มนัส สัตยารักษ์ : 396 โรงพักทดแทน ดีเอสไอและ ป.ป.ช.

ที่ตรงนี้พูดถึงกรณี “โรงพักทดแทน” ราวกับนักมวยสากลที่แย็บ 2 หรือ 3 หมัดแล้วหยุดดูหรือแกล้งเต้นฟุตเวิร์กไป ทำท่าจะเรื้อรังจนเป็นอีก “ตำนาน” เหมือน “ตอม่อโฮปเวลล์” ที่ประจานการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการไทยอีกตำนานหนึ่ง

โครงการโรงพักทดแทนเริ่มแต่ปี พ.ศ.2552 ในสมัยรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ กำกับและดูแลงานตำรวจ ในยุคที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ตร. แต่มาเซ็นสัญญาก่อสร้างในยุคที่ปลอด ผบ.ตร. คงมีเพียง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจ รักษาราชการแทน ผบ.ตร.

ผบ.ตร.ตัวจริงนัยว่ามีปัญหาบางอย่างกับรัฐบาลจึงถูกเขี่ยออกไป โดยไม่สามารถตั้งคนใหม่มาแทนได้ ไม่รู้ว่าเป็นวาสนาหรือเวรกรรมของ พล.ต.อ.ปทีป ที่ต้องมารับหน้าที่รักษาราชการแทน

เพราะเมื่อจะประมูลการก่อสร้างนั้น ได้ปรับเปลี่ยนวิธีประมูลจากเป็นรายภาคมาเป็นแบบเหมารวมโดยส่วนกลางในครั้งเดียว 5,848 ล้านบาท ซึ่งดูเป็นการผิดหลักการกระจายอำนาจ กีดกันบริษัทขนาดเล็กไม่คำนึงถึงขีดความสามารถหรือศักยภาพของบริษัทผู้รับเหมา เสี่ยงกับการถูกทิ้งงาน

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของโครงการ อดีตตำรวจอย่างผมซึ่งมีปัญหาสุมหัวในเรื่องที่ทำงานและบ้านพักมาตั้งแต่เป็นว่าที่ ร.ต.ต. จึงรู้สึกดีใจและขอบคุณผู้ที่เอ่ยนามทั้ง 3 ท่านข้างต้นเป็นอย่างยิ่ง ที่ริเริ่ม ผลักดัน จนเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้าง

ในขณะนั้นคิดเพียงว่า หลังจากยุคสมัยที่อดีต อ.ตร. พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ผ่านพ้นไปแล้ว นี่คือครั้งแรกที่เป็นการ “ลงทุนเพื่อพัฒนาสถาบันตำรวจ” ถูกจุดที่สุด

ตำรวจจะเป็นอาชีพที่ไม่ต้องแสดงความสามารถในการ “ช่วยตัวเอง” จนเสื่อมโทรม ด้วยการทุจริตเพื่อให้ภารกิจหน้าที่และความรับผิดชอบผ่านพ้นไปได้ มีสถานที่ทำงาน พร้อมเครื่องมือเครื่องใช้ อาวุธ เครื่องมือสื่อสารและยานพาหนะ

และหวังว่าต่อไปตำรวจก็คงจะมีเงินเดือนเหมาะสมกับการทำงาน และพอเลี้ยงครอบครัวโดยไม่ต้องดิ้นรนช่วยตัวเองในทางที่ผิด

โครงการโรงพักทดแทนเริ่มลงมือปักเสาเข็มในปี พ.ศ.2554 หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับและดูแลงานตำรวจ ได้มีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณีโครงการสร้าง 396 โรงพักทดแทน

ในการนี้นายชูวิทย์ได้แสดงภาพถ่ายประกอบการอภิปรายหลายภาพ เป็นภาพโรงพักที่ถูกทิ้งร้าง เสาปูน ผนังอิฐเปลือย เถาวัลย์และพันธุ์ไม้รกเรื้อ ประจานความล้มเหลวของโครงการ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการอย่างร้ายแรง

ในเวลาที่ผ่านมานับแต่เริ่มตอกเสาเข็ม คงเป็นยุคมืดของประเทศโดยแท้ ไม่มีใครหรือหน่วยงานใด -แม้แต่สื่อ- พูดถึงโครงการนี้เลย! จนระทั่ง ร.ต.อ.เฉลิมสั่งให้ตรวจสอบย้อนไปถึงต้นเรื่อง

และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของคดีที่จะหาตัวผู้กระทำผิดนำไปสู่กรมสอบสวนพิเศษดีเอสไอ และ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป

ที่กล่าวว่าเป็น “ยุคมืด” นั้น เพราะสังคมไทยในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นสังคมแตกแยก แหลกลาญ ไม่มีใครไว้ใจใครหรือเป็นพวกใครเต็มร้อย ต่างระมัดระวังตัวรอวันเวลาซึ่งจะเป็นที่สุดของการแก่งแย่งอำนาจ

ผมไม่อยากเสียมารยาทไปหาข้อเท็จจริงและเบื้องหลังเอาจากบรรดาน้องๆ ที่เป็นบิ๊กตำรวจ ได้แต่ฟังความคิดเห็นของบรรดาพรรคพวกที่คลุกคลีอยู่ในวงการประมูลงานตามโครงการของราชการ

“เป็นเรื่องของการฮั้ว ร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้งราชการ บริษัทผู้รับเหมา นักการเมือง”

“ก็คงจะเหมือนคดีเก่าๆ นั่นแหละ นักการเมืองรอด ข้าราชการผู้ปฏิบัติรับกรรม”

“คดีแจกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ศาลฎีกาพิพากษาให้ผู้ยึดครองที่ดินโดยได้รับแจกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบออกจากที่ดิน แต่นายสุเทพผู้แจกไม่ต้องรับโทษแต่อย่างใด”

นอกจากโครงการ 396 โรงพักทดแทนแล้ว ตำรวจยังต้องเผชิญกับความเสียหายจากโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ (แฟลต) 163 แห่ง จำนวนเงินกว่า 3,709 ล้านบาท รวม 2 โครงการ เกือบหมื่นล้าน หย่อนเล็กน้อย (9,557 ล้าน) ทั้งสองโครงการล้วนเป็นความฝันของตำรวจทั่วประเทศ

เมื่อราว ๆ กลางปี 2559 ผมได้ตระเวนไปดูบาง site งานก่อสร้างทั้งสองโครงการตามชานเมืองกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก แล้วก็พบภาพรกเรื้ออย่างที่วงค์ ตาวัน เล่าไว้ในคอลัมน์ “ชกคาดเชือก” มติชนสัปดาห์ ผมได้ถ่ายรูปไว้มากมายโดยคาดว่าจะใช้ประกอบการเขียนถึงเรื่องนี้

บางรูปผมต้องแอบถ่าย เพราะในตึกร้างที่สร้างไม่เสร็จนั้น มีบางครอบครัวตำรวจดิ้นรนช่วยตัวเองไปซุกหัวนอนอยู่ ผมคงจะรู้สึก “เกรงใจตำรวจ” ทำนองเดียวกับ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจนั่นแหละ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่รู้ไม่จริงและไม่ลึกซึ้งพอ ผมก็ได้แต่แย็บเพียงไม่กี่ครั้งแล้วถอยฉากออกมาเต้นอยู่ห่างๆ ด้วยความหวั่นเกรงใน “ฤทธิ์เทพ” มาแต่ครั้ง ส.ป.ก.4-01 และความไม่ไว้ใจในน้ำตาของคนกล้าตระบัดสัตย์

ก็ได้แต่รอให้ใครสักคนดำริที่จะลงทุนเพิ่มอีกใน 2 โครงการที่ค้างคาอยู่ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการแสดงความรู้สึกเกรงใจตำรวจบ้างเท่านั้น

วันดีคืนดีก็มีข่าวอนุกรรมการ ป.ป.ช. เรียกพบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ข่าวแต่ละสำนักข่าวแตกต่างกัน 3 ทาง อย่างใดอย่างหนึ่งคือ 1 แจ้งข้อหาคดีโครงการ 1 ไต่สวนข้อเท็จจริง และอีก 1 คือชี้มูลความผิด ทำให้ผู้เสพข่าวสับสนพอสมควร

ในที่สุดนายสุเทพกับทนายความก็เข้าชี้แจงต่อ ป.ป.ช. พร้อมด้วยเอกสารชุดเดิมที่เคยชี้แจงเมื่อปี 2558 ครั้งที่ยังอุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีรายละเอียดมากมาย นายสุเทพชี้แจงว่าส่วนที่สร้างไม่เสร็จตามกำหนดเป็นความผิดของผู้ควบคุมการก่อสร้าง

เครดิตของนายสุเทพนั้น อย่าแต่ว่า “อมพระ” มาพูดแล้วคนไม่เชื่อเลย ขนาดเป็นพระห่มเหลืองมาเมื่อปี 2558 ป.ป.ช.ก็ยังไม่เชื่อ มาครั้งนี้หลังจากตระบัดสัตย์มาหยกๆ ก็คงไม่มีใครเชื่ออีกแหละ

แต่อย่าลืมว่าเครดิตอีกด้านหนึ่งของนายสุเทพ นั่นก็คือ เขาไม่เคยต้องรับผิดชอบในคดีทุจริตหรือคดีที่เกิดความเสียหายมหาศาลแต่อย่างใด

ส่วนตัวของผมไม่ได้หวังว่าจะต้องให้ใครได้รับโทษชดใช้ในความเสียหายร่วมหมื่นล้านในครั้งนี้ ผมขอแต่ให้โครงการลุล่วงไป จนไม่เหลือตอม่อ กำแพงอิฐเปลือย พืชพันธุ์และเถาวัลย์รกเรื้ออะไรทำนองนี้มากกว่า

เพราะมันประจานความเสื่อมโทรมของตำรวจมากกว่าประจานความเลวร้ายของนักการเมือง