“เรื่องเล่าหลังกรงขัง” ประสบการณ์-ผลึกความคิด 3 ผู้ต้องคดีการเมือง

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน

การเมืองไทยนับตั้งแต่หลังปฏิวัติสยามใน พ.ศ.2475 ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างประชาธิปไตย-เผด็จการทำให้มีหลายเหตุการณ์ เกิดนักโทษคดีการเมือง

แม้ว่านิยามของ “นักโทษการเมือง” ยังไม่ได้การยอมรับและถูกโยนเข้ากลุ่มนักโทษคดีความมั่นคง เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงวิจารณ์จากนานาประเทศ

แต่เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอด 80 ปีที่ผ่านมามีหลายคดีเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในแนวคิดทางการเมือง ฝ่ายหนึ่งได้อำนาจและประโยชน์ กับอีกฝ่ายต้องพ่ายแพ้และถูกจองจำ

สะท้อนให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของการเมืองไทย และยังส่งผลต่อชีวิตและสำนึกความคิดของผู้คนที่ผ่านชีวิตในเรือนจำจากความขัดแย้งที่ได้สัมผัสด้วย

 

นายสุธรรม แสงประทุม อดีต รมช.มหาดไทยยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และอดีตนักโทษการเมืองคดี 6 ตุลาคม 2519 กล่าวว่า ที่จริงตัวเองติดคุกครั้งแรกตอน 14 ตุลาคม 2516 ตอนวันที่ 14 ผมจะกลับแล้วเพราะคิดว่านักศึกษาได้รับรัฐธรรมนูญแล้ว ตัวเองก็กลับหลังจากชุมนุมหลายวันจนเสื้อผ้าไม่ได้ซัก ตอนนั้นพักอยู่แถวท่าวาสุกรี

ปรากฏว่าเกิดจลาจล รถถังจากเกียกกายผ่านท่าวาสุกรีไปสนามหลวง ผมลุกขึ้นใส่กางเกงทรงมอส เสื้อยืดออกจากบ้านไปบางลำพู พบว่าชาวบ้านต่อสู้ได้อย่างน่ากลัว แล้วใช้รถดับเพลิงที่ยึดได้ไปสู้กับทหาร แต่ผมถูกทหารจับตัวได้ เอาไปขังที่ สน.ชนะสงคราม ก่อนที่จะถูกนำตัวไปสอบสวนที่สโมสรทหารบก

ช่วงที่ถูกสอบสวน นายตำรวจที่สอบสวนผมคือ พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ (บิดาของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์) เห็นผมตอนแรกเป็นพวกที่สร้างสถานการณ์เพราะไว้ผมยาว คนที่ผมยาวจะถูกถามว่าเคยไปรบที่ลาวไหม?

ต่อมา พล.ต.ท.เสมอมาถามว่า “น้องชาย อยากกลับบ้านไหม?” ผมถามกลับว่า “ทำไมล่ะ?” พล.ต.ท.เสมอตอบว่า “จอมพลถนอมลาออกแล้ว น้องกลับบ้านได้แล้ว” จากนั้น พล.ต.ท.เสมอได้ให้เงิน 20 บาท และกำชับว่า “อย่าไปยุ่งอีกนะ”

นั่นเป็นครั้งแรกที่เจอวิกฤต แต่เป็นครั้งแรกที่รู้สึกฮึดเพราะชนะ แทนที่จะกลับบ้าน กลับมุ่งไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

นายสุธรรมกล่าวต่อว่า หลังจากนั้นอีก 3 ปีต่อมา ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผมเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) เพราะด้วยรุ่นพี่ที่ร่วมสู้กันก่อนหน้าต่างล้มตายจนเหลือน้อย ภาระจึงตกกับผม ส่วนเสกสรรค์ไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน อดีตอาจารย์ มธ. และผู้ก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยถูกลอบสังหาร

“หลายคนที่ถูกจับพร้อมกับผมเป็นชุดที่ไปพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เพื่อไปชี้แจงว่าการแสดงละครแขวนคอดังกล่าว ไม่ได้เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เราออกไปขณะที่ธงชัย วินิจจะกูล ถือโทรโข่งหลบกระสุน เปิดทางให้ไปพบนายกฯ เสนีย์ ไปถึงบ้านเสนีย์ตอน 10 โมงเช้าแถวเอกมัย แต่ตอนนั้นถือว่านายกฯ เสนีย์หมดอำนาจแล้ว แล้วอธิบดีกรมตำรวจตอนนั้นมารับช่วงต่อแล้วพาพวกเราไปกองปราบฯ ผมถามว่า “โดนข้อหาอะไร?” นายตำรวจท่านนั้นตอบว่า “เดี๋ยวข้อหาตามไปทีหลัง””

นายสุธรรมเล่าต่อไปว่า ช่วงค่ำวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็ยึดอำนาจแล้ว ผมอยู่ในคุกกองปราบฯ 7 วัน แล้วไปต่อที่คุกบางขวาง คดี 6 ตุลา มีถูกขังอยู่ 3 ที่ ทั้งหมดจำนวน 18 คน ต่างที่ ต่างกรรม ต่างเวลา ช่วงที่อยู่คุกบางขวางได้ประสบการณ์อีกแบบ ระหว่างนั้นต้องซ้อมคดีเองโดยเอากรณีของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นตัวอย่างว่า ว่าความยังไง ติดคุกจากเครียดกลายเป็นหัวเราะ

อีกทั้งช่วงที่ถูกขัง ยังมีอดีตกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยถูกขัง หลังจากนั้นมีความเปลี่ยนแปลง มีหลายคนที่ลี้หนีตายเข้ามาช่วย ถึงวันนี้เราคือเหยื่อ เราควรเป็นโจทก์ เพราะถูกตีถูกสร้างเรื่องจนนำมาสู่การฆ่าคนกลางเมือง กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นสิ่งที่ควรรื้อฟื้นมากที่สุด ตัวน็อตยิ่งขันยิ่งไม่แน่น กลับยิ่งหลวม ขันมากเข้าก็หลุดโพละ

แต่การยึดอำนาจครั้งล่าสุดกลับยิ่งหนัก ยิ่งรุนแรง ลึกซึ้งและเป็นระบบกว่า เพราะฉะนั้น ทุกท่านจึงมีส่วนร่วมกันแบ่งปันและขับเคลื่อนต่อไป ไม่มีใครยอมใคร จึงขอเป็นกำลังใจ

 

ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.ไอซีทียุคทักษิณกล่าวว่า สำหรับสถานะตัวเองตามรัฐธรรมนูญใหม่ถือว่าไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคได้ตลอดชีวิต หลังจากถูกตัดสินโทษจำคุก 1 ปี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ก็ครบ 2 ปีพอดี และเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้รู้จักกับสมยศ พฤกษาเกษมสุขด้วย

วินาทีแรกหลังคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผมถามตัวเองว่า

1. เรายังเงยหน้ามองฟ้า ก้มหน้ามองดินได้อยู่อีกหรือไม่? ผมตอบว่า “ได้”

2. 1 ปีข้างหน้าที่จะต้องไปใช้ชีวิตในเรือนจำพิเศษ เราจะอยู่อย่างมีความสุขหรือทุกข์ ผมตอบว่า ต้องอยู่อย่างมีความสุขให้ได้

3. ถามตัวเองว่า ถ้าจะอยู่ จะอยู่ยังไง ใช้เวลานั้นพัฒนาตัวเองให้ดีที่สุด อะไรที่อยากทำแต่ไม่เคยทำก็ได้ทำ และทำให้เราจะต้องไม่กลัว

“จุดเริ่มต้นของการมีลูกกรง เพราะว่าเรากลัวอาชญากร หรือคนที่ทำร้ายคนอื่น เราจึงสร้างขึ้นเพื่อให้คนที่เรากลัวอยู่ในกรง แต่ต่อมาเราสร้างลูกกรงเพราะเราอยากจะสร้างความกลัวให้กับคนที่ถูกทำให้มีความรู้สึกขัดขวางผู้มีอำนาจ ลูกกรงคือสิ่งที่จะต้องเผชิญ เราจะต้องไม่เกิดความกลัว ความกลัวในที่นี้คือ ความเปลี่ยนแปลง ความไม่รู้ในสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าที่เราไม่คุ้นเคย แต่หากเราไม่กลัวและเดินหน้า สุดท้ายไม่มีอะไรทำให้เรากลัวได้”

นพ.สุรพงษ์กล่าวต่อว่า ผมอยู่กับคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในที่เดียวกันเป็นเวลา 10 เดือน นอนพร้อมกัน พูดคุยกันมากพอสมควร จนพบว่าสิ่งที่คุณสมยศ เจอหนักกว่าผมเยอะ ทำให้ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวหรือเป็นทุกข์ ดังนั้น อย่ากลัว ไม่มีอะไรที่หยุดยั้งกระบวนการประชาธิปไตยได้นอกจากความกลัว อย่ากลัวไปว่าสิ่งที่เราทำจะไม่มีหวัง โอกาสที่ประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศไทยว่าไม่ได้นี่คือความรู้สึกที่เราหวาดกลัว ชีวิตหลังลูกกรงจึงอยู่ที่ตัวเรา ถ้าไม่กลัว เราจะอยู่อย่างมีความสุข ผมได้เรียนรู้และเปลี่ยนวิธีคิดมากมาย

น่าแปลก ภายใต้ลูกกรงกลับเป็นอิสระ เพราะปล่อยวางสิ่งที่แบกรับไว้ ชีวิตมีอยู่แค่เสื้อผ้าและรองเท้า 1 คู่ จะมีอะไรที่ต้องกลัวไปกว่านี้

 

ขณะที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำ 24 มิถุนาประชาธิปไตย และอดีต บ.ก.นิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ กล่าวว่า ตอนนั้นติดคุกครั้งแรกหลังจากที่ผมกับ อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะต้องรับผิดชอบต่อการปราบคนเสื้อแดงปี 2553 ต่อมาหมายจับมาถึงบ้านผม ตำรวจตรวจค้นจะได้เสื้อและกางเกงในสีแดง ผมไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนแต่ถูกปฏิเสธ จนในที่สุดก็เข้ามอบตัวและถูกส่งตัวเข้าค่ายอดิศร

“ตอนที่ถูกขังอยู่จากคดีหมิ่นฯ เป็นคนชอบเขียน แต่ผู้คุมตรวจตราตลอด 24 ชั่วโมง ในตู้ล็อกเกอร์ก็มาตรวจว่ามีปากกาหรือกระดาษ ไม่รู้จะสื่อสารกับทางบ้านยังไง ก็ได้น้องในกลุ่มที่เยี่ยมประจำมาช่วย เราเขียนไว้ก่อนแล้วก็จำก่อนไปบอก มากเข้าจนกลายเป็นหนังสือเล่มหนึ่งไปแล้ว”

นายสมยศเล่าถึงชีวิต 7 ปีในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า ตอนถูกจับ ผมกลัวมาก แต่ดูแล้ว จำเป็นต้องอยู่กับมัน เชื่อว่าไม่มีใครปรารถนาจะอยู่ แต่ว่าผมก็ไม่ปรารถนาแต่ก็ต้องอยู่ เชื่อว่าอยู่แล้วเป็นคุณูปการ พูดง่ายๆ ผมเป็นฝ่ายถูก จะกังวลไปทำไมกับการอยู่คุก ฝ่ายที่ไม่ถูกต้องเขาควรกังวลใจ และทำให้เห็นว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ว่าที่ไหน เราสู้ แต่เพื่อรักษาจุดยืนจึงต้องอยู่จนครบโทษ

มีวันหนึ่งที่อยู่กับหมอเลี้ยบ (นพ.สุรพงษ์) และคุณจตุพร (พรหมพันธุ์) หมอเลี้ยบบอกให้ออกไป ผมฟังยังรู้สึกหวั่นไหว ผมจึงขอเวลาคิดแล้วต่อมาบอกว่าไม่ได้ ขออยู่ต่อ แต่ทุกคนที่แนะนำให้ออก เพราะอยู่นานไม่ดีแน่ แต่ก็อยู่ต่อลุ้นเป็นปีๆ ไป จนอยู่มาถึง 6 ปี แล้วมีคำสั่งลดโทษแล้วก็ทำเรื่องขอพักโทษ แต่สู้กันนาน

ช่วงที่อยู่ 3 เดือนแรกเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่เพราะกำลังใจจากพี่น้องทำให้รู้สึกอยากอยู่ต่อ

“ไม่ใช่มีกำลังใจดี แต่ในใจเจ็บปวด น้ำตากลั่นเป็นสายเลือด แต่เพื่อรักษาสิ่งที่เรียกว่า “เสรีภาพ” ความถูกต้อง ความยุติธรรม มันจำเป็นทำให้ถูกต้อง”