ซึ่งน่าจะอยู่ในระยะประมาณ 30 วันจากนี้ มีบางเรื่องที่คนธรรมดาไม่อาจเข้าใจ ไม่รู้ความจำเป็นและภารกิจของบุคคลสำคัญต่างๆ

4. กฎหมายต่างๆ ที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมทั้งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง กับเศรษฐกิจ กับสิทธิเสรีภาพของประชาชนสามารถจะปรับปรุงให้เป็นมาตรฐานได้หรือไม่

การใช้อำนาจพิเศษต่างๆ จะยังคงมีอยู่หรือไม่

ถ้าหากพื้นฐานของกฎเกณฑ์การใช้กระบวนการยุติธรรมสามารถแสดงออกให้เห็นว่าเหมาะสมยุติธรรมดีก็จะเป็นที่ยอมรับ แต่ถ้าหากพบว่าไม่สามารถหาความยุติธรรมได้ โลก…จะพูดว่าถ้าหากคนในชาติเดียวกันยังไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ คนต่างชาติจะไปหวังอะไรกับความยุติธรรมที่เป็นมาตรฐาน

1 ปีจากนี้ สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทยในทุกด้าน และในระยะ 2-3 ปี การเมืองอาจทำให้การแยกมิตร แยกศัตรูทางการเมือง ผันผวนอีกครั้ง ซึ่งอาจจะดีขึ้นก็ได้ แต่อย่าคาดหวังสูง โลกไม่สวยอย่างที่หวัง