จรัญ พงษ์จีน : สัญญาณ “เลือกตั้ง” ชัดขึ้น หลังขอเวลาอีกไม่นานกว่า 4 ปี

“สัญญาณบ่งบอกว่า” จะมีเลือกตั้งกันแล้วในไม่ช้าไม่นาน “ชัด” มากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดยิ่งชัดเมื่อ “ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล” รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ “กกต.” ร่อนหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ทุกจังหวัด

แจ้งยอดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละเขตจังหวัด จาก ส.ส.เขต 350 คน พร้อมสรุปตัวเลข จำนวนรวมผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศในปี 2562 ออกมาเป็นที่เรียบร้อย มีทั้งสิ้น 51,564,284 คน จากจำนวนประชากรทั่วประเทศ 66,188,503 คน

แยกย่อยซอยยิกขนาดว่า ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ที่ยังไม่เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นราว 4,510,052 คน

จากตัวเลขกลมๆ 51 ล้านคนโดยประมาณการ คาดว่าหากศึกเลือกตั้งระเบิดเถิดเทิงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ลงเอยตามโปรแกรม คนไทยถึงตื่นตัวเต็มที่ เพราะนานมากแล้ว

นับจากการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554 และถูกยึดอำนาจด้วย “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” ศิโรราบรวม 8 ปี ที่อยู่ถ้ำดึกดำบรรพ์ รูปร่างหน้าตาคำว่า “เลือกตั้ง” อ้วนต่ำ ดำผอมยังไง ทำท่าจะบอกไม่ถูกอยู่แล้ว

กระนั้นก็ตาม สำหรับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตลาดคึกคักขนาดไหน สัดส่วนก็น่าจะปริ่มอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์

ดีดลูกคิดออกมาเป็นตัวเลข โดยประมาณการจะมีผู้ใช้สิทธิราว 35 ล้านคน จากยอดเต็ม 51 ล้านคน

การเลือกตั้งคาบนี้ ผิดฝั่งผิดฝา ตำราคนละเล่มกับการเลือกตั้งใหญ่ 2 ครั้งที่ผ่านมา เป็นไฟต์บังคับตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ.2560 ตัวแปรแห่งความไม่เที่ยง คือที่มาของ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” แกะกล่อง กำหนดกฎกติกากันใหม่แบบ “แกะกล่อง”

เปลี่ยนออปชั่น ยกเลิกบัตรเลือกตั้งสองใบจากที่เคยใช้อยู่เดิม มาเป็นใบเดียว เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนที่ไปหย่อนบัตรใช้สิทธิมีคุณค่า ไม่ทิ้งขว้าง “เสียงส่วนน้อย”

ไม่ว่าผู้สมัครเขตเลือกตั้งจะแพ้หรือชนะ เมื่อการเลือกตั้งยุติ จะยกยอดคะแนนที่ได้รับมาเข้ากองกลางเพื่อเป็นคะแนนของแต่ละพรรคที่ต้องได้รับ แล้วนำไปคำนวณตัดทอนมาเป็นจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้น “พึงมี”

โดยกำหนดที่มาของ “ฐานคะแนนพึงมี” ด้วยการนำจำนวน ส.ส.เขต ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดไว้ 350 คน หดจากของเดิมที่มี 375 คน แล้วนำไปเพิ่มในโควต้า “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” จาก 125 คน เป็น 150 คน

นำ ส.ส.เขตเลือกตั้ง 350 คน ไปบวกกับ “ปาร์ตี้ลิสต์” 150 คน เท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเต็มจำนวน 500 คน

จากนั้น นำสัดส่วน 500 คนที่เป็นจำนวน ส.ส. ไปหารกับเสียงประชาชน ที่คาดกันว่าจะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งตัวเลขประมาณการคือ 35 ล้านเสียง

เสียงกลมๆ จึงออกที่ 70,000 คน คือตัวเลขแห่งการคาดการณ์ว่า เมื่อบวก ลบ คูณ หารแล้วจะออกมาเป็น “คะแนนพึงมี” ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง

พรรคเล็ก พรรคน้อย กระจิ๋วหลิว กระจ้อยร่อย อย่างน้อยๆ ได้มาสักแสนสองแสนเสียงก็มีสิทธิได้เป็นผู้ทรงเกียรติแล้ว ใครทำแต้มได้ 1,000,000 เสียง จะมี ส.ส. 10 กว่าที่นั่ง ได้เป็นพรรคร่วม ได้เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ

ด้วยเงื่อนไขแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว ความหวังจึงล้นเปี่ยม มีการยื่นจดแจ้งขอจัดตั้งพรรคใหม่กันจำนวนมาก

 

จากตรรกะดังกล่าว พรรคที่เสียเซลฟ์มากที่สุด คงไม่มีใครเกินพรรคใหญ่ที่ชื่อ “เพื่อไทย” ในฐานะแชมป์เก่า 2-3 สมัย ซึ่งว่ากันว่าการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ออกมาอีหรอบนี้ เจตนาลึกๆ แล้ว “วางงาน” พรรคเพื่อไทยเป็นการเฉพาะ

จุดที่บ่งบอกนัยยะได้ชัดเจนว่า “พรรคนายใหญ่” น่าจะตกที่นั่งเสือลำบากมากที่สุดคือ “มาตรา 91” ว่าด้วยการคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสัดส่วน “บัญชีรายชื่อ”

ด้วยการกำหนดให้นำคะแนนที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิ หารด้วยจำนวนเต็มของสมาชิก 2 สภาคือ 500 ผลลัพธ์ออกมาเป็นจำนวน ส.ส.พึงมี และให้นำตัวเลขของ ส.ส.พึงมี ลบด้วย ส.ส.เขตของแต่ละพรรค

“ถ้าพรรคใดมี ส.ส.เขตเท่ากับหรือมากกว่าจำนวน ส.ส.ของพรรคที่พึงมี พรรคนั้นจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ”

นำผลการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2554 งวดสุดท้ายมาตอบโจทย์ ครั้งนั้นพรรคเพื่อไทยชนะแบบแลนด์สไลด์ กวาดที่นั่งจากเขตเลือกตั้งมา 204 เสียง มีเสียงสนับสนุนมากถึง 15.7 ล้านเสียง

โกยที่นั่งจากบัญชีรายชื่อไปอีก 40 กว่าๆ รวมเสร็จสรรพ 2 ระบบได้ที่นั่ง ส.ส. 265 เสียง

แต่เลือกตั้งครั้งใหม่ โอกาสยากหน่อย เนื่องจากหลักเกณฑ์ว่าด้วยบัตรเลือกตั้งเปลี่ยนไป หันมาใช้ใบเดียว

หากประชาชนออกมาใช้สิทธิสัดส่วนเท่าเดิมคือร้อยละ 70 ตัวเลขจะเท่ากับเลือกตั้งใหญ่ 2554 คือ 35 ล้านคน แต่เนื่องจากปรับเปลี่ยนเป็นใช้บัตรใบเดียว โอกาสที่เพื่อไทยจะได้กวาด 15 ล้านเสียง จึงเป็นไปได้ยาก

นอกจากนั้นแล้วยังมี “กับดักที่ 2” ตามมาตรา 91 ว่าด้วยหมวดของ “คะแนนพึงมี”

กรณีที่ว่า สมมุติฐานว่าพรรคเพื่อไทยยังชนะเขตเลือกตั้งมาในสัดส่วนเท่าของเดิมคือ 204 ที่นั่ง

แต่จะติดติ่งมีในสัดส่วนของ “คะแนนพึงมี” หรือหากว่า “เพื่อไทย” ยังร้อนระอุ “หิมะถล่มทลาย” ได้คะแนนเสียงสูงสุด เมื่อนำไปกองรวมและคำนวณตัวเลขออกมาเป็น ส.ส. 14 ล้านเสียง

นำไปหารด้วย 70,000 อันเป็นคะแนนพึงมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ออกมาเท่ากับ 200 ที่นั่ง จึงเท่ากับว่า พรรคเพื่อไทยหากชนะเขตเลือกตั้งมาแล้ว 204 เสียง จะไม่ได้ ส.ส.จากบัญชีรายชื่อเลย

แต่แกนนำพรรคเพื่อไทยก็ใช่ว่าจะกินแกลบ ไม่ใช่สากแช่ครก ต้องเตรียมแผน วางหมากไว้รับมือกับเกมการเมืองกระดานนี้มากพอสมควร

แน่นอนว่า หนึ่งในหมากแก้คือ “พรรคนอมินี” เกี้ยเซียะกันช่วงสมัครรับเลือกตั้ง “เพื่อไทย” เอาเก้าอี้เขต “นอมินี” ยึดหัวหาด “บัญชีรายชื่อ”

ได้แนวร่วม “พรรคประชาชาติ” กับ “อนาคตใหม่” ก็พอถูไถได้ 250 ปริ่มๆ ก็ยุ่งได้ไม่น้อยไปเหมือนกัน

การใช้บัตรใบเดียว คะแนนรวมจะลดลง กรณีที่ชนะเลือกตั้งได้มา 15 ล้านเสียง จะมีคะแนนเต็มตุ่ม 214 ที่นั่ง ได้บัญชีรายชื่อแค่ 10 ที่นั่ง แต่ดังที่ทราบว่า การใช้บัตรใบเดียวนั้นจะทำให้คะแนนลดเหลือ 13 ล้านเสียง ฐานจะอยู่ที่ปริ่มๆ ที่ 190 เสียงโดยประมาณการ

แต่ไม่ใช่ว่า “ทักษิณ” จะกินแกลบ