“พระกฤษณะ” กับชื่อ “ทวารวดี” ในอุษาคเนย์ ยุคก่อน พ.ศ.1800

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

โดยทั่วไปแล้วมักจะอธิบายกันว่า พระกฤษณะเป็นหนึ่งในอวตารปางสำคัญของพระนารายณ์ (ก็องค์เดียวกันกับพระวิษณุนั่นแหละครับ) แต่อันที่จริงแล้วปกรณัมเกี่ยวกับพระกฤษณะในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อาจแบ่งออกได้เป็น 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1) พระกฤษณะ จอมพลังผู้มีเสน่ห์ดึงดูดผู้คนทั้งหลาย ซึ่งว่ากันว่าได้รับอิทธิพลมาจากปกรณัมเรื่องเฮอร์คิวลิสของกรีกและโรมัน ที่มีเรื่องเล่าสำคัญอยู่ในภาควัตปุราณะ

และ 2) พระกฤษณะ ผู้เป็นกษัตริย์ของพวกยาฑพ จากมหากาพย์เรื่องมหาภารตะ ในเรื่องนี้พระองค์ทรงครองเมืองที่ชื่อว่า “ทวารวดี” หรือ “ทวารกา”

แน่นอนว่า เราอาจจะจำแนกพระกฤษณะในมหาภารตะ ออกจากพระกฤษณะในศรีมัทราภควัตคีตา (ซึ่งที่จริงแล้วเป็นเรื่องแทรกเรื่องหนึ่งในมหาภารตะ แต่ก็เป็นเรื่องแทรกที่มีขนาดใหญ่และสำคัญมากเสียจนมักจะถูกแยกออกมาเป็นอีกคัมภีร์หนึ่ง) จากแนวความคิดที่ผู้ประพันธ์คัมภีร์ต้องการนำเสนอผ่านตัวพระกฤษณะได้อีกด้วย เช่นเดียวกับที่เราอาจจะจำแนกเรื่องราวของพระกฤษณะบางตำนานออกมาได้ว่า เป็นเรื่องราวของบุคคลที่อาจจะมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ของชมพูทวีป (คือเรื่องของพระวสุเทวะ ซึ่งไม่ใช่ประเด็นในที่นี้)

แต่ในข้อเขียนชิ้นนี้จะขอจำแนกออกตามกลุ่มเรื่องเล่าสำคัญของพระกฤษณะ มากกว่ามุ่งเน้นไปที่ปรัชญา หรือประวัติพัฒนาการเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องพระกฤษณะในอินเดีย

 

ร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในอุษาคเนย์ยุคก่อน พ.ศ.1800 แสดงให้เห็นผู้คนในดินแดนแถบนี้รู้จักกับเรื่องราวของพระกฤษณะทั้ง 2 ตำนาน มาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่รับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเข้ามาเมื่อราว พ.ศ.1000 แล้ว

และก็น่าสังเกตด้วยว่า รูปเคารพ หรือรูปสลักของพระกฤษณะนั้น มักจะพบอยู่ในกลุ่มของเมืองที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมขอม โดยเฉพาะรูปสลักลอยตัวทั้งหมดที่พบก็ล้วนแต่สลักขึ้นในปาง “กฤษณะโควรรธนะ” ตามตำนานในกลุ่มภาควัต เหมือนกันหมดทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นรูปพระกฤษณะจากเมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ หรือรูปพระกฤษณะอื่นๆ ที่พบในเขตประเทศกัมพูชาปัจจุบัน โดยทั้งหมดนั้นเป็นประติมากรรมที่สลักขึ้นในช่วงก่อน พ.ศ.1400

“กฤษณะโควรรธนะ” หรือพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ คือเรื่องเมื่อคราวที่พระกฤษณะผ่านไปพบคนเลี้ยงวัวที่เขาวรรธนะกำลังจะทำพิธีบูชายัญวัวให้กับพระอินทร์

พระกฤษณะเห็นดังนั้นจึงห้ามไว้แล้วชักชวนให้คนเหล่านั้นหันมาบูชาเขาโควรรธนะ ที่ให้หญ้า ให้น้ำ รวมถึงความอุดมสมบูรณ์กับฝูงวัว และคนเลี้ยงวัวแทน

เมื่อพระอินทร์เห็นดังนั้นก็พิโรธจนบันดาลให้เกิดห่าฝนพายุขึ้นไม่หยุด

พระกฤษณะจึงยกเขาโควรรธนะขึ้นเพื่อบังฝนให้กับฝูงวัวและคนเลี้ยงวัวทั้งหลายอยู่ 7 วัน 7 คืน

จนพระอินทร์ต้องยอมพ่ายแพ้ แล้วปล่อยให้คนเลี้ยงวัวหันมานับถือเขาโควรรธนะแทนในที่สุด

เรื่องของ “กฤษณะโควรรธนะ” จึงเกี่ยวข้องอยู่กับคติเรื่องความอุดมสมบูรณ์ และการปกป้องคุ้มภัยจากความศักดิ์สิทธิ์ที่ต่างลัทธิความเชื่อมากกว่าอะไรอื่น ซึ่งก็ดูจะเหมาะกันดีกับช่วงเริ่มแรกรับศาสนาจากอินเดียเข้ามาในภูมิภาคแห่งนี้

 

แต่รูปสลักเล่าเรื่องของพระกฤษณะก็มีปรากฏอยู่ตามชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมต่างๆ ด้วยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นบนทับหลัง หน้าบัน หรือส่วนอื่นๆ โดยพบกระจายตัวอยู่ในปราสาทแบบขอม ทั้งที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำมูล ในภาคอีสานตอนล่างของไทย (หรือที่เรียกในเอกสารจีนโบราณว่า เจนละบก) และในเขตที่ราบลุ่มตนเลสาบเขมร ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน (คือ เจนละน้ำ ในเอกสารจีนโบราณ) โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องตามตำนานฝ่ายภาควัต (นิกายย่อยในไวษณพนิกาย ที่นับถือคัมภีร์ภาควัตปุราณะเป็นสำคัญ) แต่ที่เล่าเรื่องพระกฤษณะในมหาภารตะก็มี ที่สำคัญคือ ภาพสลักเล่าเรื่องสงครามบนทุ่งกุรุเกษตร ที่ระเบียงคด ปราสาทนครวัด

อย่างไรก็ตาม เรื่องของกฤษณะ ทั้งตำนานของฝ่ายภาควัต และในมหาภารตะ คงจะถูกเล่าปนๆ กัน โดยถือว่าเป็นอวตารของพระนารายณ์เหมือนกัน และคือพระกฤษณะองค์เดียวกันมาตั้งแต่ในอินเดียแล้ว

เรื่องของพระกฤษณะยังปรากฏในจารึกขอมอีกหลายหลัก โดยบางหลัก เช่น จารึกตระพังรุน ก็แสดงให้เห็นว่าชาวเขมรโบราณรู้จักปรัชญาเกี่ยวกับพระกฤษณะ ตามแนวคิดในคัมภีร์ภควัตคีตาอีกด้วย

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ในจารึกอักษรขอมโบราณบางหลักได้อ้างถึงการสืบเชื้อสายมาจาก “จันทรวงศ์” ซึ่งเป็นวงศ์ที่เกี่ยวข้องกับ “พระกฤษณะ” เช่น จารึกเมืองเสมา จาก จ.นครราชสีมา

“จันทรวงศ์” คือ วงศ์ที่สืบสายมาจากเทพเจ้าองค์หนึ่งคือ พระจันทร์ โดยตามท้องเรื่องในปกรณัมพราหมณ์อ้างว่า พวกที่สืบสายมาจากพระจันทร์นี้ครองเมืองสำคัญอยู่ 2 เมืองคือ เมืองหัสตินาปุระ ของพวกเปารพ และ “เมืองทวารกา” หรือ “ทวารวดี” ของพวกยาฑพ ซึ่งก็คือเมืองของพระกฤษณะ ตามที่เล่าอยู่ในมหาภารตะนั่นเอง

(อีกวงศ์สำคัญคือ “สุริยวงศ์” หมายถึงวงศ์ที่สืบมาจากพระสุริยะ ซึ่งมีเมืองสำคัญสองเมืองเช่นกันคือ “มิถิลา” และ “อยุธยา” คือเมืองของพระราม ในมหากาพย์รามายณะ ดังนั้น จึงถือกันว่าพระรามเป็นฝ่ายสุริยวงศ์)

 

ชื่อ “ทวารวดี” ที่พบอยู่ในอุษาคเนย์ ซึ่งมักจะเชื่อกันว่าเป็นชื่อเมืองหรืออาณาจักร ในดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำภาคกลางตอนล่างของประเทศไทยปัจจุบันนั้น เพราะพบเป็นจารึกอยู่บนเหรียญเงินที่พบในบริเวณดังกล่าว (ประกอบกับชื่อโถโลโปตี ที่ว่ากันว่าคือการออกเสียงคำว่า ทวารวดี ในเอกสารโบราณข้างจีน) จึงเป็นการจำลองความศักดิ์สิทธิ์มาจากเมืองของพระกฤษณะ พร้อมๆ กับที่กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองได้อ้างถึงความเชื่อมโยงจันทรวงศ์ ซึ่งก็คือวงศ์ที่สืบสายมาจากเทพเจ้า เข้ากับตนเองไปด้วยพร้อมกัน

แต่หลักฐานของชื่อทวารวดีที่ถูกนำมาใช้เป็นชื่อเมืองในอุษาคเนย์ ไม่ได้พบอยู่เฉพาะพื้นที่บริเวณดังกล่าวเท่านั้น เพราะยังมีชื่อเมือง “ทวารวดี” ปรากฏอยู่ในจารึกจากวัดจันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และจารึกทวารกเด็ย กับจารึกพระนน ในประเทศกัมพูชาด้วย

ควรสังเกตด้วยว่า ผู้ที่สืบสายมาจากจันทรวงศ์ ตามที่อ้างอยู่ในจารึกเมืองเสมานั้นก็คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 5 แห่งเมืองพระนครของเขมร ซึ่งก็คือโอรสของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 ผู้สร้างจารึกทวารกเด็ย ที่มีข้อความระบุว่า ได้มีการสถาปนาเทวรูปจำนวนหนึ่งขึ้นที่ดินแดนซึ่งในจารึกเรียกว่า “สรุก ทวารวดี” (โดยทั่วไปแล้วมักอธิบายว่า “สรุก” เป็นอะไรที่มีขนาดเล็กกว่าเมือง จึงมักจะแปลกันตามคำจำกัดความอย่างปัจจุบันว่า “หมู่บ้าน” ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะถูกต้องนัก เพราะการเรียกชื่อหน่วยทางสังคมต่างๆ มีปัจจัยอะไรมากกว่าแค่เรื่องของขนาด) นั่นเอง

และก็เป็นในช่วงรัชกาลของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 (พ.ศ.1487-1511) นี่เอง ที่มีพราหมณ์ชื่อ “ทิวากรภัฏฏ์” ได้มาเสกสมรสกับพระราชธิดาของพระองค์ พราหมณ์ผู้นี้เดินทางมาจากเมืองมถุรา ในประเทศอินเดีย

ข้อความในจารึกขอมหลักหนึ่งอ้างว่า เมืองที่ท่านเติบโตนั้นเป็น “เมืองที่พระกฤษณะผู้ทรงปราบนาคดำ (หมายถึง นาคกาลียะ) ประทับอยู่เมื่อยังทรงพระเยาว์” ดังนั้น พราหมณ์ทิวากรภัฏฏ์จึงมาจากเมืองที่นับถือไวษณพนิกาย โดยจากภูมิหลังก็ทำให้น่าเชื่อว่าท่านจะนับถือพระกฤษณะเป็นการพิเศษ

นอกเหนือจากการเป็นพระราชบุตรเขยของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 แล้ว พราหมณ์ทิวากรภัฏฏ์ยังเป็นผู้สำเร็จราชการ (ร่วมกับพราหมณ์ยัชญวราหะ ผู้สร้างปราสาทที่โด่งดังที่สุดหลังหนึ่งในอารยธรรมขอมอย่างปราสาทบันทายสรี) ในรัชสมัยต่อมาคือ รัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (ผู้อ้างพระองค์ว่าสืบสายมาจากจันทรวงศ์ของพระกฤษณะ)

จึงเป็นไปได้ว่า อิทธิพลของพราหมณ์ผู้นี้ได้ทำให้ลัทธิการนับถือพระกฤษณะเจริญขึ้นมากในช่วงเวลาดังกล่าว เมืองทวารวดีในจารึกทวารกเด็ย และจันทรวงศ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ในจารึกเมืองเสมา ก็อาจจะเกี่ยวข้องกับอิทธิพลของพราหมณ์ท่านนี้อยู่ไม่น้อย

 

เรื่องของพราหมณ์ทิวากรภัฏฏ์ ยังชวนให้ขบคิดถึงธรรมเนียมการนำชื่อศักดิ์สิทธิ์อย่างเมืองทวารวดีของพระกฤษณะ มาใช้ในอุษาคเนย์ต่อไปว่า ควรจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม และอำนาจความศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง เพราะล้วนพบอยู่ในจารึก และเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมอย่างการสถาปนาเทวรูปหรือศิวลึงค์ และการอ้างเชื้อสายผ่านการประกาศต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยการจารลงในศิลา

ชื่อ “ทวารวดี” ที่พบอยู่บนเหรียญเงินในความว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งทวารวดี” นั้น ก็จึงอาจเป็นในทำนองเดียวกันนี้เอง คือการอ้างความศักดิ์สิทธิ์ผ่านความเป็นเชื้อสายจันทรวงศ์ของพระกฤษณะ ด้วยพิธีกรรมผ่านการจารึกด้วยอักษร (ไม่ต่างไปจากการอ้างเป็นพระราม ผ่านการจารึกลงพระสุพรรณบัฏ ที่พบเห็นอยู่ทั่วไปในยุคอยุธยา เรื่อยมาถึงรัตนโกสินทร์

บทบาทของพระกฤษณะในอุษาคเนย์ยุคก่อน พ.ศ.1800 จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับเคารพบูชาเท่านั้น แต่ยังถูกใช้เพื่ออ้างอิงถึงการเป็นเชื้อสายของเทพเจ้า (หรือแม้กระทั่งการอ้างตนเป็นเทพเจ้าในอีกหลายกรณี) ผ่านชื่อเมืองทวารวดี เมืองศักดิ์สิทธิ์แห่งวงศ์ของพระจันทร์ ที่มีพระกฤษณะเป็นภาพแสดงแทนนั่นแหละครับ