“พระธาตุญาณคัมภีร์” วัดบ้านขาม เมืองปาน มรณสถานของผู้สถาปนานิกายป่าแดงในเชียงใหม่-เชียงตุง

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ชื่อของ “พระ (มหา) ญาณคัมภีร์” เป็นที่รู้จักกันดีในนามของ “เจ้าสำนักป่าแดง”

นิกายนี้มีความสำคัญยิ่ง เป็นหนึ่งในสองนิกายหลักของเชียงใหม่และเชียงตุง (อีกนิกายคือสวนดอก)

ซึ่งนิกายป่าแดงสถาปนาขึ้นหลังนิกายสวนดอก เริ่มตั้งแต่รัชสมัยของพระญาแสนเมือง กษัตริย์เชียงใหม่องค์ที่ 7 เป็นต้นมา และรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยของพระเจ้าติโลกราช

จนกระทั่งล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าในปี 2101 นิกายทั้งสองจึงยุติบทบาทลงในเชียงใหม่

แต่กระแสธารยังคงรินไหล สวนดอก-ป่าแดงไม่เคยสิ้นการสืบสานในเชียงตุงจวบปรัตยุบัน

 

ช้างเผือกแทงหอธรรม แล้วกัดกินคัมภีร์

พระญาณคัมภีร์ ชาตะราวปี พ.ศ.1937 มีภูมิลำเนาเดิมอยู่แถววัดนันทาราม (ชาวบ้านเรียกวัดนันตา) ใกล้กับแหล่งหัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขิน บ้านวัวลาย แถบชุมชนไทขึน เชียงใหม่

มีนามเดิมว่า “อ้ายสามจิต” เพราะเป็นบุตรชายลำดับที่สามของบิดาผู้เป็นขุนนางชั้นยศ “เจ้าพัน” ชื่อ “พันตาแสง” เมื่ออายุได้ 12-13 ขวบ สามจิตบรรพชาเป็นสามเณรกับ “พระราชครูธรรมกิตติ” สังฆราชเมืองเชียงใหม่ขณะนั้น

โดยที่หนึ่งคืนก่อนบวช พระราชครูธรรมกิตติหลับฝันไปว่า “มีช้างเผือกเชือกหนึ่งจากทิศตะวันออกเข้ามาในวัด แล้วใช้งาแทงหอธรรม (หอพระไตรปิฎก) ลงมือกัดกินคัมภีร์ใบลานในหอธรรมจนหมดสิ้น จากนั้นเอางาทั้งคู่ช้อนพระราชครูขึ้นนำไปสู่หิน “ศิลาบาตร” แล้ววางลง เสร็จแล้วช้างเผือกเดินลงไปสู่หนองบัว เก็บเอาดอกบัวมาหอบหนึ่ง แผดเสียงดังสนั่น แล้วเดินทางขึ้นสู่ทิศเหนือจนหายลับไป”

ครั้นตื่นขึ้นตอนเช้าพระราชครูเฝ้ารอข่าวดี พบว่าพันตาแสงได้พาลูกชายคืออ้ายสามจิตมาฝากตัวบวชเป็นสามเณร

และเมื่ออายุครบอุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระราชครูก็เป็นพระอุปัชฌาย์ให้อีกครั้ง ได้รับฉายาว่า “ญาณคัมรีโร” หรือ “พระญาณคัมภีร์”

 

เมื่อยังเติร์ก “ป่าแดง” ถูกเนรเทศ
จากเชียงใหม่ไปเชียงตุง

อันที่จริงเรื่องราวความแตกแยกขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของพุทธศาสนานิกายต่างๆ ในยุคล้านนานั้น สามารถแยกเขียนออกมาอีกบทความหนึ่งได้หลายตอนเป็นมหากาพย์

ในที่นี้จะขอปูพื้นกว้างๆ ให้เห็นถึงแนวทางของคณะสงฆ์ในล้านนา 3 นิกาย พอเป็นสังเขปสำหรับสร้างความเข้าใจต่อนิกายป่าแดงก่อน ดังนี้

1. ล้านนาเคยมี “นิกายพื้นเมืองเดิม” ถูกนิกายอื่นขนานนามว่า “พระเชื้อเก่า” เป็นนิกายสงฆ์สายหริภุญไชยหรือลำพูนที่มีมานานหลายศตวรรษ ตั้งแต่ยุคพระนางจามเทวี และพระญามังรายได้รับสืบทอดนำมาสถาปนาในเมืองเชียงใหม่เป็นนิกายแรก

2. “นิกายลังกาวงศ์เก่า” หรือ “รามัญวงศ์” นิยมเรียก “นิกายเชียงใหม่” หรือ “นิกายสวนดอก” (หนสวนดอก) เมื่อวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยของนิกายเดิมอาจย่อหย่อนไปบ้าง

ในสมัยของพระญากือนา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ลำดับที่ 6 จึงได้อาราธนาพระมหาสุมนเถระจากสุโขทัยมาทำการปฏิรูปวงการสงฆ์ให้มีวัตรปฏิบัติที่งดงามและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมากขึ้นตามอย่างคติมอญ ถือเป็นฝ่ายอรัญวาสีที่สืบสาขามาจากสำนักมหาวิหารในลังกา ได้รับการอุปถัมภ์มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 ซึ่งเดิมเรียกว่าคณะ “ตโปวนาลี” ตั้งสำนักอยู่ด้านทิศตะวันตกของเมืองอนุราธปุระ

3. นิกายลังกาวงศ์ใหม่ หรือ “นิกายสีหล” เป็นนิกายที่เดินทางไปสืบพระพุทธศาสนามาจากกรุงลังกาสายตรงโดยไม่ผ่านเมืองมอญ นิยมเรียก “นิกายป่าแดง” หรือสำนักป่าแดง (หนป่าแดง) นิกายนี้เริ่มเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปลายสมัยพระญาแสนเมืองมา (พระราชโอรสของพระญากือนา หรือพระราชอัยกาของพระเจ้าติโลกราช) แล้ว

กล่าวคือ ได้มีการส่งพระสงฆ์จำนวนหนึ่งไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกาในปี 1967 หลังจากนั้น 6-7 ปี พระสงฆ์ที่กลับมาได้สถาปนานิกายใหม่ขึ้นที่วัดป่าแพะตึง ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ ยุคแรกเรียกสำนักนี้ว่าวัดป่ากวาง ตามสภาพภูมิศาสตร์ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นนิกายป่าแดง (วัดรัตตวนาราม)

มี “พระญาณคัมภีร์” เป็นหัวหน้าสงฆ์ ประพฤติปฏิบัติธรรมเคร่งครัด ถือสันโดษ และแตกฉานภาษาบาลียิ่งกว่าพระสงฆ์ในนิกายลังกาวงศ์เดิมหรือหนสวนดอก

ความแตกแยกของนิกายลังกาวงศ์ใหม่ เกิดจากทัศนะและแนวทางการปฏิบัติธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการกล่าวหาซึ่งกันและกันในทุกๆ ประเด็น อาทิ ต่างฝ่ายต่างคิดว่าวิธีการบวชหรือการสวดคำสอนคำเทศน์ของอีกฝ่ายนั้นไม่ถูกต้อง โดยพาดพิงไปถึงความผิดพลาดของพระบรมครูอุปัชฌาย์แต่ละสำนัก ทั้งสำนักรามัญและสำนักลังกาอีกด้วย

เมื่อความขัดแย้งของพระสงฆ์ทั้งสามนิกายนั้นได้ทับถมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็ถึงขั้นแตกหัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างนิกายสวนดอกกับนิกายป่าแดง ได้เกิดการโต้เถียงและแสดงอาการรังเกียจเดียดฉันท์กันอย่างรุนแรง ต่างฝ่ายต่างท้าแข่งขันประลองภูมิความรู้

สถานการณ์รุนแรงถึงกับเกิดการบุกเข้าทุบตีทำร้ายร่างกายกันหลายครั้ง ทำให้ในยุคสมัยของพระญาสามฝั่งแกน จำต้องตัดสินพระทัยขับพระนิกายสีหลป่าแดงออกไปจากเมืองเชียงใหม่ ด้วยเหตุว่าเป็นนิกายใหม่ พระภิกษุล้วนแล้วแต่เป็นคนหนุ่ม หากกลับไม่ยอมลดราวาศอกให้กับผู้อาวุโสกว่า อีกทั้งสังคมล้านนาขณะนั้นยังคงนิยมสงฆ์นิกายสวนดอกของพระมหาสุมนเถระมากกว่า

แม้กระนั้นพระสงฆ์นิกายป่าแดงยังคงมุ่งมั่นที่จะเผยแผ่แนวคิดและแนวทางการปฏิบัติของตนต่อไป ในระยะแรกต้องหลบหนีนิกายสวนดอกไปซุ่มอยู่ตามหัวเมือง จนค่อยๆ สร้างวัดสาขาที่เมืองลำปาง พะเยา เชียงราย เชียงของ เชียงแสน เชียงตุง แต่ละเมืองสามารถจัดการอุปสมบทพระภิกษุใหม่ๆ ได้ถึง 6 ครั้ง

นับว่าเป็นนิกายใหม่ที่ประสบความสำเร็จไม่น้อย แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประมุขของรัฐ และด้วยเหตุดังกล่าวความขัดแย้งรุนแรงก็ยังปะทุเป็นระยะๆ เช่น ภายหลังเมื่อพระนิกายสีหลขึ้นไปเผยแผ่ศาสนาที่เมืองเชียงตุงแล้ว ก็ยังเกิดการปะทะกันอีกกับพระนิกายสวนดอกที่นั่น

 

เมื่อ “ติโลกราช” โปรดป่าแดง

แต่ครั้นในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช สถานการณ์ความขัดแย้งก็เริ่มมีท่าทีคลี่คลายลง เหตุเพราะพระองค์ทรงเลื่อมใสในคำสอนของนิกายลังกาวงศ์ใหม่

และด้วยความปรารถนาที่จะยุติความแตกแยกในวงการสงฆ์ ภายหลังจากพระมหาสิทธัมกิติสวามี ประมุขสงฆ์ฝ่ายวัดสวนดอกซึ่งปกครองต่อจากพระสุมนเถระถึงแก่มรณภาพ พระองค์จึงถือโอกาสอุปถัมภ์และเลือกคณะสงฆ์จากสำนักวัดป่าแดงให้ขึ้นเป็นผู้นำทางศาสนาแทนที่ด้วยการแต่งตั้งพระมหาเมธังกรเป็นพระมหาสามีสังฆปรินายกซึ่งมีความสำคัญเหนือกว่าเจ้าอาวาสวัดสวนดอก

โดยมีนัยทางการเมืองซ่อนเร้น ด้วยหวังที่จะให้นิกายใหม่ช่วยค้ำจุนราชบัลลังก์อีกแรงหนึ่ง เหตุที่พระองค์ทรงช่วงชิงราชสมบัติมาจากพระราชบิดา

เมื่อพระญาสามฝั่งแกนพระราชบิดาพร้อมด้วยพระราชมารดาของพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ พระเจ้าติโลกราชได้ใช้สถานที่ของวัดป่าแดงหลวงเป็นที่สร้างพระเมรุสำหรับปลงพระศพ พร้อมก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุไว้ วัดป่าแดงได้รับการสถาปนาให้เป็นศูนย์กลางศาสนจักรเรียกว่า “วัดป่าแดงมหาวิหาร” มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่นำมาจากลังกาเป็นสัญลักษณ์

หลังจากที่ครองราชย์ได้เพียง 5 เดือน พระเจ้าติโลกราชได้โปรดให้พระนิกายสีหล กระทำการอุปสมบทนาคหลวง 500 รูปที่ท่าสฐานหลวงแม่น้ำปิง ปัจจุบันคือวัดศรีโขง ได้บูรณะวัดราชมณเฑียรและนิมนต์พระสงฆ์นิกายป่าแดงจำนวนมากจากลำพูนมาจำวัดต่างๆ ในเชียงใหม่

การบวชในแพกลางลำน้ำเช่นนี้เรียกว่า “พิธีอุปสมบทอุทกุกฺเขปสีมา” ซึ่ง “น้ำ” คือสัญลักษณ์ของการชำระล้างมลทินให้บริสุทธิ์

พระเจ้าติโลกราชทรงวางบทบาทในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ของพระสงฆ์ไว้สองสถานะ สถานะแรกคือ ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์นิกายต่างๆ ทั้งสามนิกาย และอีกสถานะคือ ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายศาสนจักรกับฝ่ายอาณาจักร ด้วยการกำหนดให้พระสงฆ์แต่ละนิกายมีประมุขสงฆ์เป็นของตน

แต่มีคณะสังฆราชาคณะหนึ่งคอยกำกับดูแลปกครองและวินิจฉัยกิจการของทุกนิกาย ซึ่งพระสังฆราชาก็เป็นพระที่มาจากนิกายป่าแดง คือพระมหาเมธังกร หรือ “พระอดุลศักตยาธิกรณมหาสามี”

 

ครูบาเจ้าศรีวิชัยตามรอย
พระญาณคัมภีร์ที่ลำปาง

ส่วนพระญาณคัมภีร์นั้น พบเรื่องราวของท่านจากคัมภีร์ใบลานจารึกด้วยอักษรล้านนาเรื่อง “มูลศาสนญาณคัมภีร์” จารโดยพระญาณโสรสเถระ เมื่อปี 2388 ขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดแจ้ซ้อน (หมายถึงวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลําปาง)

ต่อมา พระสุริยะภิกขุ ครูบาวัดบ้านไร่ เมืองแพร่ ได้คัดลอกใหม่ในปี 2461 กล่าวว่า

“ปีกดไส้พระญาหลวงเมืองละกอร จ.ศ.814 (พ.ศ.1944) พระมหาญาณคัมภีร์ได้ขึ้นไปอภิเษกมหาธาตุแจ้ห่ม (หมายถึงการยกฉัตรพระเจดีย์ หรือการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดผาแดงหลวง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายสีหลป่าแดง) และพระธาตุเมืองวัง (หมายถึงวัดพระเกิด ที่อำเภอวังเหนือ) อยู่วัสสาหนึ่ง ในวัดโพธิ เดือน 4 ออก 2 ค่ำ ก็มาเมตต๋าศรัทธาตังหลาย แล้วล่องมาตางเมืองเต๊าะ เถิงบ้านหัวเมืองก็เป็นไข้ 3 วันก็จุติ ในตี่นนั้นแล”

จากข้อความนี้ทำให้ทราบว่า พระเจ้าติโลกราชได้มอบหมายให้พระญาแก้วตาหลวง (เหลนของพระองค์ ต่อมาคือพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 11) มาอาราธนาให้พระญาณคัมภีร์ ปฐมสังฆะแห่งนิกายป่าแดง ซึ่งในยุคของพระญาสามฝั่งแกนได้หลบมาจำพรรษาอยู่ที่ลำปาง-พะเยา เดินทางออกจากวัดพระเกิด ของเมืองวัง (บางฉบับว่าเมืองโป) กลับสู่ราชสำนักเชียงใหม่เพื่อไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนานิกายป่าแดงให้เข้มแข็ง

ขณะเดินทางกลับท่านได้ผ่าน “เมืองเต๊าะ” (บริเวณตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง) มีอาณาเขตตั้งแต่บ้านหัวเมืองล่องไปจนถึงบ้านไร่ใต้ คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนเล่าถึงที่มาของคำว่า “เต๊าะ” เกิดจากการที่พญาอินทร์ได้เขียนธรรมไว้ แล้วเอาลอยน้ำล่องมา ชาวบ้านได้เก็บพระคัมภีร์ขึ้นมา “เต๊าะ” ไว้ (เกี่ยวสิ่งของจากน้ำขึ้นมาผึ่ง) จึงเรียกว่า น้ำแม่เต๊าะ เมืองเต๊าะ ปัจจุบันมีบ้านสบเต๊าะ

พระญาณคัมภีร์ผ่านมาเมืองเต๊าะเป็นไข้ป่าได้ 3 วัน ก็ถึงแก่มรณภาพในปี พ.ศ.1995 สิริรวมอายุได้ 58 ปี (แต่เอกสารฉบับอื่นระบุตัวเลขที่แตกต่างกันไป มีทั้ง 57, 60, 62 เรื่องนี้ต้องชำระศักราชกันใหม่อีกครั้ง)

สถานที่มรณะคือบริเวณวัดแห่งหนึ่งที่อยู่ด้านล่าง (ข้อความในใบลานใช้คำว่า “ตีน” หรือ “ตี่น” ปัจจุบันอยู่ตรงที่สร้างสถานีอนามัย) ซึ่งปัจจุบันวัดนั้นร้างไปแล้ว

ศิษยานุศิษย์ที่ติดตามมาได้ทำการประชุมเพลิงสรีระร่าง จากนั้นนำอัฐิธาตุของท่านมาบรรจุไว้ในเจดีย์บนภูเขาลูกหนึ่ง ในอดีตเรียกว่า “ดอยเกิ้ง” เนื่องจากเป็นดอยที่มีดอยอื่นๆ ล้อมรอบหมด

สถานที่บรรจุธาตุของพระญาณคัมภีร์จึงมีชื่อเรียก 2 แบบ คือพระธาตุดอยเกิ้ง แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่ากับ “พระธาตุญาณคัมภีร์” ในที่สุดวัดเปลี่ยนชื่อใหม่ตามหมู่บ้าน กลายเป็นวัดบ้านขาม ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลหัวเมือง

เจดีย์องค์ดั้งเดิมที่บรรจุอัฐิพระญาณคัมภร์ก่อเป็นอิฐแบบง่ายๆ ขนาดเล็ก ต่อมาปี 2472 ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เดินทางมายังวัดแห่งนี้โดยนิมิต เนื่องจากท่านสืบแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานมาจากครูบาอาจารย์หลายรูปในสายอรัญวาสีที่เดินตามรอยนิกายป่าแดงของพระญาณคัมภีร์ ท่านจึงสร้างครอบใหม่ด้วยรูปแบบเจดีย์ทรงกลมล้านนาอยู่บนฐานยกเก็จ ดังที่เห็นในปัจจุบัน

เชื่อว่าเรื่องราวนี้ค่อนข้าง “อันซีน” ไม่น้อยสำหรับผู้สนใจเรื่องราวของพระญาณคัมภีร์กับนิกายป่าแดง ซึ่งส่วนใหญ่มักโฟกัสไปที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงตุง แต่ในความเป็นจริงนั้น วัดจำนวนมากในเขตลำปางตอนเหนือล้วนเป็นผลงานของพระญาณคัมภีร์แห่งนิกายป่าแดงทั้งสิ้น

เมื่อมีโอกาสเหมาะ ดิฉันจักค่อยๆ ทยอยเล่าขยายความต่อไป