สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา ดาว์พงษ์ โมเดล (5)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพื่อผลักดันการปฏิรูปการศึกษา เป็นยุทธศาสตร์ประการที่ 5 ในยุคดาว์พงษ์ โมเดล รายละเอียดปรากฏตามแผนภูมิหรือลายแทงที่นำมาลงประกอบนี้

มาตรการลำดับแรกเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ เริ่มตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหาร คือ ยกเลิกนโยบายแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้นักเรียนทุกคนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมีข้อถกเถียงทั้งในเชิงบริหารเกี่ยวกับช่องโหว่การจัดซื้อ จัดจ้าง คุณภาพเครื่อง และในเชิงวิชาการเกี่ยวกับระดับของผู้ได้รับ ควรให้ตั้งแต่ระดับชั้นใด ประถมปีที่ 1 หรือสูงกว่านั้น ควรแจกเฉพาะวงจำกัดนักเรียนที่ขาดแคลนจริงๆ หรือแจกทั่วไปเหมือนกันหมด

เปลี่ยนแนวทางมาเน้นการขยายโครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โดยเทคโนโลยี Distance Learning Information Technology (DLIT) ซึ่งนำมาสู่โครงการ Distance Learning Television (DLTV) จัดการเรียนการสอนแนวทางตามพระราชดำริ เริ่มที่โรงเรียนไกลกังวล ตั้งแต่ พ.ศ.2538 พัฒนาเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2556 มีโรงเรียนใช้ DLTV 6,000 แห่ง

พ.ศ.2557 รัฐบาลขยายผลไปยังโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น 15,369 โรง

พร้อมกันนั้นใช้เทคโนโลยี Online เพื่อการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยระบบ TEPE Online จัดหลักสูตรพัฒนาครูออนไลน์หลากหลาย จัดตั้งศูนย์ TEPE Online 9 ศูนย์

lytdfm

 

ส่งเสริมระบบ DLIT สำหรับโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่จำนวน 15,553 โรง ให้นักเรียนและประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างสะดวกตลอดเวลาที่ www.dlit.ac.th ให้เป็นห้องเรียนแห่งคุณภาพ มีสื่อการเรียนการสอน Online มีห้องสมุด Online เพื่อครู นักเรียนและผู้ปกครอง มีคลังข้อสอบ Online

ขณะเดียวกันเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงโครงข่ายอินเตอร์เน็ตของโรงเรียน ระบบ Uninet มีโรงเรียนได้รับบริการ 578 โรง ระบบ MOE Net โรงเรียนที่ได้รับบริการ 26,328 โรง และทั้งสองระบบบควบคู่กัน มีโรงเรียนได้รับการพัฒนา 10,146 โรง แต่ก็ยังมีโรงเรียนที่ไม่ได้รับบริการ 8,396 โรง จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นในปี 2560

การใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษา โดยโครงการต่างๆ ที่ว่านี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ผลการประเมินความสามารถของนักเรียนทั้ง 5 กลุ่มสาระ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.6

ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

 

ผลการทดสอบระดับชาติ เอ็นที ป.3 มีค่าการพัฒนาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.12% ผลทดสอบกลุ่มสาระคณิตศาสตร์เพิ่มสูงสุด 6.01% ป.6 มีค่าการพัฒนาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.98% กลุ่มสาระสังคมศึกษามีคะแนนค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 11.66%

คำถามคือ ภาพรวมคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ มีแนวโน้มดีขึ้นด้วยหรือไม่ ขณะที่ผลการจัดอับดับคุณภาพระหว่างอาเซียน ของไทยกลับลดลงอย่างน่าตกใจ

ประเด็นในเชิงยุทธศาสตร์ที่น่าขบคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จึงมีทั้งสองมิติ คือ การเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษา กับมิติความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งหมายรวมทั้งประสิทธิภาพและวุฒิภาวะ

การให้นักเรียนได้ใช้เครื่องมืออย่างทั่วถึง สม่ำเสมอ ทำให้คุณภาพการเรียนรู้เกิดขึ้นมากกว่า ยิ่งมีการต่อยอดนวัตกรรมการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีผู้พัฒนา ศึกษาวิจัย ทดลองใช้จนเห็นผลสำเร็จแล้ว ขยายผลให้กว้างขวางออกไปยิ่งจะเกิดผลต่อเด็กมากขึ้นเท่านั้น

เช่น เทคโนโลยี มัลติพอยต์ คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวใช้เม้าส์พร้อมกันทีเดียว 40 ตัว และระบบการศึกษาทางไกลของโรงเรียนบ้านท่าปากแหว่ง จ.พังงา ที่พัฒนาเป็นแม่ข่ายให้โรงเรียนทั้งจังหวัด ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ

ที่น่าคิดและน่าสนใจ คือเริ่มต้นด้วยจิตตปัญญาศึกษา ให้เด็กทำสมาธิ ก่อนเริ่มบทเรียนทุกครั้ง

 

ตัวอย่างที่ว่ามา เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ยังมีอีกส่วนหนึ่งคือเทคโนโลยีเพื่อการบริหารตั้งแต่บิ๊กดาต้าในระดับกระทรวง กรม และระดับสถานศึกษา

ซึ่งมีโมเดลที่น่าติดตาม เช่น ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ทำโครงการศึกษาวิจัยพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการข้อมูลสถานศึกษา ร่วมกับสถานศึกษาในจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้

นำร่องที่เทศบาลนครภูเก็ต โรงเรียนในสังกัด 7 โรง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 4 แห่ง ศูนย์เยาวชน 1 ศูนย์ เชื่อมโpงฐานข้อมูลสามารถใช้ร่วมกันได้

ปัญหาคือ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการรู้ว่ามีของดีๆ ทำนองนี้อยู่ที่ไหนบ้าง แต่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการประยุกต์ในที่อื่นๆ ได้อย่างกว้างขวาง เพราะอะไร

 

ยุทธศาสตร์ที่ 5 เทคโนโลยีเพื่อปฏิรูปการศึกษาไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะหัวใจอยู่ที่ คน ครับ

สอดคล้องกับสิ่งที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวปฐมนิเทศโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น รุ่น 2559 วันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า ครูกลุ่มนี้จะเป็นพลังเข้าไปเสริมการทำงานของครูที่มีอยู่เดิมกว่า 4 แสนคน ที่ทำงานอย่างหนักในภูมิลำเนาของตนเอง หรือในพื้นที่ขาดแคลน ขอฝากให้ครูทุกคนทำสิ่งที่คาดหวังในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้

พระองค์เคยรับสั่งว่า “การที่จะสอนคนให้เป็นคนดี เทคโนโลยีทำไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีไม่มีชีวิต เทคโนโลยีสอนความรู้วิชาการได้ แต่การจะสอนคนให้เป็นคนดีต้องใช้คนสอน และคนที่จะสอน ก็คือครู ที่จะต้องสอนให้เขาเป็นคนดีตั้งแต่เด็กๆ”

ยุทธศาสตร์ไอซีทีมีส่วนช่วยหนุนเสริมปฏิรูปการศึกษาก็จริง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าและมาก่อนก็คือ สิ่งที่ รมว.ศึกษาฯ อัญเชิญพระราชดำรัสในหลวง มาย้ำนั่นเอง

ฉะนั้น น่าคิดว่าระหว่างยุทธศาสตร์ซึ่งเน้นไปที่คนกับที่เครื่อง ประการไหนควรให้น้ำหนัก ความจำเป็นเร่งด่วน ทุ่มเทงบประมาณและทรัพยากรลงไปก่อนให้มากกว่า ตามลำดับ