จิตต์สุภา ฉิน : อีโมจิเพื่อทุกคนบนโลก

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

การส่งข้อความแชตเป็นตัวอักษรแม้จะเพียงพอที่จะสื่อใจความสำคัญให้คู่สนทนาของเราเข้าใจได้

แต่บ่อยครั้งที่มันไม่สามารถสื่อสารอารมณ์บางอารมณ์ออกไปได้ ต่อให้เราเลือกใช้ถ้อยคำที่สุภาพที่สุด

แต่หากต้องการหยอดความสนุกสนานหรือความขี้เล่นเข้าไปเพื่อผ่อนคลายความเป็นทางการนั้นและทำให้คนที่เราคุยด้วยรู้สึกเป็นกันเองกับเรามากขึ้น

สิ่งที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ข้อนี้ได้ก็คือการใช้อีโมจิหรือภาพการ์ตูนอีโมติคอนตัวเล็กๆ ที่อยู่บนคีย์บอร์ดในสมาร์ตโฟนของเรานี่แหละค่ะ

อีโมจินอกจากจะมีหน้าที่ในการทำให้บทสนทนาของเราเป็นไปอย่างมีอรรถรสมากขึ้นและสื่อความบางอย่างที่ตัวอักษรไม่อาจทำได้แล้ว หน้าที่ของมันยังยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก

ไม่ว่าจะเป็นภารกิจของการก่อให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้

ไปจนถึงการทำแคมเปญการตลาดสร้างสรรค์ ในแบบที่เห็นแค่แว้บเดียวก็เข้าใจความหมายไม่ว่าคุณจะเป็นคนชาติไหนและใช้ภาษาอะไรในการสื่อสารก็ตาม

 

ยกตัวอย่างแคมเปญการตลาดบางอย่างที่ใช้อีโมจิเข้ามาช่วยสื่อสารกับลูกค้าและทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูสนุกสนานร่าเริงขึ้น

อย่างเช่น ป้ายบิลบอร์ดโฆษณาภาพยนตร์เรื่องเดดพูล (Deadpool) ซึ่งแทนที่จะใช้ภาพตัวละครมาโฆษณาอย่างที่บิลบอร์ดอื่นๆ เขาทำกัน

แต่กลับใช้อีโมจิรูปหัวกะโหลก อึ และตัวอักษร L มาเรียงต่อกัน คนที่ขับรถผ่านมาผ่านไปที่ได้เห็นป้ายนี้เพียงแว้บเดียวก็สามารถถอดรหัสออก

หรือหากยังถอดไม่ออกในขณะนั้น ขับไปอีกแค่ไม่กี่เมตรก็น่าจะร้องอ๋อแล้ว

หรือแบรนด์พิซซ่าชื่อดังอย่างโดมิโนส์ พิซซ่า ก็หยิบเอาอีโมจิมาเล่นสนุก ด้วยการให้ลูกค้าทวีตอีโมจิรูปพิซซ่าเพื่อสั่งซื้อพิซซ่า

ขั้นตอนเริ่มต้นด้วยการเข้าไปลงทะเบียนสร้างบัญชีผู้ใช้บนเว็บไซต์ของโดมิโนส์ก่อน เลือกพิซซ่าแบบที่ชอบ เชื่อมต่อเข้ากับบัญชีทวิตเตอร์

จากนั้นทุกครั้งที่ทวีตภาพอีโมจิพิซซ่าเข้าไปหาโดมิโนส์ ก็จะนับเป็นการสั่งพิซซ่าได้ทันที

นี่เป็นกลยุทธ์การตลาดที่น่ารักและทำให้การสั่งพิซซ่าสนุกสนานขึ้นมาก

คราวนี้มาดูแคมเปญรณรงค์กันบ้างค่ะ อีโมจิถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ บนโลกใบนี้

ล่าสุดองค์กร Plan UK ได้ออกแบบอีโมจิที่สื่อถึงเลือดประจำเดือนของผู้หญิง และเปิดให้คนทั่วไปมาร่วมโหวตว่าภาพไหนเหมาะสมที่จะกลายเป็นอีโมจิมากที่สุด

ซึ่งก็มีทั้งภาพผ้าอนามัยเปื้อนเลือด ภาพกางเกงในที่มีสัญลักษณ์หยดเลือดแปะอยู่ตรงกลาง ภาพปฏิทินรูปหยดเลือดสามหยด หรือภาพมดลูกผู้หญิง

โดยแนวคิดเบื้องหลังมาจากผลการสำรวจที่ระบุว่า 48% ของเด็กผู้หญิง อายุ 14-21 ปี รู้สึกอับอายที่มีประจำเดือน ในขณะที่ในประเทศอินเดีย มีเด็กผู้หญิงและผู้หญิงในวัยผู้ใหญ่เพียง 12% เท่านั้นที่เข้าถึงผลิตภัณฑ์อนามัยที่ใช้รองรับประจำเดือนได้

ส่วนในยูกันดา เด็กหญิงกว่า 28% ต้องหยุดเรียนในช่วงที่มีประจำเดือน

แต่ไม่ใช่ว่าทุกอีโมจิที่ออกแบบกันมาจะได้รับการอนุมัติให้เข้าไปร่วมอยู่ในคอลเล็กชั่นได้นะคะ

เพราะไม่อย่างนั้นก็จะมีอีโมจิเยอะแยะมากมายนับไม่ถ้วนจนเราคงหากันไม่หวาดไม่ไหว

แต่เขาจัดการกันแบบนี้ค่ะ

 

เนื่องจากอีโมจิที่มีถิ่นกำเนิดแรกเริ่มในญี่ปุ่นนั้นถูกรวมเข้าไปอยู่ในมาตรฐานยูนิโค้ดที่เป็นมาตรฐานการเข้ารหัสของข้อความและตัวอักษรต่างๆ ที่เราพิมพ์ลงไปในคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องบนโลกเข้าใจตรงกัน

อีโมจิจึงอยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรไม่หวังผลกำไรที่เรียกว่า Unicode Consortium

ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ กับองค์การสหประชาชาติแต่เน้นการดูแลมาตรฐานตัวอักษรบนแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ทุกรูปแบบ

การจะเพิ่มอีโมจิใหม่ๆ เข้าไปได้ จะต้องเริ่มต้นด้วยการยื่นคำร้องให้ทางองค์กรพิจารณา โดยคำร้องก็จะต้องระบุให้ละเอียดว่าภาพที่ต้องการจะใช้คือภาพอะไร ทำไมจะต้องเลือกใช้ภาพนี้ และข้อกำหนดของการออกแบบมีอะไรบ้าง

จากนั้นก็รอให้คณะกรรมการประชุมเพื่อโหวตว่าจะรับหรือไม่รับ

ซึ่งก็น่าเสียดายที่อีโมจิภาพเลือดประจำเดือนที่ว่าถูกคณะกรรมการปัดตกแล้วเรียบร้อย

แต่ทาง Plan UK ก็บอกว่าจะไม่ย่อท้อ และจะนำเสนอภาพหยดเลือดหยดเดียวหยดใหญ่ๆ เพื่อส่งกลับไปอีกครั้ง

แคมเปญรณรงค์ที่ยื่นเรื่องไปแล้วได้รับการอนุมัติก็มีไม่น้อยนะคะ ล่าสุดก็คือเมื่อปี 2017 นักวิจัยจาก Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health ยื่นเรื่องขอให้มีการเพิ่มอีโมจิรูปยุงเพื่อก่อให้เกิดความตระหนักถึงโรคร้ายจากยุง อย่างเช่นมาลาเรีย หรือซิก้า ที่เป็นโรคระบาดในหลายประเทศทั่วโลก

คำร้องนี้ได้รับการอนุมัติให้เพิ่มเข้าไปในคอลเล็กชั่นอีโมจิปี 2018 แล้ว ซึ่งเราก็จะได้ใช้อีโมจิรูปยุงกันเร็วๆ นี้ค่ะ

 

สาเหตุที่จะต้องหยิบอีโมจิมาใช้ในการรณรงค์นั้นก็เป็นเพราะว่าทุกวันนี้คนจำนวนมากในโลกเข้าถึงอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ได้อย่างทั่วถึง

แต่ทุกคนก็จะมีภาษาที่ใช้แตกต่างกันออกไปทำให้เกิดข้อจำกัดทางด้านภาษาขึ้น

แต่ภาษาคอมพิวเตอร์เป็นภาษาที่อุปกรณ์ของทุกคนเข้าใจตรงกัน และภาษาที่สื่อสารด้วยภาพไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหนเห็นแว้บเดียวก็เข้าใจได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้อีโมจิถูกหยิบมาใช้ทั้งในวัตถุประสงค์ของการโฆษณาและการรณรงค์นั่นเองค่ะ

อีกประการก็คือ ทุกวันนี้เราให้ความสนใจกับอีโมจิเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องที่ชวนขบขันก็คือ เมื่อเร็วๆ มานี้มีผู้ใช้งานสังเกตว่าอีโมจิรูปเบอร์เกอร์ของแอปเปิลและกูเกิลนั้นไม่เหมือนกัน (อธิบายเพิ่มเติมว่าแต่ละค่ายสามารถนำอีโมจิไปออกแบบให้เป็นของตัวเองได้โดยจะต้องทำตามกฎระเบียบของการออกแบบที่วางไว้ค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นกฎหลวมๆ ให้นักออกแบบนำไปตีความได้ตามสไตล์ตัวเอง ก็เลยทำให้โทรศัพท์แต่ละแบรนด์จะมีอีโมจิที่หน้าตาไม่เหมือนกันเป๊ะๆ ค่ะ)

เบอร์เกอร์ของแอปเปิลจะมีชีสวางอยู่บนเนื้อแฮมเบอร์เกอร์ ในขณะที่เบอร์เกอร์ของกูเกิลชีสกลับระเห็จไปอยู่ระหว่างเนื้อกับขนมปังแผ่นสุดท้าย เมื่อมีคนตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ขึ้นมาก็ทำให้โลกทวิตเตอร์ลุกเป็นไฟ ถกเถียงกันยกใหญ่ว่าจริงๆ แล้วชีสควรอยู่บนหรือล่างเนื้อแฮมเบอร์เกอร์กันแน่

ร้อนถึงซุนดาร์ พิชัย นายใหญ่ของกูเกิล ที่ต้องออกมาทวีตแบบซีเรียสปนขำว่าจะทิ้งงานทุกอย่างที่กำลังทำอยู่ตรงหน้า และกระโดดมาจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างเร็วที่สุด

ไม่นานหลังจากนั้นอีโมจิเบอร์เกอร์ของกูเกิลก็มีชีสมาแปะอยู่บนเนื้ออย่างสวยงามตามแบบที่ควรจะเป็น

เบอร์เกอร์ไม่ได้เป็นดราม่าอีโมจิเรื่องเดียวที่เกิดขึ้นนะคะ

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกูเกิลก็ยังถูกตั้งข้อสังเกตอีกว่าทำไมอีโมจิรูปสลัดผักถึงได้มีไข่ต้มผ่าซีกอยู่ในนั้นด้วย

แล้วคนที่เป็นมังสวิรัติจะใช้อีโมจินี้ได้ยังไง

เรื่องก็จบเหมือนเดิมคือกูเกิลยอมลบไข่ในสลัดทิ้งเพราะอยากให้เป็นอีโมจิที่ทุกคนสามารถใช้ได้อย่างสบายใจ

ในขณะที่อีโมจิรูปปืนของทั้งแอปเปิล กูเกิล ซัมซุง และทวิตเตอร์ก็ถูกเปลี่ยนกลายเป็นปืนฉีดน้ำไปแล้วเพื่อลดความรุนแรงที่มาพร้อมกับรูปปืน

จากตัวอย่างทั้งหมดที่ว่ามาก็จะเห็นได้ว่าอีโมจิได้พัฒนาบทบาทของตัวเองขึ้นมาให้เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วมได้ และเป็นภาษาที่สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้แบบไม่มีกำแพงอะไรขวางกั้น นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับปัญหาสังคมในด้านต่างๆ เลือกใช้อีโมจิมาสื่อสารกับเพื่อนร่วมโลกนั่นเอง

คุณผู้อ่านล่ะคะ คิดว่าในคอลเล็กชั่นอีโมจิทั้งหมดยังขาดรูปอะไรอีกบ้าง?