อภิญญาตะวันออก : บนเส้นทางเหลือรอดในระบอบ “บองทม”

ในที่สุด ฉันก็พบคำตอบ ถึงเส้นเดินเท้าเข้าออกตามแนวชายป่า-หรือเส้นทางธรรมชาติ ที่อดีตสตริงเกอร์ขาเก่า-คนหาข่าวชั่วคราวบางคนที่ฉันรู้จักคุ้นเคยที่เขายังอาศัยในชมรมค่ายอพยพ และเส้นทางนี้เอง ที่กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง เมื่ออาชญากรไทยบางคนใช้เป็นเส้นทางหลบหนีคดีเข้าไปกบดานในกัมพูชา

พลันฉันก็รำลึกถึงตัวละครบางคนที่มีชีวิต “เหลือรอด” จากอาชีพที่ว่า และหนึ่งในนั้นก็คือพลเอกยึก บุนชัย สมัยที่ยังเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในค่ายอพยพ และจากความชำนาญเดินป่าเวลากลางคืน บุนชัยได้กลายเป็นคนสืบข่าวให้หน่วยงานหนึ่งของไทยสมัยนั้น

ทั้งหมดที่ว่า ก็เพื่อแลกกับอิสรภาพที่เขาจะอยู่นอกเขตควบคุมในชมรม เฉกเดียวกับวิถีสตริงเกอร์จารชนที่ฉันรู้จักคนนั้น บางที พรสวรรค์แบบนั้นเองที่ส่งให้ยึก บุนชัย กลายเป็นหน่วยจรยุทธ์และพลเอกแห่งกองทัพฟุนซินเปกที่ต่อสู้กับกองกำลังเฮง สัมริน (ฮุน เซน)

แต่วันนี้เส้นทางอดีตสตริงเกอร์-คนข่าวที่ผันตัวเองไปประกอบอาชีพอื่น กลับถูกกล่าวเป็น “กบฏ-จารกรรมชน” ในระบอบฮุน เซน คนแล้วคนเล่า ซึ่ง 1 ในนั้นคือเจมส์ ริเก็ตสัน อดีตนักหนังสือพิมพ์ที่ผันตัวไปผลิตภาพยนตร์สารคดี

เขาโดนตั้งข้อหาร้ายแรงเมื่อปีกลาย จากการถ่ายทำหนังรณรงค์การเลือกตั้งท้องถิ่นของพรรคฝ่ายค้าน เจมส์ ริเก็ตสัน ถูกศาลตัดสินข้อหาจารกรรมศาลต้องโทษจำคุก 6 ปี

เจมส์ ริเก็ตสัน จึงเป็นตัวอย่างของความสยองขวัญแก่เจ้าหน้าที่ต่างชาติสายเอ็นจีโอ เช่น กรณีอเล็กซ์-นักปกป้องผืนป่าเกาะกงที่ถูกขับออกนอกประเทศ ตามมาด้วยแวดวงนักสื่อสารที่ถูกกวาดล้างและถ่ายโอนกิจการอย่างเป็นขั้นตอน

ช่างเป็นระบอบแห่งการจำนนที่น่าสนใจ

 

นั่นทำให้ฉันสตั๊นต์ เมื่อบังเอิญพบฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ตัน ในกรุงเทพฯ กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ตันมาพักผ่อนกับครอบครัวระหว่างรอบินกลับฝรั่งเศส ขณะกัมพูชา อีก 2 สัปดาห์กำลังจะเลือกตั้งใหญ่

พลันฉันก็คิดว่า ณ สถานการณ์เช่นนั้น ทำไม ผอ.สถานีวิทยุฝรั่งเศสอินเตอร์เนชั่นแนล (RFI) ถึงเลือกที่จะ-พักร้อน

ที่ผ่านมา ฉันรู้สึกกังวล เมื่อจู่ๆ ฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ตัน ก็หายหน้าไปจากพีเอ็นเอ็นทีวี ที่เขานั่งวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศประจำคู่กับแปน โบนา-อดีตลูกน้องอาร์เอฟไอ ซึ่งเป็นบรรณาธิการข่าว

แต่ฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ตัน ยืนยันว่าเขากำลังจะกลับไปทำรายการให้พีเอ็นเอ็น และเป็นที่ทราบ นี่คือกระบอกเสียงหนึ่งของระบอบฮุน เซน ดังนี้ ทั้งตันและโบนาซึ่งอยู่ในหมวด “ปลอดภัย” มากว่า 3 ปีแล้ว นับตั้งแต่สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ก่อตั้ง และให้ความสำคัญแก่คนทั้งสอง ด้วยรายการข่าวต่างประเทศที่โบนาดูแล และรับเชิญให้ตันมาร่วมงานแต่ผู้เดียว

ความสัมพันธ์อันทับซ้อนนี้ นัยที คล้ายกับจะช่วยปกป้องอาร์เอฟเอไม่ให้ต้องถูกเล่นงานข้อหาจารกรรมจากหน่วยบองทม ที่กวาดล้างทุกรูปแบบ

กรณีตันและพวก ที่ไม่ถึงกับ “ผู้จงรักภักดี” ต่อ “บองทม” แต่ก็ไม่ถึงกับทรยศหรือต่อต้าน โดยตันนั้นยังอาศัยทักษะทางภาษาที่ทำให้เขากลับมาสู่พื้นที่สื่ออีกครั้ง ในฐานะนักเขียนระดับ “เบสต์เซลเลอร์” ด้วยยอดขายกว่า 20,000 เล่ม จากหนังสือชุดประวัติศาสตร์ที่มีความหนากึ่งครึ่งพันหน้า

ขอเรียนว่า นี่คือหนังสือประวัติศาสตร์ชาติอื่นที่ไม่ใช่กัมพูชา

แต่ความตื่นตัวใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ในหมู่ชาวกัมพูชาเวลานี้จะมีใครอื่นเล่า?

ถ้าไม่ใช่ ประเทศ “พี่ใหญ่” ที่ใหญ่กว่า “บองทม” อย่าง “สาธารณรัฐประชาชนจีน”

มันดีสำหรับฉันอย่างมากที่เฝ้าดูความเป็นไป โดยเฉพาะในการที่ฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ตัน ไม่ถึงกับถูกระบอบฮุน เซน “เก็บงำ” หรือ “ลดสถานะ” อย่างที่ประสบในโชคชะตา

บ้างถูกจับขังข้ามปี บ้างโชคดีที่เพิ่งถูกปล่อยตัวเช่นกรณี 2 นักข่าวอาร์เอฟไอ แต่ก็มีที่บ้างยังถูกจำคุกในเรือนจำเปร็ยซออีกต่อไป

บนรอยทางระบอบฮุน เซน ที่ไม่ปรานีปราศรัยต่อวิถีเสรีนิยม โดยเฉพาะคนสายข่าว จึงนับเป็นสิ่งเลวร้ายอย่างมาก สำหรับผู้ถูกใบสั่งว่าเป็น “ศัตรู”

หรือแม้แต่บุคคลในสายนี้ที่ “เหลือรอด” ก็ตาม แต่ก็มักถูกจำกัดให้เป็นบุคคลที่ต้อง “เก็บงำ” สถานะตามระเบียบบองทม (ไม่เว้นแม้แต่สายวงศ์ตระกูล)

โชคดีของฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ตัน และพวกที่สามารถฟื้นและกลืนตัวเองกับระบอบบองทม ที่ตันบอกว่า อาจจะมาจากการที่เขาอยู่ในสายข่าวต่างประเทศ และที่ปฏิเสธไม่ได้คือ อาร์เอฟไอถือนโยบายไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล

ขณะที่ฝ่ายปฏิปักษ์ ต่างประสบหายนะจำนวนมาก แต่ฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ตัน ดูจะมีอะไรบางอย่างที่ต่างไปด้วย นั่นคือ การที่เขาเป็นพิธีกรข่าวต่างประเทศ ที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับหน่วยกำจัดศัตรูที่มีประสิทธิภาพของบองทม

มากกว่านิยาม “เหลือรอด” ฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ตัน ยังบริหารสถานีวิทยุข่าวอาร์เอฟไออย่างประสบความสำเร็จ ทั้งทางธุรกิจและการเมือง ไม่ต่างจากยอมที่จะ “ตกถัง” ไปกับระบอบฮุน เซน

แต่กระนั้น ฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ตัน ก็ไม่ถึงกับถูกต่อต้านจากฝ่ายมวลชนที่ชิงชังบุคลากรและสัญลักษณ์อันมาจากระบอบนี้ ตรงกันข้าม เขากลับประสบความสำเร็จในวิชาชีพอย่างน่าทึ่ง

โดยวัดจากงานเขียนประวัติศาสตร์ที่ทยอยตีพิมพ์ออกมาขาย

และได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นอย่างดีจากแฟนนักอ่านท้องถิ่น ที่หันไปกว้านซื้อหนังสือประวัติศาสตร์ชุดต่างประเทศอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ความตื่นตัวนักอ่านเขมรต่องานของฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ตัน ที่ลึกซึ้งนี้ ใช่แต่ประวัติศาสตร์จีนเท่านั้น ยังมีบทวิเคราะห์อื่นๆ ในสื่ออื่นๆ อาทิ ปมขัดแย้งกลุ่มเหลือง-แดงภายใต้รัฐสภาประชาธิปไตยอันมีพระกษัตริย์ทรงเป็นประมุข ชนกลุ่มน้อยกัมพูชาใต้ในเวียดนาม และอื่นๆ อย่างมากด้วยทักษะภาษาที่เชื้อสายลูกผสมเขมร-จีน-ฝรั่งเศส หาได้ช่วยให้เขาช่ำชองภาษาอย่างที่เข้าใจ

สารภาพตามตรงว่า ฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ตัน บอกว่า เขาเพิ่งฝึกฝนฝีมือเขียนตำราภาษาเขมรอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้ แต่อานิสงส์มาจากสมัยร่ำเรียนอย่างหนักในต่างแดน ที่มีส่วนทำให้ฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ตัน สามารถเขียนประวัติศาสตร์ตามแบบฉบับมาตรฐานนักวิจัย

จึงไม่แปลกที่แม้จะไม่ใช่ชาวเขมรแต่กำเนิด (แขฺมร์สด) แต่สามารถผลิตผลงานจนติดระดับเบสต์เซลเลอร์ของประเทศ จวบกับอาการประหวั่นพรั่นพรึง “ตกตื่น” ต่ออิทธิพลเหลือล้นของจีนในกัมพูชา

อึมห์ นะ ช่างเป็นอะไรที่แปลกดีสำหรับประเทศนี้ ที่นักเขียนต่างชาติกลับสามารถเปิดศักราชงานเขียนระดับมาสเตอร์ ทั้ง เดวิด พี. แชนด์เลอร์ นักเขมรศึกษาจากออสเตรเลีย เจ้าของผลงาน “ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกัมพูชา” ที่หลากด้วยมิติและเป็นตำนาน

ซึ่งยังเนียนมานโอฬาริกจนทุกวันนี้

 

ในเชิงสัมพันธ์แบบทุติยภูมิตามแบบฉบับพรรคคอมมิวนิสต์ประชาชนกัมพูชา ทั้งฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ตัน (และแปน โบนา) อยู่ในฐานะที่มีอิสรภาพในการทำสื่อ ตราบใดที่พวกเขาไม่ก้าวล่วงในกิจการภายในของพรรค ซึ่งมีนโยบายจำกัดเสรีภาพสื่อสาธารณะตามระบอบคอมมิวนิสต์

โดยเฉพาะสื่ออิสระที่พยายามขุดคุ้ย เปิดโปงระบอบ “บองทม” ซึ่งถือเป็นปฏิปักษ์ และจะถูกกระทำอย่างถอนรากถอนโคนในแบบต่างๆ อย่างเป็นกระบวนการตามระบอบปกครองแบบรัฐสภา ทว่าในลักษณะแบบคอมมิวนิสต์ ที่มีวิเธียนการหลักคือ การจำกัดสถานะ

กรณีของฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ตัน และแปน โบนา แม้จะพบว่าไม่ถึงกับจำกัดให้อยู่อย่างไร้ “ตัวตน” ในคนทั้งสอง แต่ก็จำกัดสถานะภายใต้นโนบายองค์กรที่แลกมาด้วยข้อเสนออันน่าลิ้มลอง เช่นที่แปน โบนา ถูกซื้อตัวจากอาร์เอฟไอ ภายใต้เงื่อนไขสื่อที่ทันสมัยที่สุดของรัฐ

แต่ทั้งหมดก็จำกัดด้วยนโยบายจากเบื้องบนซึ่งกำหนดกลไกลการทำงาน วิถีชีวิตพื้นฐาน ระบบติดตาม ตรวจสอบความภักดีองค์กรของแต่ละบุคคล อันมีลักษณะเครือข่าย-การทำงานแบบองค์กรลับอย่างน่าพิศวงของ “บองทม” ระบอบที่เดินหน้ามาถึงวันนี้

และนี่คือคำตอบว่า ทำไมฉันจึงให้ความสนใจฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ตัน ตั้งแต่เริ่มมีตัวตนบนสื่อรัฐ ภายใต้กลไกแบบ 1 ระบอบ 2 ลัทธิ คือกึ่งประชาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ แห่งระบอบ “บองทม” ฮุน เซน

เป็นศาสตร์และศิลป์ความสุ่มเสี่ยง ที่ใช่ว่าทุกคนหรอกนะจะทำได้